4 พ.ย. 2022 เวลา 02:24 • ไลฟ์สไตล์
“ถ้าจิตเราตั้งมั่นขึ้นมา มีสมาธิ
มันเห็นทันทีเลยร่างกายไม่ใช่เรา
อันนี้ง่ายที่สุดเลย
ที่ยากคือการเห็นว่าจิตใจไม่ใช่เราต่างหาก”
“ … พวกเราตั้งอกตั้งใจ อยู่กับเครื่องอยู่ของเราไป
ทำอย่างอื่นไม่ได้ ก็ท่องสวดมนต์ในใจไปเรื่อยๆ
เดี๋ยวใจก็มีกำลังขึ้นมา
ภาวนาของเราไปเรื่อยๆ แล้วถ้าจิตเรามีกำลัง ตั้งมั่น เด่นดวงดีแล้ว ก็เจริญปัญญา
การเจริญปัญญา อันแรกเลยพยายามรู้สึกตัวเข้าไว้
การเจริญปัญญาคือการเรียนรู้ความจริงของกาย
คือการเรียนรู้ความจริงของใจ
กายกับใจของเรานี้ ที่เรารู้สึกว่ามันเป็นตัวเรา มันเป็นของเรา อย่างเหนียวแน่น เราจะมาเจริญปัญญาให้เห็นความจริงของกาย ให้เห็นความจริงของใจ เราก็ต้องเห็นกายเห็นใจให้ได้เสียก่อน
ก่อนที่จะเห็นความจริงของกายของใจ มี 2 สเต็ป
เราจะรู้ความจริงของกายของใจได้
ขั้นแรกเลยเราต้องรู้กายรู้ใจให้ได้
รู้สึกกาย รู้สึกใจ
ถ้าเราไม่รู้สึกกาย ไม่รู้สึกใจ
จิตเราหลงไปอยู่ในโลกของความคิด
มีกายก็ลืมกาย มีใจก็ลืมใจ มันภาวนาไม่ได้
เจริญปัญญาไม่ได้
เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามรู้สึกตัวเอาไว้
คอยรู้สึกกายรู้สึกใจไว้
เมื่อวานหรือเมื่อวานซืน หลวงพ่อยังสอนพระองค์หนึ่งเลย พระในนี้ จะสึก หลวงพ่อบอกว่า “เอาไปทำนะ 2 อันให้เกี่ยวกับกาย”
แค่รู้สึก
ข้อหนึ่งรู้สึกถึงความมีอยู่ของกาย
แค่รู้สึกถึงความมีอยู่ของกาย
ไม่ใช่ไปนั่งเพ่งกาย
อย่างนี้เราก็รู้สึกได้ถึงความมีอยู่ของกาย
อันที่สองรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกาย
ทีแรกเรารู้สึกอย่างนี้ มันมีกายอยู่
แล้วเราก็รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกาย
เป็นสเต็ปที่ 2
เช่น ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก
ร่างกายยืน รู้สึก ร่างกายเดิน ร่างกายนั่ง ร่างกายนอน รู้สึก
ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก
ร่างกายคู้ ร่างกายเหยียด รู้สึก
ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึก
เกี่ยวกับกายนี้เราทำ 2 อัน
อันหนึ่งรู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกาย
อันที่สองรู้สึกเท่าทัน ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของร่างกาย
คอยรู้คอยดู นี้พูดภาษามนุษย์ธรรมดาในยุคนี้
ถ้าพูดภาษาบาลีอะไรต่ออะไร ฟังแล้วต้องแปลเป็นไทย
พอแปลแล้ว ก็ต้องมาแปลไทยเป็นไทยอีกรอบหนึ่ง
เพราะภาษาที่เราแปลบาลีนั้น เป็นภาษาสมัยรัชกาลที่ 5 เราฟังไม่ค่อยรู้เรื่องแล้ว ฟังแล้วไม่ค่อยเข้าใจความหมาย
ถ้าพูดง่ายๆ เลย รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกาย
รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของร่างกาย
คอยรู้สึกๆ ไปเรื่อย ต่อไปปัญญามันจะเกิด
มันจะเห็นเลยร่างกายนี้ไม่เที่ยง
ร่างกายนี้เป็นทุกข์ ร่างกายเป็นอนัตตา
ในส่วนของการเจริญปัญญาทางจิตใจทำอย่างไร
ก็มีหลัก 2 ตัวเหมือนกัน
รู้สึกถึงความมีอยู่ของจิตใจ
ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายอะไรมีอยู่ รู้สึก
จิตใจมีอยู่ รู้สึก
รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของจิตใจ นี่อีกช็อตหนึ่ง
ดูกายแล้วก็รู้สึกถึงความมีอยู่ของกาย
รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกาย
ดูจิตเรารู้สึกถึงความมีอยู่ของจิต
รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิต
ง่ายๆ ยากไหม ที่จะรู้สึกว่าเรามีร่างกายอยู่ในขณะนี้
ยากไหมที่จะรู้สึกว่าร่างกายกำลังนั่งอยู่
แค่รู้สึก ไม่ได้นั่งเพ่ง
ถ้านั่งเพ่งเครียดๆ ทำผิดแล้ว
หลวงพ่อใช้คำว่า “รู้สึก” แค่รู้สึก
เลี่ยงคำว่า “เห็น” เลี่ยงคำว่า “ดู”
เพราะพวกเราพอบอกให้ดู ก็ดูเอาเป็นเอาตาย
มันกลายเป็นเพ่ง
ให้เห็นก็พยายามจะเห็น สอดส่ายใหญ่ จิตใจยิ่งวุ่นวาย
ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่รู้สึก
รู้สึกไหมว่าเรามีร่างกายอยู่
ใครไม่รู้สึกว่ามีร่างกายอยู่ ไปหาหมอโรคจิตเลย แค่นี้รู้สึกไม่เป็น
1
รู้สึกไหมร่างกายเคลื่อนไหว แค่รู้สึก
แค่รู้สึกไม่ใช่ต้องมากำหนด
คันหัว กึกๆๆ เคลื่อนมาทางนี้ยังไม่ถึงหัวเลย
หัวหายคันไปแล้ว ไม่ได้กินหรอกอย่างนั้น
สรุปก็คือ ถ้าเราอยากเจริญปัญญา
รู้สึกถึงความมีอยู่ของกาย
รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกาย
รู้สึกถึงความมีอยู่ของจิตใจ
รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิตใจ
จิตใจเราก็เคลื่อนไหว
เดี๋ยวก็เคลื่อนไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เดี๋ยวเคลื่อนไปคิด เคลื่อนไปเพ่ง
เคลื่อนไปแสวงหาว่าจะดูอะไรดี
เคลื่อนไปอดีต เคลื่อนไปอนาคต
อันนี้พูดคำว่า “เคลื่อน” พูดในลักษณะที่เรารู้สึกอย่างนั้น
ในความจริงแล้วมันไม่มีการเคลื่อน
จิตเกิดที่ไหนดับที่นั้น
แต่ว่าอันนั้นเอาไว้ค่อยเรียนทีหลัง
ตอนนี้เราเห็นเท่าที่เราเห็นได้
เราเห็นว่าจิตเราเคลื่อนไปทางตา เคลื่อนกลับมา
เคลื่อนไปทางหู เคลื่อนกลับมา
เคลื่อนไปอดีตแล้วก็กลับมา
เคลื่อนไปอนาคตแล้วก็กลับมา
นี่เราเห็นความเคลื่อนไหวของมัน
เห็นความเปลี่ยนแปลงของมัน
เดี๋ยวมันก็สุข เดี๋ยวมันก็ทุกข์
เดี๋ยวมันก็ดี เดี๋ยวมันก็ร้าย
คอยรู้สึกไปอย่างนี้
เพราะฉะนั้นเรามีกาย เราก็รู้สึกถึงความมีอยู่ของกาย ไม่ลืม
เวลาเราใจลอย กายเราก็มีอยู่แต่เราไม่รู้สึก อย่างนั้นไม่ได้เรื่อง
แล้วก็รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกาย
ในทางจิตใจ เราก็รู้สึกถึงความมีอยู่ของจิตใจ
เห็นมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้
เราก็รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของจิตใจ
รู้สึกไปเรื่อยๆ ถึงวันหนึ่งปัญญามันจะปิ๊งขึ้นมา
โอ้ กายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
จิตก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ไม่มีตัวเราในร่างกายนี้
ไม่มีตัวเราในจิตใจนี้
ไม่มีตัวเราในที่ไหนเลย
นี่พูดภาษาของปีนี้ ปีต่อไปก็อาจจะเปลี่ยน
เพราะต้องเปลี่ยนภาษาไปเรื่อยๆ
ตามพัฒนาการทางภาษา
อย่างศัพท์หลายคำเป็นคำที่ดีๆ พัฒนาไปสู่ความย่ำแย่มาเป็นลำดับๆ อย่างเวียนเทียน เวียนเทียนเมื่อก่อนเป็นกิจกรรมดี เอามาใช้ในทางเสียหาย
“มโน” แปลว่า “ใจ” ก็เอามาใช้เป็นเรื่องคิดเอาเอง ฟุ้งซ่าน ศัพท์ธรรมะเสียหายไปหมดเลย
ส่วนศัพท์ที่ไม่ดีก็เอามาทำให้ดี อย่างคำว่า “มานะ” เป็นชื่อของกิเลส ความถือตัว เราก็ไปคิดว่ามานะนี้ดี คนเราต้องมีมานะ พยายามอะไรอย่างนี้ ภาษามันเคลื่อน
ฉะนั้นเราอยากสื่อกับคนในรุ่นไหน
เราก็ใช้ภาษาของคนรุ่นนั้น มันก็สื่อกันได้
ถ้าไปใช้ภาษาคลาสสิก ภาษาในคัมภีร์ไม่มีใครฟังรู้เรื่อง
ลองไปอ่านดู ฟังยาก ต้องแปล
สรุปง่ายๆ รู้สึกถึงความมีอยู่ของกาย
รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของกาย
รู้สึกถึงความมีอยู่ของจิตใจ
รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิตใจ
รู้สึกไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งปัญญามันจะเกิด
กายนี้ ใจนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ไม่มีตัวเราตรงไหน
ที่เราบังคับได้สักอย่างเดียวเลย
กายไม่ใช่เรา
รู้สึกลงไปในกายที่หายใจอยู่เคลื่อนไหวอยู่ มันรู้สึกทันที
ถ้าจิตเราตั้งมั่นขึ้นมา มีสมาธิ
มันเห็นทันทีเลยร่างกายไม่ใช่เรา
อันนี้ง่ายที่สุดเลย
ที่ยากคือการเห็นว่าจิตใจไม่ใช่เราต่างหาก
งานยิ่งใหญ่ที่เราต้องทำ
เพราะฉะนั้นคนไหนเรียนไม่เก่ง ก็เรียนไปตามลำดับ เรียนชั้นประถม ชั้นมัธยม ชั้นอุดมศึกษา ถ้าเรียนเก่งก็สอบเทียบเอา พรวดเดียวจบปริญญาไปแล้ว
ถ้าเรียนตามลำดับก็ดูกายดูอะไรไป ค่อยๆ ดูเป็นชั้นๆ ไป
จนกระทั่งเข้าใจกายแล้วก็มาดูเวทนา
เข้าใจเวทนาแล้วก็มาดูสังขาร
เข้าใจสังขารแล้วมาดูจิตไป
แต่ถ้าเรามีกำลังพอ เราดูเข้ามาเลย
รู้สึกถึงความมีอยู่ของจิต
รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิต
รู้สึกเรื่อยๆ พอมันปิ๊งขึ้นมา จิตไม่ใช่เรา
พอเห็นตรงนี้เท่านั้น
ขันธ์ 5 จะไม่เป็นเราแล้ว
เพราะขันธ์ 5 นั้นมันเกิดขึ้นมาด้วยจิต
โลกนี้ จักรวาลนี้มีขึ้นมาได้ก็เพราะจิตไปรับสัมผัสเข้า
ถ้าจิตไม่ใช่เราแล้ว
ศูนย์กลางของจักรวาลคือจิตนั่นล่ะ ไม่ใช่เราแล้ว
ทั้งจักรวาลมันก็ไม่ใช่เรา มันก็จะล้างความเห็นผิด
ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ไม่มีเราในขันธ์ 5
ไม่มีเรานอกเหนือจากขันธ์ 5 ไม่มีเราที่ไหนเลย
ตรงนี้เราจะได้ธรรมะขั้นต้นเป็นพระโสดาบันแล้ว
ต่อไปเราก็ดูอย่างเดิมนั่นล่ะ ดูไปเรื่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ
สติปัญญามันแก่กล้าขึ้น
มันก็จะเห็นความจริงที่ลึกซึ้งขึ้นไปอีก
ร่างกายที่ว่ามันไม่ใช่เรา แล้วมันเป็นอะไร
ร่างกายที่มันไม่ใช่เรานั้น มันเป็นอะไร
มันเป็นทุกข์ พอเห็นตรงนี้เท่านั้น มันวางกายเลย
ปล่อยวางกายได้ อันนี้ภูมิธรรมของพระอนาคามี
ปล่อยวางกาย มันก็วางตา หู จมูก ลิ้น กายด้วย
เมื่อตายังวางรูปมันก็วาง
เมื่อหูมันวางเสียงมันก็วาง
มันก็วางรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกายไปหมด
เมื่อมันไม่ยินดียินร้าย
มันวางตา หู จมูก ลิ้น กาย
มันวางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะคือสิ่งสัมผัสกายแล้ว
ความยินดีคือกามฉันทะในรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ไม่มี
ความยินร้ายคือปฏิฆะในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ไม่มี
นั่นล่ะคือภูมิธรรมของพระอนาคามี
ในขั้นสุดท้ายมันจะมาแตกหักลงที่จิต
เราก็อาจจะปฏิบัติเหมือนเดิม
ดูกายของเราถ้าเราถนัดดูกาย ก็ดูไปเรื่อยๆ
ท่านพระอานนท์ ในคืนสุดท้ายที่จะบรรลุพระอรหันต์
ท่านยังอยู่กับกายเลย
ดูกายๆๆ ท่านแจ่มแจ้งแล้วว่ามันคือทุกข์
ดูมันไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่ง ท่านก็เห็นจิตมันก็ทุกข์เหมือนกัน ก็วาง
วางทั้งกาย วางทั้งจิต ก็จบกิจในพระพุทธศาสนาตรงที่วางได้
ฉะนั้นจุดสุดท้ายของเราคือวาง
พอวางแล้วก็เข้าถึงความสุข ความสงบ เข้าถึงความว่าง
ความว่างไม่ใช่ว่างเปล่า ความว่างเปล่ามันแห้งแล้ง
หรือว่างแบบสมาธิ มันก็แบบ แหม เคลิ้มมีความสุข
อย่างนั้นยังไม่ว่าง
ความว่างที่แท้จริงนั้น มันไม่มีอะไรเปรียบ
ค่อยๆ ฝึก แล้วค่อยๆ พัฒนาตัวเองไป เส้นทางนี้ยาวไกล
เส้นทางนี้ยากลำบาก ต้องอดทน
แต่ไม่เหลือวิสัยที่คนธรรมดาอย่างพวกเราจะทำได้
เพราะธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอน
เป็นธรรมะที่พอดีที่มนุษย์ที่ใฝ่ดีจะทำ ทำได้
ทำไมพระพุทธเจ้าเลือกเกิดในภูมิของมนุษย์
เกิดในภพมนุษย์ ทำไมต้องมาเกิดภพนี้
ทำไมพระพุทธเจ้าไม่ไปตรัสรู้ที่อื่น มาตรัสรู้ในภพของมนุษย์
มันเป็นภพกลางๆ อย่างที่บอกแล้ว
เป็นภพที่ง่ายต่อการปฏิบัติ
เพราะฉะนั้น ธรรมะที่ท่านสอนเรา
เป็นสิ่งซึ่งมนุษย์ที่ใฝ่ดีจะขวนขวายปฏิบัติได้
เพราะฉะนั้นงานสุดท้ายของพวกเรา คือปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ตั้งอกตั้งใจเข้าไป วันหนึ่งเราก็จะได้ของดีของวิเศษ
เราจะรู้เลยสิ่งที่คนในโลกเขาแย่งชิงกันนั้น โง่ที่สุดเลย
อย่างสมมติว่าแย่งสาวงาม มันแย่งอะไร
มันแย่งหนังหุ้มกระดูก ข้างในเต็มไปด้วยของสกปรก
แย่งกันแทบเป็นแทบตาย
หรือพยายามหลอกลวงตัวเอง
หน้าเหี่ยวก็ไปฉีด Botox หนังหน้ายานไปก็ดึงให้ตึง
จมูกไม่โด่งก็ไปผ่าตัด ไปทำอย่างโน้นทำอย่างนี้
มันหลอกตัวเองได้ แต่มันหลอกความแก่ไม่ได้
รูปร่างยังดูเป็นสาวอยู่ แต่เครื่องในมันทรุดโทรม
หลอกไม่ได้จริง
ฉะนั้นคนในโลกเขาก็หลงๆ ไป
เราลูกหลานพระพุทธเจ้า อย่าไปหลงกับมัน
ทรัพย์สินเงินทองมีพออยู่พอกินได้ดีที่สุดแล้ว
วางแผนเผื่ออนาคตด้วย
ไม่ใช่บอกปล่อยวาง อนาคตเป็นอย่างไรช่างมัน นั้นไม่ใช่
เป็นฆราวาสต้องรู้จัก
พระพุทธเจ้ายังสอนให้รู้จักอดออม รู้จักลงทุน รู้จักอะไร
ฉะนั้นเราก็ทำตามหน้าที่ของเรา แล้วพัฒนาตัวเองไป
เราอยู่ในโลกนี้ชั่วคราว
เรามาอยู่ในโลกนี้เพื่อพัฒนาจิตใจตนเอง
ให้พ้นจากวงเวียนวัฏฏะของความทุกข์ทั้งหลาย
เรามีงานที่ยิ่งใหญ่ที่เราจะต้องทำ
เราผ่านความยากลำบากมามากมายแล้ว
จนกระทั่งได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีศรัทธา
ได้เข้าใกล้ครูบาอาจารย์ ได้ฟังธรรม
ทำชิ้นสุดท้ายของเราให้ดี
ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม
อย่างที่ว่ามาทั้งวันตั้งแต่เช้านี้ ฟังไม่ทันก็ไปดู YouTube เอา
สักประเดี๋ยวเขาก็จะเอาไปขึ้นให้ฟังแล้ว ฟังแล้วฟังอีก
ปกติสิ่งที่หลวงพ่อสอนแต่ละครั้ง เกือบทั้งหมด
ธรรมะแต่ละกัณฑ์เกือบๆ ทุกๆ กัณฑ์ เกือบ ไม่ทั้งหมดหรอก
กัณฑ์เดียวเรื่องเดียว พอจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
เพราะสิ่งที่สอนไม่ได้มีการเก็บออม ซ่อนเร้น เคล็ดวิชาชั้นสูงเอาไว้
ไม่ได้ซ่อนไว้ ให้หมดแล้ว
อยู่ที่เรารับได้แค่ไหนต่างหาก
ไปทำเอา ชีวิตจะได้ร่มเย็นเป็นสุข …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
29 ตุลาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา