15 ธ.ค. 2022 เวลา 03:37 • ไลฟ์สไตล์
๏ ปริเฉทที่ 13
ธัมมจักกปริวรรต
ทรงแสดงธรรมจักร
**********
พระพุทธเจ้า เมื่อทรงตั้งพระหฤทัยจะแสดงธรรมแล้ว...
ทรงมนสิการปรารภถึง "พระปัญจวัคคีย์" ว่า
"ภิกษุปัญจวัคคีย์ มีอุปการะมาก แก่เรา"
ทรงพระรำพึงว่า "บัดนี้ ภิกษุปัญจวัคคีย์นั้นอยู่ที่ไหนหนอ"
ได้ทรงทราบว่า อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
จึงทรงพระดำริว่า
เราจักไปที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั้น แล้วแสดงพระธรรมจักร
ทรงพระดำริว่า
เราจักไปเมืองพาราณสีในวันอาสาฬหบูรณมี กลางเดือน ๘
พอในวันจาตุททสีขึ้น ๑๔ ค่ำ ในเวลาปัจจุสมัยใกล้รุ่ง
เมื่อราตรีสว่างแล้ว พอเช้าตรู่ก็ทรงถือบาตรจีวร
เสด็จดำเนินไปสิ้นหนทาง ๑๘ โยชน์ ทรงพบอุปกาชีวก ในระหว่างทาง
จึงตรัสบอกถึงความที่พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า แก่อุปกาชีวกนั้น
แล้วได้เสด็จไปถึงป่าอิสิปคนมฤคทายวัน ในเย็นวันนั้นเอง.
**********
พระปัญจวัคคีย์ เห็นพระตถาคตเจ้าเสด็จมาแต่ไกล
จึงได้ทำกติกากันไว้ว่า
"ดูก่อนอาวุโส พระสมณโคดมนี้ เวียนมาเพื่อความเป็น
ผู้มักมากในปัจจัย มีกายสมบูรณ์ มีอินทรีย์ผ่องใส
มีผิวพรรณดุจทองคำกำลังมาอยู่
เราจักไม่กระทำสามีจิกรรมมีอภิวาทเป็นต้น
แก่พระสมณโคดมนี้"
"แต่เธอประสูติในตระกูลใหญ่โต ย่อมควรจัดอาสนะไว้
ด้วยเหตุนั้น พวกเรา จักปูลาดเพียงอาสนะไว้เพื่อเธอ"
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรำพึงว่า
ภิกษุปัญจวัคคีย์นี้ คิดอย่างไรหนอ ก็ได้ทรงทราบความคิด
ด้วยพระญาณอันสามารถรู้วาระจิตของโลกพร้อมทั้งเทวโลก.
ลำดับนั้น จึงทรงย่นย่อเอาเมตตาจิตอันสามารถแผ่ไปโดยไม่เจาะจง
ในหมู่เทวดาและมนุษย์ทั้งปวง แล้วทรงแผ่เมตตาจิตไป.
พระปัญจวัคคีย์เหล่านั้น
โดยเฉพาะพระปัญจวัคคีย์เหล่านั้น
อันพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ถูกต้องด้วยเมตตาจิตแล้ว
ภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้น ก็ไม่สามารถจะตั้งอยู่ในกติกา
การนัดหมายของตนได้ด้วยประการนั้น ๆ
พร้อมกันออกต้อนรับ องค์หนึ่งรับบาตรจีวร องค์หนึ่งปูอาสนะ
องค์หนึ่งตั้งน้ำล้างพระบาท ตั่งรองพระบาท
กระเบื้องเช็ดพระบาท
สมเด็จพระบรมโลกนาถเสด็จนั่ง
ณ อาสนะที่ภิกษุปัญจวัคคีย์ปูลาดไว้แล้ว
ครั้งนั้น เหล่าภิกษุปัญจวัคคีย์
เธอเรียกร้องพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยพระนามและคำว่า อาวุโส
เป็นการไม่เคารพ
สมเด็จพระโลกนาถนราสภจึงตรัสห้ามเธอเหล่านั้นว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งปวงอย่าได้เรียกร้องซึ่งพระตถาคตเจ้า
โดยนามและคำว่า อาวุโส เลย"
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตเจ้า
เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ผู้ตรัสรู้ชอบเองแล้ว
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งปวงจงเงี่ยโสตคอยสดับเถิด
อมฤตของไม่ตายอย่างประเสริฐ คือ พระนิพพาน เราได้บรรลุแล้ว
เราจะสั่งสอน เราจะแสดงธรรม เมื่อท่านทั้งหลาย
ปฏิบัติตามคำเราสอนแล้ว ไม่ช้าสักเท่าใด
ก็จักกระทำให้แจ้งด้วยปัญญายิ่งด้วยตนเอง
ซึ่งอริยผล ซึ่งผู้บรรพชาต้องประสงค์
ไม่มีคุณอื่นจะยิ่งกว่าเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์
เห็นประจักษ์ในปัจจุบันแล้วแลอยู่"
เมื่อพระองค์ตรัสดังนี้แล้ว เหล่าภิกษุปัญจวัคคีย์
กล่าวค้าน เพราะเหตุแต่ปางหลังว่า
แม้แต่ด้วยความประพฤติทุกรกิริยาปฏิบัติซึ่งทำยากนั้น
ท่านยังไม่บรรลุอุตริยมนุสสธรรมอลมริยญาณทัสสนาวิเศษ
ซึ่งสามารถจะกำจัดกิเลสได้เลยเทียวแล้ว
บัดนี้ท่านมาปฏิบัติเพื่อมักมาก
คลายเสียจากความเพียร หันเวียนเพื่อมักมากแล้ว
ไฉนจะบรรลุอุตริยมนุสสธรรมอลมริยญาณทัสสวิเศษได้เล่า.
เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์อ้างเหตุหนหลังตามสำคัญดังนี้แล้ว
สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสห้ามและตักเตือนโดยนัยนั้น
ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็กล่าวค้าน ๓ ครั้ง
ส่วนสมเด็จพระโลกนาถ จึงตรัสเตือนภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้น
ให้ตามระลึกในหนหลังว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งปวงจำได้อยู่หรือ
ซึ่งวาจาเห็นปานดังนี้ อันเราได้ภาษิตแล้วบ้างในปางก่อนแต่กาลนี้.
ภิกษุปัญจวัคคีย์ตอบว่า
"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระวาจานี้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า
จะได้เคยภาษิตแล้วในกาลก่อน ไม่มีเลย
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
พระตถาคตเจ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทโธแล้ว
ท่านทั้งหลายจงเงี่ยโสตคอยสดับเถิด อมฤตนิพพานเราได้บรรลุแล้ว
เราจะสั่งสอน เราจะแสดงธรรม
เมื่อท่านทั้งหลายปฏิบัติตามคำสั่งสอนแล้ว
ไม่ช้าสักเท่าใดจักบรรลุอริยผลเห็นประจักษ์
สำเร็จความประสงค์ของกุลบุตรผู้บรรพชา.
ปัญจวัคคีย์ภิกษุ เมื่อได้ฟังดังนี้
ศรัทธา (เชื่อ) ในการตรัสรู้ของพระองค์แล้ว
**********
~ ทรงแสดงปฐมเทศนา คือ พระธรรมจักร ~
ลำดับนั้น
เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์เชื่อว่า
พระองค์เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
จึงตั้งใจฟังธรรม
พระพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรม ชื่อ
ธรรมจักกัปปวัตตนสูตร ดังนี้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ที่สุดแห่งการกระทำสองอย่างเหล่านี้ มีอยู่,
เป็นสิ่งที่บรรพชิตไม่ควรข้องแวะเลย,
นี้คือ การประกอบตนพัวพันอยู่ด้วยความใคร่ใน กามทั้งหลาย,
เป็นของต่ำทราม, เป็นของชาวบ้าน, เป็นของคนชั้นปุถุชน,
ไม่ใช่ข้อปฏิบัติของพระอริยเจ้า,
ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เลย นี้อย่างหนึ่ง,
อีกอย่างหนึ่ง คือ การประกอบการทรมานตนให้ลำบาก,
เป็นสิ่งนำมาซึ่งทุกข์,
ไม่ใช่ข้อปฏิบัติของพระอริยเจ้า,
ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เลย,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!
ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลาง
ไม่เข้าไปหาที่สุดแห่งการกระทำสองอย่างนั้น มีอยู่,
เป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้เฉพาะแล้ว,
เป็นเครื่องกระทำให้เกิดจักษุ,
เป็นเครื่องกระทำให้เกิดญาณ,
เพื่อความสงบ,
เพื่อความรู้ยิ่ง,
เพื่อความรู้พร้อม,
เป็นไปเพื่อนิพพาน,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!
ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลางนั้น เป็นอย่างไรเล่า?
ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลางนั้น
คือข้อปฏิบัติเป็นหนทางอันประเสริฐ
ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้เอง,
ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ,
ความเห็นชอบ,
ความดำริชอบ,
การพูดจาชอบ,
การทำการงานชอบ,
การเลี้ยงชีวิตชอบ,
ความพากเพียรชอบ,
ความระลึกชอบ,
ความตั้งใจมั่นชอบ,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!
นี้แลคือข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลาง,
เป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว,
เป็นเครื่องกระทำให้เกิดจักษุ,
เป็นเครื่องกระทำให้เกิดญาณ,
เพื่อความสงบ,
เพื่อความรู้ยิ่ง,
เพื่อความรู้พร้อม,
เป็นไปเพื่อนิพพาน,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็อริยสัจคือทุกข์นี้ มีอยู่,
คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์,
ความแก่ก็เป็นทุกข์,
ความตายก็เป็นทุกข์,
ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย
ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์,
ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์,
ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์,
มีความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์,
ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็อริยสัจคือเหตุให้เกิดทุกข์นี้ มีอยู่,
นี้คือตัณหา,
อันเป็นเครื่องทำให้มีการเกิดอีก,
อันประกอบอยู่ด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน,
อันเป็นเครื่องทำให้เพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้นๆ,
ได้แก่ตัณหาเหล่านี้ คือ,
ตัณหาในกาม,
ตัณหาในความมีความเป็น,
ตัณหาในความไม่มีไม่เป็น,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!
ก็ อริยสัจ คือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นี้ มีอยู่,
นี้คือความดับสนิทเพราะจางไป
โดยไม่มีเหลือของตัณหานั้น นั่นเอง,
เป็นความสลัดทิ้ง,
เป็นความสลัดคืน,
เป็นความปล่อย,
เป็นความทำไม่ให้มีที่อาศัย ซึ่งตัณหานั้น,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!
ก็อริยสัจคือข้อปฏิบัติที่ทำสัตว์ให้ลุถึง
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นี้ มีอยู่,
นี้คือข้อปฏิบัติเป็นหนทางอันประเสริฐ
ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ,
ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ,
ความเห็นชอบ,
ความดำริชอบ,
การพูดจาชอบ,
การทำการงานชอบ,
การเลี้ยงชีวิตชอบ,
ความพากเพียรชอบ,
ความระลึกชอบ,
ความตั้งใจมั่นชอบ,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!
จักษุเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่เรา,
ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, วิชชาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา,
แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ในธรรมที่เราไม่เคยฟังมาแต่ก่อน,
ว่าอริยสัจคือทุกข์เป็นอย่างนี้อย่างนี้ ดังนี้,
ว่าก็อริยสัจคือทุกข์นั้นแล เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ ดังนี้,
ว่าก็อริยสัจคือทุกข์นั้นแล เรากำหนดรู้ได้แล้ว ดังนี้,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!
จักษุเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่เรา,
ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, วิชชาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา,
แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ในธรรมที่เราไม่เคยฟังมาแต่ก่อน,
ว่าอริยสัจคือเหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างนี้อย่างนี้ ดังนี้,
ว่าก็อริยสัจคือเหตุให้เกิดทุกข์นั้นแล เป็นสิ่งที่ควรละเสีย ดังนี้,
ว่าก็อริยสัจคือเหตุให้เกิดทุกข์นั้นแล เราละได้แล้ว ดังนี้,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!
จักษุเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่เรา,
ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, วิชชาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา,
แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ในธรรมที่เราไม่เคยฟังมาแต่ก่อน,
ว่าอริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เป็นอย่างนี้อย่างนี้ ดังนี้,
ว่าก็อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้นแล เป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง ดังนี้,
ว่าก็อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้นแล เราทำให้แจ้งได้แล้ว ดังนี้,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!
จักษุเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่เรา,
ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, วิชชาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา,
แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ในธรรมที่เราไม่เคยฟังมาแต่ก่อน,
ว่าอริยสัจคือข้อปฏิบัติที่ทำสัตว์ให้ลุถึง
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เป็นอย่างนี้อย่างนี้ ดังนี้,
ว่าก็อริยสัจคือข้อปฏิบัติที่ทำสัตว์ให้ลุถึง
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้นแล เป็นสิ่งที่ควรทำให้เกิดมี ดังนี้,
ว่าก็อริยสัจคือข้อปฏิบัติที่ทำสัตว์ให้ลุถึง
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้นแล เราทำให้เกิดมีได้แล้ว ดังนี้,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!
ปัญญาเครื่องรู้เห็นตามที่เป็นจริง, มีปริวัฏฏ์ ๓ มีอาการ ๑๒ เช่นนั้น,
ในอริยสัจทั้ง ๔ เหล่านี้ ยังไม่เป็นของบริสุทธิ์หมดจดด้วยดีแก่เราอยู่เพียงใด,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ตลอดกาลเพียงนั้น,
เรายังไม่ปฏิญญาว่า ได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว,
ซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ,
ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก,
ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!
เมื่อใด ปัญญาเครื่องรู้เห็นตามที่เป็นจริง,
มีปริวัฏฏ์ ๓ มีอาการ ๑๒ เช่นนั้น,
ในอริยสัจทั้ง ๔ เหล่านี้ เป็นของบริสุทธิ์หมดจดด้วยดีแก่เรา,
เมื่อนั้น เราจึงปฏิญญาว่า ได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว,
ซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ,
ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก,
ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็ญาณและทัสสนะได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา,
ว่าความหลุดพ้นของเราไม่กลับกำเริบ,
ความเกิดนี้เป็นความเกิดครั้งสุดท้าย,
บัดนี้ ความเกิดอีกย่อมไม่มี ดังนี้.
พระสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาให้
พระอนุตรธรรมจักรเป็นไป ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
ด้วยประการฉะนี้.
**********
~ พระอัญญาโกณฑัญญะได้สำเร็จพระโสดาปัตติผล ~
ก็แลเมื่อ พระผู้มีพระภาค
ตรัสเทศนาธรรมจักกัปปวัตตนสูตร
จักษุในธรรมปราศจากธุลีและมีมลทินอันปราศ
ได้เกิดขึ้นแล้วแก่พระโกณฑัญญะ
ไตรวัฏ คือ กิเลส กรรม วิบาก
อันใดอันหนึ่งที่มีกิเลส เกิดขึ้นพร้อมเป็นธรรมดา
ไตรวัฏทั้งปวงนั้น ก็เป็นของ มีความดับเป็นธรรมดา ดังนี้
(สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา)
(สิ่งนั้นทั้งปวง ล้วนดับเป็นธรรมดา)
โดยความว่า พระโกณฑัญญะบรรลุพระโสดาปัตติผล
เป็นพระอริยบุคคล
เป็นปฐมมนุษย์พุทธสาวก ณ พุทธปบาทกาลนี้
เป็นพยานในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
มีคำอุปมาว่า จักรรัตน์เป็นของทิพย์
เกิดมีบรมจักรพรรดิราช นำเสด็จให้เวียนรอบปฐพีมณฑล
ปราบปรามปฏิปักษ์ประเทศราชกษัตริย์ทั่วทั้งสากลทิสาภาค
ให้ยินยอมในพระราชอาณา มิได้มีพระมหากษัตริย์องค์ใดจะต่อต้าน
จักรรัตน์มีฤทธานุภาพพิเศษไพศาล
ประกาศให้ประเทศราชกษัตริย์ทั่วปฐพีมณฑลทราบ
ซึ่งความเป็นบรมจักรพรรดิราช
อาคาริกอัจฉริยมนุษย์บุรุษรัตน์ฉันใด
พุทธพจน์ปฐมภาษิตนี้ ก็ประกาศให้สัตวโลก
ทั้งเทพดา มนุษย์ มาร พรหม ได้ทราบ
ซึ่งความเป็นวิสุทธขันธสันดานสยัมภูสัมมาสัมพุทธเจ้า
ฉันนั้น. พระสูตรปฐมพุทธพจน์นี้
จึงมีนามตามอรรถว่า ธรรมจักกัปปวัตตนสูตร ๆ
ด้วยประการฉะนี้.
**********
~ อัศจรรย์ ~
ครั้นเมื่อ
พระธรรมจักร อันพระผู้มีพระภาคให้เป็นไปแล้ว
บรรดาพระปัญจวัคคีย์เหล่านั้น
พระโกณฑัญญเถระ ส่งญาณไปตามกระแสแห่งพระธรรมเทศนา
ในเวลาจบพระสูตร ได้ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผล
พร้อมกับพรหม ๑๘ โกฏิ.
เหล่าเทพเจ้า ซึ่งสิงสถิตในคามนิคมราชธานี และ
คิริบรรพต พฤกษาติณชาติ เครือเขาชาวภูมิสถานก็บันลือสำเนียง
"ธรรมจักรประเสริฐ ไม่มีจักรอื่นยิ่งเกิน
อันพระผู้มีพระภาคให้เป็นไปแล้ว
ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี
อัน สมณพราหมณ์ เทพดา มาร พรหม
และผู้ใดในโลก ไม่พึงให้เป็นไปตอบได้.
อันสมณพราหมณ์ เทพดา มาร พรหม
และใคร ๆ ในโลก ไม่สามารถจะให้เป็นไปต่อสู้คัดค้านได้.
เทพเจ้าหมู่จาตุมหาราชิกา
ได้ฟังสำเนียงก้องประกาศแห่งภุมมเทพดาแล้ว
บันลือให้เทพดาอื่นได้ยินต่อ ๆ เป็นลำดับไปโดยนัยนี้
ก็ตลอดถึงดาวดึงส์ ยาม ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัสดี
ตามลำดับทั่วกามาพจรภพ
จนถึงเทพเจ้าซึ่งเกิดในพรหมนิกาย
บันลือสำเนียงประกาศกึกก้องโดยนัยนั้น
เสียกึกก้องขึ้นไปจนถึงพรหมโลก ด้วยประการฉะนี้.
ขณะนั้นหมื่นโลกธาตุนี้ก็ได้หวั่นไหวสะเทื้อนสะท้าน
ทั้งโอภาสแสงสว่างยิ่งไม่มีประมาณ ก็ได้เกิดมีแล้วในโลก
ล่วงเทวานุภาพของเทพเจ้าทั้งหลาย
เป็นมหามหัศจรรย์ ด้วยอำนาจธรรมดาบันดาลนิยมหากให้เป็นไป
ถึงความเป็นอจินไตย ไม่ควรที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะพึงคิดโดยประการต่าง ๆ
**********
~ เติมหน้าชื่อพระโกณฑัญญะ ~
ครั้งนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาค
จึงเปล่งอุทานว่า
"โกณฑัญญะภิกษุได้รู้แล้วหนอ ๆ ดังนี้"
เพราะอาศัยพุทธอุทานว่า
อัญญาสิ อัญญาสิ ดังนี้
คำว่า อัญญาโกณฑัญโญ ดังนี้
จึงเป็นชื่อของ "พระอัญญาโกณฑัญญะ"
ด้วยประการฉะนี้แล.
**********
พระศาสดาทรงอธิษฐาน
เข้าจำพรรษา เป็นพรรษาแรก
ณ ป่าอิสิปตนมฤคทาย วันนั้นนั่นเอง
**********
~ พระเถระทั้ง ๕ บรรลุพระอรหัตผล~
วันรุ่งขึ้น...
หลังจากทรงแสดงพระธรรมจักร
ประทับนั่งสั่งสอนพระวัปปเถระอยู่ในที่อยู่นั่นเอง
พระเถระที่เหลือ ๔ รูปเที่ยวไปบิณฑบาต.
พระวัปปเถระได้บรรลุโสดาปัตติผลในเวลาเช้านั่นแล.
ก็โดยอุบายนี้แหละ
ทรงยังพระภัททิยเถระให้ดำรงอยู่โสดาปัตติผลในวันรุ่งขึ้น
พระมหานามเถระในวันรุ่งขึ้น
และพระอัสสชิในวันรุ่งขึ้น
รวมความว่า
ทรงยังพระเถระทั้งปวงให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว
ในดิถีที่ ๕ แห่งปักษ์
ได้เห็นพระเถระแม้ทั้ง ๕ ประชุมกันแล้วทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร
ในเวลาจบเทศนาพระเถระแม้ทั้ง ๕ ดำรงอยู่ในพระอรหัต.
**********
*แก้ไขตัวสะกดชื่อ"อนัตตลักขณสูตร"ให้ถูกต้อง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา