8 พ.ย. 2022 เวลา 10:41 • ศิลปะ & ออกแบบ
วินเซนต์ แวน โกะห์
ศิลปินซึมเศร้าที่โลกหลงรัก Part 1/2
#BenNote จาก #Journey_with_Arts #EP7
คุณเอ๋ นิ้วกลม คุยกับ อ.ภากร มังกรพันธุ์
และแล้วก็มาถึงศิลปินที่เราจำได้ไม่ลืมตั้งแต่รู้จักกับพี่เค้าในวิชาศิลปะสมัยมัธยม คิดว่าผู้คนน่าจะรู้จักและจำชื่อพี่ Van Gogh ได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะชื่อสั้นแปลกสะดุดหู หรือเพราะประวัติชีวิตที่ดราม่าสุดๆ หรือเพราะภาพเขียนที่โดดเด่นของพี่เค้า ส่วนตัวเบ็นจำได้เพราะทั้ง 3 อย่างเลยค่ะ อิเรื่องชื่อสั้นดีนี่มีผลสุดๆ 555
ท่ามกลางชื่อศิลปินฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาเลียนที่ชื่อยาวเป็นวา จำก็ย๊ากยาก พอเรียนถึงพี่ Vincent Van Gogh แทบจะจุดธูปคารวะ ... สั้นจุ๊ด 555 ดีงามมมม มันเป็นพระคุณอย่างยิ่งสำหรับเด็กน้อยที่ต้องท่องชื่อเป็นร้อยๆ ชื่อไปสอบอ่ะนะคะ ... กราบเบญจางคประดิษฐ์ค่ะ
ทุกคนคงเห็นด้วยนะคะว่าชื่อพี่เค้าโดดเด่นมากและจำง่ายสุดๆ นี่ขนาดพ่อแม่ของพี่เค้าไม่ได้เรียนเรื่อง Branding เนาะ ยังตั้งชื่อได้ปั๊วะปังแบบนี้เลย ... สั้น สะดุดหู จำง่าย ไม่มีวันลืม ... เจ๋งดี ฮรี่ ...
ที่จริงคงเป็นเพราะพี่เค้าเป็นชาวดัชต์ (เนเธอร์แลนด์) ชื่อนามสกุลเลยสั้นอยู่แล้วน่ะนะคะ ปัญหาใหม่คือถ้าจะออกเสียงให้เหมือนจริงนี่ยากมากกกกกกก เป็นที่ถกเถียงกันว่าจะอ่านว่าอะไร แวน โก๊ะ ... แวนโกะห์ ... ฟาน ก๊อก ... วาน โก๊ะโห่ะ (สำเนียงญี่ปุ่นก็มา 555) ...
อ.ภากรบอกว่าถ้าจะเอาเป๊ะเรียกวินเซ็นต์เหอะง่ายดี 5555555555 คือคำว่า Van Gogh นี่ถ้าจะออกเสียงให้ตรงตามภาษาดัชต์เราอาจถึงตายนะ มันเป็นบั่บว่า ... วาน โฮฮฮ้ (กรุณา “ขากๆ” นิดนึงด้วย 555) ใครอยากออกเสียงให้ถูกจริงๆ เชิญทางนี้ค่ะ https://bit.ly/3EKHeVX
เอาเป็นว่าเรียกแบบไทยๆ เนาะ ... แวนโก๊ะนี่แหละ ... ชีวิตยากพอแล้ว ให้พี่แวนโก๊ะง่ายสักอย่างเถอะ 555 ป่ะ... เริ่ม
1.
Van Gogh’s Life: Turbulence & Therapy
คนซึมเศร้าที่สร้างงานยิ่งใหญ่ตื่นเต้น
ชีวิตของแวนโก๊ะเศร้ามาก ถ้าไม่มีศิลปะชีวิตแวนโก๊ะอาจจะไม่ยืนยาวเท่านี้ (ซึ่งไอ้ที่ว่ายืนยาวนี่ก็สั้นนะ) จำได้ว่าตอนที่เรียนเรื่องของแวนโก๊ะ พอครูเล่าถึงตอนจบว่าเค้าตาย...ตายไปก่อนที่งานจะดัง แล้วเราเห็นงานเค้าสวยมาก ดังมากๆ เป็น Masterpiece ของโลก เบ็นรู้สึกเศร้ามาก เสียใจมาก ประหนึ่งว่าตัวเองเป็นแวนโก๊ะ จิตตกไปนาน TT__TT)
ว่ากันว่าด้วยอารมณ์ที่ผันผวนมากๆ ของแวนโก๊ะ ศิลปะหรือการวาดภาพจึงเป็นการบำบัดเยียวยาจิตใจ จะเห็นได้ว่างานของแวนโก๊ะสะท้อนอารมณ์ในแต่ละช่วงชีวิตออกมาชัดเจน ชัดจนบางครั้งเราดูแล้วเราก็ดิ่งตามไปเหมือนกัน
ทำไมเราถึงรู้จักแวนโก๊ะ
เพราะ...
ฮีเป็นมนุษย์จดหมาย
แวนโก๊ะเขียนจดหมายหลายร้อยฉบับ คิดว่ารวมๆ กันอาจจะถึง 1000 ก็ได้นะคะ คนที่เค้าเขียนหามากที่สุดคือ Theo น้องชายที่เป็นคนส่งเงินให้แวนโก๊ะใช้ (เรียกว่าเป็น Angel Capital นั่นล่ะค่ะ)
และนี่คือจำนวนจดหมายทั้งหมดที่แวนโก๊ะเขียนค่ะ
- เขียนถึง Theo 600 ฉบับ ซึ่ง Theo ก็เป็นน้องที่ดีมากส่งแต่เงิน จดหมายไม่ส่ง 555 จาก 600 ที่ได้รับ Theo เขียนกลับแค่ 40 ฉบับเท่านั้น (อาจจะเขียนมาบ่นว่าใช้เงินเยอะไปละนะ เพลาๆ หน่อย 555)
- เขียนถึง Wil น้องสาว 22 ฉบับ
- เขียนถึง Painter
- เขียนถึง Anthon Van Rappard 58 ฉบับ
- เขียนถึง Emile Bernard 22 ฉบับ
- แล้วยังมีทั้งจดหมายและ Sketch ที่เขียนหาคนอื่นๆ อีก
คนที่รวบรวมและเรียบเรียงจดหมายเหล่านี้ไว้คือภรรยาของ Theo จดหมายเหล่านี้กลายเป็นเอกสารที่มีค่ามากๆ เพราะฮีไม่ได้เขียนเป็นตัวหนังสืออย่างเดียวนะคะ ฮีวาดภาพลงไปในจดหมายด้วย บางอันเป็นลายเส้น แต่บางอันนี่ลงสีแบบจัดเต็ม เรียกว่าตัดมาขายเป็น Postcard ได้อ่ะ (แน่นอนว่าจะเป็น Postcard ที่แพงระยับจับจิตกันไปเลย 555) และไม่ได้เขียนภาษาเดียวด้วยนะ แวนโก๊ะเขียนจดหมายไว้ถึง 3 ภาษาแน่ะ
เราเลยรู้จักแวนโก๊ะได้ไม่ยาก เพราะจดหมายแสดงถึงตัวตนของเค้าอย่างมหาศาล แม้ว่าเราจะต้องตีความบ้าง แต่จำนวนที่เยอะมากของมันทำให้การปะติดปะต่อไม่ยากจนเกินไป ... ก็นะถึงขั้นเขียนเล่าว่าเห็นดวงดาวตอนเช้ามืดแล้วเลยวาดภาพนี้ออกมา
มีหนังสือที่เขียนชีวประวัติของ Van Gogh โดยเรียบเรียงจากจดหมายเหล่านี้ด้วยนะคะ ชื่อ Lust for Life, Irving Stone มีฉบับแปลไทยด้วย (ไฟศิลป์ : Lust for Life, เออร์วิง สโตน) คุณเอ๋บอกว่าอ่านสนุกมาก เหมือนนิยายเลย ซึ่งชีวิตแวนโก๊ะก็นะ ... ยิ่งกว่านิยายอีก
หนังสือชีวประวัติของ Van Gogh เรียบเรียงจากจดหมายที่ Van Gogh เขียน Lust for Life, Irving Stone มีฉบับแปลไทยด้วย (ไฟศิลป์ : Lust for Life, เออร์วิง สโตน)
หนังสือชีวประวัติของ Van Gogh เรียบเรียงจากจดหมายที่ Van Gogh เขียน ฉบับแปลไทย (ไฟศิลป์ : Lust for Life, เออร์วิง สโตน)
จดหมายของแวนโก๊ะสวยมากจนคุณเอ๋บอกว่าน่าจะมีพิพิธภัณฑ์จัดแสดง 😊 เราไปหาชมได้ที่พิพิธภัณฑ์ Van Gogh ซึ่งเป็นของครอบครัวนะคะ มีบางส่วนจัดแสดงอยู่ที่นั่น (ก็คงแสดงหมด 800 กว่าฉบับไม่ไหวอ่ะเนาะ ไม่ต้องมีที่แสดงภาพกันพอดี 555)
ตัวอย่างจดหมาย 1 ในกว่า 1,000 ฉบับของ Van Gogh
2.
Unhappy Childhood
Van Gogh 1853 – 1890 (37 ปี)
แวนโก๊ะมีวัยเด็กที่ไม่มีความสุข พี่เค้าเป็นคนเงียบๆ คิดมาก เก็บงำความคิด (เค้าบอกว่าคนมีอะไรก็พูดออกมา คิดอะไรก็แสดงออกมา จะไม่มีปัญหามากเท่าคนที่มีอะไรก็เก็บๆๆๆ ไว้นะ) พ่อ-แม่ก็มาแนวซีเรียส... พ่อเป็นผู้รับใช้พระเจ้า แม่ก็ค่อนข้างเคร่ง แม้ไม่ได้มีปัญหาเรื่องสถานะความเป็นอยู่ เพราะที่บ้านแวนโก๊ะฐานะโอเค ไม่ถึงกับร่ำรวยมหาศาลแต่ก็เป็นชนชั้นกลางที่ไม่มีปัญหาอะไร Somehow, แวนโก๊ะก็มี conflict กับพ่อแม่ตลอดเวลา
ปัญหาอาจจะอยู่ที่สภาพแวดล้อมรอบๆ บ้านของแวนโก๊ะ เพราะเค้าอยู่ในย่านที่เป็นหมู่บ้านยากจน สภาพบ้านเรือนซ่อมซอ ว่ากันว่าภาพเหล่านั้นติดอยู่ในใจแวนโก๊ะ ทำให้เค้าสนใจชีวิตความเป็นอยู่ของคนเหล่านี้ คิดถึงและใส่ใจคนอื่นตั้งแต่เด็กเลย
ตอนเข้าโรงเรียนก็มีบันทึกว่าแวนโก๊ะไม่มีความสุข ในทางจิตวิทยาชีวิตในวัยเด็กจะส่งผลกับเราอย่างมากในตอนโต ... วันเยาว์ที่ไม่มีความสุขนี้ก็ส่งผลกับแวนโก๊ะมากเช่นกัน
มีบันทึกช่วงเดียวที่แสดงว่าแวนโก๊ะมีความสุข นั่นคือช่วงที่เค้าอายุประมาณ 20 และได้ทำงานเป็น Arts Dealer ใน London (ญาติทางพ่อของพี่โก๊ะเป็น Arts Dealer และเป็นศิลปินหลายคน) ช่วงนี้เป็นช่วงที่เค้าหาเงินได้เยอะมาก เค้าบอกว่ามากกว่าที่พ่อเค้าหาได้อีก คือพ่อเป็นผู้รับใช้พระเจ้าเงินเดือนไม่เยอะ แต่โบสถ์ดูแลให้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะคนรับใช้ ... บ้าน และอื่นๆ อีกมากมาย
3.
An Extreme Person
การเติบโตในฐานะลูกของผู้รับใช้พระเจ้ามีส่วนสร้างให้ Van Gogh มี Extreme Personality เค้ามีความสงสารและใส่ใจคนจน อยากช่วยเหลือ ไม่รู้ด้วยปรัชญา อุดมการณ์ หรืออะไร หลังจากเป็น Art Dealer ได้ไม่นานแวนโก๊ะไปสมัครเป็นครูอาสาที่ไม่มีเงินเดือนในโรงเรียนแห่งหนึ่งใน London ใช้ชีวิตลำบากๆ จะไปไหนทีเดินไปเป็นสิบๆ กิโล
อายุ 23 (ปี 1879) หนักเข้าไปอีกไป แวนโก๊ะเดินทางไปเป็น Missionary ที่ชุมชนเหมืองแห่งหนึ่งใน Borinage, Belgium อ.ภากรตีความว่าเค้าอาจจะอ่านพระคัมภีร์บางตอนแล้วเชื่อว่าการได้อยู่ใกล้พระเจ้าและพระเยซูคือการไปมีส่วนร่วมกับคนยากจน ต้องไม่อยู่อย่างสบาย แวนโก๊ะเลยไปนอนไปกินอยู่กับชาวบ้าน ยกอาหารให้คนอื่น ตัวเองยอมอดๆ อยากๆ น้ำท่าไม่อาบจนบ้านเช่าที่ไปเช่าอยู่บ่น (ฟังๆ ไปคล้ายพระพุทธเจ้าตอนบำเพ็ญทุกรกริยาเนาะ)
แต่คือแกเข้าใจไหมว่าไปเผยแพร่ศาสนาแกไม่ต้องทำขนาดน๊านนนนนน ... ทีนี้ด้วยความเป็นคน Extreme งัย พี่โก๊ะเลยไปใช้ชีวิตอยู่กับผู้คนเหล่านั้น ทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของผู้คนเหล่านั้น
คุณเอ๋เสริมว่าก่อนที่จะไปฝังตัวอยู่ในชุมชนเหมืองแร่ แวนโก๊ะมีแผลใจเพิ่มอีกดอกด้วย คือพี่เค้าไปหลงรัก Ersula ลูกสาวเจ้าของห้องเช่าที่พักอยู่ใน London สารภาพรักแล้วด้วย แต่ Ersula มีคู่หมั้นอยู่แล้ว พี่โก๊ะเลยอกหัก
ทุกอย่างมันก็ช่างเสริมกันให้พี่เค้าดิ่งเนาะ กับครอบครัวแวนโก๊ะก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนนอก มีรักครั้งแรกแรกก็ผิดหวังอีก TT__TT หรืออาจจะเรื่องนี้แหละที่ทำให้พี่เค้าหนีไปที่ๆ รู้สึกว่าตัวเองจะมีประโยชน์กับคนอื่น หันเข้าทางธรรมไปเลยหงิ แล้วไม่หันเข้าหาธรรมดากระโจนเข้าไปแบบไม่ยั้งตัวเลย ทุ่มเทสุดๆ ตามที่คิดว่ามันควรจะเป็น ควรจะทำ
นี่เป็น Extreme Personality ของ Van Gogh คือเป็นคนเข้มข้นกับทุกสิ่งที่เจอ จริงจังเว่อร์ จะทำเรื่องไหนก็หมกหมุ่นขั้นสุด
4.
Lots of Life Struggles
แม้ว่าจะเป็น Genius แต่แวนโก๊ะก็ไม่ประสบความสำเร็จในด้านการศึกษา พ่อส่งไปเรียน Theology (ศาสนศาสตร์ - เทววิทยา) เพราะเห็นสนใจด้านนี้ก็เรียนไม่ได้
ไปเป็น Missionary ทางโบสถ์ก็ไม่โอกะแนวทางของพี่เค้า คือจะมาซกมกทำตัวซอมซ่อนี่ไม่ใช่ทางที่ผู้รับใช้พระเจ้าควรจะเป็นว่างั้น
สรุปว่าแกเป็นคนแปลกแยก เวลาทำในสิ่งที่รักก็มักจะไม่ได้รับการยอมรับ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนอื่น
จนในปี 1880 อายุเพียง 27 ปีพ่อของแวนโก๊ะต้องก็ส่งตัวแวนโก๊ะเข้าสถานบำบัดด้านจิตเวช (Lunatic Asylum) ในเมือง Geel, Belgium
ย้อนดูภาพชีวิตของ Van Goh ในช่วง 20 กว่าปีแรกจะเห็นว่ามีส่วนผสมของทั้งศาสนาและศิลปะอย่างเข้มข้น เรื่องศาสนาจากครอบครัวคือจากคุณพ่อ และเรื่องศิลปะจากญาติๆ ที่ทำงานด้าน Arts Dealer เป็น Gallery ที่สะสมงานศิลปะ แวนโก๊ะจึงได้เดินทางไปหลายๆ ประเทศและได้ซึมซับศิลปะมาไว้ในเนื้อในตัว
มีเรื่องเล่าด้วยว่าแวนโก๊ะเป็นคนที่ซื่อสัตย์ (ต่อความรู้สึกของตัวเอง) มากๆ บางครั้งที่ลูกค้าจะซื้องานแล้วเค้าคิดว่าไม่สวย เค้าก็จะบอกตรงๆ ว่าอย่าซื้อเลยมันไม่สวย 555 ... ซะงั้น ... คนวาดคงอยากตะกุยหน้าพี่เค้าเนาะ 5555 แต่มันแสดงว่าแวนโก๊ะอินกับงานจริงๆ ไม่ได้สักแต่ว่าจะขายอย่างเดียว
ทั้ง 2 อย่างนี้...คือศาสนาและศิลปะตีคู่กันมาในชีวิตของแวนโก๊ะ บวกกับความเจ็บช้ำที่สั่งสมผ่านความเป็นคนนอกมาตลอดชีวิต ครอบครัวก็ไม่เข้าใจ หันหน้าไปหาโบสถ์ๆ ก็ไม่รับ ... ทำให้แวนโก๊ะ...มีชีวิตที่ต้อง “แวนโก๊ะ” อ่ะแหละนะ
5.
Misery and Romance
- 1873 (อายุ 20) รักแรกถูกปฏิเสธโดย Ersula ลูกสาวเจ้าของห้องเช่าใน London
- 1881 (อายุ 24) เกิดตอน Van Gogh ย้ายไปอยู่ที่ Etten, Netherland ครั้งนี้อาการหนักมาก Van Gogh หลงรัก Kee (เค) ลูกสาวของป้าตัวเอง (พี่สาวแม่) เคเป็นม่ายลูกติด ... คือไปเดินคุยกันอีท่าไหนไม่รู้ละ แวนโก๊ะเกิดตกหลุมรักขึ้นมา แล้วพี่แกก็ขอแต่งงานเลย!!! ใครจะไปแต่งด้วยยยย (เออ...ก็อาจจะมีนะ ถ้ามันป็น Love at first sight กันทั้งคู่ และอยู่ในเทพนิยายเนาะ แต่นี่คือแม่หม้ายที่ผ่านชีวิตมาแล้ว แถมมีลูกติดด้วยอีก 1 ... เคคงมองโลกแบบเป็นจริงมากกว่านั้น และก็คงไม่ได้คลิ้กกะพี่โก๊ะแกด้วยนั่นแหละ)
เอาเป็นว่าเคปฏิเสธปากคอสั่น Van Gogh เขียนเล่าให้ Theo ฟังว่าคำตอบของเคคือ “No, never, never” ... หลายเนเว่อร์กันเลยทีเดียว แวนโก๊ะเสียใจม๊าก แต่ด้วยความ Extreme ของฮีอ่ะนะ ฮีบอกว่าคำปฏิเสธแค่นี้ไม่ทำฮีเลิกพยายามในตัวเคซึ่งเป็น “She, and no other” ของฮีหรอก แวนโก๊ะยังคงพยายามอย่างมากที่จะทำให้เครับรักต่อไป พี่เค้าบอกว่าคำปฏิเสธของเคก็เหมือนน้ำแข็ง สักวันมันจะละลายไป ง่า ... เคคงหลอนอยู่เหมือนกันเนาะ
หนักๆ เข้าถ้าแวนโก๊ะมาที่บ้าน เคจะหลบไป ในที่สุดครั้งนึงตอนไปบ้านป้า แวนโก๊ะเอามือยื่นเข้าไปในตะเกียงแล้วขอให้คีออกมาพบ ... “Let me see her as long as my hands are in the flame” ... ตราบใดที่ได้เจอคีจะยอมอดทนไม่เอามือออกจากตะเกียง (... จับมือตัวเองเป็นตัวประกันก็มา) ... คือน่าจะเริ่มหลุดแล้วแหละ ลุงป้าต้องดับตะเกียงกันให้จ้าละหวั่น ... แล้วพี่มาเบอร์นี้ใครจะไม่กลัวววว
ไม่ต้องตัวเค ลุงเองก็ยิ่งไม่อยากให้ลูกสาวมารักกับแวนโก๊ะเข้าไปใหญ่ นอกจากจะไม่มีตังค์แล้ว ยังไม่มีสติอีกด้วย!!! ดูแล้วไม่มีอนาคตเลยว่าจะดูแลลูกและหลานสาวของแกได้ยังงัย ... เป็นอันว่าต้องจบ แยกย้าย...
- 1882 แวนโก๊ะไปอยู่กรุงเฮก เจอโสเภณีลูกติดชื่อเซียง (Sien) (หรืออีกชื่อคือคริสตีน) นอกจากลูกติดแล้วตอนที่เจอกันเซียงยังตั้งท้องอยู่ด้วย แวนโก๊ะ...ไม่รู้รักหรือสงสารหรือยังงัยนะคะ แต่พี่เค้าก็มาอยู่กินกับเซียงแหละ ทั้งที่ตัวเองไม่มีรายได้อะไรนอกจากเงินที่ Theo (น้องชาย) ส่งมาให้ แต่แวนโก๊ะก็ยังพยายามเลี้ยงดูเซียงกับลูกด้วย
ในจดหมายที่เขียนถึง Theo เล่าว่าเค้าแบ่งขนมปังให้เซียง Theo คงไม่ Happy แหละ เพราะเป็นคนส่งเงินเลี้ยงดูพี่ชายอยู่เดือนละ 150 ฟรังก์ ... ในใจ Theo คงคิดว่าตัวเองยังเอาตัวไม่รอดยังจะไปเลี้ยงสาว + ลูกติด + แม่ของนางอี๊กกกก ว่ากันว่าแม่ของเซียงนี่แหละที่อยู่เบื้องหลังการที่แวนโก๊ะมาอยู่กับเซียง คิดว่าแวนโก๊ะน่าจะติดซิฟิลิสมาจากเซียงด้วย ...
อยู่กันได้ปีนึงก็แยกทางกัน เพราะ Lifestyle ไม่เหมือนกัน คุยกันไม่รู้เรื่อง (เทรนด์นี้นี่มีมาตั้งแต่สมัยโน้นเลยแฮะ) คือเซียงไม่ได้สนใจเรื่องศิลปะและวรรณกรรมเหมือนแวนโก๊ะ Theo ก็ต่อต้านการใช้ชีวิตอยู่กับอดีตโสเภณีของพี่ชาย บวกกับความจนในที่สุดเซียงก็ทิ้งแวนโก๊ะไป
พูดถึงตัวเซียงเองก็เป็นคนเศร้าอมทุกข์อยู่ตลอดเวลานะคะ ชีวิตฝั่งของนางเองก็ไม่มีความสุขต้องดิ้นรนเหมือนกัน สุดท้ายหลังจากไปมีสามีใหม่ อีกหลายสิบปีต่อมาเซียงจบชีวิตลงด้วยการจมน้ำฆ่าตัวตาย ... คงไม่มีความสุขกับชีวิตจริงๆ
/จากจดหมายถึง Theo แวนโก๊ะเขียนว่า... /
“… เครื่องกระตุ้นใจและประกายไฟที่เราต้องการก็คือความรัก…”
ซึ่งเป็นสิ่งที่ Van Gogh ไม่เคยได้มาตลอดชีวิต ถูกผู้หญิงปฏิเสธมาแล้ว 2 ครั้ง
“...นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พี่หมกหมุ่นอยู่กับความรักและเสน่ห์ของผู้หญิงชั้นนี้ ผู้หญิงที่ถูกด่าว่า ถูกสาปแช่ง ถูกพวกพระประนามมาจากแท่นเทศนาของพวกเค้า โดยส่วนตัวแล้วพี่ไม่เคยประนามหรือร้งเกียจผู้หญิงโสเภณีเลย ตอนนี้พี่ก็อายุ 30 ปี มากโขอยู่ (30 คือมากแล้วรึ ... ม่ายยยย TT__TT) น้องคิดหรือว่าพี่ไม่ต้องการให้ใครมารักพี่บ้าง...
... โลกจะดูสดชื่นขึ้นถ้าหากเราตื่นขึ้นในตอนเช้าแล้วพบว่าเราไม่ต้องอยู่คนเดียวอีกต่อไป (TT__TT) เราพบว่ามีมนุษย์อีกคนนึงอยู่ข้างๆ เราในความมืดสลัว นี่เป็นสิ่งที่น่าชื่นใจเสียงยิ่งกว่าการมีหนังสือเล่มใหญ่ๆ เป็นตั้งๆ หรือการได้เห็นผนังสีขาวๆ ของห้องในโบสถ์เสียอีกนะน้อง...”
เนื้อความในจดหมายนี้สะท้อนถึงความโดดเดี่ยวอย่างยิ่งของแวนโก๊ะ แค่ฟังคุณเอ๋อ่านยังเหงาจับขั้วหัวใจเลย ... เศร้าจัง
แวนโก๊ะไม่แคร์จริงๆ นะคะว่าเซียงจะเป็นยังงัยอะไรมา พี่เค้าก็ควงเซียงออกงาน ไม่สนใจว่าใครจะว่ายังงัย แต่ความรักอย่างเดียวมันไม่พอ ... สุดท้ายแวนโก๊ะก็ต้องผิดหวังอีกครั้ง
- 1885 แวนโก๊ะรักกับมาโก้ (Margot) เพื่อนบ้านในเมือง Nuenen และอยากแต่งงานกัน แต่ครอบครัวของทั้ง 2 ฝ่ายไม่ยอม (เหมือนว่า Margot จะเป็นหม้าย ลูกติดอีกแล้ว)
นั่นเป็น 4 ครั้งใหญ่ๆ ที่แวนโก๊ะผิดหวังในความรัก ไม่รู้ว่าที่จริงแล้วตลอดชีวิตมีความผิดหวังอีกมากเท่าไหร่ระหว่างทางที่แวนโก๊ะไม่ได้บันทึกไว้ (คือไม่ได้เขียนจดหมายเล่าให้คนอื่นๆ ฟัง) การผิดหวังซ้ำๆ ซ้ำๆ แบบนี้ทำให้ในที่สุดแวนโก๊ะก็ตัดสินใจใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว และหันเข้าหางานศิลปะไปเลย
ภาพงานช่วงแรกๆ ของแวนโก๊ะสื่อถึงเรื่องราวในจิตใจเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
“Worn Out” Pencil, 1882 “Sorrow” Pencil, 1882 (ภาพวาดของเซียง)
ภาพงานช่วงแรกของ Van Gogh “Worn Out” Pencil, 1882
ภาพงานช่วงแรกของ Van Gogh “Sorrow” Pencil, 1882 ... ภาพนี้เป็นภาพวาดของเซียง
6.
Relationship Struggles
1
นอกจากความแหว่งวิ่นของความสัมพันธ์ในครอบครัวและความรักแล้ว แวนโก๊ะมีปัญหากับความสัมพันธ์อื่นๆ ในแทบทุกรูปแบบ
1882 ร่วมงานกับเพื่อนศิลปินตั้ง Studio ก็ไม่สำเร็จ (เพื่อนเป็นคนออกทุนด้วยนะ) เดือนเดียวแยกย้าย ว่ากันว่าเป็นเพราะเรื่องอารมณ์ของฮี
1886 Theo ออกเงินให้ไปเรียนศิลปะที่ Academy of Fine Arts ที่ Antwerp ก็ไปทะเลาะกับครูอีก เพราะครูให้วาด Venus of Milo ก็วาดไม่เหมือนใส่ความคิดของตัวเองเข้าไป เถียงครูตีกันวุ่นวาย เรียนไม่ได้อีก
สิ่งที่พิสูจน์ชัดเรื่องความพร่องด้านความสัมพันธ์ของ Van Gogh คือ Theo ซึ่งเป็นคนที่เค้ารักที่สุด มีช่วงนึงในปี 1886 ที่ 2 คนนี้ย้ายมาอยู่ด้วยกันที่ปารีส Theo ถึงกับเขียนว่าการอยู่กับ Van Gogh เป็นสิ่งที่ยาก ... ยากจนแทบทนไม่ไหว “Living with Van Gogh was almost unbearable”
เหล่านี้ทำให้มีคนตีความว่าหรือนอกจากเป็นซึมเศร้าแล้ว แวนโก๊ะอาจจะเป็น Bipolar ด้วย มีความเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เพราะซึมเศร้าอย่างเดียวน่าจะไม่ค่อยรบกวนการอยู่ร่วมกับคนอื่นมากนัก แต่อีกที... ด้วยความเป็นตัวเองมากๆ ก็น่าจะทำให้ Van Gogh เป็นคนที่อยู่ด้วยไม่ง่ายนักอยู่แล้วสำหรับคนรอบๆ ตัว พอ ++ เข้าไปด้วยก็เรียกว่าไม่มีใครอยู่ด้วยได้เลย
นี่ทำให้เค้ายิ่งเศร้าหนักๆ เพราะคนไม่มีครอบครัวแต่มีเพื่อนก็ยังอยู่ได้ แต่นี่ Van Gogh ไม่มีใครเลย
แวนโก๊ะเริ่มวาดภาพจริงจังเมื่ออายุเยอะแล้วประมาณปี 1883 คืออายุประมาณ 30 ปี เค้ามีเวลาวาดรูปอยู่ 7 ปีเท่านั้นก่อนจะจบชีวิตลง แต่มีผลงานเยอะมากๆๆๆ รวมกันประมาณ 2,000 ชิ้น!!! (เป็นภาพสีน้ำมัน 800 ชิ้น)
ภาพหนึ่งที่อาจารย์เอามาให้ดูเป็นภาพที่แวนโก๊ะวาดตอนที่พ่อเค้าเสียชีวิตลงในปี 1885, Still Life with Open Bible, Extinguished Candle and Novel เป็นภาพเทียนที่ดับแสงลง มีไบเบิ้ลเปิดอยู่ ... ไบเบิ้ลคือตัวแทนของพ่อซึ่งเป็นผู้รับใช้พระเจ้า ภาพในช่วงแรกๆ ของ Van Gogh จะเป็นแนวนี้ทั้งหมดคือเป็นภาพ Realist
Still Life with Open Bible, Extinguished Candle and Novel (1885)
7.
Influenced by the Realists
ในช่วงแรก Van Gogh ได้อิทธิพลจากศิลปินกลุ่ม Realist … แนว Realism เป็นอีกด้านของ Romantic ที่มีอิทธิพลในสมัยนั้น ในขณะที่ Romantic เน้นการแสดงหรือผลกระทบต่ออารมณ์ที่หวือหวา แนว Realism จะสนใจเรื่อง “ความจริง” สภาพจริงของมนุษย์ คนที่แวนโก๊ะได้อิทธิพลมามากๆ ก็คือ Jean-François Millet (1841-1875) ภาพของมิลเล่ต์จะเป็นชาวไร่ชาวนาเกษตรกร การให้สีเป็น Earth Tone ... อารมณ์ทึมๆ ซึมเซา (mode เดียวกะพี่โก๊ะเค้าแหละ)
Peasants Bringing Home a Calf Born in the Fields, Jean-François Millet (1864) จิตรกรที่มีอิทธิพลกับ Van Gogh ในยุคแรก
ตัวอย่างภาพที่แวนโก๊ะภูมิใจมากบอกว่าเป็น Masterpiece ของตัวเองคือภาพ The Potato Eaters (1885) ภาพนี้แสดงถึงความยากจนของชาวนาที่ไม่มีจะกิน บนโต๊ะมีแค่มันฝรั่งต้มและน้ำชา หน้าตาทุกคนมอมแมม distort เหมือนมันฝรั่ง มีคนตีความว่าโต๊ะกินข้าวตัวนี้เหมือนแท่นบูชา การกินมันฝรั่งเหมือนพิธีสาบานตนของคนที่ทำงานหนัก เป็นพิธีกรรมเล็กๆ ของคนยากคนจน ที่หลังจากการทำงานหนักแล้วก็ได้มากินด้วยกันภายใต้แสงไฟเพียงดวงเดียวนั้น
The Potato Eaters (1885) Vincent Van Gogh
ในสภาวะแบบนี้ความโดดเดี่ยวอ้างว้างของแต่ละคนดูเหมือนจะหายไป คือมันมีความหม่นเศร้าแต่มันก็มีความรักความอบอุ่นอยู่ในนั้นด้วย แวนโก๊ะสนใจชีวิตคนยากไร้มาก และวาดภาพแบบนี้ไว้หลายภาพ
อีกภาพที่อาจารย์เอามาให้ดูคือภาพ Peasant Woman Digging, 1885 ซึ่งพอเทียบกับภาพ Gleaners (1857) ของ Millet แล้วเห็นชัดมากถึงอิทธิพลที่แวนโก๊ะได้รับมา เพราะวาดภาพแทบจะเป็นมุมเดียวกัน (แวนโก๊ะชื่นชม Millet มากจริงๆ มีการกล่าวถึง Millet เป็นร้อยๆ ครั้งในจดหมายของเค้า) แต่ถึงจะได้รับอิทธิพลมา Style ของแวนโก๊ะก็หลุดไปไกลแล้ว
งานของแวนโก๊ะจะไม่เน้นความเนียนละเอียด เนี้ยบเหมือนจริงแบบของ Millet แต่จะมีความปาดฝีแปรงเร็วๆ ปึ้บๆๆๆ เสร็จ แสดงถึง Skill ที่สูงมากของ Van Gogh
 
ซึ่งภาพถัดมา Skull of a Skeleton with Burning Cigarette (1885-86) ก็แสดงถึง Skill ที่ว่านี้เช่นกัน เพราะภาพตั้งแต่ใต้กระโหลกลงมาแต่ละฝีแปรงจบใน Stroke เดียว ... แถมยังมีอารมณ์ขันให้พี่กระโหลกคาบบุหรี่ไว้อีกด้วย ... ก็ไม่รู้ตอนวาดแวนโก๊ะคิดอะไรอยู่เหมือนกัน แต่มันชวนคิด และสนุกดีเนอะ
Skull of a Skeleton with Burning Cigarette (1885-86) Vincent Van Gogh
อาจารย์บอกว่าชีวิตแวนโก๊ะป่วงมากทั้งสูบบุหรี่ กินเหล้า นี่อาจจะสะท้อนถึงตัวเค้า ไม่รู้ว่า Van Gogh นึกถึงฟันตัวเองหรือเปล่า เพราะตอนที่อยู่ Antwerp พี่โก๊ะโดนหมอถอนฟันไป 10 ซี่ (ที่ภาพแวนโก๊ะไม่มีภาพไหนยิ้มเลย เป็นเพราะเป็นคนเศร้าด้วยหนึ่ง และอีกหนึ่งคือพี่เค้าไม่มีฟัน ... เป็นคนฟันหลออ่ะ... ><) เรียกว่าไม่ดูแลตัวเองเรยยยยย
8.
Influenced of Japanese Art
ในช่วงที่ชีวิตที่แวนโก๊ะวาดรูปเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่าง Realism และ Impressionism ที่เน้นสีสันสดใส Theo เคยวิจารณ์งานของแวนโก๊ะ เช่น Potato Eaters ว่ามันทึมเทาไปไม่สดใส ต้องหัดใส่สีสันสดใสลงไปบ้างนะ
เมื่องานภาพพิมพ์ญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาในยุโรปมันจึงมีอิทธิพลกับ Van Gogh มากๆ เขาเขียนจดหมายถึง Theo ในปี 1888 ว่า ...
“...พี่อิจฉาศิลปินญี่ปุ่นที่มีความชัดเจนสุดๆ ในงาน มันไม่เคยน่าเบื่อเลย ไม่เคยทำมากเกินไป ไม่เคยรีบ เป็นงานง่ายๆ เหมือนหายใจ ใช้เพียงแค่ไม่กี่เส้นก็สามารถสร้างรูปขึ้นมาได้ ง่ายราวกับเราใส่เสื้อหนาวเลย พี่ต้องเรียนรู้ที่จะวาดแบบนี้ให้ได้...”
งานภาพพิมพ์ของญี่ปุ่นจึงมีอิทธิพลที่ใหญ่มากต่องานในช่วงต่อมาของแวนโก๊ะ ทั้งเรื่องสีสันและ Stroke เร็วด้วย จุดเปลี่ยนสำคัญนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับความสนใจในเรื่องดอกไม้ แวนโก๊ะเริ่มวาดดอกไม้มากขึ้น
“...ฉันแทบจะไม่ได้วาดอะไรเลยนอกจากดอกไม้ เพื่อจะได้คุ้นเคยกับการใช้สีที่ไม่ใช่โทนสีเทา...”
นี่คือจุดเริ่มต้นของงานแนวที่เป็นภาพจำของ Van Gogh ... เวลานึกถึง Van Gogh เรามักจะนึกถึงภาพที่มีสีสดมากๆ จริงๆ แล้วมันมี journey of art … ครั้งหนึ่งมันเคยเทาอยู่
แวนโก๊ะเขียนจดหมายถึงน้องชายว่า...
“…น้องจะได้เห็นว่าด้วยการสร้างนิสัยให้ชอบดูภาพของญี่ปุ่น น้องจะชอบเขียนภาพดอกไม้และทำอะไรๆ กับดอกไม้มากขึ้น...”
นี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของแวนโก๊ะ เพราะหลังจากสนใจดอกไม้ มันก็พาเค้าไปสู่โลกใบใหม่อีกโลกนึงเลย
ดูจากภาพที่เค้าวาด “เรียนแบบ” ศิลปินญี่ปุ่น คือวาดเหมือนเป๊ะ เราจะเห็นว่าเค้าตั้งใจฝึกตั้งใจศึกษาจริงๆ เช่น...
- ภาพ Flowering Plum Orchard (After Hiroshige) (1887) ที่วาดเรียนแบบจากงานของศิลปินคนสำคัญของญี่ปุ่นชื่อคุณ Utagawa Hiroshige (ภาพขวาคือภาพของพี่โก๊ะค่ะ)
Flowering Plum Orchard (After Hiroshige) (1887)
- ภาพ Courtesan (After Eisen) (1887) วาดเรียนแบบงานของคุณ Keisai Eisen (ภาพของแวนโก๊ะคือภาพขวาค่ะ)
Courtesan (After Eisen) (1887)
ภาพเหล่านี้มีภาพ Sketch อยู่ใน Museum ด้วย เข้าใจว่ามีการร่างแบบก่อนลงมือจริง ผลของการ Study อย่างจริงจัง ทำให้งานญี่ปุ่นมีอิทธิพลกับ Van Gogh ทั้งเรื่องสี (ที่เป็นโทนร้อน สีสด แบบเอเชีย) และรูปฟอร์มอย่างมหาศาล
ในงานที่ไม่ใช่งาน Study … Van Gogh เริ่มมีการใช้สีสันมากขึ้นอย่างมากๆๆ (เมื่อเทียบกับงานในช่วงก่อนหน้านี้) รวมทั้งมีการให้ Background (Setting) ของภาพเป็นแนวญี่ปุ่นด้วย เช่น ภาพ Portrait of Pere Tanguy (1887) เป็นภาพเหมือนของฝรั่ง แต่อยู่ Background เป็น Gallery ภาพ Style ญี่ปุ่นงี้ ... มางัยไม่รู้ (อะไรเอ่ยไม่เข้ากัน เอาปากกามาวง) 555
Portrait of Pere Tanguy (1887) Vincent Van Goh
9.
Hopes grows in Arles (1888-9)
ในที่สุด Van Gogh ยายจากปารีสไปอยู่เมืองอาร์ลส์ซึ่งเป็นเมืองอุตสาตหกรรมทางตอนใต้ มันก็เป็นเขตเมืองที่สกปรกนะ (ลุงแกบ่น ... น่าจะในจดหมายถึง Theo น่ะแหละนะ) แต่ถึงซกมกแค่ไหน อาร์ลส์ก็เป็นเขตที่แดดดี มีแสงเยอะ มีต้นไม้ดอกไม้ มีธรรมชาติมากมาย มันทำให้ Van Gogh เห็น “แสงและสี” ซึ่งเค้าประทับใจมาก และเปิดไอเดียเค้าออกอย่างเต็มที่
ในภาพ Souvenir de Mauve, 1888 Van Gogh วาดต้นอัลมอด์มีดอกบานสีชมพูสดใสราวกับต้นซากุระ ตัดกับสีโทนฟ้าของท้องฟ้าและเขตเมืองอุตสาหกรรมที่เป็นฉากหลัง จากภาพนี้จะเริ่มเห็นการใช้สีที่ Contrast กันของพี่ท่าน และงานต่อๆ จากนี้ของ Van Gogh ก็จะใช้คู่สีตรงกันข้าม ตัดกันฉึบฉับมากขึ้นเรื่อยๆ
Souvenir de Mauve, 1888 Van Gogh
คุณนิ้วกลมเล่าถึง Moment น่ารักๆ ที่อยู่ข้างหลังภาพ Blossoming Almond Branch in a Glass with a Book (1888) ของแวนโก๊ะ ภาพนี้วาดที่เมือง Arles เนี่ยแหละ วันนึงพี่เค้าเดินไปตามถนนแล้วไปเห็นต้น Almond มีตุ่มเขียวๆ งอกออกมาจากกิ่งน่ารักดี (ไม่รู้ต้นเดียวกะภาพ Souvenir da Mauve ละเปล่านะคะ) ก็เลยเด็ดกลับบ้านมาด้วยกิ่งนึง (ตีมือเลย 555) แล้วเอามาปักใส่แก้วน้ำไว้ ปรากฏว่ามันงอกและมีดอกบานออกมา
แวนโก๊ะเลิฟมากเลยนั่งลงวาดมันเอาไว้ ใช้เวลาวาดอยู่ 2 วันแน่ะ ... ถ้าเราไม่รู้เรื่องราวเบื้องหลังภาพนี้เราก็คงวาดอิหยังวะ อ่ะเนาะ แต่พอรู้แล้วก็เออน่ารักดี ... ไม่รู้ผิดหรือถูกนะคะ แต่เบ็นฟังเรื่องช่วงนี้แล้วรู้สึกหัวใจยิ้มได้ รู้สึกถึงความสุข ความน่ารักอ่อนโยนของแวนโก๊ะ ... มันน่าจะเป็นช่วงที่เค้ามีความสุขขึ้นบ้างนะ เบ็นว่า ...
Blossoming Almond Branch in a Glass with a Book (1888) Vincent Van Gogh
อ่ะ ... ไม่ว่าพี่เค้าจะรู้สึกอย่างที่เบ็นรู้สึกหรือไม่ ก็เรียกได้ว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่แวนโก๊ะประทับใจกับธรรมชาติรอบๆ ตัวมาก และเริ่มวาดภาพที่เป็น Style ของตัวเอง คือ...
- จะ Realist ก็ไม่ใช่ (ไม่เนียนเนี้ยบเรียบกริบ ไม่เน้นความสมจริง)
- จะ Impressionist ก็ไม่เชิง (ไม่มีการเกลี่ยสีให้ละมุนละไมกลมกลืนกันใดๆ ไม่สนใจฟอร์ม)
- perspective ก็ไม่ลึกเหมือน Renaissance จะออกแนวแบนๆ หน่อยด้วยอิทธิพลศิลปะญี่ปุ่น ... The Yellow House (1888)
- และเริ่มมีสี Signature คือสีเหลืองปรากฏในงาน และเริ่มใช้สีคู่ตรงข้ามอย่างมหาศาล เอามาชนกันอย่างรุนแรง
The Yellow House (1888) Vincent Van Gogh
จากตรงนี้เรามาเดินชม Gallery ภาพเขียนของพี่เค้ากันนะคะ
The Sower with Setting Sun (1888) เป็นตัวอย่างที่ชัดมากถึงความไม่แคร์แนว-แควแนร์ ของแวนโก๊ะ 555 พี่ท่านวาดพระอาทิตย์ใหญ่มากกกกกกกกกก ... และใช้สีตรงข้ามแบบ 40/60 กันไปเลย (น้ำเงินเหลือง) โดยใช้ Silhouette คนและต้นไม้เข้ามาช่วยเบรค ซึ่งทั้งคนและต้นไม้ก็มีความ Distort (ในขณะที่ Impressionist แม้จะสบัดฝีแปรงรวดเร็วเพื่อ Capture อารมณ์ใน Moment นั้นๆ แต่จะยังคง “Form” ของสิ่งต่างๆ ไว้ ... พี่โก๊ะเราเริ่มฉีกไปไกลขึ้นเรื่อยๆ)
The Sower with Setting Sun (1888) Vincent Van Gogh
เช่นเดียวกันกับภาพ The Langlois Bridge at Arles, 1888 แวนโก๊ะใช้คู่สีเดียวตรงข้าม ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วภาพที่เค้าเห็นเป็นสีนี้ไหม แต่นี่คือสิ่งที่เค้าอยากวาด
 
ทั้งหมดนี้คือการ “ทดลอง” ของแวนโก๊ะ ระหว่างที่เค้าพัฒนางานไป ... along the journey มาจนถึงจุดนี้ งานเหล่านี้ไม่ได้รับการยอมรับใดๆ เลย ขายก็ไม่ได้ แต่แวนโก๊ะสนุกสนานและเพลิดเพลินกับการเขียนการฝึกของตัวเองอยู่คนเดียว เรียกว่าเค้าใช้ศิลปะเป็นการบำบัดให้ตัวเองมีความสุขมากขึ้น
The Langlois Bridge at Arles (1888) Vincent Van Gogh
คือฮีทำตามประเทศใจฮีแหละ (ขั้นกว่าของอำเภอใจอีกที่ 555) จะว่าฮีฉึบฉับ พอบทจะ Harmonise ฮีก็ Harmonise ขั้นสุดนะ คือพี่เค้า Skill สูงมากจะวาดให้เหมือนจริง สวย เนียนละเอียดแค่ไหนก็ได้ การวาด Style ที่เราจำได้จึงไม่ใช่ว่าเพราะไม่มีฝีมือ
ดูอย่างภาพ Portrait of the Artist's Mother (1888) ชาวบ้านเวลาเค้าวาดภาพเหมือน เค้าจะวาดแบคกรงแบคกราวน์กันด้วย พี่โก๊ะไม่สน...กู flat ปาดสีเขียวไปเพียวๆ นี่แหละ แต่ความ Amazing ของภาพนี้คือการเอาสีเขียวที่เป็น Background ไปเกลี่ยสร้าง Harmony บนใบหน้าของแบบด้วย แล้วดันออกมาอย่างสวย (นึกภาพเป็นเราเอาสีเขียวไปลงเป็นเงา ... คงออกมาสุสานคนเป็นเลยแหละ 555) อีกสิ่งที่สวยและแสดงถึงฝีมือขั้นเทพของพี่แวนโก๊ะในภาพนี้คือดวงตาของแบบ มันละเอียดและมีชีวิตชีวามาก
Portrait of the Artist's Mother (1888) Vincent Van Gogh
รูป “มอมมี่” มีฮาร์โมนี่ให้เคลิ้มอยู่แพ้บนึง อีกรูปพอวาด Eugene Boch (The Poet Against a Starry Sky) (1888) กลับมาใช้สีตัดกันฉึบๆ ... *อันนี้ขอแทรกความคิดเห็นส่วนตัวนิดนุง ไม่แน่ใจว่าเป็นที่การตีความอารมณ์ หรือการให้ความหมายของแบบ ที่พี่แวนโก๊ะเค้ารู้สึกหรือเปล่านะคะ (คือแม่นุ่มนวล ... ส่วนกวีมีความชัดเจนในอารมณ์) ภาพนี้ฉากหลังเป็น Starry Sky นี่จะเป็นช่วงแรกๆ ที่เค้าเริ่มสนใจท้องฟ้าแล้วดวงดาวด้วยเช่นกัน (ปูไปภาพ Starry Night อันโด่งดัง)
Eugene Boch (The Poet Against a Starry Sky) (1888) Vincent Van Gogh
หันมาดู Portrait of Patience Escalier, Second Edition (1888) กันบ้าง ภาพนี้ยิ่งเล่นสีหนักเข้าไปอีก (ความละมุนนี ฮาร์โมนี่ของเลาหายไปหน๊ายยย) แต่ปรากฏว่ายิ่งสีจัดชัดจริงยิ่งสวยมากกกกก เช่นเดิมภาพนี้ไม่มี Background เป็นสถานที่อะไรใดๆ มีแค่พื้นสีเหลืองส้มแจ๋นแจ๋มาเลย ตัดกับสีเสื้อผ้าสีฟ้าของคนในภาพฉึบๆ (คู่ตรงข้ามคู่เดิมที่พี่เค้าโปรดอีกแน๊ว)
Portrait of Patience Escalier, Second Edition (1888) Vincent Van Gogh
แต่ถึงจะไม่มีสถานที่อะไรใดๆ ปรากฏ จากเสื้อผ้า หมวก และหน้าตาของคนในภาพทำให้เราจิ้นไปได้ว่านี่ต้องเป็นภาพของพี่เกษตรกรอยู่กลางแดดเปรี้ยงเที่ยงวันแน่ๆ เพราะสีมันแจ๋นดูแดดจัดประมาณนี้ ... เพราะมันมีเงาใต้หมวกในองศานี้ ซึ่งเงานี่เป็นการแก้ปัญหาเรื่องการเบรคสีคู่ตรงข้ามได้แบบอัจฉริยะจริงๆ ยอมมมม (อิภาพนี้อยู่ใน Private Collection มันต้องแพงมหาศาลมเหาฬารมากแน่ๆ)
ฝีแปรงในภาพนี้แสดงให้เห็นว่าแวนโก๊ะมีความมั่นใจมากขึ้นเรื่อยๆ
และแล้วก็มาถึงภาพอันโด่งดังงงงง ...
Still Life: Vase of Fourteen Sunflowers, 1888
Still Life: Vase of Fourteen Sunflowers (1888) Vincent Van Gogh
ภาพนี้มีหลาย Version นะคะ พี่แวนโก๊ะแก Copy งานตัวเอง 5555 คือแบบว่า Copy เป๊ะด้วยนะ กลีบดอกเหมือนกันทู้กกกกเส้น ก็ไม่รู้ทำทำไม ... รึแกจะรู้ว่าภาพนี้มันจะดัง เราจะได้เห็นภาพนี้ได้พร้อมๆ กันทั่วโลก 5555 ก็ไม่รู้แหละ แต่มันมีอยู่ในหลายๆ Museum จริงๆ
จะมีกี่ภาพช่างมัน เรามาเข้าใจกันดีกว่าว่าทำไมต้องวาดแจกันดอกไม้ฟระ??? การวาดแจกันแบบนี้เค้าเรียกกันว่า Dutch Flower Painting นะทุกคน คือมันไม่ได้วาดหรือจัดดอกไม้กันประเทศเดียวหรอก ในผรั่งเศสและประเทศยุโรปอื่นๆ ก็มี แต่ในดัทช์มีเยอะ เค้าเลยเรียกกันว่า Dutch Flower Painting
มันเกิดมาจากว่ายุโรปเป็นเมืองหนาวน่ะ พอหน้าหนาวก็จะหาดอกไม้มาปักเพิ่มความสดชื่นให้กับบ้านไม่ได้ เลยมีความนิยมที่จะประดับบ้านด้วยภาพแจกันดอกไม้แทน ความนิยมนี้มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 แล้วนะ โดย Dutch Flower Painting เนี่ยจะมีปรัชญาแฝงอยู่ในภาพด้วย คร่าวๆ คือจะวาดให้มีทั้งดอกไม้ที่สดชื่นและโรยรา มีหนอน มีแมลง มีผีเสื้อ เพื่อบอกถึงวัฏฏะของชีวิต ... โดยมันจะวาดให้มมิติมี Details เยอะๆ ... แบบว่าสวยสะพรึง ไม่ต้องมีดอกไม้จริงก็ได้ เพราะอีแจกันในภาพนี่ “จริง” ยิ่งกว่าดอกไม้จริงอีก
อาจารย์เอาภาพ Dutch Flower Painting ชื่อ Still Life with Flowers in a Vase ของ Christoffel van den Berghe (1671) มาวางเทียบกับภาพ Sunflowers (1888) ของ Van Gogh เราจะเห็นความ Van Gogh ที่เป็น Japanism ชัดเจนมาก คือไม่มีมิติเหลือเลย ภาพแบนแต่ด และยึดหลักที่เค้าหลงไหลคือใช้ไม่กี่ Stroke จบ ซึ่งนับว่าแหวกโคตรๆ ...
Still Life with Flowers in a Vase ของ Christoffel van den Berghe (1671) วางเทียบกับภาพ Sunflowers (1888) ของ Van Gogh
ที่สำคัญภาพนี้ใช้สีเหลืองทั้งภาพ พื้นเหลือง ผนังเหลือง แจกันเหลือง ดอกก็เหลื๊องงงงงงง ซึ่งมันยากมาก การสร้างเงาบนสีเหลืองนี่ยากขั้นสุด แต่ฮีทำได้ ถ้าไม่นับงานสมัยใหม่ ไปเดินในพิพิธภัณฑ์เราจะไม่เห็นงานที่เป็นสีเหลืองทั้งภาพแบบนี้เลยยยยย
คุณเอ๋เพิ่มเติมว่าแวนโก๊ะวาดภาพนี้ไว้ประดับบ้านให้สว่างไสวมากขึ้น และเค้ามีความหลงไหลในดอกไม้ชนิดนี้เป็นการส่วนตัว เพราะทานตะวันเป็นเศษเสี้ยวหนึ่งของดวงอาทิตย์ มันทานตะวันเข้าไป การมีดอกไม้นี้อยู๋ในบ้านจึงเหมือนมีตะวันอยู่ในบ้าน เป็นแหล่งพลังงาน เป็นธรรมชาติ สำหรับแวนโก๊ะทานตะวันจึงไม่ใช่เพียงทานตะวัน
หลงไหลแค่ไหน ก็แค่วาดเยอะมากอ่ะ นอกจากจะ Copy อีภาพ 14 ดอกไว้หลาย Copy แล้ว แก่ยังเปลี่ยน Background เป็นสีฟ้ามั่งแหละ (ไม่ Monochrome ก็กลับไป Theme คู่ตรงข้าม ... มีฟามจุดยืนนน) ลดดอกไม้เหลือ 12 ดอกมั่งแหละ เอ๊ะ... หรือว่าต้นแบบมันยังไม่เหี่ยว คือเหี่ยวไม่ทันพี่เค้าวาดเร็วจัด พี่แกเลยวาด Stop Motion ไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะเหี่ยวฟระ 555 ... เราเอามันมาเรียงกันแล้วไล่ดูเร็วๆ มันอาจจะเป็น Time Lapse ก็ได้นะเฟ้ย (นี่เบ็นน่าจะไปเป็นนักประหวั่นสั่นศิลป์ได้แล้วเนาะ 555)
คิดว่ามาถึงตรงนี้เพื่อนๆ น่าจะเหนื่อยกันแล้ว EP. นี้ยาวมากเกือบ 2 ชั่วโมง (หย่อนไปแค่ 3 นาที 555) เบ็นขออนุญาตแบ่งเป็น 2 Part นะคะ ไม่งั้น Note น่าจะยาวเกินไป ... Part 2 จะตามมาเร็วๆ นี้แน่นอนค่ะ ... สัญญา ...ด้วยเกียดของนักประหวั่นสั่นศิลป์ 555
มีภาพประกอบที่เบ็นหาบางส่วนมาจาก Internet ค่ะ เผื่อใครนึกไม่ออกว่าไอ้ภาพที่พูดถึงมันคือภาพไหนนะคะ 🙂 ขอบคุณภาพจาก Internet มา ณ ทีนี้ค่า
💖💖
Part 1/2 จบไว้ที่ นาทีที่ 54.47Min. นะคะ
💖💖
ป.ล.
ตามไปฟังอาจารย์กับคุณเอ๋คุยกัน อันจะมี ภกป ภาพประกอบได้ที่นี่นะคะ
EP.7
ขอบคุณทั้งอาจารย์ภากรและคุณเอ๋มากๆ ค่ะ
#BenNote #bp_ben
#benji_is_learning #benji_is_drawing
#Western_Arts_Appreciation
#RoundFinger #Phagorn_Manggornpant #Inspiration
#VanGogh
โฆษณา