29 พ.ย. 2022 เวลา 02:00 • หนังสือ
Stop Talking, Start Influencing: เลิกพร่ำพูด เริ่มโน้มน้าวได้แล้ว
หนังสือ Stop Talking, Start Influencing หรือ ฉบับแปลในชื่อ เลิกพร่ำพูด เริ่มโน้มน้าวได้แล้ว ผู้เขียน จาเรด คูนีย์ ฮอร์วาธ เล่มนี้เป็นหนังสือ ฮาวทู (How to) ที่เรียกได้ว่า ยอดเยี่ยม มาก ๆ ทำไมนะหรือ ปกติหนังสือ ฮาวทู ทั่ว ๆ ไป จากบอกเพียงแค่ What และ How กล่าวคือ บอกว่า จะต้องทำ ”อะไร” และ “อย่างไร” จึงจะประสบผลลัพธ์ที่ดี แต่มักละเลยเหตุผลหรือที่มาที่ไปของการกระทำเหล่านั้น แต่หนังสือเล่มนี้ อธิบายถึงที่มาที่ไป หรือ “ราก” ของ อะไร และ อย่างไร นั่นคือ การบอก Why หรือ “ทำไม” ด้วยนั่นเอง
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ (scientific evidence) มาอธิบายว่า อะไรอยู่เบื้องหลังเทคนิคการโน้มน้าวจิตใจผู้คนอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านมุมมองของวิทยาศาสตร์สมอง (neuroscience) เกิดอะไรขึ้นกับสมอง เมื่อเราใช้เทคนิคเหล่านั้น ทำให้เมื่ออ่านเรื่องเทคนิคการโน้มน้าวผู้คนแล้ว จึงรู้ว่า อะไรคือเบื้องหลัง ของเทคนิคเหล่านั้น ทำไมทำเช่นนั้นจึงได้ผลดี สามารถนำไปใช้ได้จริง และอะไรควรหลีกเลี่ยง ในแต่ละหัวข้อ มี What Why และ How ครบถ้วน
เทคนิคในการโน้มน้าวผู้คน โดยสรุป มีทั้งหมด 12 ข้อ ดังนี้ (ส่วนเหตุผล คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์สามารถไปหาอ่านเพิ่มเติมจากไหนหนังสือ)
1. Text + Speech: เป็นไปไม่ได้เลยที่จะอ่านคำหรือประโยคไปพร้อม ๆ กับฟังคนพูด เพราะฉะนั้นแล้ว เวลาทำสไลด์พรีเซนเตชั่น นำเสนอผลงาน อย่าได้ใส่ตัวหนังสือในสไลด์เยอะ เต็มหน้าจอ เพราะผู้ฟังนั้น จะอ่านสไลด์ แต่ไม่ฟังสิ่งที่เราพูด เพราะการอ่าน และการฟัง ใช้วงจรสมองร่วมกัน จึงเกิดขึ้นพร้อมกันได้ยาก
2. Image + Speech: การฟังไปพร้อม ๆ กับดูรูปภาพ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้และการจดจำ การใช้รูปภาพแทนประโยคยาว ๆ ในสไลด์นำเสนอผลงาน ช่วยให้ผู้ฟังจดจำได้ดีกว่า เห็นสไลด์ที่มีตัวหนังสือ (เพราะผู้ฟังจะอ่าน และไม่ฟังเรา)
3. Space: การจัดหน้า layout นำเสนอผลงาน ในรูปแบบที่ ให้ผู้ชมคาดเดาได้ ช่วยลดภาระสมอง (cognitive load) และเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้และการจดจำได้ ลองจัดทำสไลด์นำเสนอที่มีโครงสร้าง มีหัวข้อหลักและหัวข้อย่อย เหมือนเป็นไกด์ ให้ผู้ชม ติดตาม และคาดการณ์ได้ว่า จะมี่อะไรในหน้าถัด ๆ ไป ทำให้ผู้ชมติดตามได้ง่ายขึ้น และจดจำเนื้อหาได้ดีขึ้น
4. Context/State: สถานที่ และ ความรู้สึก ที่เกิดขึ้นระหว่างการฝึกและการเรียนรู้ มีส่วนสำคัญในการจดจำและการเรียนรู้ ตัวอย่าง ถ้าได้ลองซ้อมในสนามแข่งจริง นักกีฬา มักทำผลงานได้ดีขึ้น หรือ การเล่นฟุตบอลในสนามเหย้า ผู้เล่นมักทำผลงานได้ดีกว่า การไปเยือนในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย
5. Multi-tasking: มนุษย์ไม่สามารถทำงานแบบ มัลติทาสก์ (multi-task) ได้ การทำมัลติทาสก์ทำให้การเรียนรู้ของเราแย่ลง เพราะต้องสวิตช์สมองสลับไปมา ทำให้งานที่ทำ แย่ลง เพราะไม่ได้โฟกัสเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเต็มที่
6. Interleave: การเรียนรู้แบบแทรกสลับ (interleaving) หมายถึงการเรียนร็ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน โดยเรียนแบบแทรกสลับ ผสมกัน ตัวอย่างเช่น เวลาเล่นเทนนิส การฝึกทักษะ backhand จนเสร็จแล้วต่อด้วย forehand แทนที่จะฝึกพร้อม ๆ กัน การทำเช่นนี้จะส่งเสริมให้เราเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้น มีความทรงจำยาวนานขึ้น ระบบประสาทเชื่อมโยงได้ดีขึ้น จนสุดท้ายสามารถรวมความรู้และทักษะเข้าด้วยกันได้อย่างราบลื่น
7. Error: ความเชื่อที่ว่า “ผิดเป็นครู” ส่งเสริมการเรียนรู้ การจดจำ และทักษะในการคาดการณ์อนาคต เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรให้สมบูรณ์แบบในตั้งแต่ต้น แต่เมื่อรู้ว่า ทำผิด ก็เรียนรู้ และพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น ไม่ผิดซ้ำสอง เน้นการให้ข้อมูลป้อนกลับ หรือ feedback เพื่อแก้ไขสิ่งที่เข้าใจผิด
8. Recall: การดึงความทรงจำออกมาใช้งาน (recall) ตัวอย่างเช่น เมื่ออ่านหนังสือเสร็จ ก็ถามคำถามตัวเอง ว่ามีเนื้อหาสำคัญอะไรบ้าง และลองเขียนออกมา การทำเช่นนี้ จะช่วยให้เราจดจำได้ดีขึ้น นานขึ้น และนำออกมาใช้งานได้ง่ายขึ้น (จดจำได้ดีกว่าการ review หรือ การ recognition)
9. Priming: การออกแบบการเรียนรู้หรือการโน้มน้าวผู้คน โดยอาศัย ความรู้เดิม ที่ผู้ฟัง มีอยู่ และต่อยอดจากความรู้เดิมนั้น ช่วยให้ ผู้ฟัง เรียนรู้ได้ดีขึ้น และเราสามารถโน้มน้าวผู้อื่น ได้ดีขึ้น
10. Story: เรื่องเล่าที่ดี ช่วยกระตุ้นความเข้าใจ การสร้างความจำ และกระบวนการคิด
11. Stress: ความเครียดที่ไม่มากไปหรือน้อยไป (moderate stress) กระตุ้นการเรียนรู้และความจำ
12. Distribution: การเรียนรู้แบบ spacing learning หรือ การทบทวนเนื้อหาเป็นระยะ ๆ ช่วยพัฒนาความจำและส่งเสริมการเรียนรู้ ความจำของมนุษย์จะเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา (forgetting curve) การทบทวนเรื่องเดิม เป็นระยะ ๆ ช่วยให้ เราจดจำ ได้ติดคงทนและนานยิ่งขึ้น
หนังสือเล่มนี้ เหมาะกับทุกคน โดยเฉพาะบุคคลที่ต้องอาศัยการโน้มน้าวผู้คนในการทำงาน ตัวอย่างเช่น ผู้นำ โค้ช ครูอาจารย์ พนักงาน รวมทั้ง ผู้สร้างสรรค์ผลงานหรือเนื้อหา ในโลกอินเตอร์เน็ต อยากให้อ่านเล่มนี้และลองนำไปใช้ดูครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา