10 ธ.ค. 2022 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
นักฆ่าเลือดกบฏ
1
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
ตอนเด็กๆ ผมได้ยินคนบอกว่า ประเทศไทยโชคไม่ดีที่ไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ "ไม่งั้นป่านนี้ไทยก็เจริญไปแล้ว" เหตุผลเพราะอังกฤษพัฒนาทุกชาติที่ไปยึดครอง เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง จนเจริญรุ่งเรือง ต่างจากพวกฝรั่งเศสที่ไม่พัฒนาชาติที่ตนไปยึดครอง เช่น อินโดจีน เพราะ "ฝรั่งเศสทำให้ประชาชนขี้เกียจ โดยอนุญาตให้นอนตอนบ่าย"
4
ที่แปลกก็คือ ในยุคปัจจุบัน เราก็ยังได้ยินความคิดเห็นแบบนี้อยู่
1
ครั้นโตขึ้น ศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงล่าอาณานิคม ก็เห็นว่ายังมีมุมมองและเกร็ดประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่ไม่มีสอนในโรงเรียน ดังเช่นเหตุการณ์หนึ่งที่จะเล่าต่อไปนี้
ในวันที่ 13 มีนาคม 1940 มีปาฐกถาที่ Caxton Hall กรุงลอนดอน เป็นการประชุมของสมาคม The Royal Central Asian Society กับ The East India Association ส่วนหนึ่งของงานมีปาฐกถาโดย เซอร์ ไมเคิล โอ'ไวเออร์ วัย 75
ในบรรดาผู้ฟัง มีชายอินเดียคนหนึ่ง เขาพกหนังสือเล่มหนึ่งมาด้วย เมื่อจบปาฐกถา ผู้พูดเดินลงจากเวที ชายคนนี้ก็ดึงปืนสั้นออกจากหนังสือ ยิงสองนัดใส่คนพูดล้มลงตาย
1
มือปืนยิงแล้วก็ไม่คิดจะหนี ตำรวจจับเขาได้กลางงานนั่นเอง
เขาให้การว่าตนเองชื่อ ราม โมหะหมัด ซิงห์ อาซาด (Ram Mohammad Singh Azad) ชื่อนี้สักบนแขนของเขา
1
นี่เป็นชื่อประหลาด เพราะมันเป็นชื่อของสามความเชื่อทางศาสนาในปัญจาบ คือฮินดู มุสลิม และซิกข์
2
ใครปกติที่ไหนตั้งชื่อแบบนี้? แต่คำถามที่สำคัญกว่าคือเขายิงชายชราวัย 75 ปีคนนี้ทำไม?
อังกฤษยึดครองอินเดียในปี 1858 ปกครองนาน 89 ปี
1
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษเกณฑ์คนอินเดียไปช่วยรบ บังคับชาวบ้านค่าใช้จ่ายในสงคราม โดยเฉพาะที่ปัญจาบ มันกลายเป็นจุดเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เวลานั้น มหาตมะ คานธี เพิ่งกลับอินเดีย และเริ่มขบวนการกู้อินเดียโดยหลักอหิงสาและอารยะขัดขืน
ในปี 1918 ผู้ว่าการรัฐปัญจาบออกกฎหมายใหม่ชื่อ The Rowlatt Act เชื่อว่าเพื่อแก้ปัญหาการแพร่แนวคิดสังคมนิยมของพวกบอลเชวิกซึ่งระบาดเข้าไปในอินเดีย โดยเฉพาะที่แคว้นปัญจาบและเบงกอล ผลคือมันจำกัดเสรีภาพพลเรือน
มหาตมะ คานธี เดินขบวนต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ ประชาชนปัญจาบเข้าร่วมสนับสนุนมากมาย กระแสต่อต้านอังกฤษแผ่ลาม เกิดการประท้วงอังกฤษทั่วประเทศ
อังกฤษตกใจในปฏิกิริยาของคนอินเดียต่อกฎหมายฉบับนี้ และแก้ปัญหาโดยการจับกุมแกนนำผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่ง ทำให้ประชาชนยิ่งลุกฮือ ทางการประกาศห้ามการชุมนุม
หนังสือพิมพ์รายงานข่าวสังหารเซอร์ไมเคิล โอ’ไวเออร์
ความวุ่นวายในปัญจาบเลวร้ายลงทุกวัน การชุมนุมต่อต้านอังกฤษดำเนินไปอย่างเข้มข้น มีบันทึกของฝ่ายอังกฤษว่า "ดูเหมือนว่าทั้งเมืองลาฮอร์ไปชุมนุมบนท้องถนนกัน"
อังกฤษกลัวว่าประชาชนจะขยายการชุมนุมเป็นการขับไล่อังกฤษออกจากอินเดีย ผู้ว่าการรัฐปัญจาบเห็นว่าพวกเขาต้องทำอะไรสักอย่าง
เย็นวันที่ 13 เมษายน 1919 ประชาชนมีนัดชุมนุมที่ จาลีอานวาลา บาก ผู้ว่าการรัฐปัญจาบสั่งพันเอกเรจินัลด์ ไดเออร์ ไป 'ควบคุมสถานการณ์'
ครั้นถึงวันที่ 13 จาลีอานวาลา บากก็แออัดด้วยฝูงชน นอกเหนือจากประชาชนเมืองอมฤตสระ ยังมีผู้คนจากหมู่บ้านต่างๆ มาร่วมฉลองเทศกาลไวสาขีด้วย จำนวนหลายพันถึงสองหมื่นคน
1
ขณะที่การชุมนุมดำเนินไปอย่างสงบ เวลา 17:30 น. พันเอกเรจินัลด์ ไดเออร์ ยกกองทหาร 50 กองเข้าล้อมพื้นที่ รวมทั้งทหารกุรข่าหลายหน่วย ทหารห้าสิบคนติดอาวุธปืนยาว .303 LeeEnfield bolt-action นอกจากนี้ก็มีรถหุ้มเกราะสองคันติดปืนกล แต่เนื่องจากตรอกแคบ ยานเกราะเข้าไปไม่ได้
3
ย่านจาลีอานวาลา บาก มีทางเข้าออกห้าทาง ทั้งหมดถูกปิดล้อมทุกด้าน
กองทหารได้รับคำสั่งให้ประทับปืนเล็งไปที่ผู้ชุมนุม
1
พลันไดเออร์ก็สั่งยิงโดยไม่มีการเตือน
1
เสียงปืนคำรามต่อเนื่อง เสียงร้องของคนถูกยิงและบาดเจ็บ เสียงสับสนอลหม่านเมื่อฝูงชนแย่งกันหนี คนถูกยิงตายมากมาย เหยียบกันตายก็มี บางคนปีนกำแพงหนี ส่วนมากไม่รอด หลายคนกระโดดลงบ่อน้ำ
2
เหล่าทหารยิงจนกระสุนหมด
1
ไม่มีใครรู้แน่ว่ามีคนตายกี่คน การประเมินของทางการราวสี่ร้อยคน บาดเจ็บ 1,200 คน แต่ตัวเลขไม่เป็นทางการสูงกว่านั้นมาก บางแหล่งประเมินคนตายราวพันคน
รัฐบาลอังกฤษปิดข่าวนี้ แต่ข่าวแพร่ไปทางอื่น คนอังกฤษรู้ข่าวนี้ในเดือนธันวาคม 1919
หลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญคนอินเดียทั้งชาติ รพินทรนาถ ฐากุร นักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ปี 1913 ต่อต้านเหตุการณ์นี้โดยการคืนตำแหน่งอัศวินที่เขาได้รับจากอังกฤษ
2
นักเขียนรางวัลโนเบลชาวอินเดียเขียนจดหมายถึงลอร์ด เคมสฟอร์ด ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแห่งอินเดีย ความว่า
1
"เวลาได้มาถึงแล้วเมื่อเหรียญตราแห่งเกียรติยศทำให้ความละอายของเราสว่างชัดในสถานการณ์ที่ไม่เข้ากันแห่งมนุษยชาติ และในส่วนของข้าพเจ้า ปรารถนาจะสะบั้นจากศักดิ์พิเศษทั้งหลายทั้งสิ้น เพื่อยืนหยัดเคียงข้างเพื่อนร่วมชาติของข้าพเจ้า ซึ่งด้วยเหตุจากสิ่งที่เรียกว่าความไม่สำคัญ ต้องทนรับความด้อยค่าอันไม่เหมาะกับมนุษย์"
7
หลังจากนั้น รพินทรนาถ ฐากุร ก็มีบทบาทต่อต้านการปกครองของอังกฤษ และเรียกร้องเอกราชของประเทศอินเดีย อย่างต่อเนื่อง เขามีชีวิตอยู่ไม่ถึงวันที่อินเดียได้รับเอกราช
1
พลันคนอินเดียไม่เพียงต่อต้านการกระทำป่าเถื่อนของทหารอังกฤษ แต่ยังต้องการขับไล่จักรวรรดิอังกฤษออกไป
นี่เป็นคำอธิบายว่าทำไมมือปืนใช้ชื่อของสามศาสนา ชื่อ โมหะหมัด ซิงห์ อาซาด นี้มีความหมายสัญลักษณ์ว่าคนทุกศาสนาในอินเดียต้องรวมตัวกันจึงจะสามารถขับไล่อังกฤษได้สำเร็จ
3
หลังเหตุการณ์นั้น พันเอกไดเออร์รายงานต่อผู้บังคับบัญชา คำตอบจากเบื้องบนคือ "การกระทำของคุณสมควรแล้ว และผู้ว่าการรัฐอนุมัติ"
2
ผู้ว่าการรัฐปัญจาบก็คือ ไมเคิล โอ'ไวเออร์
1
เห็นชัดว่าการยิง ไมเคิล โอ'ไวเออร์ ในงานปาฐกถา 21 ปีหลังจากเหตุการณ์ฆ่าหมู่ ก็คือการแก้แค้นให้คนอินเดียทั้งแผ่นดินนั่นเอง
1
เพราะไมเคิล โอ'ไวเออร์ เป็นผู้สั่งฆ่าหมู่ครั้งนั้น
21 ปีไม่สายเกินไปที่จะล้างแค้น
ชื่อจริงของ ราม โมหะหมัด ซิงห์ อาซาด คือ อูดัม ซิงห์ เป็นชาวรัฐปัญจาบ พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่เล็ก เขากับพี่ชายเป็นเด็กกำพร้าที่เมืองอมฤตสระ (ชื่อเดิมคือรามทาสปุระ)
ตอนที่เกิดเหตุฆ่าหมู่ อูดัม ซิงห์ อายุยี่สิบ เขากับพวกเด็กกำพร้าอยู่ในเหตุการณ์ มีหน้าที่ส่งน้ำให้คนชุมนุม
ภาพการสังหารหมู่ฝังลึกในใจเขาตลอดมา
ทางการอังกฤษตั้งคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์นี้ คือ The Hunter Commission คณะกรรมการประณามพันเอกเรจินัลด์ ไดเออร์ แต่ไม่มีบทลงโทษ
2
ปี 1924 อูดัม ซิงห์ เริ่มเกี่ยวข้องกับกลุ่มกาดาร์ ซึ่งเป็นกลุ่มชาวซิกข์ในปัญจาบ ที่เรียกร้องเอกราชของอินเดียจากการปกครองของอังกฤษ นำโดย พากัต ซิงห์ นักปฏิวัติผู้มีแนวคิดของบอลเชวิกและ อนาธิปไตย
อูดัม ซิงห์ ชื่นชมยกย่อง พากัต ซิงห์ ทั้งสองเคยติดคุกร่วมกัน และมีมิตรภาพอันลึกซึ้ง
อูดัม ซิงห์ เดินทางไปทั่ว ทำงานเป็นกรรมกรในแอฟริกา แล้วไปสหรัฐฯ
อูดัม ซิงห์
ช่วงหลายปีต่อมา อูดัม ซิงห์ เดินทางไปทั่วสหรัฐฯ เพื่อหาแรงสนับสนุนขบวนการนี้ เขาใช้ชื่อปลอมหลายชื่อ เช่น อูเด ซิงห์, เชอร์ ซิงห์, แฟรงก์ บราซิล
ปี 1927 พากัต ซิงห์ ส่งเขากลับปัญจาบอีกครั้ง นำอาวุธและสิ่งตีพิมพ์ไปด้วย สิ่งตีพิมพ์คือหนังสือพิมพ์ต้องห้ามชื่อ Ghadr-di-Gunj (แปลว่าเสียงกบฏ)
อูดัม ซิงห์ ถูกจับข้อหาพกอาวุธและเผยแพร่สิ่งตีพิมพ์ของกลุ่มกาดาร์ ถูกขังคุกห้าปี
ระหว่างติดคุก เพื่อนกลุ่มของเขา เช่น พากัต ซิงห์ กับอีกหลายคนถูกประหารโดยแขวนคอ ข้อหาทางการเมือง ส่วนพันเอกเรจินัลด์ ไดเออร์ ป่วยตาย
1
อูดัม ซิงห์ ถูกปล่อยตัวปี 1931 แต่ตำรวจอังกฤษยังตามสะกดรอยเขาตลอด เพราะเชื่อว่าเขายังทำงานให้กลุ่มใต้ดินที่ยังหลงเหลืออยู่
เขาหลบลอดตาพวกตำรวจ เดินทางไปที่แคชเมียร์ แล้วหนีไปเยอรมนี เดินทางต่อไปอังกฤษในราวปี 1933-1934
2
เขาไปร่วมกลุ่มสังคมนิยมในลอนดอน ขณะเดียวกันก็ทำงานต่างๆ เพื่อเลี้ยงชีพ เช่น ช่างไม้ ช่างเครื่องยนต์ ช่างทาสี
เขารอวันแก้แค้น
จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้ข่าวว่า ไมเคิล โอžไวเออร์ จะไปปาฐกถาที่ Caxton hall วันที่ 13 มีนาคม 1940 เขาจึงซ่อนปืนในหนังสือ แล้วเดินทางไปปฏิบัติภารกิจแก้แค้นให้ชาวอินเดีย
เมื่อถูกจับ อูดัม ซิงห์ ให้การว่า ผมทำเพราะผมมีความแค้นกับเขา เขาสมควรถูกฆ่า"
เขาได้รับอนุญาตให้พูดในศาล แต่ผู้พิพากษาไม่อนุญาตให้สื่อตีพิมพ์โดยเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม มันหลุดออกมาสู่สาธารณะราวปี 1996
1
"จักรวรรดิอังกฤษจงพินาศ พวกคุณบอกว่าอินเดียไม่มีสันติภาพ เรามีแต่ทาส สิ่งที่เรียกว่าอารยธรรมนำมาสู่เราทุกอย่างที่สกปรกและเสื่อมโทรม"
"ผมไม่กลัวตาย ผมภูมิใจที่จะตาย เพื่อปลดปล่อยแผ่นดินของผม ผมหวังว่าเมื่อผมจากไป ประชาชนจะลุกขึ้นมาขับหมาสกปรกอย่างพวกคุณออกไป ปลดปล่อยประเทศผมเป็นอิสระ"
"ผมไม่มีเรื่องเคืองแค้นเป็นการส่วนตัวกับคนอังกฤษเลย ผมมีเพื่อนชาวอังกฤษในอังกฤษมากกว่าที่ผมมีในอินเดีย ผมเห็นใจคนใช้แรงงานในอังกฤษ ผมต่อต้านรัฐจักรวรรดิ"
2
"พวกคุณสกปรก พวกคุณไม่ต้องการฟังเราบอกว่าพวกคุณไปทำอะไรในอินเดีย"
1
สื่อนานาชาติหลายฉบับเข้าข้างเขา เพราะมันคือการแก้แค้น ที่ชอบธรรม มันเป็นการแสดงจุดยืนอย่างหนึ่ง
1
ในคุกเขาอดอาหารในคุกนาน 42 วัน แต่ถูกบังคับให้กิน
1
อูดัม ซิงห์ ถูกตัดสินประหารชีวิตโดยการแขวนคอ วันที่ 31 กรกฎาคม ปีนั้นเอง เป็นราคาของการต่อสู้กับอำนาจจักรวรรดินักล่าอาณานิคม
นักเขียน ซัลมัน รัชดี เขียนท่อนหนึ่งในนวนิยายเรื่อง Shalimar the Clown ว่า "For every OžDwyer, there is a Shaheed Udham Singh." (เมื่อมีคนอย่างโอ'ไวเออร์ ก็จะมีคนอย่าง ชาฮีด อูดัม ซิงห์)
อูดัม ซิงห์ ในภาพยนตร์ Sardar Udham (2021)
ชาวอินเดียเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษขอโทษต่อเหตุการณ์ฆ่าหมู่ครั้งนั้น แต่ไม่เคยมีคำขอโทษ อย่างมากที่สุดก็คือคำเชิงเห็นใจในชะตากรรม เสียใจ แต่ไม่ขอโทษอย่างเป็นทางการ
3
ในปี 1974 ซากศพของ อูดัม ซิงห์ ถูกขุดส่งกลับอินเดีย ทำพิธีฌาปนกิจที่บ้านเกิดในปัญจาบ เถ้าโปรยลงสู่แม่น้ำสตลุช แม่น้ำสายเดียวกับที่รองรับเถ้าของ พากัต ซิงห์ และเพื่อนร่วมอุดมการณ์หลายคน
เนื่องจากชื่อที่เขาใช้ก่อนตาย ซึ่งมีความหมายถึงคนสามศาสนา ในพิธีฌาปนกิจมีคนในศาสนาฮินดู มุสลิม และซิกข์มาร่วม
ในอังกฤษเขาเป็นฆาตกร แต่ในอินเดีย เขาเป็นวีรบุรุษ
เช่นเดียวกับตำนาน 'Braveheart' หาก วิลเลียม วอลเลซ ถูกยกย่องว่าต่อสู้กับอังกฤษเพื่ออิสรภาพของสกอตแลนด์ บางที อูดัม ซิงห์ ก็อาจเป็น Braveheart เช่นกัน
3
ขึ้นอยู่กับว่าใครเขียนประวัติศาสตร์
5

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา