16 ธ.ค. 2022 เวลา 06:44 • ไลฟ์สไตล์
๏ ปริเฉทที่ 13 (ตอน ๒)
ธัมมจักกปริวรรต
ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร
**********
~ ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร ~
ครั้งนั้น...
เมื่อภิกษุเบญจวัคคีย์ ดำรงในเสขภูมิ
เป็นพระโสดาบันอริยบุคคล
ได้เอหิภิกขุอุปสมบทเสร็จแล้ว
มีอินทรีย์แก่กล้าควรเจริญวิปัสสนาเพื่อพระอรหัตผล
สมเด็จพระทศพลทรงทราบแล้ว
จึงตรัสเรียกให้รับธรรมเทศนาแล้ว
ทรงแสดง "อนัตตลักขณสูตร"
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
"รูป" คือ ร่างกายนี้ (ธาตุ ๔)
เป็นอนัตตาใช่ตัวใช่ตน
ดูก่อนทั้งหลาย
ถ้าหากรูปนี้ เป็นอัตตา
เป็นตัวเป็นตนเป็นแก่นสารจริงแล้ว
รูปนี้ก็ไม่พึงเป็นเพื่ออาพาธ ความเบียดเบียน
อนึ่ง สัตว์ทั้งหลาย ก็จะพึงได้ในรูปตามใจหวัง
ว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนี้
อย่าป่วยอย่าไข้ อย่าชรา ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมเสีย
ทรวดทรงสีสัณฐานอย่าพิบัติเลย
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เหตุใดรูปย่อมเป็นอนัตตา
ไม่เป็นตัวเป็นตนไม่เป็นแก่นสาร
ไม่มีใครเป็นเจ้าของป้องกันได้
รูปนั้นจึงเป็นไป เพื่ออาพาธ
ความเกิด และความดับ แตกสลาย มาเบียดเบียน
ให้แปรปรวนเกลื่อนกล่น
ด้วยโรคภัยภายในภายนอกเป็นอเนก
ชำรุดทรุดโทรม
ยังให้ จักษุ (ตา) มัวมืด โสต (หู) ตึง เป็นต้น
อนึ่ง สัตว์ทั้งหลาย ย่อมไม่ได้ในรูปนั้นโดยประสงค์
เพราะเหตุ "รูปนั้นเป็นอนัตตา"
จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ (เจ็บป่วย)
และสัตว์ทั้งหลายไม่ได้ตามปรารถนา
ด้วยประการฉะนี้.
**********
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
"เวทนา" ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขสำราญกาย สำราญใจ
ทุกข์เจ็บกายไม่สบายจิต
อุเบกขามัธยัสถ์เป็นกลาง ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี
ความเสวยอารมณ์ ๓ อย่างนี้
เป็นอนัตตาใช่ตัวใช่ตน
ไม่เป็นแก่นสาร
ไม่เป็นไปในอำนาจของผู้ใด
ไม่มีใครเป็นเจ้าของป้องกันพิทักษ์รักษา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ถ้าหากเวทนาความเสวยอารมณ์นี้
เป็นอัตตาเป็นตนแล้วไซร้ เวทนาความเสวยอารมณ์นี้
ก็จะไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธความเบียดเบียนให้แปรผันต่าง ๆ
สัตว์ทั้งหลายก็จะพึงได้ตามปรารถนาว่า
เวทนาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด
สุข ความสำราญที่เกิดขึ้น
จงยั่งยืนอยู่เสมอเป็นนิตย์เถิด
อย่าเสื่อมสูญหมดสิ้นไปเสียเลย
ทุกข์อย่าเกิดแก่เรา
ที่เกิดแล้วจงดับสูญหายไปเสียโดยพลัน.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เหตุใดเวทนาความเสวยอารมณ์นั้น
เป็นอนัตตาใช่ตัวใช่ตน
ไม่เป็นแก่นสาร
เหตุนั้น เวทนาความเสวยอารมณ์นั้น
จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ ความเบียดเบียน
สัตว์ทั้งหลายก็หาได้ตามปรารถนาไม่
เพราะ "เวทนานั้น เป็นอนัตตา"
จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ
สัตว์มิได้ตามปรารถนา
ด้วยประการฉะนี้.
**********
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
"สัญญา" ความจำได้จำไว้
จำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำสัมผัส จำธรรมารมณ์
สัญญาความจำไว้ซึ่งอารมณ์ทั้ง ๖ นี้
เป็นอนัตตาใช่ตัวใช่ตน
ไม่เป็นแก่นสาร
ไม่เป็นไปในอำนาจความบังคับบัญชาของผู้ใด
ดูก่อนทั้งหลาย
ถ้าหากสัญญาความจำได้จำไว้นี้จะพึงเป็นอัตตา
เป็นตัวเป็นตนเป็นแก่นสารมีเจ้าของป้องกันแล้วไซร้
สัญญานี้ ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธความเบียดเบียน
พิบัติแปรผัน สัตว์ทั้งหลายก็จะเลือกกลั่นกันไว้และขับไล่ได้ตาม
ปรารถนาว่า สัญญาที่เป็นที่ตั้งแห่งความสุข
จงยั่งยืนถาวรตั้งอยู่เป็นนิตย์เถิด
อย่าเสื่อมสูญไปเสียเลย
สัญญาที่เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์
จงอย่าได้บังเกิดมี
แม้มีแล้วจงเสื่อมสูญหายไปเสียโดยพลันเถิด.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เหตุใด สัญญาความจำได้จำไว้นั้นเป็นอนัตตา
เหตุนั้น สัญญานั้น จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ
ความเบียดเบียนพิบัติแปรผัน
สัตว์ทั้งหลายจึงมิได้ในสัญญานั้นตามความปรารถนา
เพราะ "สัญญาเป็นอนัตตา"
จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ
และสัตว์ทั้งหลายมิได้ตามประสงค์
ด้วยประการฉะนี้.
**********
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
"สังขาร" คือธรรมอันปรุงใจสัญเจตนา
ความคิดอ่านต่อใจก็ดี เจตสิกธรรมที่เกิดในจิตทั้งปวง
ยกเสียแต่เวทนาสัญญาแล้ว เหลือนั้นชื่อว่าสังขาร.
และสังขารบรรดาธรรมที่ปรุงใจสัตว์
เป็นอนัตตา ใช่ตัวใช่ตนเป็นไปในอำนาจของผู้ใด
ถ้าหากสังขารอันปรุงใจเหล่านั้น
จะพึงเป็นอัตตาเป็นตัวเป็นตน เป็นแก่นสารแล้วไซร้
สังขารธรรมที่ปรุงใจทั้งหลาย
ก็จะมิพึงเป็นไปเพื่ออาพาธความเบียดเบียนพิบัติแปรปรวน
อนึ่ง สัตว์ก็จะพึงได้ในสังขารธรรมปรุงใจทั้งหลายนั้น
ตามปรารถนาว่า จงเป็นอย่างนี้ จงอย่าเป็นอย่างนั้นเลย.
สังขารธรรมที่ปรุงใจเป็นอนัตตา
เหตุนั้น สังขารจึงเป็นไป
เพื่ออาพาธความเบียดเบียนต่าง ๆ
สัตว์ทั้งหลายก็ไม่ได้ตามปรารถนาว่า
ส่วนดีเป็นที่ตั้งแห่งสุขจงตั้งอยู่เถิด
อย่าแปรปรวนพิบัติเลย
ส่วนชั่วเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์จงอย่ายังเกิดขึ้น
แม้เกิดขึ้นแล้วจงเสื่อมสูญหายเสียโดยพลัน
อย่าตั้งอยู่นานเลย
เพราะสังขารเป็นอนัตตาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ
และสัตว์มิได้ดังความปรารถนา
ด้วยประการฉะนี้.
**********
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
"วิญญาณ" ใจที่รู้พิเศษซึ่งอารมณ์
ที่เป็นไปในจักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มนะ นั้น
เป็นอนัตตาใช่ตัวใช่ตน
ไม่เป็นไปในอำนาจของผู้ใด
ถ้าหากวิญญาณนี้ จะพึงเป็นอัตตา
เป็นตัวเป็นตนแก่นสารแล้วไซร้
วิญญาณก็จะไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ
ความเบียดเบียนพิบัติแปรปรวนไปต่าง ๆ
อนึ่ง สัตว์ก็จะพึงได้ตามปรารถนา
ในที่จะอนุญาตผ่อนตามและห้ามเสียว่า
วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้
วิญญาณของเราจงอย่าเป็นอย่างนั้นเลย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เหตุใดวิญญาณเป็นอนัตตาใช่ตัวใช่ตน
ไม่เป็นแก่นสาร
ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของป้องกันไว้ได้เลย
เหตุนั้น วิญญาณนั้น
จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ ความเบียดเบียน พิบัติต่าง ๆ
สัตว์ทั้งหลายก็ไม่ได้ตามปรารถนาแห่งตนเลย
เพราะเป็น ฉะนี้
"วิญญาณจึงเป็นอนัตตา"
ด้วยประการฉะนี้.
**********
เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงซึ่งเบญจขันธ์ (ขันธ์ ๕)
โดยอนัตตลักขณะนี้แล้ว
ทรงตรัสอนุโยค (คำถาม) ให้เบญจวัคคีย์
ปฏิญญาตามที่ตนตรองเห็น.
ทรงตรัสถามใน "รูปขันธ์" ก่อนว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายจะสำคัญเนื้อความนั้นเป็นไฉน
พระพุทธเจ้า :
รูปเที่ยงหรือ หรือไม่เที่ยง?
เบญจวัคคีย์ :
ข้าแต่พระผู้ทรงพระภาค รูปไม่เที่ยง.
พระพุทธเจ้า :
ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้น ทุกข์หรือ หรือสุขเล่า?
เบญจวัคคีย์ :
เป็นทุกข์ (ทนยาก) พระพุทธเจ้าข้า.
พระพุทธเจ้า :
ก็สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์มีความแปรปรวน เป็นธรรมดาแล้ว
ควรหรือเพื่อจะตามเห็นโดยสำคัญซึ่งสิ่งนั้นว่า
นั่นของ ๆ เรา นั่นเป็นเรา
นั่นเป็นตัวตนของเรา ดังนี้.
เบญจวัคคีย์ :
ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
เมื่อพระองค์ตรัสถามให้ปฏิญญาใน รูปขันธ์
ฉะนี้แล้ว ก็ตรัสถามใน
เวทนาขันธ์...
สัญญาขันธ์...
สังขารขันธ์...
วิญญาณขันธ์...
**********
เมื่อสมเด็จพระผู้ทรงพระภาค
ตรัสถามในขันธ์ทั้ง ๕ โดยลำดับ
ให้พระผู้เป็นเจ้าปฏิญญาตามที่ตรองเห็นฉะนี้แล้ว
จึงตรัสสอนให้พิจารณาขันธ์ ๕ นั้น
โดยยถาภูตญาณทัสสนะ
ปัญญาที่รู้เห็นจริง ๆ ถอนความถือด้วยตัณหามานะทิฏฐิเสียจากสันดานว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เหตุใด ท่านทั้งหลายเห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรไปเป็นธรรมดา
ไม่ควรที่จะเห็นโดยสำคัญ ด้วยตัณหาว่านั่นของ ๆ เรา.
ด้วยมานะว่า นั่นเป็นเรา.
ด้วยทิฏฐิว่า นั่นตัวตนของเรา ดังนี้
เหตุดังนั้น
พึงพิจารณาเห็นซึ่งเบญจขันธ์ด้วยปัญญาชอบ
ถอนความถือด้วยตัณหา และมานะ ทิฏฐิเสียจากสันดาน.
**********
รูป
ร่างกาย อันใดอันหนึ่งซึ่งเป็นอดีตล่วงแล้ว
เป็นอนาคตยังไม่มาถึง
เป็นปัจจุบันบังเกิดเฉพาะหน้า ณ ทันใด
เป็นรูปทับตน คือ ภายในที่สัตว์กำหนดว่า ของเราหรือ
หรือภายนอกที่สัตว์กำหนดว่า ของผู้อื่นก็ดี
เป็นรูปหยาบหรือ หรือ เป็นรูปละเอียดก็ดี
เป็นรูปต่ำเป็นช้าหรือ หรือเป็น รูปประณีต
หรือรูปใด ณ ที่ไกล หรือ ณ ที่ใกล้ก็ดี
รูปทั้งปวง สักว่าเป็นรูป
นั่น ไม่ใช่ของ ๆ เรา
นั่น ไม่เป็นเรา
นั่น ไม่ใช่ตัวตนแก่นสารแห่งเรา ดังนี้
รูปนั้นท่านทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาชอบ ดังนี้เถิด.
**********
เวทนา
ความเสวยอารมณ์อันใดอันหนึ่ง
ซึ่งเป็นอดีตส่วนล่วงไปแล้ว
เป็นอนาคตส่วนที่ยังไม่มาถึง
เป็นปัจจุบันบังเกิดเฉพาะหน้า
เป็นไปทับตนคือภายในหรือ
หรือภายนอกก็ดี
เป็นเวทนาหยาบหรือ หรือละเอียด
เป็นเวทนาต่ำช้าหรือ หรือประณีต
เวทนาใด ณ ที่ไกลหรือ ณ ที่ใกล้ก็ดี
เวทนาความเสวยอารมณ์ทั้งปวง ก็เป็นสักว่าเวทนา
นั่น ไม่ใช่ของ ๆ เรา
นั่น ไม่เป็นเรา
นั่น ไม่ใช่ตัวตนแก่นสารแห่งเรา ดังนี้
เวทนานั้น ท่านทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาชอบ ดังนี้เถิด.
**********
สัญญา
ความจำได้จำไว้อันใดหนึ่ง
ซึ่งเป็นอดีตส่วนล่วงแล้ว
เป็นอนาคตส่วนที่ยังไม่มาถึง
เป็นปัจจุบันบังเกิดเฉพาะหน้า
เป็นสัญญาทับตนคือภายในหรือ หรือภายนอกก็ดี
เป็นสัญญาหยาบหรือ หรือเป็นสัญญาละเอียดก็ดี
เป็นสัญญาต่ำช้าหรือ หรือเป็นสัญญาประณีตก็ดี
สัญญาใด ณ ที่ไกลหรือ หรือ ณ ที่ใกล้ก็ดี
สัญญาความจำได้จำไว้ทั้งปวง ก็เป็นแต่สักว่าสัญญา
นั่น ไม่ใช่ของ ๆ เรา
นั่น ไม่เป็นเรา
นั่น ไม่ใช่ตัวตนแก่สารแห่งเรา ดังนี้.
สัญญานั้น ท่านทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาชอบดังนี้เถิด.
**********
สังขาร
ธรรมที่ปรุงใจทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง
ซึ่งเป็นอดีตส่วนล่วงแล้ว
เป็นอนาคตส่วนที่ยังไม่มาถึง
เป็นปัจจุบันส่วนที่บังเกิดเฉพาะหน้า
เป็นธรรมทับตนคือภายในหรือ หรือ ภายนอกก็ดี
เป็นธรรมหยาบหรือ หรือ เป็นธรรมละเอียดก็ดี
เป็นธรรมต่ำช้าหรือ หรือเป็นธรรมประณีตก็ดี
สังขารเหล่าใด ณ ที่ไกลหรือ หรือ ณ ที่ใกล้ก็ดี
สังขารทั้งปวง ก็เป็นแต่สักว่าสังขาร
นั่นใช่ของ ๆ เรา
นั่นไม่เป็นเรา
นั่นใช่อาตมะตัวตนแก่สารแห่งเรา ดังนี้.
สังขารนั้น ท่านทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาชอบ ดังนี้เถิด.
**********
วิญญาณ
ใจที่รู้ซึ่งอารมณ์อันใดอันหนึ่ง
ซึ่งเป็น อดีตส่วนล่วงแล้ว
เป็นอนาคตส่วนที่ยังไม่มาถึง
เป็นปัจจุบันส่วนที่บังเกิดเฉพาะหน้า
เป็นไปทับตนคือเป็นไปภายในหรือ หรือเป็นภายนอกก็ดี
เป็นส่วนหยาบหรือ หรือเป็นส่วนละเอียดก็ดี
ต่ำช้าหรือ หรือประณีตก็ดี
วิญญาณอันใด ณ ที่ไกลหรือ ณ ที่ใกล้ก็ดี
วิญญาณทั้งปวงก็เป็นแต่สักว่าวิญญาณ
นั่นใช่ของ ๆ เรา
นั่นไม่เป็นเรา
นั่นใช่ตัวตนแก่นสารแห่งเราดังนี้.
วิญญาณนั้นท่านทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาชอบ
ตามเป็นจริง ดังนี้เถิด.
**********
เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาค
ทรงสั่งสอนโดยวิปัสสนานัยให้พิจารณาเบญจขันธ์
ถอนตัณหามานะทิฏฐิคาหะด้วยประการฉะนี้แล้ว
จึงตรัสแสดงอานิสงส์แห่งยถาภูตญาณทัสสนะนั้นว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วเมื่อเห็นเบญจขันธ์
ด้วยยถาภูตญาณทัสสนะอย่างนี้
ย่อมเหนื่อยหน่ายทั้ง
ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ
เมื่อเหนื่อยหน่าย เกิดนิพพิทาญาณ
แล้วก็ วิราคะ คือ บรรลุอริยมรรค
ชำระกิเลสเครื่องย้อมจิตให้ปราศไป
มิให้ย้อมจิตอยู่ได้.
วิราคะ คือ พระอริยมรรค
อันคลายสบายจิตให้ปราศจากกิเลสเครื่องย้อมสันดาน
บังเกิดด้วยกำลังนิพพิทาญาณ
ซึ่งกล้าหาญ ด้วยอำนาจแห่งยถาภูตญาณทัสสนะ
ด้วยประการฉะนี้.
เพราะวิราคะ คืออริยมรรคญาณบังเกิดขึ้นแล้ว
อริยสาวกนั้น ก็วิมุตติพ้นพิเศษไปจากสรรพกิเลสอาสวะทั้งปวง
วิมุตติคืออริยผลบังเกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้.
ครั้นอริยสาวกนั้นพ้นพิเศษแล้ว
ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าเราพ้นพิเศษแล้ว ดังนี้.
อีกอย่างหนึ่ง ครั้นเมื่ออริยสาวกนั้น
บรรลุถึงอริยผลพิเศษแล้ว
ก็บังเกิดญาณหยั่งรู้ว่าจิตพ้นพิเศษแล้ว ดังนี้.
อริยสาวกนั้นท่านย่อมรู้ประจักษ์
เกิดปัจจเวกขณญาณหยั่งรู้ชัดว่า
ชาติ ความบังเกิดสิ้นแล้ว
พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว
กิจที่จำจะต้องทำ กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
อันจะต้องประกอบกิจ เพื่อความเป็นอย่างนี้อีกนั้นไม่มี.
อริยสาวกผู้บรรลุถึงวิมุตติ
คือ อรหัตผลเกิดปัจจเวกขณญาณหยั่งรู้
ด้วยประการฉะนี้.
สมเด็จพระผู้มีพระภาค
ตรัสเทศนาอนัตตลักขณสูตรนี้
แก่ภิกษุเบญจวัคคีย์ ฉะนี้.
**********
~ พระเบญจวัคคีย์ได้สำเร็จพระอรหัตผล ~
ก็แลครั้นเมื่ออนัตตลักขณสูตร
อันสมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสเทศนาอยู่
จิตแห่งภิกษุเบญจวัคคีย์ ก็วิมุตติ
หลุดถอนพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย
มิได้ถือมั่นด้วยอุปาทาน
คือพระเบญจวัคคีย์ ได้บรรลุอาสวักขัยพระอรหัตผล
เป็นอเสขอริยบุคคลถึงที่สุดสาวกบารมีภูมิ.
**********
~ มีพระอรหันต์ขึ้น ๖ พระองค์ ~
ก็แลสมัยนั้น พระอรหันต์มีขึ้นในโลก
คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑
เบญจวัคคีย์ภิกษุ ๕
เป็น ๖ องค์ ด้วยประการฉะนี้.
**********

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา