13 ธ.ค. 2022 เวลา 05:48 • ไลฟ์สไตล์
๏ ปริเฉทที่ ๑๒
พรหมัชเฌสนปริวรรต
ท้าวสหัมบดีพรหม อาราธนาพระพุทธเจ้าแสดงธรรม
**********
~ ทรงเกิดพระปริวิตก ~
พระผู้มีพระภาคเสด็จ
ทรงออกจากสมาธิผลสมาบัติแล้ว
เสด็จพระพุทธดำเนินจากควงไม้ราชยตนพฤกษ์
ไปสู่ ใต้โคนไม้อชปาลนิโครธอีกครั้ง
ทรงประทับ ณ ภายใต้ไม้อชปาลนิโครธนั้น
ทรงดำริถึงธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้วว่า เป็นของลึกซึ้ง
ยากที่หมู่สัตว์ผู้ยินดีในอาลัย จะตรัสรู้ตาม
โดยพระพุทธปริวิตกฉะนี้ว่า
"ธรรมนี้เราผู้พระตถาคตได้ถึงทับตรัสรู้แล้ว
เป็นธรรมอันลึก อันสัตว์อื่น จะเห็นด้วยยากยิ่งนัก
ยากที่สัตว์จะตรัสรู้ตาม"
"เป็นธรรมอันระงับ และ ประณีต
ไม่เป็นวิสัยที่จะหยั่งลงได้ด้วยความตรึก
เป็นธรรมอันละเอียด
เป็นวิสัยที่บัณฑิตชาติจะรู้แจ้ง
จะพึงได้เสวยด้วยน้ำใจ"
"หมู่สัตว์นี้เล่าก็มีอาลัย
คือ กามคุณเครื่องพัวพันเป็นที่รื่นรมย์
มายินดีบันเทิงนักในอาลัย
คือกามคุณที่เป็นเครื่องผูกพัน
และหมู่สัตว์ผู้รื่นรมย์ในอาลัยแล้ว
ยากยิ่งนักที่จะเห็นในที่ ๒ สถาน
คือปฏิจจสมุปบาท และนิพพาน
ที่ระงับสรรพสังขาร สละคืนอุปธิทั้งปวง"
"ก็ถ้าหากเราผู้พระตถาคตจะพึงแสดงธรรมสั่งสอน
สัตว์อื่นก็จะไม่พึงรู้ทั่วถึงธรรมของเราผู้พระตถาคตไซร้
อันนั้นก็จะเป็นความเหน็ดเหนื่อย
ความลำบาก แห่งเราผู้พระตถาคต
ไม่สำเร็จประโยชน์คุณทางอมฤตบทแก่สัตว์อื่นได้"
ครั้งนั้น คาถาทั้งหลายที่เป็นอัศจรรย์น้อย
ซึ่งพระองค์มิเคยได้ฟังมาในกาลก่อนเลย
ก็มาปฏิภาณแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
บัดนี้ไม่ควรแล้วที่จะประกาศซึ่งธรรม
ที่เราผู้พระตถาคตได้แล้วโดยยาก
ธรรมนี้อันสัตว์ทั้งหลายที่ราคะโทสะครอบงำเสียแล้ว
ไม่ตรัสรู้ประจักษ์ได้ด้วยง่าย
ธรรมที่ได้ให้สัตว์ถึงซึ่งปฏิโสต
คือนิพพานอันทวนกระแสใจสัตว์
และเป็นของละเอียดเป็นของลึก
สัตว์จะเห็นยาก เป็นของเล็กกว่าเล็กนัก
สัตว์ทั้งหลาย ที่ราคะความกำหนัดย้อมจิตอยู่แล้ว
อันกองแห่งมืดหนามาสวมกางกั้นห้ามกันอยู่แล้ว
จักไม่สามารถเห็นธรรมนั้นได้.
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงเห็นพร้อมประจักษ์อยู่อย่างนี้
จิตของพระองค์ก็น้อมไป เพื่อความเป็นผู้มีขวนขวายน้อย
ไม่น้อมไปเพื่อจะทรงแสดงธรรม...
**********
~ ท้าวสหัมบดีพรหม อาราธนา ~
ทรงเกิดพระปริวิตก
ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงปฏิบัติมา
คือ ความไม่ประสงค์ ที่จะแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น
ลำดับนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม
ทราบพระพุทธปริวิตกแล้ว
ทรงดำริว่า
"ผู้เจริญทั้งหลาย โลกจักฉิบหายหนอ
ท่านผู้เจริญ โลกจักฉิบหายหนอ"
แล้วทรงพาท้าวสักกะ ท้าวสุยามะ
ท้าวสันดุสิต ท้าวสวัตดี
และท้าวมหาพรหมจากหมื่นจักรวาล
ไปเฝ้าพระศาสดาทูลอาราธนา
ให้ทรงแสดงธรรม
อ้างเหตุว่า
"สัตวโลกผู้กิเลสบางเบา สามารถจะตรัสรู้ ก็มีอยู่..."
โดยนัยมีอาทิว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงแสดงธรรม..."
**********
พระพุทธเจ้าทรงหยั่งลง
ยัง พระกรุณา ในสัตว์ทั้งหลาย
ด้วย "พุทธจักษุ" คือ
๑) อินทริยปโรปริยัตตญาณ ปัญญาที่หยั่งรู้
ความที่แห่งอินทรีย์มีศรัทธาเป็นต้น
ของสัตว์ทั้งหลายที่ยิ่งและหย่อน
๒) อาสยานุสยญาณ ปัญญาที่หยั่งรู้ซึ่งอาสยะ
คืออัธยาศัยและอนุสัย
คือกิเลสที่นอนในสันดานแห่งสัตว์ทั้งหลาย
๒ พลญาณนี้ได้นามว่า "พุทธจักษุ"
ให้สำเร็จในกิจแห่งตน ๆ
**********
~ ทรงพิจารณาสัตวโลก ~
เมื่อทรงแลดู สัตวโลกด้วยพุทธจักษุญาณ
พระองค์ได้เห็นแล้ว
ซึ่งสัตว์มีธุลีกิเลสในปัญญาจักษุน้อย
มีธุลีกิเลสในปัญญาจักษุมาก
มีอินทรีย์กล้า มีอินทรีย์อ่อน
มีอาการดี มีอาการชั่ว
จะพึงสอนให้รู้วิเศษด้วยง่าย
และจะพึงสอนให้รู้วิเศษด้วยยาก
เป็นภัพพะสามารถจะตรัสรู้ โลกุตราภิสมัย
และเป็นอภัพพะไม่สามารถจะตรัสรู้
สัตว์บางจำพวก เป็นผู้มักเห็นปรโลกและโทษโดยเป็นภัย
สัตว์บางจำพวกไม่เป็นผู้มักเห็นปรโลกและโทษโดยเป็นภัย
พระองค์ได้เห็นสัตว์ทั้งหลาย
ที่ยิ่งและหย่อนโดยนิยมดังนี้.
**********
~ อุปมา บัว ๔ เหล่า ~
มีคำอุปมาว่า
เหมือนหนึ่งใน กออุบล หรือ ในกอบัวหลวง
หรือ ในกอบัวขาว
๑) บัวในน้ำ
ดอกบางเหล่า เกิดแล้วในน้ำ เจริญแล้วในน้ำ
อันน้ำหากอนุเคราะห์ เลี้ยงอุปถัมภ์
ยัง จมอยู่ในน้ำ น้ำเลี้ยงไว้ไม่เน่า
"ดอกบัวยังไม่พ้นจากน้ำ"
จักบาน ณ วันมะรืนนี้
๒) บัวเสมอน้ำ
บัวบางเหล่าที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ...
ตั้งอยู่ เสมอน้ำ
"ดอกบัวเสมอน้ำ" นั้น จักบาน ณ วันพรุ่งนี้
๓) บัวพ้นน้ำ
บัวบางเหล่า เกิดในน้ำ เจริญแล้วในน้ำ...
ตั้งอยู่ พ้นน้ำ อันน้ำมิได้ติดใบฉันใด
"ดอกบัวพ้นน้ำ" เหล่านั้น คอยสัมผัสรัศมี
พระอาทิตย์อยู่จักบาน ณ วันนี้.
สัตว์ทั้งหลายซึ่งปรากฏในพุทธจักษุวิสัย
เป็น ๓ เหล่า ฉะนั้น
(โดยอรรถกถาจริยามรรคพรรณนาไว้ว่าในดอกบัว ๓ เหล่า)
ส่วน ดอกบัวอื่นที่ยังไม่ขึ้นจากน้ำ ก็ยังมีอยู่มาก.
ก็และดอกบัวเหล่าใด จักไม่บานเลย
จักเป็นภักษาแห่งเต่าและปลา
ดอกบัวเหล่านั้น ท่านมิได้ยกขึ้นกล่าว ในพระบาลี.
ก็แต่ว่าเมื่อจะพรรณนาด้วยประเภทบุคคล ๔ จำพวก
แล้วก็พึงรวมมาแสดงด้วย เพื่อจะให้ชัดความแห่งอุปไมย.
**********
ดอกบัว ๔ อย่าง เป็นฉันใด
บุคคลก็เป็น ๔ จำพวกฉันนั้น คือ
๑) อุคฆติตัญญู เปรียบคือ บัวพ้นน้ำ
ได้แก่ บุคคลผู้มีอุปนิสัย
สามารถจะตรัสรู้ธรรมวิเศษโดยพลัน
พร้อมกันกับเวลาที่ท่านผู้ศาสดาแสดงธรรมสั่งสอน
๒) วิปัจจิตัญญู เปรียบคือ บัวเสมอน้ำ
ได้แก่ บุคคลผู้ที่ท่านแจกความ
แห่งคำที่ย่อให้พิสดารออกไป
จึงจะตรัสรู้ธรรมวิเศษได้
๓) เนยยะ เปรียบคือ บัวในน้ำ
ได้แก่ บุคคลผู้ใดเมื่อพากเพียรทรงอุเทศ ถามความ
ทำในจิตโดยอุบายที่ชอบ คบหาสมาคมกัลยาณมิตร
จึงจะตรัสรู้ธรรมวิเศษได้
๔) ปทปรมะ เปรียบคือ บัวใต้น้ำเป็นอาหารของเต่าและปลา
ได้แก่ บุคคลผู้ใด แม้จะฟัง และกล่าว และทรงไว้
และบอกแก่ผู้อื่นซึ่งธรรมเป็นอันมาก
ก็ไม่สามารถจะตรัสรู้ธรรมวิเศษในอัตภาพชาตินั้นได้
บุคคลเป็น ๔ จำพวกด้วยประการฉะนี้
พระผู้มีพระภาคแลดูซึ่งหมื่นโลกธาตุ
อันเปรียบเหมือน ป่าอุบลบัวหลวง ป่าอุบลบัวขาว
ด้วยพระพุทธจักษุ
**********
~ ตั้งพระหฤทัยจะแสดงธรรม ~
ครั้นพระผู้มีพระภาคได้เห็นสัตว์ ๓ เหล่า
ด้วย พุทธจักษุญาณ ว่า
เป็นภัพพเวไนยควรตรัสรู้โลกุตรธรรมมีอยู่มาก...
แล้วทรงทำ ธรรมเทศนาอธิษฐาน ว่า
จักแสดงธรรมสอนเวไนยสัตว์แล้ว...
**********
~ ทรงอธิษฐานพระชนมายุ ~
พระผู้มีพระภาค ทรงพระดำริถึงธรรมซึ่งเป็นอุบายจะให้
เวไนสัตว์ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน
โดยนัยเป็นต้นฉะนี้แล้ว
ทรงทำอายุสังขาราธิฏฐานว่า
บริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
ซึ่งเป็นสาวกแห่งเราผู้พระตถาคต
จักยังไม่เป็นผู้ฉลาดชัดเจน รับฝึกสอนแล้วแกล้วกล้า
เป็นพหุสูต ทรงธรรม ปฏิบัติซึ่งธรรมสมควรแก่ธรรม
ปฏิบัติชอบยิ่ง ประพฤติปฏิบัติไปตามสมควร
แก่โลกุตรธรรม เรียนธรรมวินัยของอาจารย์แล้ว
บอกกล่าวบัญญัติแจกซึ่งความ เปิดเผยทำให้ตื้น
ข่มปรับวาทที่เกิดขึ้นแล้ว ให้สงบด้วยดีโดยสหธรรม
แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ได้เพียงใด
พรหมจรรย์ของเราผู้พระตถาคตนี้
ยังไม่มั่นคง แพร่หลาย กว้างขวางเป็นประโยชน์แก่ชนมาก
แน่นหนา จนเทพดามนุษย์ทั้งหลาย ประกาศด้วยดีเพียงใด
เราจักไม่ปรินิพพานก่อนเพียงนั้น.
ปริสสมบัติสาวกมณฑลยังไม่สมบูรณ์
และพรหมจรรย์ยังไม่ไพบูลกว้างขวางเพียงใดแล้ว
ในระหว่างนี้ เราผู้พระตถาคตจักไม่ปรินิพพานก่อนเพียงนั้น
ถ้าในระหว่างนี้หากโรคาพยาธิพิบัติจักเกิด
ขึ้นห้ำหั่นอายุสังขารไซร้
เราจักประฌามขับไล่เสียด้วยเพียรและอิทธิบาทภาวนา
ให้โรคาพาธสงบระงับไป
บำรุงร่างกายให้ดำรงอยู่ก่อน
กว่าปริสสมบัติและพราหมจรรย์จะสมบูรณ์
ดังดำริฉะนี้...
พระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงทำอายุสังขาราธิฏฐานฉะนี้แล้ว
จึงทรงพระพุทธปริวิตกถึงเวไนยสัตว์
ซึ่งจักสามารถตรัสรู้ได้ก่อนนั้นต่อไป
**********
จากนั้น
ทรงพระดำริว่า
"เราจะแสดงธรรมครั้งแรกแก่ใครหนอ...?"
ทรงยังพระดำริให้เกิดขึ้น
ว่า "อาฬารดาบสเป็นบัณฑิต
อาฬารดาบสนั้นจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้โดยเร็วพลัน"
แล้วทรงตรวจดูอีก ได้ทรงทราบว่าอาฬารดาบสนั้น
กระทำกาละได้ ๗ วันแล้ว
จึงทรงรำพึงถึง "อุทกดาบส" ได้ทรงทราบว่า
แม้อุทกดาบสนั้นก็ได้ทำกาละ
ไปแล้วเมื่อพลบค่ำเย็นวานนี้
จึงทรงมนสิการปรารภถึง "พระปัญจวัคคีย์" ว่า
"ภิกษุปัญจวัคคีย์ มีอุปการะมาก แก่เรา"
**********

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา