6 พ.ย. 2022 เวลา 03:12 • ประวัติศาสตร์
Kang's Journal: Geo Geek
ตอน เบื้องหลังธงและตราแผ่นดิน : แองโกลา ฟันเฟือง มีดดาบ และดวงดาว
Source: dreamtime
มาถึงประเทศฝั่งแอฟริกากันบ้าง ประเทศแองโกลาเป็นประเทศที่กำลังมาแรงในทวีปแอฟริกา ด้วยความที่ประเทศนี้มีทรัพยากรมากมาย ทำให้แองโกลาเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับที่ 13 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกเพชรรายใหญ่อันดับที่ 10 ของโลก และกลายเป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมากเป็นอันดับต้น ๆ
ประเทศแองโกลาตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา มีชายฝั่งติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก ประเทศนี้เคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสมาก่อน ทำให้ในช่วงศตวรรษที่ 17-18 สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งค้าทาสที่สำคัญ เพื่อนำพวกเขาเหล่านั้นไปใช้แรงงานในประเทศบราซิล ซึ่งเป็นอีกอาณานิคมของโปรตุเกส ทำให้ในปัจจุบันมีชาวบราซิลเป็นจำนวนมาก สืบเชื้อสายมาจากเหล่าบรรดาทาสจากแองโกลา
การค้าทาส อุตสาหกรรมที่ทำรายได้มหาศาลให้กับเจ้าอาณานิคมอย่างโปรตุเกส (Source: https://victorianweb.org)
หลังจากได้รับเอกราชในปี 1975 แองโกลาตกอยู่ภายใต้ภาวะสงครามกลางเมือง เป็นเวลายาวนานกว่า 27 ปี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1 ล้านคน ทำให้ในปัจจุบันแองโกลากลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรที่อายุน้อยที่สุดในโลก และในปัจจุบันยังคงมีกับระเบิด (Landmine) ที่ยังไม่ระเบิดอยู่ในบริเวณชนบทอยู่เป็นจำนวนมาก
สงครามกลางเมืองของแองโกลาที่กินเวลายาวนานถึง 27 ปี และเพิ่งจะจบลงไปในปี 2002 ที่ผ่านมา (Source: https://weaponsandwarfare.com)
เรื่องสุดท้ายที่น่าสนใจของประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้คือสัตว์ประจำชาติ ซึ่งได้แก่ Giant Sable Antelope เป็นกวางชนิดหนึ่ง มีขนาดใหญ่ และเขายาวสวย โดยเพศผู้นั้นอาจจะมีน้ำหนักมากถึง 200 กิโลกรัม และเขาที่ยาวถึง 150 เซนติเมตร มีความเชื่อว่ากวางชนิดนี้ได้สูญพันธ์ุไปแล้ว แต่มีการค้นพบอีกครั้งเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง
Giant Sable Antelope สัตว์ประจำชาติของแองโกลา (Source: National Geographic)
มาดูเรื่องธงของประเทศนี้กันดีกว่า
อัตราส่วนธง : 2:3
รูปร่างของธง : สี่เหลี่ยมผืนผ้า
เริ่มใช้งาน : 11 พฤศจิกายน 1975
ธงชาติของประเทศแองโกลา (Source: istock)
ธงชาติของแองโกลา แบ่งออกเป็นสองส่วนเท่ากันตามแนวนอน ด้านบนเป็นสีแดง สื่อถึงเลือดเนื้อของเหล่าบรรดานักสู้ที่ต้องเสียไปเพื่อให้แองโกลาได้รับเอกราช และความพร้อมในการป้องกันประเทศ ส่วนสีดำสื่อถึงทวีปแอฟริกา
ตรงกลางของธงจะมีสัญลักษณ์อยู่ 3 อย่างได้แก่ดวงดาว ฟันเฟืองครึ่งเสี้ยว และมีดดาบ (Machete) ถ้าลองสังเกตดีดี สัญลักษณ์เหล่านี้จะคล้ายคลึงกับสัญลักษณ์เคียวและค้อน บนธงของสหภาพโซเวียต เพราะหลังจากที่ได้รับเอกราชแล้ว แองโกลาได้ใช้แนวคิดคอมมิวนิสต์ในการปกครองประเทศ และสหภาพโซเวียตก็เป็นพันธมิตรสำคัญของประเทศนี้
1
สัญลักษณ์ดวงดาว ฟันเฟืองครึ่งเสี้ยว และมีดดาบ สื่อถึงประชากรทุกภาคส่วนของประเทศ (Source: https://wdrfree.com)
ผู้ออกแบบธงของแองโกลาชื่อว่า Henrique Onambwe ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของแองโกลาหลังได้รับเอกราช ซึ่งเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากธงของพรรค MPLA หรือ People’s Movement for Liberation of Angola พรรคการเมืองที่ครองอำนาจหลังจากที่สงครามกลางเมืองของแองโกลาสิ้นสุดลง
ธงของพรรค MPLA (Source: wikipedia)
แน่นอนว่าฟันเฟืองเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงแรงงาน ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ส่วนมีดดาบเป็นตัวแทนของแรงงานในภาคเกษตรกรรม ส่วนดวงดาวเป็นตัวแทนของชนชั้นแรงงานอื่น ๆ ดังนั้นสามสิ่งรวมกันก็จะสื่อถึงประชากรของประเทศจากทุกภาคส่วน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาประเทศ ส่วนสีเหลืองที่ใช้เป็นสีของสัญลักษณ์ทั้งสาม สื่อถึงความร่ำรวยทางทรัพยากรของประเทศ
ที่น่าสนใจคือในปี 2003 มีการพยายามเสนอธงประจำชาติแบบใหม่ ที่สื่อถึงความเป็นแองโกลามาขึ้น โดยตรงกลางจะเป็นภาพวาดถ้ำเป็นรูปดวงอาทิตย์ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพวาดในถ้ำ Tchitundo-Hulu ในแองโกลา แต่น่าเสียดายที่หลังจากการโหวตในรัฐสภา ผลปรากฎว่าเสียงส่วนใหญ่ยังเห็นชอบให้ใช้ธงแบบเดิมอยู่
ธงแบบใหม่ที่มีการนำเสนอต่อรัฐสภาในปี 2003 แต่ไม่ได้รับเสียงข้างมาก (Source: wikipedia)
มาลองดูตราแผ่นดินของแองโกลากันบ้างดีกว่า
ตราแผ่นดินของแองโกลาในรูปแบบปัจจุบันถูกใช้เป็นครั้งแรกในปี 2010 และได้รับแรงบันดาลใจมาจากธงชาติของแองโกลาเช่นกัน
ตราแผ่นดินของแองโกลาในปัจจุบัน (Source: https://angolaembassy.or.tz)
เริ่มจากตรงกลางเป็นมีดดาบ และจอบที่วางซ้อนทับกันอยู่เป็นรูปกากบาท สื่อถึงภาคเกษตรกรรม และอาวุธพื้นเมืองที่คนพื้นเมืองหยิบจับขึ้นมา เพื่อต่อสู้ให้ประเทศได้รับเอกราชและหลุดพ้นจากการกดขี่ของเจ้าอาณานิคม ส่วนดวงดาวด้านบนสื่อถึงการปกครองแบบสังคมนิยมและความก้าวหน้า
ด้านหลังใน Background จะเป็นรูปดวงอาทิตย์ส่องแสงบนท้องฟ้าสีคราม สื่อถึงความหวังและการเริ่มต้นอันรุ่งโรจน์ ในขณะที่หนังสือสีขาวด้านล่างสื่อถึงการศึกษา และหน้ากระดาษอันว่างเปล่าสื่อถึงความพร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา
กรุง Luanda เมืองหลวงของแองโกลา หนึ่งในเมืองที่เติบโตเร็วที่สุดในแอฟริกา (Source: trip.com)
กรอบที่ล้อมอยู่แบ่งออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งขวาเป็นฟันเฟืองครึ่งวงกลมสื่อถึงภาคอุตสาหกรรม ส่วนฝั่งซ้ายเป็นพืชพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีความสำคัญกับแองโกลาได้แก่ข้าวโพด กาแฟ และฝ้ายตามลำดับ เรียงกันเป็นครึ่งวงกลม และด้านล่างสุดก็เป็นภาษาโปรตุเกส ภาษาราชการของแองโกลา เขียนว่า Republica de Angola หรือ สาธารณรัฐแองโกลานั่นเอง
ขอพูดถึงกาแฟซักเล็กน้อยนะครับ ในช่วงที่โปรตุเกสปกครองแองโกลา แองโกลาเคยเป็นผู้ผลิตกาแฟอันดับสามของโลก ก่อนที่โปรตุเกสจะย้ายฐานการปลูกไปยังประเทศบราซิล ในปัจจุบันทางรัฐบาลจึงมีความพยายามในการที่จะทำให้อุตสาหกรรมกาแฟฟื้นตัวอีกครั้งหนึ่ง เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน และเพชร
กาแฟ ถือเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของแองโกลา (Source: https://www.verangola.net)
ไหน ๆ ก็ไหน ๆ ขอพูดถึงตราแผ่นดินสมัยที่แองโกลาเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกสซักนิด ในตอนที่โปรตุเกสไปปกครองดินแดนอื่น ๆ จะมีการกำหนดตราแผ่นดินให้กับดินแดนในอาณานิคมเหล่านั้นด้วย โดยจะมีแม่แบบหลักอยู่คือตราแผ่นดินของโปรตุเกสเองที่มีลักษณะเป็นวงแหวนจักรวาลอยู่เบื้องหลัง ด้านบนเป็นยอดปราสาท 7 ยอด ซึ่งจะขอยกยอดไปอธิบายตอนที่พูดถึงตราแผ่นดินของโปรตุเกส
ตราแผ่นดินของแองโกลา ตอนที่อยู่ใต้อาณานิคมของโปรตุเกส (Source: wikipedia)
ที่น่าสนใจคือสัญลักษณ์โล่ตรงกลาง ในตัวโล่นั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ด้านซ้ายจะเป็นสัญลักษณ์โล่เล็ก ๆ สีน้ำเงิน 5 อัน เหมือนกับที่อยู่บนตราแผ่นดินของโปรตุเกส ส่วนด้านล่างจะเป็นสัญลักษณ์คลื่นทะเลสีเขียวสลับขาว เพื่อสื่อว่าดินแดนนี้คือดินแดนโพ้นทะเลของโปรตุเกส
แต่ส่วนด้านขวาจะเป็นสัญลักษณ์ที่แตกต่างกันไปของแต่ละอาณานิคม ของแองโกลาจะเป็นรูปช้าง และม้าลายสีทอง บนพื้นหลังสีม่วง ส่วนประโยคด้านล่างจะเขียนว่า Provin Portuguesa de Angola หรือ Portuguese Colony of Angola
แท่นขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งของแองโกลา แหล่งรายได้หลักในปัจจุบันของประเทศ (Source: Pinterest)
จบไปแล้วนะครับกับเรื่องราวของธงและตราแผ่นดินของแองโกลา ครั้งหน้า Kang's Journal จะขอพาทุกคนข้ามหาสมุทรแอตแลนติค ไปยังทะเลแคริบเบียนกันกันบ้าง ฝากติดตามกันด้วยนะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา