12 ธ.ค. 2022 เวลา 12:00 • การ์ตูน
ในวงการเหล่าผู้คนที่เสพติดอนิเมะเรื่องนี้ต่างพูดกันว่า Monogatari Series ไม่ใช่อนิเมะที่สามารถแนะนำให้คนอื่นดูได้ง่าย ๆ หรือถึงขั้นว่า มันเป็นไปไม่ได้เลย แต่ถึงแบบนั้นก็เห็นหลายคนพยายามแนะนำเรื่องนี้ให้คนอื่น ๆ ดู ผมเคารพในความพยายามและความสามารถของพวกเขามาก แต่ผมเองก็อยากจะลองแนะนำเรื่องนี้เหมือนกัน
Monogatari Series
แน่นอนว่ารสนิยมมันไม่มีอะไรที่ถูกผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งผมเองก็ไม่ได้ยกให้เรื่อง Monogatari เป็นอันดับหนึ่งในลำดับอนิเมะยอดเยี่ยมในใจผม แม้ว่า FMA: Brotherhood ที่ได้อันดับหนึ่งใน MAL และ ANN ก็ยังไม่ได้อยู่ใน Top 5 ของผม แม้ว่าผมจะยอมรับว่ามันเป็นอนิเมะที่ยอดเยี่ยมที่สุด แต่ก็ไม่จำเป็นว่ามันจะต้องเป็นอนิเมะที่ผมชอบที่สุด ซึ่งรายชื่ออนิเมะที่ผมชอบคงต้องเอาไว้เล่าให้ฟังคราวหน้า แต่ชื่อเหล่านั้นก็น่าจะเดาได้ไม่ยาก
Monogatari เป็นเรื่องที่ผมผ่านมาพบเจอช้าเกินไป แต่ผมเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีช่วงเวลาของมัน หากผมเจอมันเร็วกว่านี้ ผมคงไม่สามารถชื่นชมมันได้ขนาดนี้ เพราะคงจะอ่อนประสบการณ์จากการที่ผ่านอนิเมะเรื่องอื่น ๆ มาไม่มากพอ แต่สาเหตุที่ผมบอกว่ารู้จักมันช้าเกินไป เพราะว่าเรื่องนี้มันเป็นมหากาพย์ ที่ต้องใช้เวลาดูนานพอสมควร พร้อมทั้งต้องศึกษาค้นคว้าต่อไป เพื่อที่จะเข้าใจและชื่นชมมันมากขึ้น
แต่ทุกอย่าง ทุกเวลาที่ใช้กับมัน คุ้มค่ายิ่งนัก แน่นอนว่าผมไม่ชอบอะไรที่ดูลึกซึ้ง แม้ว่ามันอาจจะลึกซึ้งจริง ๆ แต่ถ้ามันนำเสนอแบบป้ายใส่หน้าคนดูว่า นี่ลึกซึ้งนะ ผมจะรู้สึกขยาด อนิเมะเพียงสองเรื่องที่ผมยอมรับว่า ดูลึกซึ้ง และลึกซึ้งมากกว่าที่นำเสนอจริง ๆ มีเพียงสองเรื่อง คือ Death Note (ในฐานะที่เป็นผู้ศึกษานิติปรัชญา) และ FMA (ในฐานะที่เป็นผู้สนใจศาสตร์การเมือง)
ดังนั้น รสนิยมอนิเมะที่ผมชอบคือเรื่องที่ดูไม่ลึกซึ้ง แต่ลึกซึ้ง ซึ่งเรื่องเหล่านั้นมักจะทำออกมาแบบที่เปลือกของมันดูไม่มีอะไรต้องคิด แต่เมื่อดูไป และเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ ผมกลับเอาบางคำพูดออกจากหัวไม่ได้เป็นเวลานาน เช่น Suzumiya Haruhi และ Hibike! Euphonium (ผมยอมรับว่ามีบางเรื่องที่ผมชอบที่นำเสนอว่าลึกซึ้ง แต่ก็ลึกซึ้งเท่าที่นำเสนอ เช่น Rascal ฯ)
แต่ Monogatari แตกต่างจากเรื่องอื่น ๆ ถ้าผมจะบรรยายว่ามันเป็นแบบไหน ผมคงพูดได้แค่ประโยคเดียวว่า เรื่องนี้มันไม่เหมือนเรื่องไหนที่เคยมีมา (อีกเรื่องคือ Tatami Galaxy แต่ผมยังดูไม่จบสักที) ทั้งเรื่องราว บทพูด ตัวละคร และภาพที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ผมไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ทั้งในและนอกวงการอนิเมะ ที่ผมบอกว่ามันเป็นอนิเมะที่ดูไม่ลึกซึ้ง เพราะว่ามันลึกซึ้งโดยที่ไม่ต้องพยายาม ธีมของมันก็ลึกซึ้งมากพอที่จะขยายเป็นมหากาพย์ได้
Tatami Galaxy
ผมผ่านมาพบกับ Monogatari ในช่วงที่ชีวิตวุ่นวายในต่างประเทศ ผมที่กำลังตามเก็บอนิเมะที่อยากดูมาตลอดจึงตัดสินใจเริ่มดู Bakemonogatari แต่ดูไปได้ครึ่งเรื่อง ผมก็หยุดไป เพราะดูไม่ไหวด้วยหลาย ๆ เหตุผล แน่นอนว่าผมรู้สึกได้ว่า เรื่องนี้มันมีอะไรมากกว่าที่เห็น แต่เมื่อคิดว่าจะต้องผ่าน Bakemonogatari ไป ผมรู้สึกเบื่อมาก ๆ ซึ่งในตอนนั้น รุ่นน้องผมก็เริ่มดูเหมือนกัน และก็บอกว่าเบื่อ จึงดรอปเรื่องนี้ไปเหมือนกัน
ทำไมมันถึงน่าเบื่อ นั่นเป็นเพราะองค์ประกอบสำคัญของเรื่อง Monogatari ที่น่าเกรงกลัวจนคนเริ่มดูได้ยาก และคนที่เริ่มดูแล้ว ดูต่อลำบาก นั่นก็คือ บทพูด Monogatari หนักที่บทพูด ตัวละครไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวแบบแอคชั่น (มีบ้าง และเมื่อมีก็สุดยอดมาก ๆ แต่นาน ๆ ทีมีครั้ง) แล้วเรื่องนี้มันไม่แปลเป็นภาษาอื่นด้วย ดังนั้นไอคนที่เรียนภาษาญี่ปุ่นเป็นวิชาเลือกมาหกปีแบบไม่ตั้งใจเรียนอย่างผม ไม่มีทางเลยที่จะตามบทสนทนาของเรื่องได้ทัน
ทำไมมันตามไม่ทัน หนึ่ง เพราะว่าเรื่องนี้พูดกันเยอะมาก แบบ มาก ๆ สอง ตัวละครพูดเร็วจัด และเมื่อกลับมาดูรอบสองรอบ พบว่ามีลายละเอียดเยอะมากในบทพูดที่ตกหล่นไป ดังนั้น ทุกคำมีความสำคัญหมด จะตามทั้งหมดก็ไม่ทัน สาม ผู้เขียนเรื่องนี้ NisiOisiN เป็นโคตรนักภาษา มีการเล่นคำตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งมันทำให้เรื่องนี้พากย์เสียงเป็นภาษาอื่นไม่ได้ เพราะมันจะทำให้ลายละเอียดของภาษาที่เป็นแก่นของเรื่องตกหล่นไป
NisiOisin
ให้ตายเถอะ! ขนาดนามปากกาผู้เขียน NisiOisiN ยังเป็นการเล่นคำเลย
การเล่นคำของเรื่องมีความซับซ้อนมาก ๆ นอกจากนี้ยังปรากฏอยู่ตลอดทั้งเรื่อง มากไปกว่านั้น ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดของเรื่องนี้ ที่ทำให้มันมีเสน่ห์มาก ถามว่า หากไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น มันจะยังสนุกไหม ตอบง่าย ๆ คือสนุก คือ มันสนุกในตัวของมันอยู่แล้ว แต่การเล่นคำเป็นการปรุงเสน่ห์ให้กับเรื่อง ทำให้เมื่อย้อนกลับมาดู เมื่อดูจบแล้ว จะเห็นว่าการเล่นคำเป็นการบอกใบ้เหตุการณ์ในอนาคต ซึ่งไม่ต้องห่วง ขนาดคนญี่ปุ่นยังไม่เข้าใจการเล่นคำทั้งหมดของเรื่องเลย
ผมยกตัวอย่างการเล่นคำชั้นยอดอย่างหนึ่งให้ก็แล้วกัน ที่จะไม่สปอยเนื้อหาของเรื่อง โอชิโนะ เมเมะ ผู้ที่รับบทคล้าย ๆ ครูของพระเอก มีประโยคติดปาก (ซึ่งติดหูผมด้วย) คือ Genki ii na! Nanika ii koto demo atta no kai? ประโยคหลัง หากแบ่งแบบนี้จะแปลว่า “ไปเจออะไรดี ๆ มาอย่างนั้นเหรอ” แต่ถ้าแบ่งแบบนี้ “Nani ‘kaii’ (怪異) koto demo atta no kai?” จะแปลว่า “ไปเจอ ‘เรื่องประหลาด’ อะไรมาอย่างนั้นเหรอ”
"Nani ka ii goto demo atta no kai?"
จะเข้าใจมุขเล่นคำนี้ได้อย่างไร หากผมไม่เล่าเรื่องย่อโดยสังเขปของเรื่องนี้ มันจำเป็นเช่นกันที่จะต้องเล่า เพราะนี่เป็นโพสแนะนำอนิเมะ
เรื่องราวดำเนินจากมุมมองของพระเอกชื่อว่า อารารากิ โคโยมิ ซึ่งดูจะเป็นคนธรรมดา แต่เมื่อเริ่ม Bakemonogatari เราพอจะรู้ได้ว่าเขาเป็นครึ่งคนครึ่งแวมไพร์ ในเรื่องนี้เด็กสาวคนอื่น ๆ ที่พบเจอกับ “สิ่งแปลกประหลาด” ซึ่งก็คือภูติผีต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อผู้เคราะห์ร้าย สิ่งแปลกประหลาดนั้นเกิดขึ้นมาจากสภาพจิตใจของบุคคลหนึ่ง และมาในรูปแบบของสัตว์บางอย่าง เช่น ปู หอยทาก ลิง งู แมว และอื่น ๆ
Kaii (Oddity)
อารารากิ ซึ่งเคยมีประสบการณ์กับเรื่องแบบนี้จึงอาสาช่วยเหลือหญิงสาวต่าง ๆ ให้ผ่านพ้นสิ่งแปลกประหลาดได้ไป ด้วยความช่วยเหลือของโอชิโนะ เมเมะผู้เป็น "ผู้เชี่ยวชาญ" แต่หัวใจของเรื่องตามที่เมเมะกล่าวไว้ก็คือ คนอื่นไม่สามารถช่วยคนอื่นได้ คนเราต้องช่วยเหลือตัวเองเท่านั้น เรื่องย่อนี้เป็นเพียงเรื่องย่อของภาค Bakemonogatari เท่านั้น ซึ่งมีอีกหลายภาค นอกจากนี้ เรื่องราวที่ Monogatari นำเสนอ มันยังไม่เรียงตามลำดับเวลาอีกด้วย
(แน่นอนว่า ชื่อ Bakemonogatari เป็นการเล่นคำแบบสนธิ ระหว่างคำว่า Bakemono ที่แปลว่าสัตว์ประหลาด กับ Monogatari ที่แปลว่าเรื่องเล่า)
จะบอกว่า Bakemonogatari ไม่ใช่เรื่องแรกตามลำดับเวลา แล้วเราควรไปดูเรื่องแรกก่อนไหม คำตอบก็คือ ก็แล้วแต่ครับ แต่หากจะให้แนะนำตรงไปตรงมา ผมแนะนำให้เริ่มจาก Bakemonogatari ก่อน เพราะมันเป็นเรื่องแรกที่ NisiOisiN เขียน ผมว่ามันจะปูทางให้ปริศนาอื่น ๆ ที่จะถูกเปิดเผยในเรื่องอื่น ๆ เช่น เรื่องราวของอารารากิกับแวมไพร์ หรือเรื่องราวของฮาเนะคาว่ากับแมว
เอาเป็นว่าเริ่มจาก Bakemonogatari แล้วหากงงลำดับเวลา ก็ไปเปิด Google ดูว่าเหตุการณ์ไหนเกิดก่อนเกิดหลังก็แล้วกันครับ เพราะเรื่องแรกตามลำดับเวลาที่อนิเมะเล่า จริง ๆ แล้วมาในรูปแบบ Flashback ในเรื่องเล่าที่สองของภาค Owarimonogatari ซึ่งเป็นภาคหลัง ๆ แล้ว
ที่ผมแนะนำให้ดู Bakemonogatari ก่อน ก็เพราะว่า ในความคิดของผมแล้ว Bakemonogatari น่าเบื่อที่สุดครับ ถ้าผ่านมันไปได้ จะพอรู้ภูมิหลังของเรื่องและตัวละครหลัก และเตรียมพร้อมรับแรงกระแทกในเรื่องอื่น ๆ ของซีรีส์นี้ มันเป็นเพียงปฐมบทเท่านั้น คราวนี้จะต้องบอกว่า Monogatari มีภาคอะไรบ้าง จะได้พอจะเข้าใจว่าทำไม Bakemonogatari เป็นเพียงปฐมบทเท่านั้น ลำดับที่ผมดูต่อจาก Bakemonogatari มีดังนี้:
Kizumonogatari
Nisemonogatari
Nekomonogatari (Kuro)
Monogatari Second Season
Hanamonogatari
Tsukimonogatari
Owarimonogatari Part 1
Koyomimonogatari
Owarimonogatari Part 2
Zoku Owarimonogatari
Arcs ของ Monogatari
เหตุการณ์ในเรื่อง Kizumonogatari เกิดขึ้นเป็นลำดับแรก ตามด้วย Nekomonogatari (Kuro) สองเรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ใน Bakemonogatari แต่ผมแนะนำให้ดู Bakemonogatari ก่อน ซึ่งประกอบด้วยเรื่องราว 5 เรื่อง ปู หอยทาก ลิง งู แมว Nisemonogatari ประกอบด้วยสองเรื่อง คือ ผึ้ง และ นก
Monogatari Second Season ได้รับการยกย่องว่ามีเนื้อเรื่องที่ดีที่สุด (ซึ่งแม้ว่าผมจะเห็นด้วย แต่ผมชอบ Kizumonogatari มากกว่า) มันประกอบด้วย 5 เรื่องราว: Nekomonogatari (Shiro), Kabukimonogatari Otorimonogatari, Onimonogatari, และ Koimonogatari ส่วน Hanamonogatari และ Tsukimonogatari เป็นเรื่องในตัวของมันเอง
(ในตอนแรก Monogatari Second Season จะมีชื่อว่า Zenmonogatari ที่แปลว่า ทุกเรื่อง แต่มันไม่ใช่ทุกเรื่อง เพราะมันมีต่ออีกเยอะ)
แน่นอนว่าเรื่องราวไม่ได้เรียงตามลำดับเหตุการณ์ Hanamonogatari เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นท้ายที่สุดของเนื้อหาที่อนิเมะนำเสนอ หลายคนแนะนำให้ดู Hanamonogatari ในสักช่วงหนึ่งระหว่างดู Monogatari Second Season ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเขาแนะนำให้ดูระหว่างเรื่องไหนกับเรื่องไหน ส่วนตัวผม ผมดูหลังจากดู Monogatari Second Season จบ
Owarimonogatari มีสองพาร์ท แต่ทุกคน (รวมถึงผม) แนะนำให้ดู Koyomimonogatari คั่นระหว่างพาร์ทแรกกับพาร์ทสอง Koyomimonogatari เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอีกมุมหนึ่ง แต่ละตอนเป็นตอนสั้น ๆ ประมาณ 10 นาที และแต่ละตอนนำเสนอเรื่องราวอีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ภายในเหตุการณ์หนึ่งตลอดทั้งภาค Bakemonogatari จน Tsukimonogatari
สองตอนสุดท้ายของ Koyomimonogatari เป็นเรื่องราวที่เชื่อมเนื้อหาของ Owarimonogatari พาร์ทหนึ่งและสอง ดังนั้น จึงแนะนำให้ดู Koyomimonogatari คั่นระหว่างทั้งสองพาร์ท
แน่นอนว่า Owarimonogatari ถือว่าเป็นภาคจบ เพราะชื่อเรื่องก็หมายความว่า End Story และผมรักตอนจบของภาคนี้พาร์ทสองมาก ผมคิดว่าเป็นตอนจบที่งดงาม ที่บรรลุทุกเรื่องราวที่ดำเนินมาในทุก ๆ ภาค อย่างไรก็ตาม มันมี Zoku Owarimonogatari ซึ่งคือภาคต่อของ Owarimonogatari ซึ่งมันก็ยอดเยี่ยมเช่นกัน (แม้ว่าผมจะงง ๆ กับเนื้อหาของเรื่องก็ตาม)
หลายคนอาจจะคิดว่า งั้นหยุดที่ Owarimonogatari พาร์ทสองก็ได้ แต่ผมคิดว่า มาถึงขั้นนี้แล้ว ดูให้จบไปเลยไม่ดีกว่าเหรอ อีกทั้ง เนื้อหาของ Zoku ก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน เราจะได้เห็นสิ่งที่เราไม่คิดจะได้เห็น เรื่องราวที่ยังไม่เคยถูกเล่า คนที่ไม่เคยปรากฏตัวแต่ถูกพูดถึงตลอดทั้งเรื่อง และทำให้เรื่องเล่าของตำนาน งู ทาก กบ สมบูรณ์ หากคิดว่าตำนาน งู ทาก กบ ในนารุโตะเยี่ยมแล้ว ผมคิดว่าใน Zoku มันยอดเยี่ยมมากว่า เพราะมีการเล่นคำชาญฉลาดผสมอยู่ด้วย
Sansukumi-ken งู ทาก กบ ในนารุโตะ
องค์ประกอบของเรื่องไม่ได้มีแต่เพียงเนื้อหาเท่านั้นที่ทำให้เรื่องราวนี้ยอดเยี่ยม การนำเสนอต้องชั้นยอดเช่นกัน อย่างที่ผมบอกว่าเรื่องนี้ไม่เหมือนกับเรื่องอื่น ๆ ที่เคยดูมา และแน่นอนว่า เนื้อหาแบบแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยมีหัวใจหลักอะไรบางอย่างก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เมื่อผสมกับการเล่นคำ มันทำให้เรื่องราวมีเสน่ห์มากขึ้น มากไปกว่านั้น การนำเสนอเรื่องราวเหล่านั้นด้วยภาพที่วิจิตร จะทำให้เรื่องราวน่าสนใจมากขึ้น
Monogatari เป็นอนิเมะดัดแปลงมาจากนิยาย และเมื่อมันมาจากนิยาย ฉากเคลื่อนไหวก็มีไม่เยอะ และหนักไปที่บทพูด แต่จะทำยังไงให้บทพูดมีน้ำหนักมากขึ้น แบบที่ไม่ใช่หลับตาฟังคนพูดเฉย ๆ ก็ได้ เพราะอย่างไรก็ตาม อนิเมะก็เป็นภาพเคลื่อนไหว ดังนั้น การจะดัดแปลงบทพูดให้เป็นมิตรต่อสายตาด้วย ไม่ใช่เพียงเป็นมิตรต่อหู ก็เป็นสิ่งสำคัญ
Jojo:Araragi
Shaft เป็นสตูดิโอที่ทำอนิเมะเรื่องนี้ โดยใส่จุดเด่นของตัวเองไปอย่างเต็มที่ และมีเอกลักษณ์มาก (มากจนมีชื่อเรียกการโพสท่าตัวละครที่หันเอียงคอกลับหลังว่า Shaft Head Tilt คล้าย ๆ กับกรณีท่าโพส JoJo) ภาพของอนิเมชั่นมีการเคลื่อนไหวแทบจำตลอดเวลา เมื่อตัวละครพูด สตู ฯ นี้ไม่ปล่อยไว้การกระทำเพียงแค่ยืนคุยกันเสียเปล่าเพียงแค่ให้ตัวละครยืนนิ่ง ๆ คุยกัน แต่สีหน้า สภาพแวดล้อม สีสันต์ของภาพก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย
Shaft Head Tilt
นอกจากนี้ ยังมีการทดลองอะไรแปลก ๆ ใหม่ ๆ อีกด้วย เช่นใน Bakemonogatari ซึ่งมีเนื้อหาหนักไปที่การพูดคุยเล่าเรื่องราวมากกว่า มีการทำภาพประกอบเรื่องราวเหล่านั้นแบบแปลก ๆ และสดใหม่อยู่ตลอดเวลา เช่น การสผมระหว่างอนิเมะชั่นกับภาพถ่ายในชีวิตจริง และที่เป็นที่จดจำมากที่สุด คือการใช้ตัวอักษรในการบรรยายเรื่องราว การเลือกใช้สีให้เหมาะสมกับบรรยากาศของเรื่อง และอื่น ๆ
การใช้ภาพถ่ายลงไปในอนิเมะ
อาจจะเรียกมันว่าเป็นสไตล์มินิมอลก็ได้ เช่น จะวาดภาพอย่างไรเพื่อบรรยายให้ผู้ชมเข้าใจว่านี่เป็นห้องที่รกมาก ๆ ภาพนั้นก็คือให้ห้องหนึ่งเต็มไปด้วยหนังสือสีแดงเป็นพันเป็นหมื่นเล่ม แต่จะเรียกว่ามินิมอลก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะมีองค์ประกอบอื่นที่ไม่จำเป็นเสียทีเดียวปะปนอยู่สม่ำเสมอ สไตล์ของ Monogatari เปลี่ยนแปลงไปตามเนื้อหา และจินตนาการของผู้กำกับ
ห้องรก ๆ
ที่น่าจดจำไม่แพ้กันกับ Shaft Head Tilt คือ จอดำ จอแดง หรือ จอขาว ที่ขึ้นคำว่า Kuro (ดำ) Aka (แดง) หรือ Shiro (ขาว) ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังถกเถียงกันอยู่ว่าทำไมมีภาพดำ ๆ แดง ๆ แบบนั้นระหว่างซีน ซึ่งหนึ่งในคำตอบที่ผมเจอคือ เพราะว่าทีมอนิเมชั่นทำฉากนั้น ๆ ไม่ทัน เลยเอาภาพเหล่านั้นคั่นในฉากที่ทำอนิเมชั่นไม่ทัน แต่มันกลายเป็นเอกลักษณ์ของเรื่องไปแล้ว จนแม้กระทั่งทำเสร็จสมบูรณ์ ก็ยังเก็บฉากดำ ๆ แดง ๆ เอาไว้อยู่ดี
ฉากดำ
นอกจากนี้ ด้วยความที่บทพูดมันเยอะมาก มากขนาดนักพากย์เองก็เหนื่อยที่จะต้องพากย์ตอน ๆ หนึ่ง อีกทั้งอนิเมะก็ต้องการเคารพ Source Material แบบที่เป็นนิยาย บางประโยค บางบรรทัดก็ไม่ได้ใช้พากย์เสียงเอา แต่ยกเอาตัวอักษรจากหนังสือมาแปะไว้ในเรื่องทั้งดุ้น ทำให้ผู้ชมต้องอ่านและฟังไปพร้อมกัน ๆ ด้วย (และไอคนที่ไม่ได้เก่งญี่ปุ่น ก็ต้องหยุดทุกเฟรมระหว่างเรื่องเพื่อที่จะอ่านตัวหนังสือทัน)
Monogatari เป็นเรื่องราวที่เล่นกันมุมมองของตัวละครมาก เพราะมันเป็นเรื่องเล่า ที่ถูกนำเสนอออกมาผ่านตัวละคร จึงจะต้องสะท้อนสิ่งที่ตัวละครผู้เล่าเห็น ซึ่ง Monogatari ทำออกมาได้อย่างดี ผมกล่าวว่าเรื่องนี้เล่าผ่านมุมมองของอารารากิ พระเอก แต่ก็ไม่เสมอไป ตั้งแต่ Second Season เรื่องราวเล่าผ่านมุมมองของตัวละครอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งนั่นสะท้อนธีมหลักของเรื่องที่ว่า คนเราต้องช่วยเหลือตัวเอง เจ้าของเรื่องราวต้องแก้ไขเรื่องราวตัวเอง
เช่น เมื่ออารารากิเข้าไปในห้องนอนของนาเดะโกะ เด็กสาวน่ารัก จากมุมมองของอารารากิ ห้องนั้นเป็นห้องที่ใหญ่มาก และตกแต่งด้วยสีขาวชมพูเจิดจ้าและสดใส แต่เมื่อไคคิเข้าห้องไป จากมุมมองของเขา ไคคิเห็นห้องเล็ก ๆ ที่ตกแต่งด้วยสีชมพู เทา ๆ จาง ๆ หรือการที่อารารากิเห็นเซนโจวกาฮาระ แฟนของเขา จะเห็นเธอเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพ แต่หากมองผ่านมุมมองของไคคิที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว จะเห็นเธอเป็นเพียงเด็กผู้หญิงวัยรุ่นคนหนึ่งเท่านั้น
ห้องของนาเดะโกะ
ห้องของนาเดะโกะ (ในมุมมองของไคคิ)
เรื่องราวจะสมบูรณ์ไม่ได้เลยหากไม่มีตัวละคร อย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว แม้ว่าเนื้อหาของเรื่องจะเจ๋ง แต่ก็ไม่ใช่อะไรที่ใหม่มากขนาดนั้น ที่ทำให้เรื่องนี้มันสุดยอดก็คือ ตัวละคร พูดกันอย่างคร่าว ๆ ก็คือ เรื่องราวนี้ดำเนินผ่านตัวละครมากกว่าเนื้อหา ดังนั้น point ที่ผมบอกเกี่ยวกับมุมมองของตัวละครจึงมีน้ำหนักมากขึ้น แม้ว่าอารารากิจะเป็นพระเอกของเรื่อง แต่ประมาณ 80% ของปมของเรื่อง มันไม่ใช่ปมของอารารากิ เขาเป็นเหมือนตัวละครสมทบมากกว่า หรือเป็นผู้ดำเนินเรื่องเล่า
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าอารารากิไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด เพราะความที่เขาไปเกี่ยวพันกับปมของคนอื่น ๆ มากมาย มันเป็นเอกลักษณ์ของตัวละครของเขา ซึ่งมีการพัฒนาและตื่นรู้ไปเรื่อย ๆ เมื่อเรื่องราวดำเนินต่อไปจนถึงบทสรุปที่ทำได้อย่างยอดเยี่ยมใน Owarimonogatari พาร์ทสอง
Monogatari ให้ความใส่ใจกับตัวละครหลักของเรื่องมาก ทำให้ทุกตัวละครเป็นตัวเอกได้หมดในเรื่องราวของแต่ละคน มีการให้น้ำหนักกับปมแต่ละปม ทั้งที่มาที่ไป การพัฒนาปมเหล่านั้น และบทสรุป ซึ่งทุกปมผูกติดกับตัวละครเหล่านั้น เมื่อให้ความสำคัญกับตัวละครหลักของเรื่อง ตัวละครอื่น ๆ ของเรื่องก็จะไม่ปรากฏอยู่เลย คนอื่นที่ไม่สำคัญต่อเรื่องก็คือไม่อยู่ในเฟรมแม้แต่น้อย (หรือนั่นเป็นเพราะมุมมองของผู้เล่าที่ไม่ได้เห็นตัวประกอบเหล่านั้น)
มีเพียงครั้งเดียว (เท่าที่ผมจำได้) ที่มีตัวประกอบเดินไปมา คือเรื่องราวที่เล่าผ่านมุมมองของไคคิในคาเฟ่ แต่พูดง่าย ๆ ก็คือ เรื่องนี้ไม่มีตัวประกอบเลย หรือมี ก็จะไม่เห็นหน้า (หากตัวละครเหล่านั้นไม่มีชื่อ ซึ่งทำให้ผมนึกถึงตอนหนึ่งในมังงะ FireForce)
อารารากิกับกัมบารุ
Cast ของเรื่องนี้ แม้จะตัดไปว่าไม่มีตัวประกอบ จึงเยอะมาก เพราะทุกคนคือตัวเอกหมดเลย ผมจะลองไล่ชื่อดูนะครับ
อารารากิ โคโยมิ, เซนโจวกาฮาระ ฮิตากิ, ฮาจิกุจิ มาโยอิ, เซนโกคุ นาเดะโกะ, กัมบารุ ซุรุกะ, ฮาเนะคาวะ ซึบาสะ, โอชิโน เมเมะ, โอชิโนะ ชุโนบุ, คาเกะนุอิ โยซุรุ, โอโนโนกิ โยตซุกิ, ไคคิ เดชู, โออิคุระ โซดาจิ, กาเอ็น อิซุมิ, กาเอ็น โทโอเอะ, อารารากิ คาเรน, อารารากิ ซุกิฮิ, โอชิโนะ โอกิ, เทโอริ ทาดัตซุรุ นี่แค่ตัวละครที่ออกมาบ่อย ๆ มีคนอื่น ๆ อีก เช่น แม่อารารากิ เพื่อนของกัมบารุ นักล่าแวมไพร์สามคน และบริวารคนแรก ซึ่งสำคัญหมดทุกตัวละคร
ประเด็นก็คือ ตัวละครของเรื่องนี้ไม่ได้มีมากจนเฟ้อ จนทำให้ไม่มีตัวละครที่ไม่สำคัญหรือบทน้อยปรากฏอยู่อย่างเรื่อยเปื่อยไม่มีแก่นสาร ทุกครั้งที่มีตัวละครปรากฏตัวขึ้นในฉาก ตัวละครนั้นมีความสำคัญต่อเรื่องขณะนั้นเสมอ
แล้วเสียงพากย์เป็นยังไง คำตอบสั้น ๆ คือ ผมชอบมาก นักพากย์แต่ละคนสามารถดึงบุคลิกของตัวละครออกมาได้อย่างดี เช่น ความน่ารักขี้อายของนาเดะโกะโดยฮาเนะคาวะ คานะ เสียงนิ่ง ๆ แบบศพของโอโนโนกิโดยฮายามิ ซาโอริ ที่พากย์ชิโนบุในดาบพิฆาตอสูร และยอร์ใน Spy x Family ความไฟแรงของกัมยารุและคาเรน ที่ผมชอบที่สุดคือเสียงวัยกลางคนของไคคิโดยชินอิจิโร่ มิกิ และเสียงคนโบราณของชิโนบุโดยซาคาโมโตะ มาอายะ (คะคะ)
Hayami Saori
(ในตอนแรก โปรดักชั่นจะให้ฮิราโนะ อายะ พากย์ชิโนบุ ซึ่งผมก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะชื่นชมผลงานอื่น ๆ อยู่แล้ว เช่น ฮารุฮิ ใน Melancholy of Suzumiya Haruhi โคนาตะใน Luck Star มิสะใน Death Note และอื่น ๆ)
นอกจากนี้ นักพากย์ยังชมเสียงและฝีมือการพากย์ของตัวเองในเรื่องด้วย แบบ Fourth-Wall Breaking ที่เซนโจวกาฮาระบอกว่า นักพากย์เสียงของตัวเองเก่งมากอยู่แล้ว (ซึ่งเป็นบทพูดจริง ๆ ในนิยาย ประมาณว่า NisiOisin ตั้งใจให้เรื่องนี้ดัดแปลงเป็นอนิเมะอยู่แล้วตั้งแต่ต้น)
(อีกทั้งในนิยายยังมีการ Fourth-Wall Breaking ตลอด เช่นใน Kizumonogatari ที่มีฉากเลือดสาดเยอะ จนอารารากิบอกว่า "โอเค ภาคนี้คงไม่ได้ดัดแปลงเป็นอนิเมะ")
"นักพากย์ของฉันน่ะเกก่งมาก ๆ เลยนะ"
นอกจากนี้ ด้วยความที่เป็นซีรีส์อนิเมะ มันจะต้องมีเพลงเปิด หรือ OP ซึ่ง ทุกเพลงเพราะมาก คือ สามารถนั่งฟังเฉย ๆ ก็ได้ แต่เมื่อรู้เรื่องราวเบื้องหลังเพลงเหล่านั้นแล้ว ก็อินตามเข้าไปอีก มีคนทำการจัดอันดับเพลงเปิดของซีรีส์นี้มากมายใน youtube และผมเองก็อยากจะจัดอันดับเพลงที่ผมชอบเหมือนกัน ซึ่งอันดับหนึ่งคงไม่พ้น Mousou Express หรือ Mathemagic หรือ Decent Black
ทุกองค์ประกอบของอนิเมะประกอบภาพที่สมบูรณ์ของเรื่องราวใน Monogatari เพลงเปิดก็เช่นกัน ซึ่ง เพลงเปิดจะเปลี่ยนไปตามเรื่อง แต่ละ arc หรือแต่ละองค์เรื่องจะมีเพลงเปิดประจำอยู่ ซึ่งแต่ละเพลงแสดงออกถึงเอกลักษณ์ของเรื่องหรือตัวละคร เช่นเพลงเปิดของเรื่องที่เกี่ยวกับกัมบารุ ซุรุกะจะมีทำนองที่สะท้อนความเป็นวัยรุ่นไฟแรง หรือเพลงเปิดเรื่องของอารารากิ คาเรน อย่าง Marshmallow Justice จะมีทำนองเหมือนเพลงเปิดอนิเมะโชเน็นทั่ว ๆ ไป
Renai Circulation
แต่ความเป็นเอกลักษณ์ก็ไม่คงที่เสมอไป นั่นคือเหตุผลที่ผมชอบเพลง Mousou Express มาก เพราะรับรู้เรื่องราวของนาเดะโกะ เพลงแรกของนาเดะโกะคือ Renai Circulation ใน Bakemonogatari ซึ่งมีความน่ารักมากดั่งตัวละครนาเดะโกะในภาคนั้น (ที่ร้องว่า เซย์โนะ! ที่เป็น meme บนอินเตอร์เน็ต) แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินต่อไป และความน่ารักนั้นเป็นภัยที่ใหญ่หลวงที่สุด Mousou Express กลับความน่ารักนั้นเป็นความน่าขนลุก
ขนาดที่ว่า ผู้กำกับ MV ของเพลง Renai Circulation แม้จะออกจากสตูไปแล้ว ต้องกลับมากำกับ MV ให้ Mousou Express และเราต้องไม่ลืมว่า ทั้งสองเพลงร้องโดยนักพากย์นาเดะโกะ ซึ่งก็คือนักพากย์เสียงหญิงอันดับหนึ่ง ฮานาคาวะ คานะ ผู้พากย์อาคาเนะ ซึเนะโมริใน Psycho Pass และ โคบุชิซาวะ จิราเสะใน A Place Further than the Universe
Hanakawa Kana (HanaKana)
จริง ๆ แล้ว ถ้าเลือกได้ก็คงจัดให้เพลง Etoile et toi เป็นอันดับหนึ่ง แต่มันไม่ใช่เพลงเปิด มันเป็นเพียงเพลงประกอบ ของภาค Kizumonogatari แม้แต่ชื่อเพลงก็เป็นการเล่นคำ ซึ่งออกเสียงฝรั่งเศสว่า เอตัวล์ เอต์ ตัว แปลว่า ดวงดาวและเธอ ดังนั้นจะไม่พูดถึงเพลงประกอบก็ไม่ได้ เพราะมันก็มีส่วนสำคัญ เพลงประกอบช่วยเสริมสร้างอารมณ์ความรู้สึกของบรรยากาศในฉากต่าง ๆ
เพลงที่ผมฟังได้เรื่อย ๆ ก็มีจุดประสงค์นั้น เช่น Sutekimeppou ที่คล้ายกับเพลง Take Five ของ Dave Brubeck (และผมดีใจมากที่มีคน Mix สองเพลงนี้เข้าด้วยกันใน youtube) เพลงประกอบทำออกมาได้ดีในแง่ของการปรับเพลงเปิดแล้วปรับอารมณ์ให้เข้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ปรับเพลง Happy Bite ที่มีทำนองสดใสน่ารัก ให้ฟังดูเศร้าในตอนจบของ Onimonogatari ด้วยการ Mix ใหม่เป็นเพลง Hanamuke/Parting Gift
Take Five - Dave Brubeck
คำแนะนำของผมมันยาวใช่ไหมละครับ นั่นคือประเด็นครับ มันเลยยากมาก ๆ ที่จะแนะนำ Monogatari ให้ใครสักคน เพราะเหตุผลที่ชอบมันยืดยาวมาก ๆ และหากใครถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมจะตอบกลับไปว่า “แน่ใจว่าจะให้พูดเรื่องนี้แล้วจริงนะ มันยาวนะ Don’t get me started!” เท่าที่ผมเห็น คนที่ดู Bakemonogatari จบ แล้วไปดูภาคต่อ คนเหล่านั้นดูจนจบกันทั้งนั้น และใคร ๆ ก็ชอบเรื่องนี้กันทั้งนั้น
ในชีวิตผมเคยแนะนำอนิเมะให้คนอื่นเป็นการส่วนตัวเพียงเรื่องสองเรื่องเท่านั้น เพราะมันแนะนำง่าย เรื่องหนึ่งคือเรื่อง Go-to ให้คนที่ไม่เคยดูอนิเมะแล้วอยากลองดู คือเรื่อง Demon Slayer เพราะมันดูง่าย ไม่ซับซ้อน สนุก น่าติดตาม อนิเมชั่นดี หรือ AoT ซึ่งแนะนำยากหน่อย เพราะมันยาว แต่ก็คงไม่แนะนำวันพีซ เพราะเหมือนกับเป็นการแนะนำให้คนหนึ่งทิ้งเวลาครึ่งชีวิตเพื่อตามเรื่องตั้งแต่ต้น
อีกเรื่องหนึ่งคือ Kaguya-sama เพราะมันดูง่าย ตลก ไม่ซับซ้อน แต่เป็นอนิเมะที่เหมาะกับคนที่เคยดูอนิเมะอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวที่ผมขอร้องให้เพื่อน ๆ ที่ดูอนิเมะอยู่แล้วดูกัน (แม้ว่าเรื่องนี้ไม่ได้ติด Top 5 ในอับดับอนิเมะที่ชื่นชอบที่สุดก็ตาม) อนิเมะใน 5 อันดับแรกก็คงไม่มีโอกาสแนะนำให้คนอื่นดูเท่าไหร่ เพราะมันชอบเป็นการส่วนตัว ไม่ได้มีคุณค่าอื่นเท่าไหร่มากนัก (ยกเว้น Violet Evergarden)
แต่ Monogatari มันพิเศษมาก คนที่เคยดู และดูจนจบมักยกให้เป็นอนิเมะเรื่องโปรดอันดับต้น ๆ กันทั้งนั้น แต่ไม่ใช่อนิเมะที่พูดถึงบ่อย เพราะพูดได้กับแค่คนที่เคยดูแล้วเท่านั้น ซึ่งจำนวนก็มีไม่มาก หากจะพูดกับคนที่ไม่เคยดู แม้ว่าจะดูอนิเมะอยู่แล้ว ก็ยาก เพราะแค่แนะนำให้ดูก็ยากแล้ว อธิบายว่าทำไมมันยอดเยี่ยมก็ซับซ้อนอีก และจะขอร้องให้เขาดูจนจบ Bakemonogatari ก็คงจะขอมากเกินไปหน่อย
Bakemonogatari
ดังนั้น เรื่องนี้ ผมว่าต้องอธิบายว่าทำไมถึงชอบ ทำไมถึงคิดว่ามันดี ในความคิดเห็นส่วนตัว ส่วนคนอื่นจะทำตามคำแนะนำให้ไปดูหรือไม่ มันก็อีกเรื่อง พูดได้แต่ว่า หากไม่ดู ก็ไม่เป็นไร ก็แค่ Miss out หนึ่งในเรื่องราวที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยถูกนำเสนอในจออนิเมะก็เท่านั้นเอง แต่ถือว่าพูดแล้วนะว่าแนะนำ แต่หากดูและตัดสินใจติดตามมัน ผมการันตีได้เลยว่าจะมีประการณ์ที่ยอดเยี่ยมกับมันอย่างแน่นอน
Mongatari มีตัวละครหญิงเยอะมาก และมี Fan Service เยอะ แต่ว่า ทุกครั้งที่มี Fan Service มันมีเหตุผลของมันอยู่ด้วย เพราะมันนำเสนอเรื่องจิตใจที่วุ่นวายของชีวิตวัยรุ่น เรื่องเพศก็เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตเช่นเดียวกัน อีกทั้งเป็นส่วนสำคัญของชีวิตอีกด้วย การมี service แต่ละครั้งก็มีประเด็นที่นำเสนอเหมือนกัน เช่น ทำไมพระเอกถึงมองสาวคนนี้ด้วยสายตาแบบนั้น แต่มองต่างกันกับอีกคนหนึ่งแม้ว่าอีกคนหนึ่งจะแต่งตัวยั่วยวนมากกว่า เป็นต้น
อย่าลืมว่าเรื่องนี้เล่นกับมุมมอง ไม่ต่างกับการเล่นคำ
และแน่นอนว่าคนดู Monogatari จะมีการจัดอันดับว่าสาวคนไหนในเรื่องเป็นหญิงอันดับหนึ่งในมุมมองแต่ละคน แต่ความจริงก็คือความจริงครับ …
ไคคิ = Best Girl
Kaiki
ขอโทษครับ ผมกัดลิ้นตัวเอง
"Shitsure, kamimashita"

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา