11 ธ.ค. 2022 เวลา 12:02 • ไลฟ์สไตล์
๏ ปริเฉทที่ ๑๑
โพธิสัพพัญญูปริวรรต
เจ็ดสัปดาห์หลังตรัสรู้
**********
~ ทรงเข้าอนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ ~
พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนบัลลังก์ชัย
เปล่งอุทานนี้แล้ว
ได้มีพระดำริดังนี้ว่า
เราแล่นไปถึงสี่อสังไขยกับแสนกัป
ก็เพราะเหตุบัลลังก์นี้
เราตัดศีรษะอันประดับ แล้วที่ลำคอแล้วให้ทานไป
ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้
ก็เพราะเหตุบัลลังก์นี้
เราควักนัยน์ตาที่หยอดดีแล้ว... ให้ทาน
ควักเนื้อหัวใจ... ให้ทาน
ให้บุตร เช่น ชาลีกุมาร...
ให้ธิดา เช่น กับกัณหาชินากุมารี...
และให้ภรรยาเช่นพระมัทรีเทวี
เพื่อเป็นทาสของตนอื่น ๆ
เพราะเหตุบัลลังก์นี้.
บัลลังก์นี้เป็นบัลลังก์ชัย
เป็นบัลลังก์ประเสริฐของเรา
ความดำริของเราผู้นั่งบนบัลลังก์นี้
ยังไม่บริบูรณ์เพียงใด
เราจักไม่ลุกขึ้นจากบัลลังก์นี้เพียงนั้น ดังนี้
จึงทรงนั่งเข้าสมาบัติหลายแสนโกฏิอยู่
ณ บัลลังก์นั้นนั่นแหละตลอดสัปดาห์
**********
~ สัปดาห์ที่ ๑ รัตนบัลลังก์~
(ประทับบน รัตนบัลลังก์ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์)
ครั้งนั้นแล...
พระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงนั่งเสวยวิมุตติสุขโดยบัลลังก์เดียว
ตลอด ๗ วัน (สัปดาห์ที่ ๑)
ครั้งนั้น
เทวดาบางเหล่าเกิดความปริวิตกขึ้นว่า
แม้ ๑ สัปดาห์ หลังจากตรัสรู้แล้ว
พระสิทธัตถะก็ยังมีกิจที่จะต้องทำอยู่หรือหนอ
เพราะยังไม่ละความอาลัย ในบัลลังก์.
พระศาสดาทรงทราบความวิตกของเทวดาทั้งหลาย
เพื่อจะทรงระงับความปริวิตกของเทวดาเหล่านั้น
จึงทรงเหาะขึ้นยังเวหาส
ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์.
จริงอยู่
ยมกปาฏิหาริย์ ที่ทรงกระทำ ณ มหาโพธิมัณฑ์ก็ดี
ปาฏิหาริย์ ที่ทรงกระทำในสมาคมพระญาติก็ดี
ปาฏิหาริย์ ที่ทรงกระทำในสมาคมชาวปาตลีบุตรก็ดี
ทั้งหมดได้เป็นเหมือนยมกปาฏิหาริย์ที่ควงไม้คัณฑามพพฤกษ์
**********
~ สัปดาห์ที่ ๒ อนิมิสเจดีย์ ~
(ประทับลืมพระเนตร พิจารณามหาโพธิบัลลังก์)
พระศาสดาครั้นทรงระงับ
ความปริวิตกของเทวดาทั้งหลายด้วยปาฏิหาริย์นี้แล้ว
จึงประทับยืนทางด้านทิศเหนือเยื้องไปทางทิศทะวันออกนิดหน่อย
ทรงพระดำริว่า
เราได้รู้แจ้งพระสัพพัญญุตญาณบนบัลลังก์นี้หนอ
จึงทอดพระเนตรทั้งสองโดยไม่กระพริบ
มองดูบัลลังก์อันเป็นสถานที่บรรลุผลแห่งบารมี
ที่ทรงบำเพ็ญมาตลอดสี่อสงไขยแสนกัป
ทรงยับยั้งอยู่หนึ่งสัปดาห์
สถานที่นั้น จึงชื่อว่า อนิมิสเจดีย์ ๑
**********
~ สัปดาห์ที่ ๓ รัตนจงกรมเจดีย์ ~
(ประทับจงกรม บนรัตนจงกรม ตลอดสัปดาห์)
ลำดับนั้น ทรงนิรมิตที่จงกรมในระหว่างบัลลังก์
และที่ที่ประทับยืน
แล้วทรงจงกรมในรัตนจงกรม
อันยาวจากตะวันออกไปตะวันตก
ทรงยับยั้งอยู่หนึ่งสัปดาห์
สถานที่นั้น จึงชื่อว่า รัตนจงกรมเจดีย์
**********
~ สัปดาห์ที่ ๔ รัตนฆรเจดีย์~
(ประทับนั่งในเรือนพิจารณา หลักธรรม
จนบังเกิด "ฉัพพรรณรังสี" รอบพระวรกาย)
แต่ในสัปดาห์ที่ ๔
เทวดาทั้งหลายนิรมิตเรือนแก้ว
ในด้านทิศพายัพ จากต้นโพธิ
ประทับนั่งบนบัลลังก์ในเรือนแก้วนั้น
ทรงพิจารณา "พระอภิธรรมปิฎก"
และสมันตปัฏฐานอันนี้นัยในเรือนแก้วนี้
โดยพิเศษ ทรงยับยั้งอยู่หนึ่งสัปดาห์.
ส่วนนักอภิธรรมกล่าวว่า
เรือนอันล้วนแล้วด้วยแก้ว ชื่อว่า "รัตนฆระเรือนแก้ว"
สถานที่ทรงพิจารณาปกรณ์ทั้ง ๗ พระคัมภีร์
ก็ชื่อว่า รัตนฆรเรือนแก้ว.
ก็จำเดิมแต่นั้นมา สถานที่นั้น
จึงชื่อว่า "รัตนฆรเจดีย์"
**********
~ สัปดาห์ที่ ๕ ต้นอัชปาลนิโครธ~
(ประทับเสวยวิมุติสุข ใต้ต้นอัชปาลนิโครธ)
พระศาสดาทรงยับยั้งอยู่
ณ ที่ใกล้ต้นโพธิ์นั่นเอง ตลอด ๔ สัปดาห์
ด้วยอาการอย่างนี้
ในสัปดาห์ที่ ๕
จึงเสด็จจากควงโพธิพฤกษ์เข้าไปยังต้นอชปาลนิโครธ (ต้นไทร)
ทรงนั่งพิจารณาพระธรรมและเสวยวิมุตติสุขอยู่
ณ ต้นอชปาลนิโครธ
**********
สมัยนั้น...
พระยาวัสดีมารติดตามอยู่ตลอดกาล
แม้จะเพ่งมองหาช่องทางอยู่
ก็ไม่ได้เห็นความพลั้งพลาดอะไร ๆ
ของพระสิทธัตถะนี้
จึงถึงความโทมนัสว่า
บัดนี้สิทธัตถะนี้ล่วงพ้นวิสัยของเราแล้ว
จึงนั่งที่หนทางใหญ่คิดถึงเหตุ ๑๖ ประการ
จึงขีดเส้น ๑๖ เส้นลงบนแผ่นดิน
คือ คิดว่า...
๑) เราไม่ได้บำเพ็ญทานบารมี
เหมือนสิทธัตถะนี้แล้วขีดลงไปเส้นหนึ่ง
๒) อนึ่ง คิดว่าเราไม่ได้บำเพ็ญศีลบารมี
๓) เนกขัมมบารมี
๔) ปัญญาบารมี
๕) วิริยบารมี
๖) ขันติบารมี
๗) สัจบารมี
๘) อธิษฐานบารมี
๙) เมตตาบารมี
๑๐) อุเบกขาบารมี
เหมือนสิทธัตถะนี้
ด้วยเหตุนั้น "เราจึงไม่เป็นเหมือนสิทธัตถะนี้"
แล้วขีดเส้นที่ ๒ ถึง เส้นที่ ๑๐
อนึ่ง คิดว่า เราไม่ได้บำเพ็ญบารมี ๑๐
อันเป็นอุปนิสัยแก่การแทงตลอด...
๑๑) อาสยานุสยญาณ
๑๒) อินทริยปโรปริยญาณ
๑๓) มหากรุณาสมาปัตติญาณ
๑๔) ยมกปาฏิหาริยญาณ
๑๕) อนาวรณญาณ
๑๖) และ สัพพัญญุญาณ
อันไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น เหมือนดังสิทธัตถะนี้
ด้วยเหตุนั้น "เราจึงไม่เป็นเหมือนดังสิทธัตถะนี้"
แล้วขีดเส้นที่ ๑๑ ถึง เส้นที่ ๑๖
**********
เมื่อเทวปุตตมารนั้นนั่งขีดเส้น ๑๖ เส้น อยู่บนทางใหญ่
เพราะเหตุเหล่านั้น ด้วยประการอย่างนี้แล้ว
สมัยนั้น ธิดามารทั้ง ๓
คือ นางตัณหา นางอรดี และนางราคา
กล่าวกันว่า "บิดาของพวกเราไม่ปรากฏ..."
"บัดนี้ อยู่ที่ไหนหนอ?"
จึงมองหาอยู่.
ได้เห็นเทวปุตรมารนั้น
ได้รับความโทมนัสขีดแผ่นดินอยู่
จึงพากันไปยังสำนักของบิดาถามว่า
"ท่านพ่อ เพราะเหตุไร?"
"ท่านพ่อจึงเป็นทุกข์ หม่นหมองใจ"
เทวปุตรมารกล่าวว่า
"ลูกเอ๋ย มหาสมณะนี้ล่วงพ้นอำนาจของเราเสียแล้ว
พ่อคอยดูอยู่ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้
ยังไม่อาจเห็นช่องโอกาสของมหาสมณะนี้
ด้วยเหตุนั้น พ่อจึงเป็นทุกข์หม่นหมองใจ"
มารธิดากล่าวว่า
"ถ้าเมื่อเป็นอย่างนั้น คุณพ่ออย่าได้เสียใจ
พวกข้าพเจ้าจักกระทำมหาสมณะนั้น
ให้อยู่ในอำนาจของตน แล้วจักพามา"
เทวปุตรมารกล่าวว่า
"ลูกเอ๋ย... ใคร ๆ ไม่อาจทำมหาสมณะนี้ให้อยู่ในอำนาจ
บุรุษผู้นี้ตั้งอยู่ในศรัทธาอันไม่หวั่นไหว"
ธิดามารกล่าวว่า
"ท่านพ่อ พวกข้าพเจ้าเป็นลูกผู้หญิงนะ
พวกข้าพเจ้าจักเอาบ่วงคือ ราคะ เป็นต้น
ผูกมหาสมณะให้มั่นแล้วนำมาให้เดี๋ยวนี้
ท่านพ่ออย่าคิดไปเลย"
**********
กล่าวแล้วธิดามารทั้ง ๓ นั้น
จึงเข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้ากราบทูลว่า
"ข้าแต่พระสมณะ
พวกข้าพระบาทจักบำเรอของพระองค์"
พระผู้มีพระภาคเจ้า มิได้ลืมพระเนตรแลดู
มีพระมนัสน้อมไปในธรรมเครื่องสิ้นไปแห่งอุปธิอันยอดเยี่ยม
และประทับนั่งเสวยสุขอันเกิดแต่วิเวกเท่านั้น.
ธิดามารคิดกันอีกว่า...
ความประสงค์ของพวกผู้ชายไม่เหมือนกัน
ผู้ชายบางคนรักหญิงกุมารีรุ่นสาว
บางคนรักหญิงผู้อยู่ในปฐมวัย
บางคนรักหญิงผู้ตั้งอยู่ในมัชฌิมวัย
บางคนรักหญิงผู้ตั้งอยู่ในปัจฉิมวัย
ถ้ากระไร พวกเราควรประเล้าประโลม
ด้วยรูปนานาประการ
จึงนางหนึ่งๆ นิรมิตอัตภาพเป็นร้อยๆ อัตภาพ
โดยเป็นรูปหญิงรุ่นเป็นต้น
เป็นหญิงยังไม่คลอด
เป็นหญิงคลอดคราวเดียว
เป็นหญิงตลอด ๒ คราว
เป็นหญิงกลางคน
และเป็นหญิงรุ่นใหญ่
เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้าถึง ๖ ครั้ง
แล้วกล่าวว่า
"ข้าแต่พระสมณะ
พวกข้าพระบาทจักบำเรอบาทของพระองค์"
พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงใส่พระทัยถึงข้อแม้นั้น
โดยประการที่ทรงน้อมไปในธรรมเครื่องสิ้นไป
แห่งอุปธิอันยอดเยี่ยม.
**********
ส่วนอาจารย์บางพวกกล่าวว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงเห็นธิดามารเหล่านั้น
เข้ามาหาโดยภาวะเป็นหญิงผู้ใหญ่
จึงทรงอธิษฐานว่า
หญิงเหล่านี้จงเป็นผู้มีฟันหัก
ผมหงอกอย่างนี้ ๆ.
คำของเกจิอาจารย์นั้น
ไม่ควรเชื่อถือ...
เพราะพระศาสดา
จะไม่ทรงกระทำการอธิษฐานเห็นปานนั้น.
**********
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
"พวกท่านจงหลีกไป"
"พวกท่านผู้เช่นไร... จึงพากันพยายามอย่างนี้"
"ชื่อว่ากรรมเห็นปานนี้
ควรกระทำเบื้องหน้าของตนผู้ยังไม่ปราศจากราคะเป็นต้น"
"แต่ตถาคตละราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว"
จึงทรงพระปรารภถึงการละกิเลสของพระองค์
ทรงแสดงธรรมตรัส พระคาถา ๒ คาถา
ในพระธรรมบท พุทธวรรค๑ ดังนี้ว่า
"ความชนะ อันผู้ใดชนะแล้ว ไม่กลับแพ้
อันใคร ๆ จะนำความชนะ ของผู้นั้นไปในโลกได้"
"ท่านทั้งหลายจักนำพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้มีอารมณ์ไม่มีที่สุด ผู้ไม่มีร่องรอย
ไปด้วยร่องรอยอะไร"
"พระพุทธเจ้า พระองค์ใด ไม่มีตัณหา
อันเป็นดุจข่าย ส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ
เพื่อจะนำไปในที่ไหน ๆ "
"ท่านทั้งหลายจักนำพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้มีอารมณ์ไม่มีที่สุด ผู้ไม่มีร่องรอย
ไปด้วยร่องรอยอะไร"
**********
ธิดามารเหล่านั้น จึงกล่าวคำว่า
"บิดาของพวกเราพูดจริง พระอรหันต์สุคตเจ้า
เป็นผู้ที่จะนำไปไม่ได้ ในโลกด้วยราคะ..."
แล้วได้พากัน ไปยังสำนักของบิดา.
**********
พระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงยับยั้งอยู่ที่อชปาลนิโครธนั้น หนึ่งสัปดาห์
**********
ครั้งนั้น มีพราหมณ์ผู้หนึ่งเป็นหุหุกชาติ
มักตวาดผู้อื่นว่า " หึ หึ "
เป็นปรกติจริต
มายังที่นั้น
ทูลถามพระผู้มีพระภาค ด้วยพราหมณ์และธรรม
ซึ่งทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ ว่า
"บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ด้วยเหตุเพียงเท่าไร
อนึ่ง ธรรมทั้งหลายเหล่าไรเล่า
ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ดังนี้"
ครั้นนั้น สมเด็จ
พระผู้มีพระภาคทราบชัดซึ่งความนั้นแล้ว
เปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
"พราหมณ์ ผู้ใดมีบาปธรรมอันลอยเสียแล้ว
ไม่มีกิเลส ซึ่งเป็นเครื่องขู่ผู้อื่น (ว่า หึ ๆ เป็นคำหยาบ)
และไม่มีกิเลสรัดจิต (ดังน้ำฝาด)
และมีตนสำรวมแล้ว ถึงซึ่งที่สุดจบเวท (บรรลุอรหันต์)
บรรลุคุณพิเศษ คือ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
จุตูปปาตญาณ อาสวักขยปัญญา จบไตรวิชชานี้แล้ว
มีพรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว เสร็จกิจที่ควรประกอบ
ผู้นั้นพึงกล่าวได้ โดยธรรม โดยชอบ
ซึ่งถ้อยคำว่า... ตนเป็นพราหมณ์
เป็นผู้พอกพูนตนด้วยสัมมาปฏิบัติ
กิเลสเครื่องฟูขึ้นของท่านผู้ไรเล่า
ไม่มีในโลกอันหนึ่งเลยดังนี้"
สมเด็จพระผู้มีพระภาค
เปล่งออกซึ่งอุทาน
แสดงขีณาสวบุคคล ว่าเป็น "พราหมณ์"
อริยมรรคทั้ง ๔
เป็นธรรมอันทำบุคคลให้เป็น "พราหมณ์"
ด้วยประการฉะนี้
**********

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา