22 พ.ย. 2022 เวลา 02:00 • สุขภาพ
หวานซ่อนตาย: The Case Against Sugar
หนังสือ หวานซ่อนตาย: The Case Against Sugar โดย Gary Taubes เป็นหนังสือเชิงสารคดีที่พาเราไปทำความรู้จัก “น้ำตาล” ในอีกมุมหนึ่ง ที่ไม่ใช่เพียงสารอาหารที่มีประโยชน์ สร้างพลังงาน และช่วยร่างกายให้มีแรงทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวัน แต่เป็นด้านมืดของน้ำตาล ในฐานะผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาคนสำคัญที่คร่าชีวิตมวลมนุษยชาติ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไปหลายล้านคน มันเป็นไปได้อย่างไรกัน น้ำตาลที่เรากินกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเนี่ยนะ หรือว่า เรากำลังจะเป็นเหยื่อรายถัดไป ของวายร้ายผู้นี้
เมื่อเปรียบ น้ำตาล เหมือนผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา หรือ จำเลย ของความผิดที่มันไปทำร้ายผู้คนมากมาย ที่บริโภคมันเข้าไป ดังนั้นจึงต้องนำ น้ำตาล มาขึ้นว่าความที่ศาล โดยนำหลักฐานเชิงประจักษ์ พยาน และข้อสนับสนุนว่าน้ำตาลเป็นจอมวายร้าย มากล่าวโทษ เพื่อให้ น้ำตาล ถูกลงโทษ และในทำนองเดียวกัน ตัวน้ำตาลเอง ก็มีทนาย หรือ ผู้สนับสนุน เช่นกัน ที่จะนำข้อมูลหรือเหตุผลมาหักล้าง สร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเอง การดำเนินการกระบวนการยุติธรรมนี้จะเป็นอย่างไร และผลการตัดสินจะเป็นเช่นไรนั้น หนังสือเล่มนี้จะให้คำตอบ
ทนายฝ่ายโจทก์ มีข้อสนับสนุนมากมายว่าน้ำตาล เป็นผู้ร้ายตัวจริง ที่ทำร้ายมนุษย์ จะเห็นได้จาก ในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา มีการปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ ร่วมกับการก่อกำเนิดของสังคมบริโภคนิยม มีการผลิตน้ำตาลจากโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น รวมทั้งการบริโภคน้ำตาลต่อหัวของประชากรมากขึ้นตาม เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการระบาดของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนหน้านี้ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเกาต์ และอื่น ๆ
ด้วยข้อมูลนี้เอง ทำให้ น้ำตาล ดูน่าจะเป็นผู้ต้องสงสัยมากที่สุด เนื่องจากมีความสอดคล้อง มีความสัมพันธ์ในเชิงบวกระหว่างการบริโภคน้ำตาลที่มากขึ้นและอุบัติการณ์ของโรคต่าง ๆ ที่พบมากขึ้นเช่นกัน
การเข้าไปแทรกซึมของสังคมเมืองและสังคมบริโภคนิยม สู่สังคมชนบทรวมทั้งสังคมชนเผ่าดั้งเดิม ก่อให้เกิดอุบัติการณ์ของโรคที่ไม่เคยพบหรือเคยมีมาก่อนในชุมชนเหล่านั้น เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน จนทำให้บางชนเผ่าล่มสลาย มีเหตุผลอันเชื่อได้ว่า เกิดจากคนในชนเผ่าดั้งเดิมได้สัมผัสลิ้มรสอาหารเหมือนคนในเมืองที่มีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบสำคัญ และมีปริมาณมาก นี่เองเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า น้ำตาล น่าจะเป็นผู้ร้ายอย่างไม่ต้องสงสัย
นอกจากนี้ น้ำตาล ยังมีคุณลักษณะสำคัญ เหมือนสารเสพติด คือ ยิ่งกินยิ่งติด มีข้อพิสูจน์ทั้งในการทดลองในสัตว์และการทดลองในทารกมนุษย์แสดงให้เห็นว่า น้ำตาล นั้นออกฤทธิ์คล้ายสิ่งเสพติดหรือสารมึนเมา สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำว่าน้ำตาล น่าจะเป็นผู้ร้ายที่เย้ายวนมนุษย์ให้ติดกับดัก และถูกเชือดในที่ท้ายที่สุด
น้ำตาลโดยเฉพาะน้ำตาลฟรักโทส รวมทั้งซูโครส มีบทบาทสำคัญก่อให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ และเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งทำให้เกิดโรคเบาหวานและโรคอ้วน รวมทั้งกลุ่มอาการเมตาโบลิก (metabolic syndrome) ตามมาอีกด้วย
มีการศึกษาทั้งการทดลองในสัตว์ และการศึกษาเชิงระบาดวิทยาในมนุษย์ เป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคน้ำตาลที่มากขึ้นและโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่ตามมา ทั้งหมดนี้เอง ย่อมเป็นหลักฐานที่มัดตัว วายร้ายน้ำตาล ที่ไม่น่าจะดิ้นหลุดออกจากคดีนี้ไปได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลักฐานจะทนโท่ เต็มตาเสียขนาดนั้น แต่ฝ่ายทนายจำเลยและผู้สนับสนุน อันได้แก่ บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาล นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ ผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ กับวงการอุตสาหกรรมน้ำตาล ต่างออกเสียงคัดค้านเสียงแข็ง พยายามหาเหตุผลที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์หรือเป็นวิทยาศาสตร์เทียมมาขัดแย้ง โดยในอดีตมีคำกล่าวอ้างว่า “แคลอรี่คือแคลอรี่” หมายถึง น้ำตาลคือสารอาหารที่ให้พลังงาน ไม่ได้ต่างจาก โปรตีนหรือไขมัน แล้วมันจะมีโทษได้อย่างไร (ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่จริง)
แถมเมื่อเทียบกับน้ำหนักสารอื่น ๆ เท่า ๆ กัน น้ำตาลให้พลังงานน้อยกว่าไขมันเสียอีก ความอ้วนเกิดจากพลังงานที่ได้มากเกินไป ซึ่งไขมันเป็นตัวการ มิใช่น้ำตาลหรอก นอกจากนี้ เมื่อมีการค้นพบว่า ไขมันโคเลสเตอรอลในหลอดเลือดเป็นเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด (ย้ำว่าในหลอดเลือด มิใช่ในอาหารโดยตรง) ก็มีการโบ้ยความผิด “ทั้งหมด” ไปให้ไขมันในอาหาร โทษว่า ไขมัน เป็นวายร้าย คนเดียว ตัว น้ำตาล เอง ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ซึ่งในอดีต สมาคมโรคหัวใจอเมริกายังมีส่วนสนับสนุนการกินอาหารไขมันต่ำ ทำให้น้ำตาลรอดตัวไป
นอกจากนี้ นักวิชาการผู้สนับสนุนน้ำตาล ที่มีอุตสาหกรรมน้ำตาลอยู่เบื้องหลัง ยังยกเหตุผลว่าทำไมน้ำตาลจึงมิใช่ผู้ร้าย โดยอ้างว่า การที่จะบอกว่า น้ำตาลเป็นผู้ร้ายนั้น ไม่สามารถสรุปได้จากงานวิจัยเชิงสังเกต เพราะบอกแค่ความสัมพันธ์ ไม่สามารถบอกความเป็นเหตุเป็นผลได้ จะต้องดำเนินการทดลองควบคุมแบบสุ่ม โดยแบ่งกลุ่มระหว่างกลุ่มที่บริโภคน้ำตาล และกลุ่มที่ไม่บริโภค ควบคุมปัจจัยอื่น ๆ และติดตามไป ซึ่งการทดลองเช่นนี้ กว่าจะเกิดผลลัพธ์ อันได้แก่ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั้งหลายนั้น อาจต้องติดตามไปยาวนาน 10-20 ปี
การทดลองดังกล่าวแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แถมยังไม่มีเงินทุนสนับสนุนการวิจัยเช่นนี้ ที่ต้องลงทุน ลงแรงมหาศาล ทำให้ไม่มีงานวิจัยเช่นนี้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ เหตุผลเช่นนี้ยิ่งทำให้ น้ำตาล อาจหลุดรอดจากคดีนี้ไปได้เสียอีก
ผู้เขียนได้เล่าเรื่อง วายร้ายผู้นี้ โดยสรุปคดี แบบไม่ได้เขียนตรง ๆ แต่พอจะเห็นภาพได้ว่า สุดท้ายแล้ว น้ำตาล ก็หลุดจากคดีนี้ไป แม้ว่าจะถูกเปิดโปงความชั่วร้ายทางสุขภาพต่าง ๆ แต่ผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังความโหดร้ายนี้ ยังทำให้น้ำตาลยังคงลอยนวล และยังทำร้ายผู้คน มนุษย์บนโลกนี้ต่อไป อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ในบทส่งท้าย “น้อยแค่ไหนที่ยังมากเกินไป” บทนี้เองเป็นบทสรุป ว่าตัวเราหรือผู้บริโภคน้ำตาล ต้องเป็นผู้พิพากษา ตัดสินว่า น้ำตาล เป็นผู้ร้ายหรือไม่ เราจะกินน้ำตาลมากน้อยเท่าไร ขึ้นอยู่กับเราตัดสิน เราจะปล่อยตัวปล่อยใจให้น้ำตาลมาทำร้ายด้วยการกินมันให้มาก ๆ นั้น เป็นเรื่องส่วนบุคคล หามีใครบังคับได้ ไม่มีใครล่วงรู้ว่ากินน้อยแค่ไหนที่ยังมากเกินไป เนื่องจาก ผลกระทบที่เกิดขึ้นมิได้เกิดในทันทีทันใด กว่าจะรู้ตัวว่าโดนทำร้ายก็อาจสายเกินไปเสียแล้ว สุดท้ายแล้วเราเองต้องตัดสินคดีนี้เองว่าน้ำตาลเป็นผู้ร้ายหรือไม่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา