23 พ.ย. 2022 เวลา 04:36 • หนังสือ

รีวิวหนังสือ “The power of output ศิลปะของการปล่อยของ”

เล่มที่ 14
90 % ของคนทั่วไปแม้จะอ่านหนังสือหรือเข้าฟังการบรรยายต่างๆ ก็เป็นได้แค่ “เข้าใจไปว่าตัวเองรู้แล้ว”เพราะความเป็นจริง ความรู้ที่ได้มานั้นไม่ได้ถูกเก็บเป็นความจำ Input จึงเป็นแค่การสร้างความพึงพอใจให้ตัวเองเท่านั้น การพัฒนาตนเองต้องวัดจากปริมาณของ Output
ได้อ่านประโยคนี้ของผู้เขียนเข้าไปก็จุกเลย นี่เราจำอะไรได้บ้างวะชีวิตนี้ ถึงว่าสิขี้ลืมขนาดนี้เพราะไม่ได้ทำ Output สินะ ไม่เกี่ยวกับสมองอันน้อยนิดของเราใช่มะ Ha Ha Ha
ผู้เขียนอธิบายเปรียบเทียบความหมายของคำว่า Input และ Output ให้เราเข้าใจง่ายๆว่า
Input คือ
1.อ่าน
2.ฟัง
1
Output คือ
1.พูด
2.เขียน
3.ปฏิบัติ
1
ผู้เขียนบอกว่า คนส่วนมากมักใช้รูปแบบ Input มากเกินไป แต่ Output ไม่พอ สิ่งนี้คือสาเหตุหลักที่ทำให้ตั้งใจเรียนแล้วแต่ผลการเรียนกลับไม่ดีขึ้น ดังนั้น ต้องเพิ่มเวลาให้ Output เป็น 2 เท่าของ Input
ผู้เขียนยังแนะนำอีกว่า “จงทำแบบฝึกหัดให้มากกว่าอ่านตำราเรียน ๆ อัตราส่วนที่ดีที่สุดคือ Input 3 Output 7 เราควรใช้เวลาอ่านหนังสือให้เร็ว แล้วใช้เวลาในการทำแบบฝึกหัดอีกเท่าตัว นี่คือวิธีการจำและวิธีเรียนหนังสือที่ได้ผลดีที่สุด”
Input ที่ทำโดยไม่มี Output ถือเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ เพราะเราจะลืม Input ที่เราทำไปแล้ว
ความจำจากการ พูด เขียน เรียกว่า ความจำของกล้ามเนื้อ ลักษณะเฉพาะของความจำของกล้ามเนื้อ คือ หากจำได้ครั้งหนึ่งแล้วจะแทบไม่มีวันลืมได้เลย
การเขียนช่วยเสริมสร้างความจำและนำไปสู่การพัฒนาตนเองได้ดีกว่าการพูด การเขียนช่วยกระตุ้นระบบตื่นตัวเรติคิวลาร์ (RAS) ทำให้เกิดสิ่งที่ควรใส่ใจระมัดระวัง ณ เวลานั้นขึ้นมา หากมีสิ่งใดที่เราคิดว่าสำคัญมาก อยากจำให้ได้ ก็ควรเขียนออกมา
ผู้เขียนยกตัวอย่างว่า จากการวิจัยร่วมกันของมหาวิทยาลัย โดยเปรียบเทียบกลุ่มนักศึกษาในห้องเรียนที่จดลงสมุดด้วยมือ และ พิมพ์ใส่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ผลปรากฏว่ากลุ่มที่เขียนจดจำได้ดีกว่ากลุ่มที่พิมพ์
ผู้เขียนยังเปรียบเทียบให้เห็นอีกว่า การอธิบายโดยการมองด้วยตา เช่น ใช้ภาพวาดหรือแผนผังช่วยให้เข้าใจได้ง่าย และยังจดจำได้ง่ายขึ้นอีกหลายเท่า เคยมีการทดลองว่าหลังจากอธิบายเรื่องหนึ่งไปแล้ว เมื่อผ่านไป 72 ชั่วโมง คนฟังยังจำได้มากแค่ไหน ผลปรากฏว่าคนจำได้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่ออธิบายด้วยคำพูด
ในขณะที่ เมื่ออธิบายโดยใช้ภาพประกอบ ทำให้คนจำได้ถึง 65 เปอร์เซ็นต์ ในทางจิตวิทยาเรียกว่า ปรากฏการณ์ความเหนือกว่าของภาพ (Picture Superiorrity Effect) ผู้เขียนจึงแนะนำว่าในขณะที่เรียนรู้อะไรให้วาดรูปไปด้วยซึ่งไม่จำต้องเกี่ยวกับเรื่องที่เรียนรู้ก็ได้
ผู้เขียนยังให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์กับเราอีกว่า ข้อมูลที่ถูกป้อนเข้าสู่สมองจะถูกเก็บไว้ชั่วคราวที่ “ฮิปโปแคมปัส” ระยะเวลาชั่วคราวนี้อยู่ที่ 2 ถึง 4 สัปดาห์ ระหว่างที่ถูกเก็บอยู่ที่ฮิปโปแคมปัสนี้หากมีการนำข้อมูลนั้นมาใช้ซ้ำๆ สมองจะคิดว่านี่คือ “ข้อมูลที่สำคัญ” แล้วส่งไปเป็นความจำระยะยาวที่ “กลีบขมับ”
“ตามเกณฑ์โดยทั่วไป หากเราสร้าง Output อย่างน้อย 3 ครั้ง ภายใน 2 สัปดาห์หลังได้รับข้อมูล ข้อมูลนั้นจะกลายเป็นความจำระยะยาวได้ง่าย” แสดงว่าต่อไปนี้ถ้าเราอยากจำอะไรได้ ก็ควรทำมันซ้ำๆวนลูปไปสินะ
ผู้เขียนยังอธิบายถึงขั้นสูงสุดของการเรียนรู้ที่จะทำให้เราจำได้ดีไว้อีกด้วยว่า คือ การอธิบายให้คนอื่นฟังหรือการสอนคนอื่น การอธิบายจะทำให้ ความจำอาศัยความหมาย ถูกเปลี่ยนเป็น ความจำอาศัยเหตุการณ์ คือ ความจำจากประสบการณ์ซึ่งจำง่ายแต่ลืมยาก
การอธิบายเป็นการฝึก Output ที่ดีเยี่ยมและเป็นการฝึกสมองด้วย “วิธีสร้าง Output ที่ดีที่สุด และส่งผลต่อการพัฒนาตนเองได้ดีที่สุด ก็คือ การสอน” ซึ่งตรงนี้ผู้เขียนบอกว่า มีผลการวิจัยโดยสถาบันฝึกอบรมแห่งชาติของสหรัฐอเมริการองรับโดยจัดทำเป็นพีระมิดแห่งการเรียนรู้ว่า การสอนคนอื่น คือวิธีที่ส่งผลดีกับการเรียนมากที่สุด
ผู้เขียนยังแนะนำว่า เมื่อเราทำ Input สลับกับ Output แล้ว ต้องมี Feedback ด้วย เช่น เราตอบคำถามในข้อสอบผิด เด็กที่เรียนดีจะปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนโดยหาสาเหตุว่าทำไมถึงตอบผิด ฝึกฝน เอาชนะจุดอ่อนของตนเอง และไม่ทำผิดพลาดซ้ำอีก ตรงนี้เราได้เรียนรู้ว่าการตรวจสอบข้อผิดพลาดของตนเองคือ Feedback อย่างหนึ่งและเป็นผลดีกับเรามาก
หนังสือเล่มนี้นอกจากจะแนะนำเกี่ยวกับการทำ out put แล้ว ยังได้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการปฏิบัติตนที่ดีด้วย เช่น ตามหลักประสาทวิทยาศาสตร์ การขอบคุณทำให้เกิดการหลั่งสารเคมีในสมอง 4 ชนิด ซึ่งดีต่อสมองและร่างกาย
ได้แก่ 1.โดพามีน (สารแห่งความสุข ทำให้มีความสุข มีสมาธิมากขึ้น)
2.เซโรโทนิน (สารแห่งความสงบ ทำให้คลายกังวล บรรเทาอาการตื่นเต้น)
3.ออกซิโทซิน (สารแห่งความผ่อนคลาย ทำให้ผ่อนคลาย เกิดความรักใคร่ ความเชื่อใจ)
4.เอนเดอร์ฟิน (สารเสพติดในสมอง สารแห่งความสุขขั้นสุด ทำให้มีความสุข รู้สึกเคลิบเคลิ้ม)
โอ้ว เพิ่งรู้ว่าการขอบคุณคนอื่นมันมีประโยชน์กับตัวเราเองมากขนาดนี้ด้วย ต่อไปนี้ผมจะพูดขอบคุณให้มากกว่าเดิม
การกำหนดระยะเวลาหรือเส้นตายจะทำให้เกิดแรงกดดันทางความรู้สึกทำให้สารนอร์อะดรีนาลิน (สารที่ช่วยเพิ่มการสร้างสมาธิ) ถูกหลั่งออกมา แสดงว่าเราจะลงมือทำอะไรสักอย่างต้องกำหนดเส้นตายด้วยสินะ ไม่ควรทำไปเรื่อยๆ
ผู้เขียนบอกว่า เมื่อเราทำตามเป้าหมายแม้เพียงส่วนหนึ่งได้สำเร็จภายในเวลาที่กำหนด สารโดพามีน (สารที่ช่วยเพิ่มแรงบันดาลใจ) จะถูกหลั่งออกมาเหมือนเป็นรางวัล โอเค ทำอะไรเสร็จไปบางส่วนก็จะเล่มเกม ดูซีรีส์แล้วกัน Ha Ha มันจะเสร็จมั้ยละงาน
ผู้เขียนยังให้ความรู้ว่า คนที่นอนไม่พอจะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง 6 เท่า เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง 4 เท่า เสี่ยงต่อการเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตาย 3 เท่า การนอนไม่พอมีผลร้ายต่อสุขภาพมากกว่าการสูบบุหรี่เสียอีก พอแล้วคร้าบคุณหมอผมกลัวแล้วคร้าบที่ผ่านมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้นอนตี 2 ตี 3 บ่อยมากนี่เรากำลังทำร้ายตัวเองมานานมากแค่ไหนแล้วนะ อ่านไปคุณหมอก็บอกว่าให้นอนวันละ 7 ชั่วโมง ซึ่งก็ตรงกับข้อมูลคำแนะนำของคุณหมอคนอื่นๆนะประมาณ 7-8 ชั่วโมงนี่แหละกำลังดี ช่วงหลังเราก็นอนแบบนี้มาสักพักแระ เริ่มกลัวตาย
คุณหมอยังบอกว่า 2 ถึง 3 ชั่วโมงหลังตื่นนอน คือ เวลาทองของสมอง เป็นช่วงเวลาที่เราจะมีสมาธิได้มากที่สุดของวัน
เมื่อมีไอเดียใหม่ขึ้นมาหรือทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า อะฮ้าโมเมนท์ ให้รีบจดโน้ตภายใน 30 วินาที ถึง 1 นาที ไม่งั้นไอเดียนั้นจะหายไป
เราควรใช้สมาร์ทโฟนให้เป็นประโยชน์ เช่น ใช้ทำ Output หากคิดอะไรได้เราป้อนข้อมูลลงเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ว่าจะรีวิวหนังสือ ภาพยนต์ เรื่องที่เราค้นพบได้จากการเรียน
คุณหมอยังบอกอีกว่าเมื่อก่อนมีสมมติฐานทางประสาทวิทยาศาสตร์ว่า เซลล์ประสาทในสมองจะไม่มีวันเพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันมีการค้นพบว่าสมองมนุษย์จะสร้างเซลล์ประสาทใหม่ขึ้นทุกวัน การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ จะทำให้มีเซลล์ประสาทสมองเกิดใหม่มากขึ้น
ความจำดีขึ้น และหัวดีขึ้น โอ้ว เยี่ยมไปเลย ช่วงนี้กำลังออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอโดยการชกมวยอยู่ด้วย แสดงว่าเรากำลังจะฉลาดขึ้นแล้วนะ คุณหมอยังแนะนำอีกว่าควรออกกำลังการยแบบคาร์ดิโอครั้งละ 1 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง และการออกกำลังกายเพียง 20 นาที ก็ทำให้โดพามีนหลั่งออกมา ทำให้เรามีสมาธิ
ท้ายเล่มยังมีการแนะนำให้ทำ Output โดยเขียนรีวิวหนังสือ ภาพยนต์ หรือเรื่องที่เรียน ลงโซเชียล พร้อมทั้งวิธีปฏิบัติข้อดีข้อเสียไว้อย่างละเอียด
การจัดทำรูปเล่มของหนังสือสวยงามมาก ทั้งหน้าปกและด้านในหนังสือทำออกมาดีเยี่ยม มีภาพการ์ตูนแผนผังตารางอย่างง่ายประกอบ ทำให้ไม่น่าเบื่อกับตัวอักษรจนเกินไป แม้หนังสือจะมีความหนา และราคาจะค่อนข้างแพง แต่ก็คุ้มค่ามากกับความรู้ที่ได้และนำไปใช้ได้จริงกับทุกการเรียนรู้บนโลกนี้ ให้ 5 ดาว ⭐️⭐️⭐️⭐️⭐️
อ่านจบแล้วรู้สึกว่าเสียดายที่เพิ่งได้อ่านเล่มนี้ ไม่งั้นคงได้ทำ Output กับเรื่องที่เรียนรู้ไปแล้วได้เยอะเลย หลังจากนี้จะนำวิธีการเทคนิคต่างๆในหนังสือเล่มนี้ไปใช้ทำ Output กับรีวิวหนังสือ ภาพยนต์ หรือเรื่องที่เรียน เพื่อให้จำได้ไม่ลืม
ผู้เขียน : คะบะซาวะ ชิอง
ผู้แปล : อาคิรา รัตนาภิรัต
สำนักพิมพ์ : SandClock Books
หมวด : จิตวิทยาและพัฒนาตนเอง
ขนาดรูปเล่ม : 144 x 210 x 19 มม.
น้ำหนัก : 450 กรัม
เนื้อในพิมพ์ : 2 สี
ชนิดกระดาษ : กระถนอมสายตา
จำนวนหน้า : 344 หน้า ปกอ่อน
ISBN : 9786168255094
หนังสือราคา 420 บาท มี 344 หน้า

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา