Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อ่าน เขียน เรียน รู้
•
ติดตาม
6 ธ.ค. 2022 เวลา 02:00 • หนังสือ
สู่จุดสูงสุดของชีวิตด้วยพีระมิดสามสุข The Three Hapiness
เมื่อเปรียบชีวิตดังการสร้างพีระมิด ชีวิตจะเป็นสุขได้ แข็งแกร่ง ไม่พังทลายลงมาง่าย ๆ เราต้องสร้างฐานพีระมิดให้แข็งแรง ผู้เขียน ชิออน คาบาซาวะ เปรียบเปรยชีวิตได้เห็นภาพมาก ๆ เข้าใจได้โดยง่าย
สำหรับฐานล่างของพีระมิด คือ สุขภาพกาย สุขภาพใจ เป็นความจริงสำหรับคนส่วนใหญ่ว่า สุขภาพ คือ รากฐานของชีวิตที่ดี ถ้าสุขภาพดีแล้ว ชีวิตในด้านบนของพีระมิด อันได้แก่ ความรัก ความสัมพันธ์ ชื่อเสียง เงินทองหรือหน้าที่การงาน ก็สามารถสร้างต่อเป็นยอดได้สูงไปเรื่่อย ๆ โดยไม่มีอะไรต้องกังวล
นอกจากการเปรียบเปรยว่าชีวิตเป็นดังเช่นพีระมิดแล้ว ผู้เขียนซึ่งเป็นจิตแพทย์ ยังเปรียบ ชีวิตและความสุขในแต่ละลำดับขั้นของพีระมิดกับสารสื่อประสาทสำคัญในสมองที่สัมพันธ์กับความสุข กล่าวคือ
สุขภาพกาย สุขภาพใจ คือ ความสุขแบบเซโรโตนิน
ความรัก ความสัมพันธ์ การเชื่อมต่อผู้คน คือ ความสุขแบบอ็อกซิโตซิน
ชื่อเสียง เงินทอง หน้าที่การงาน คือ ความสุขแบบโดพามีน
การเปรียบเทียบดังกล่าว เมื่อนำมาเทียบกับสรีรวิทยาของสมองและร่างกาย จะพบว่ามีความสัมพันธ์กันเช่นนั้นจริง ๆ (แม้ว่าในความเป็นจริง การทำงานของสารสื่อประสาทเหล่านี้สลับซับซ้อนมากและมีสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมีจำนวนมากกว่านี้) ผู้เขียนเชื่อมโยง วิธีการ กิจกรรม และแนวทาง ที่ส่งเสริมการสร้างฮอร์โมนความสุข ในแต่ละระดับชั้นของพีระมิดออกมา ชี้แนะแนวทางตามสไตล์ how to ญี่ปุ่น ซึ่งเข้าใจง่าย และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
ถ้าใครเคยได้ยินทฤษฎีของมาสโลว์ หรือ ลำดับขั้นความต้องการ (Maslow’s Hierachy of Needs) ซึ่งเป็นทฤษฎีจิตวิทยา ที่ Abraham H. Maslow คิดขึ้น เมื่อ ค.ศ.1943 ระบุว่า มนุษย์มีความต้องการ 5 ด้าน โดยเรียงลำดับจากขั้นต่ำไปสู่ขั้นสูง ร้อยเรียงขึ้นไป ดังเช่นพีระมิด เมื่อได้รับการตอบสนองจนพอใจในขั้นหนึ่งแล้ว จะเกิดความต้องการในลำดับขั้นสูงต่อไป
โดยลำดับของความต้องการพื้นฐาน 5 ขั้น จากลำดับล่างไปสู่จุดสูงสุดมีดังนี้
1. ความต้องการพื้นฐานทางด้านร่างกาย (Physiological Needs)
2. ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย (Safety Needs)
3. ความต้องการความรักและสังคม (Belonging and Love Needs)
4. ความต้องการการได้รับการยกย่องนับถือในตนเอง (Esteem Needs)
5. ความต้องการพัฒนาศักยภาพของตน (Self-actualization)
จะเห็นได้ว่า “พีระมิดสามสุข” นั้น สอดคล้องหรือเรียกได้ว่า เหมือนพีระมิดลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ และอธิบายไปในทำนองเดียวกันว่า ฐานต้องดี ยอดหรือจุดสูงสุดจึงจะไปถึงได้
หนังสือเล่มนี้ถือว่าเป็นหนังสือ how to ความสุข ที่อ่านง่าย นำไปใช้งานได้ บางส่วนมีงานวิจัยรองรับ เหมาะกับคนส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามคิดว่า สำหรับบางคนที่ประสบปัญหาหนัก ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคทางกาย ทางจิตใจ หรือประสบปัญหาความสัมพันธ์ เศรษฐกิจการเงิน ที่สลับซับซ้อน เล่มนี้อาจจะช่วยอะไรได้ไม่มากนัก
ถึงกระนั้น จะลองอ่านก็ไม่เสียหายอะไร เนื้อหาบางเรื่องในเล่มนี้อาจช่วยคุณได้ไม่มากก็น้อย
missiontothemoon
ไลฟ์สไตล์
หนังสือ
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เรื่องเล่าจากหนังสือ
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย