5 ธ.ค. 2022 เวลา 07:23 • หนังสือ
📖ภาคต่อจากโพสต์ก่อนหน้า...(วินดา!!! Weekนี้...เจอดีอะไร??? Ep.79 >> วินดาแปะลิ้งไว้ให้ด้านล่างนะคะ😄)
1
หลังจากที่หนังสือ The Growth Mindset Playbook ได้บอกเราแล้วว่า ความสัมพันธ์ที่ดี เกิดจากอะไร มีค่าแค่ไหน...แต่มันยังมีคำถามอยู่ว่า แล้วถ้าความสัมพันธ์มันไม่ได้ง่ายแบบนั้นหละ มันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน เราจะทำยังไงให้เขาเปิดใจ ไว้ใจ เชื่อใจ ยอมรับเรา?
เล่มนี้จะเป็นเนื้อหาความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ตัวอย่างหรือกรณีศึกษาต่างๆเลยจะเป็นเรื่องราวในโรงเรียน ซึ่งตัวอย่างความสัมพันธ์ที่ไม่ได้ง่ายก็เช่นกันค่ะ
การสานสัมพันธ์กับนักเรียนเจ้าปัญหา…แต่นักเรียนคนนี้เป็นเฉพาะกับครูคนนี้ มันแปลกไหมค่ะ?
🙇🏻‍♀️ขอบคุณรูปจาก pexels.com Photo by Katerina Holmes
เชน เป็นนักเรียนเจ้าปัญหาสำหรับลอรา เพราะในห้องเรียนเขามักพูดจาไม่เข้าหู คุยกับเพื่อน ทำแบบฝึกหัดไม่เสร็จ และไม่สนใจเรียน ทำให้ลอราหัวเสียเป็นประจำ พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้ลอราแสดงความไม่พอใจเชนอย่างชัดเจน
เธอคิดเสมอว่าเชนจะทำตัวไม่น่ารัก ก่อกวนในระหว่างการสอน ลอราจึงจับเชนนั่งแยกจากเพื่อนๆ อารมณ์เสียใส่เขา และบอกเชนว่าเธอจับตาดูอยู่ทั้งๆที่เชนยังไม่ได้ทำอะไรผิด
ยิ่งลอราปรามพฤติกรรมเชนมากเท่าใด เขายิ่งทำตัวหนักข้อขึ้น เจ้าปัญหามากขึ้น จนทำให้ลอราทนไม่ไหวมาระบายกับครูคนอื่นๆ แต่สิ่งที่เธอได้ฟังกลับน่าประหลาดใจ เพราะครูคนอื่นๆต่างชื่นชมและเอ็นดูเชนที่ตั้งใจเรียน ทำตัวน่ารัก ไม่เหมือนที่ลอราเจอมา
ครูสอนคณิตศาสตร์บอกกับลอราว่า “บางทีเชนอาจทำตัวต่อต้านเพราะปัญหาครอบครัว เขาเครียดมากที่พ่อแม่หย่ากัน ผมเองก็พยายามใส่ใจเขาเป็นพิเศษ”
เรื่องนี้ลอราไม่เคยคิดถึงสิ่งที่เชนต้องเจอนอกห้องเรียนเลย การได้คุยกับครูคนอื่นทำให้ลอราเข้าใจเชนมากขึ้น ทำให้เธอเข้าใจคำตอบของปัญหา เชนไม่เคารพเธอ เพราะเธอไม่เคยทำให้เขารู้สึกว่าน่าเคารพ
สัปดาห์ถัดมาลอราตั้งใจว่าจะไม่ด่วนตัดสินเชนเรื่องพฤติกรรมในห้องเรียน และตั้งใจจะพูดกับเชนอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกคาบเรียน เมื่อเธอรู้จักตัวตนเชนมากขึ้น ทัศนคติของเชนก็ดีขึ้นตามไปด้วย
เช่น ลอราคุยกับเชนว่า “ได้ข่าวว่าการแข่งขันฟุตบอลเมื่อวันศุกร์ไปได้สวยนี่ เยี่ยมเลยนะ!” เขากล่าวขอบคุณและเดินไปนั่งที่ หลังจากนั้น ในคาบเรียนเรื่องวรรณกรรมของเชกสเปียร์ ลอราก็พูดขึ้นมาว่า “เชน ครูรู้มาว่าเรียนวิชาการละครด้วย บอกครูหน่อยสิว่าเธออยากจะเล่นเป็นตัวละครตัวไหนของเชกสเปียร์มากที่สุด” เชนดูจะประหลาดใจเล็กน้อย แต่ก็กระตือรือร้นที่จะตอบคำถาม วันนั้นเขาไม่มีปัญหาเรื่องพฤติกรรมเลย
นี่เป็นเพราะเขาปรับปรุงพฤติกรรมแล้ว หรือเพราะลอราไม่ได้เอาแต่จะมองหาปัญหากับเขากันแน่
แน่นอนว่าเชนยังมีพูดขัดจังหวะ และไม่ให้ความร่วมมืออยู่บ้าง แต่เพราะลอราพยายามรู้จักตัวตนและเข้าใจเชนมากขึ้น มันทำให้เธอควบคุมสถาณการณ์ไม่ให้บานปลายได้
ลอรามองว่าพฤติกรรมที่เชนแสดงออกในห้องเรียนเป็นกลไกการรับมือกับสิ่งที่เขาต้องเจอนอกห้องเรียน ถ้าลอรายังติดกับวังวนของการลงโทษ ดัดนิสัยอยู่ มั่นใจได้เลยว่าสถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายกว่าเดิมแน่นอน
นอกจากนี้ในหนังสือยังแนะนำแนวทางการสานสัมพันธ์อันดีกับนักเรียนไว้อย่างน่าสนใจและน่าลองนำไปใช้ด้วย เช่น
🎒กระเป๋า “เรื่องเล่าของฉัน”
ให้นักเรียนเลือกของ 3-5 อย่างใส่กระเป๋า และให้เล่าว่าของเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับตัวเองยังไง จดบันทึกสิ่งที่นักเรียนเล่าและสานสัมพันธ์ตามคุณลักษณะ ความสนใจแต่ละคน
🔖 ข้อตกลงร่วมกัน
กำหนดข้อตกลงร่วมกันกับนักเรียนแทนการกำหนดกฎเกณฑ์เอง โดยข้อตกลงนั้นกระตุ้นให้ความร่วมมือกันสร้างสิ่งแวดล้อมแห่งการเติบโต สร้างบรรยากาศในห้องเรียนเเบบมีส่วนร่วม เป็นต้น
1
เรื่องราวเหล่านี้ทำให้ชวนตระหนักได้ว่าการเอาแต่จับผิดอาจส่งผลให้ครูยิ่งจัดการปัญหาไม่ได้ การให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่ดีเป็นทางออกที่ดีกว่าในการจัดการพฤติกรรมนักเรียน
อย่างที่เคยบอกไปค่ะว่าในเล่มนี้ยังมีอีกหลายกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ที่สำคัญมีแนวทางให้ได้ลองนำไปใช้ด้วย ใครสนใจวินดาแนะนำให้มีไว้ในครอบครองนะคะ😉🦋
หนังสือ : The Growth Mindset Playbook
ผู้เขียน : Annie Brock and Heather Hundley
ผู้แปล : ฐานันดร วงศ์กิตติธร
สำนักพิมพ์ : BOOKSCAPE
แล้วพบกันใหม่นะคะ👋🏻
#windasharing
โฆษณา