13 ธ.ค. 2022 เวลา 08:56 • ปรัชญา
“ตัวที่เป็นเจ้านายของร่างกายนั้นคือจิต
ตัวที่เป็นเจ้านายของจิตก็คือตัณหา ความอยาก
… ถ้าเราอยากพ้นจากตัณหา สังเกตที่ใจของเรา”
“ … เราต้องสู้กับตัณหาให้ได้
เมื่อวันอาทิตย์ก่อน มีโยมมาส่งการบ้าน น่าฟัง คนนี้แกเป็นแม่บ้าน เรียนกับหลวงพ่อมานานแล้ว ภาวนาแล้วใจมันวาง มันวางจิตลงไปได้
บอกไปดูต่อไป วางแล้วมันยังหยิบอีกไหม ถ้ามันไม่หยิบอีก มันก็สบาย
ตัวที่เป็นภาระมากก็คือตัวจิตนั่นล่ะ มันเป็นภาระยิ่งกว่าร่างกายเราอีก
ร่างกายเราก็ว่าเป็นภาระเยอะแล้ว
ตื่นเช้ามาก็ต้องมีงานดูแลร่างกายมากมาย
ตั้งแต่หัวถึงเท้า
มีภาระที่ต้องดูแลเยอะแยะไปหมด
1
มันต้องไปทำมาหากิน
หาเงินมาเพื่อจะซื้ออาหารมาเลี้ยงมัน
ซื้อเสื้อผ้ามาให้มัน มันมีภาระเยอะ
1
แต่ว่าถ้าเราภาวนาสังเกตจิตใจตัวเองชำนิชำนาญ
เราจะรู้ว่าจิตใจเราภาระเยอะกว่าร่างกายอีก
มีภาระเกิด คิดอะไรขึ้นมาที จิตก็มีภาระขึ้นมาแล้ว
จะต้องทำนั่น จะต้องทำนี่ตลอดเวลาเลย
เดี๋ยวมันก็สั่ง อยากดู เป็นภาระไหมอยากดู
อย่างอยากดูคอนเสิร์ตก็เป็นภาระ
อยากฟัง อยากดมกลิ่น ลิ้มรส
อยากรู้สัมผัส อยากได้สิ่งสัมผัสทางกาย
อยากได้อารมณ์ที่สนุกสนานเพลิดเพลินทางใจ
นี้ก็มีภาระที่ต้องแสวงหารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ก็ใช้ร่างกายไปทำงาน
ต้นตอของความทุกข์
ฉะนั้นตัววุ่นวายจริงๆ ก็คือตัวจิต
มันมีความอยากเกิดขึ้นก็ใช้ร่างกายทำงาน
ร่างกายก็เหน็ดเหนื่อยมากเลย
แล้วคนถ้าใช้ทำงานแล้วได้อย่างที่ต้องการ
แหม จิตใจมีความสุข
ร่างกายไม่ได้มีความสุขเลย เหนื่อยแต่ละวันๆ
ร่างกายมันคล้ายๆ มันเป็นทาสของจิต
พอเราดูไปเรื่อยๆ
จิตก็เป็นทาสของตัณหาอีกที
เพราะฉะนั้นตัวที่บงการให้เราอยากอย่างโน้น อยากอย่างนี้
อยากได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส
อันนี้เรียกว่ากามตัณหา
1
อยากหนีไปจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
เรียกว่าวิภวตัณหา
คอยรู้ทัน ความอยากมันเกิด
บางทีก็อยากเป็น
อยากมีอย่างโน้น อยากเป็นอย่างนี้
อันนั้นมันเป็นภวตัณหา
อย่างอยากเป็น ส.ส. มีงานเยอะแยะเลย
ใจมันอยาก มันใช้ร่างกายไปทำอะไรต่ออะไรมากมาย
ฉะนั้นตัวที่เป็นเจ้านายของร่างกายนั้นคือจิต
ตัวที่เป็นเจ้านายของจิตก็คือตัณหา ความอยาก
การที่เราเรียนรู้อย่างนี้ รู้หลักอย่างนี้
เรียกว่าเราเริ่มมีสัมมาทิฏฐิในภาคทฤษฎี ในภาคปริยัติ
1
สัมมาทิฏฐิก็คือทฤษฎีที่ถูกต้องนั้นล่ะ
ศาสนาพุทธเรามุ่งไปที่ความพ้นทุกข์
เราจะสังเกตเหตุที่ทำให้ใจเราทุกข์ก็คือตัวตัณหา
ถ้าเราสามารถขจัดเจ้านายตัวนี้ไปได้
จิตใจเราก็เป็นอิสระ
นี้จิตใจเราเป็นทาส
เป็นทาสมันจะมีความสุขเข้าไปได้อย่างไร
ก็ถูกมันสั่งทั้งวันเลย
สั่งให้ดู สั่งให้ดมกลิ่น สั่งให้ลิ้มรส
สั่งให้รู้สัมผัสทางกาย
สั่งให้หาเรื่องสนุกสนานทางใจ
สั่งให้หนีอารมณ์ที่ไม่ดี ไม่ถูกอกถูกใจ
แล้วก็อยากเป็นโน้น อยากเป็นนี้
ตอนเด็กๆ ก็อยากเป็นผู้ใหญ่
พอเป็นผู้ใหญ่ไม่อยากแก่
เดี๋ยวก็อยาก เดี๋ยวก็ไม่อยาก
เพราะฉะนั้นตัวที่ทำให้จิตใจเรามีความทุกข์
มันก็ตัวอยากนั่นล่ะ
กามตัณหา ความอยากได้อารมณ์ที่ถูกอกถูกใจ
ภวตัณหา อยากให้สิ่งทั้งหลายมันคงอยู่
อยากให้มันคงอยู่
อยากมีอย่างนั้น อยากเป็นอย่างนี้
วิภวตัณหา อยากให้สิ่งที่ไม่ถูกใจหมดไปสิ้นไป
ความอยากเกิดขึ้นเมื่อไร
จิตใจจะต้องดิ้นรน ทำงานหนัก
ทำงานหนักคนเดียวไม่พอ ลากเอาร่างกายไปทำงานด้วย
ร่างกายก็เป็นทาสของจิตใจ
ทำงานตามที่จิตใจสั่ง
เหนื่อยแสนเหนื่อยอย่างไร ถ้าใจมันอยากก็ต้องตะเกียกตะกายไปทำ
เพราะฉะนั้นเรารู้ต้นตอของความทุกข์
ก็คือตัวตัณหานั้นล่ะเป็นต้นตอ มาบงการจิต
จิตไปบงการกาย
ชีวิตเราก็เหน็ดเหนื่อยเกินความจำเป็น
ทำอย่างไรเราจะพ้นจากตัณหา
ถ้าละตัณหาได้จิตใจก็เป็นอิสระ
เป็นอิสระแล้ว มีความสุข มีความสงบ
เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง
การจะละตัณหา เบื้องต้นแนะนำเลย
คอยรู้เท่าทัน
อะไรที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเราเอง
สังเกตให้ดีเถอะ
คำพูดที่ไม่ดี มันก็ออกมาจากความคิดที่ไม่ดี
การกระทำที่ไม่ดี มันก็ออกมาจากความคิดที่ไม่ดี
การทำมาหากินไม่ดี มันก็ออกจากความคิดไม่ดี
ถ้าอยากพ้นจากตัณหา สังเกตที่ใจของเรา
เพราะฉะนั้นเราจะต้องสังเกตความคิดของเราให้ดี
ถ้าเราอยากพ้นจากตัณหา สังเกตที่ใจของเรา
เวลาความคิดทั้งหลายเกิดขึ้น
ดูสิอะไรอยู่เบื้องหลังมัน
บางทีมันก็เป็นเรื่องของกามวิตก
ตรึกไปด้วยอำนาจของความรักใคร่ผูกพันทั้งหลาย
บางทีก็คิดไปด้วยอำนาจของพยาบาทวิตก
ด้วยความโกรธ
บางทีก็คิดไปด้วยวิหิงสาวิตก
เบียดเบียนตัวเอง
เบียดเบียนคนอื่นโดยไม่รู้ผิดชอบชั่วดี นี่โมหะ
ก็ราคะ โทสะ โมหะนั่นล่ะ
ที่มันมักจะอยู่เบื้องหลังความคิดของเรา
พอมันคิดอย่างนี้แล้ว คิดไปตามความโกรธ
คำพูดมันก็เป็นไปตามความโกรธ ไปด่าเขา
แล้วก็การกระทำก็เป็นไปตามความโกรธ
มันไปต่อยไปตีเขา
เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้จักดูแลความคิดของเราเอง
เราห้ามความคิดไม่ได้
จิตมีหน้าที่รู้สึกนึกคิด ห้ามมันไม่ได้หรอก
ฉะนั้นเราก็ไม่ได้ห้ามมัน
แต่เราคอยรู้ทันเวลามันคิด
มันคิดเพราะอะไร
มีเครื่องช่วยที่จะทำให้เราสามารถรู้ทันความคิดของตัวเอง รู้ทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของตัวเอง คือให้เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง
ทำกรรมฐานไว้สักอย่างหนึ่ง
เช่นเราพุทโธๆๆ ประเดี๋ยวเดียว
จิตมันก็หนีไปคิดเรื่องอื่น
ถ้าเราไม่มีเครื่องอยู่ ไม่มีกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง
เวลามันหลงไปคิด มันจะหลงยาว นาน
บางทีหลงทั้งวันเลย
ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ไม่เคยรู้สึกเลย
แต่ถ้าเราทำกรรมฐานอยู่
เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ
แล้วจิตมันหนีไปคิด เรารู้ทันมัน
ทีแรกเราก็จะรู้แค่ว่า โอ้ มันหนีไปคิดแล้ว
คิดเรื่องนี้ โอ้โห คิดจะทำร้ายคนอื่นอะไรอย่างนี้
ค่อยๆ สังเกตไป ต่อไปก็จะดูออก
ที่มันคิดทำร้ายคนอื่น เพราะว่าโทสะแทรก
มันคิดไปด้วยกำลังของโทสะ
อันนี้มีพยาบาทวิตก
อย่างเราทำกรรมฐานอยู่
หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ มันไปคิด
ทีแรกก็คิดพุทโธ อยู่ๆ ก็คิดถึงสาว
คิดถึงหนุ่มที่เราชอบใจขึ้นมา
ลืมพุทโธไปแล้ว
อุตส่าห์ท่องชื่อพระพุทธเจ้าอยู่
แป๊บเดียวหนีไปคิดถึงสาว ถึงหนุ่ม
อะไรต่ออะไร วุ่นวายแล้ว
ถ้าเราทำกรรมฐานอยู่ เราก็จะรู้ว่า
เอ้า หนีไปคิดเรื่องคนสวยคนงามอะไรต่างๆ
นี่มันเป็นกามวิตก คิดไปด้วยกาม
หรือบางทีภาวนาอยู่ แล้วก็หงุดหงิดไม่พออกพอใจ
สังเกตเอา เช่น ภาวนาอยู่แล้วยุงมาร้องหวีดๆ ใส่หู
โมโหขึ้นมาอยากตบให้ตาย
เราก็รู้ว่ามีพยาบาทวิตกแล้ว
ส่วนวิหิงสาวิตกดูยากนิดหนึ่ง
มันเป็นเรื่องไม่รู้ผิดชอบชั่วดี
ไม่รู้อะไรถูกอะไรไม่ถูก
ค่อยๆ ฝึกแล้ววันหนึ่งก็เห็นหรอก
เบื้องต้นก็คอยรู้ทันกามวิตก พยาบาทวิตกไป
ง่ายๆ ทำกรรมฐานไว้สักอย่างหนึ่ง
เช่น ท่องพุทโธๆ ไป
พุทโธอยู่ดีๆ ไปคิดถึงสาวแล้ว
ชอบอกชอบใจขึ้นมา
อันนั้นเป็นกามวิตกเกิดขึ้น ให้รู้ทันเข้าไป
สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดตัวนี้คือกาม คือราคะ
คิดพุทโธๆ อยู่ ไปคิดเรื่องอะไรน่าโมโหขึ้นมา
อันนั้นโทสะแทรกแล้ว
มันเป็นคิดไปตามอำนาจโทสะ
มันเป็นพยาบาทวิตก
ที่หลวงพ่อพูดให้ฟังนี้ มันครอบคลุมองค์มรรค 2 ตัวแล้ว
คือสัมมาทิฏฐิ เรามีทฤษฎีชี้นำที่ถูกต้อง
ก็คือตัณหานี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
ตัณหาเป็นเจ้านายที่ร้ายกาจ
ฉะนั้นเราจะต้องขจัดตัณหาออกจากใจเราให้ได้
จิตใจเราถึงจะอิสระ พ้นทุกข์ได้
นี้คือตัวสัมมาทิฏฐิในเบื้องต้น
ก็จะเห็นมีเหตุมีผล
ทำเหตุคือตัณหามีผลเป็นทุกข์
นี้จะเริ่มปฏิบัติก็ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง
แรกๆ ใจมันไม่สงบ เดี๋ยวก็คิดโน้นคิดนี้ไป
ให้เราสังเกตเอา
อันนี้คิดไปในทางรักใคร่ผูกพัน
อันนี้คิดไปในทางเกลียดชัง
อยากทำล้ายล้าง
ใจมันคิดของมันได้เอง
ให้เรารู้ทันมันไปเรื่อยๆ
เราก็จะไม่มีมิจฉาสังกัปปะ
ก็จะได้สัมมาสังกัปปะ
การรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง
จะทำให้อกุศลอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ
สัมมาสังกัปปะ ก็คือความคิดของเรา
มันคิดไปในทางที่จะไม่หลงเพลิน ติดอกติดใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทั้งหลาย
ไม่หลงเกลียดชังในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทั้งหลาย
แล้วก็รู้เหตุรู้ผล มีเหตุมีผล
อย่างหลวงพ่อไปอ่านเจอว่า มีนักวิชาการเกษตรรุ่นใหญ่เลย รุ่นก่อนพวกเราเกิด ท่านมีความคิดว่า อย่างเลี้ยงไก่ หักคอไก่เฉยๆ เลย ไม่ได้รู้สึกผิด รู้สึกว่าไก่มันก็เป็นสิ่งที่เราเลี้ยงมา เราก็ไปฆ่ามันได้ กินมันได้ อันนี้ที่เรียกว่าวิหิงสาวิตก มันเบียดเบียนด้วยความไม่รู้
ถ้ารู้มันจะน่ากลัว มันจะน่ากลัว
ทำกรรมไว้ต้องมีผลแน่นอน
หลวงพ่อเคยรู้จักพี่น้อง 2 คน ผู้หญิง พ่อเขาตอนหนุ่มๆ พ่อเขาเลี้ยงเขามาเพราะว่าแม่ตาย พ่อเป็นคนเลี้ยงอยู่คนเดียว แล้วพ่อไม่คิดจะมีเมียใหม่ กลัวลูกสาวจะโดนรังแก แกจะชอบกินเหล้า กินเหล้าแล้วก็สีซอ คนโบราณ ถ้ายุคนี้คงดีดกีตาร์ อันนั้นสีซอ
แล้วเพื่อนๆ มาที่บ้านทุกวัน พอเพื่อนมาก็สั่งลูกน้องฆ่าไก่ 1 ตัวทุกวัน ทำอาหารเลี้ยงเพื่อน ถามว่าใจดีไหม ใจดี แต่ไม่ได้รู้สึกว่าเบียดเบียนสัตว์
หรือแกเห็นมดดำ ต้องมดดำด้วย มดอื่นไม่ค่อยสนใจ เห็นมดดำเข้าแถวเดินมา แกชอบมากเลย แกจะบี้ทีเดียวให้หมดแถวเลย มือรูด นิ้วรูด ไม่รู้สึกว่ามันจะบาปอะไร มันตัวเล็กๆ
ตอนแกป่วยหนักใกล้จะตาย พอดีมีครูบาอาจารย์ ไม่ใช่หลวงพ่อ ครูบาอาจารย์มาที่บ้านแก ก็เห็นวาระที่แกจะตาย มันก็ดูไม่ค่อยดี นอนอยู่ที่โรงพยาบาล นอนๆ อยู่ก็โวยวาย มดดำมาขึ้นเตียงแกเต็มไปหมดแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่มีสักตัวเลย
1
กรรมมันเริ่มให้ผล ตอนทำไม่ได้รู้สึกผิด
แต่กฎของกรรมมันเที่ยงธรรมที่สุด
มันเริ่มให้ผล ก็เรียกคนที่เฝ้า เรียกพยาบาล เรียกอะไรมาช่วยกันไล่มด มันไม่มีสักตัว ช่วงที่จะตายนิมิตมันเกิด เห็นไก่ นิมิตเห็นไก่
พอดีครูบาอาจารย์ท่านเห็น ท่านก็แผ่เมตตาให้อะไรให้ จิตก็เลยไม่ไปจับนิมิตของไก่ แต่สุดท้ายก็ไปทุคติ แต่ว่าไม่ได้ไปเป็นไก่เท่านั้นล่ะ
1
ถ้าเรารู้เรื่องกฎแห่งกรรม เข้าใจกฎแห่งกรรม
มันก็จะไม่ทำวิหิงสาวิตกหรอก
แล้วก็พอไม่คิดเบียดเบียน
คำพูดมันก็ไม่เบียดเบียน
การกระทำมันก็ไม่เบียดเบียน
การเลี้ยงชีวิตมันก็ไม่เบียดเบียน
ฉะนั้นเรารู้เหตุรู้ผล นั่นคือตัวสัมมาทิฏฐิ
แล้วก็ลงมือปฏิบัติ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง
แล้วคอยรู้ทันเวลาจิตมันแอบไปคิด
อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด
กิเลสมันจะมาอยู่เบื้องหลังความคิดไม่ได้ ถ้าเราคอยรู้ทันมัน
1
กิเลสมันเหมือนผี
มันหลอกได้แต่ตอนเราหลงๆ
ถ้าเราจิตใจเข้มแข็งอยู่
มันหลอกเราไม่ได้หรอก
1
ถ้าเรามีความคิดที่ถูกต้อง
มีสัมมาทิฏฐิมันก็ส่งผล มีความเห็นที่ถูกต้อง
มีทฤษฎีชี้นำที่ถูกต้อง
มันก็คอยดูแลความคิดของเรา
ความคิดเราถูกต้องแล้ว
คำพูด การกระทำ
การเลี้ยงชีวิตเราก็จะถูกต้อง
เพราะฉะนั้นพอเรามีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ
สิ่งที่จะพ่วงมาก็คือสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
แล้วการที่เราทำกรรมฐานแล้วคอยสังเกต
เวลาจิตมันคิด มันคิดดีคิดร้าย
คอยสังเกตไปเรื่อย
เราก็จะรู้ทันเวลาจิตมันคิดไม่ดี
มันคิดไปด้วยอกุศล เราก็จะไม่ทำ
มันจะละโดยอัตโนมัติเลย
พอเรารู้ว่านี่มันคิดชั่ว ไม่เอา ไม่ไปคิดต่อ
อย่างหลวงพ่อสอนพระ พวกพระหนุ่มๆ มาบวชไม่ใช่เรื่องง่าย เวลากามราคะเกิดขึ้น จะเป็นจะตายเอา ถ้าเป็นพระดี ถ้าเป็นพระไม่ดีไม่เดือดร้อนเลย ทำผิดหน้าตาเฉยเลย แต่เป็นพระดีนี้เดือดร้อนมากเลย เวลาราคะเกิด
1
หลวงพ่อบอก อย่าไปตกใจ อย่าไปกลัวมัน แค่อย่าไปคิดต่อเท่านั้น ฮอร์โมนเพศมันกระตุ้น กระตุ้นความรู้สึกทางร่างกาย แล้วมันก็ไปกระตุ้นความคิดของเราต่อ ยิ่งเราคิดไปทางกาม กามราคะก็จะยิ่งมีกำลังมากขึ้น
คล้ายๆ เราให้อาหารมัน แต่ถ้าเราไม่ให้อาหารมัน เดี๋ยวมันก็ฝ่อตายไปเอง เราไม่ต้องไปต่อสู้อะไรมากมายเลย ไม่ไปคิดตามใจกิเลสเท่านั้นล่ะ
เพราะฉะนั้นตัวความคิด ตัวสำคัญ คอยรู้มันไป พอรู้ไป คำพูด การกระทำ การเลี้ยงชีวิตมันก็จะดีขึ้น
แล้วถัดจากนั้นสัมมาวายามะมันจะเกิดขึ้น
สัมมาวายามะคือความเพียรชอบ เพียรอะไร
เพียรลดละกิเลสที่มีอยู่
เพียรปิดกั้นกิเลสใหม่ไม่ให้เกิด
เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด
เพียรทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญขึ้น
เราจะทำตรงนี้ได้ เราก็ต้องรู้ก่อน
กิเลสมันเกิดแล้วต้องรู้
มันเกิดขึ้นมาก็มาบั่นทอนกุศล
ถ้าเรารู้ทันอกุศลมันก็ดับ กุศลมันก็เจริญขึ้น
เบื้องต้นเราก็ตั้งอกตั้งใจ
เราจะไม่พูดชั่ว ไม่ทำชั่ว ไม่เลี้ยงชีวิตชั่ว
เบื้องต้นก็ตั้งใจไว้ก่อน
ต่อไปพอสติปัญญาเราแข็งแรงขึ้น เรารู้ทันเลย
ที่มันอยากด่าเขาเพราะมันคิดชั่ว
ที่มันอยากทำร้ายเขาเพราะมันคิดชั่ว
ที่มันอยากหากินในทางทุจริต เพราะมันคิดชั่ว
แล้วเราก็ไม่ยอม ไม่ยอมตามใจกิเลส
อันนี้เรามีความเพียรชอบแล้ว
หรือกุศลอะไร เราสังเกตเอา
กุศลอะไรเรายังไม่มี เราก็ตั้งใจรักษา
ศีลไม่มีเราก็ตั้งใจรักษาศีล
แต่ถ้าเราทำมาตามขั้นตอนที่หลวงพ่อบอก
รู้ทันความคิดของตัวเอง ศีลอัตโนมัติมันมาเอง
พอความคิดเราดี คำพูดเราก็ดีไม่ผิดศีลข้อ 4
การกระทำของเราก็ดีไม่ผิดศีลข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3
1
เพราะฉะนั้นตัวการรู้เท่าทันความคิดของตัวเองนั้นดี
แล้วมันจะทำให้อกุศลอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ
แล้วจะทำให้กุศลเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
นั่นคือตัวสัมมาวายามะ
ต่อไปเราก็จะฝึกตัวเองเหมือนเดิมนั่นล่ะ
แต่สิ่งที่เราจะได้มาเพิ่มเติมคือสติ มันจะเร็วขึ้นๆ
อย่างแต่เดิมหลงคิดไปในกามเป็นชั่วโมงแล้ว ไม่รู้เลย
พอมาภาวนาไปช่วงหนึ่ง
นี้คิดไปในกามแล้วหนึ่งชั่วโมงรู้ทันทีหนึ่ง
ต่อไปก็เร็วขึ้น ครึ่งชั่วโมงก็รู้แล้ว
ต่อไปนาทีเดียวก็รู้แล้ว
ต่อไปจิตเคลื่อนแวบเดียวก็เห็นแล้ว
สติเราจะเร็วขึ้นๆ
จากสติ มันจะพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา สมบูรณ์ขึ้นมา
สติเป็นตัวรู้ทัน อะไรเกิดขึ้นในกาย รู้สึก
อะไรเกิดขึ้นในจิตใจ รู้สึก
ถ้าเรารู้ทันจิตใจได้
สิ่งที่เกิดในกายไม่ใช่เรื่องยาก
เจ้านายของร่างกายคือจิต
ถ้าเรารู้ทันตัวเจ้านายของมัน
แล้วเจ้านายของมันชั่วมันดี คอยรู้ไป
ตรงที่เรารู้บ่อยๆ สติเราจะเร็วขึ้นๆ
ต่อไปพอเราคิดไม่ดี คิดไปในทางโทสะ
แวบเดียวเราเห็นแล้ว สติเราก็จะเร็วขึ้นๆ
เพราะฉะนั้นการที่เรามีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ มันเกื้อกูลสัมมาสติให้เกิดขึ้น
พอเรามีสติ หมายถึงจิตมันไปคิดอะไรทางอกุศลนิดเดียว ก็เห็นแล้ว รู้เร็ว
ตรงที่เรารู้ทันสภาวธรรมที่ปรากฏอยู่
ขณะนั้นสัมมาสมาธิจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
หรือเมื่อไรมีสัมมาสติ เมื่อนั้นมีสัมมาสมาธิอัตโนมัติ ก็จะเกิดแถมมาให้เลย
อย่างเรารู้ว่าจิตเราหลงไปคิด
หรือจิตเราโกรธ จิตเราโกรธเพราะว่ามันมีพยาบาทวิตก
จิตเรามีราคะขึ้นมาเพราะมันมีกามวิตก
อย่างพอเราเห็นว่าจิตเรามีราคะขึ้นมา
สติรู้ทันปั๊บราคะดับปั๊บเลย
แล้วจิตจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นในขณะนั้นเลย
สัมมาสมาธิเกิดขึ้นแล้ว
หรือจิตเรามีโทสะเกิดขึ้น
เรามีสติรู้ทัน โทสะจะดับทันที
แล้วสัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นของจิตก็จะเกิดขึ้นทันที
ฉะนั้นมรรคมีองค์ 8 สมัยหลวงพ่อยังไม่ได้ภาวนา ยังทำได้แต่สมถะ อ่านเรื่องอริยมรรคมีองค์ 8 แล้ว รู้สึก โอ้โห เรื่องที่ต้องทำมันเยอะเหลือเกิน ตั้ง 8 หัวข้อใหญ่ๆ จะทำได้อย่างไร
แล้วยังครูบาอาจารย์บอกว่า สุดท้ายมรรคมีองค์ 8 เกิดร่วมกันในขณะจิตเดียวอีก จะทำไปได้อย่างไร
วันนี้เอามาบอกพวกเรา รู้หรือยังว่าทำอย่างไร
ง่ายๆ ทำกรรมฐานไปอย่างหนึ่ง
จิตเราหนีไปคิด รู้ทันไว้
คิดไปในกาม รู้ทัน
คิดไปทางพยาบาท รู้ทัน
คิดไปในทางเบียดเบียนด้วยความหลงผิด รู้ทันไป
แล้วสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ มันมาเอง
แล้วการที่เราคอยรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง
เราไม่ตกเป็นทาสของกิเลสมาครอบงำจิตใจ
มาครอบงำความคิดของเรา
ตรงนั้นมีความเพียรชอบเกิดขึ้นแล้ว
แล้วการที่เราคอยรู้เนืองๆ รู้บ่อยๆ
ตรงนั้นสติเราจะเกิด
สติเกิดจากถิรสัญญา
2
การที่จิตจำสภาวะได้แม่น
จิตจำสภาวะได้แม่นเพราะเห็นบ่อยๆ
อย่างเราเห็นจิตไปคิดไม่ดีปุ๊บ ราคะเกิดเรารู้ทัน
ไปคิดอย่างนี้โทสะเกิด เรารู้ทัน
คิดอย่างนี้ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี เรารู้ทัน
ตรงนั้นสติมันจะเกิดถี่ยิบขึ้นมา
แล้วเมื่อไรสติเกิด สติที่ถูกต้องอย่างนี้เกิด
เมื่อนั้นสัมมาสมาธิจะเกิดขึ้นอัตโนมัติ
เพราะฉะนั้นเราเห็นจิตมีราคะ รู้ว่ามีราคะปุ๊บ ราคะจะดับ
ที่มันมีราคะเพราะมันมีกามวิตก
เราภาวนามาเรื่อยๆ
จนมาเห็นตัวที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเรา
ก็คือตัวราคะ โทสะ โมหะ จะเห็นลึกเข้ามา
ทีแรกเห็นว่ามันคิดไปด้วยอำนาจราคะ โทสะ โมหะ
พอรู้มากๆๆๆ เข้ามันจะเห็นตัวราคะ โทสะ โมหะ ชัดเจน
พอเราเห็นปุ๊บ
จิตโกรธ สติรู้ทันว่าโกรธปุ๊บ ความโกรธจะดับปั๊บเลย
แล้วจิตจะตั้งมั่นรู้ตื่นขึ้นมาทันทีเลย
จิตจะกลายเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ไม่ใช่ผู้โลภ ผู้โกรธ ผู้หลงแล้ว
แต่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
เพราะฉะนั้นให้เราทำไว้ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง
จิตจะไปคิดอะไรก็ไม่ว่ามันหรอก
แต่ว่าพอมันไปคิดแล้วเราดูให้ออก
อันนี้คิดไปตามอำนาจของราคะหรือเปล่า
ของโทสะหรือเปล่า
ของโมหะ ความไม่รู้ผิดชอบชั่วดีหรือเปล่า
หัดรู้อย่างนี้เรื่อยๆ ไป
องค์มรรคทั้งหลายมันจะสมบูรณ์ขึ้นมาทีหลัง
มันมาเองไม่ได้เหนื่อยยากอะไร
ทำมันจุดเดียวแค่นี้เองคือรู้ทันจิตตัวเองไว้
แล้วมรรคทั้งหมดจะสมบูรณ์ขึ้นมา
พอเรามีสัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ
ละอกุศลที่มีอยู่ อกุศลใหม่เกิดไม่ได้
แล้วก็มีสติอยู่นั้น กุศลมันเกิดแล้ว
เราก็ทำกุศลให้เจริญ
จากสติ มันจะพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา สมบูรณ์ขึ้นมา
โดยเฉพาะตัวปัญญา
ปัญญาเป็นตัวรู้ถูก เป็นตัวเข้าใจถูก
เข้าใจอะไร รู้อะไร
รู้กายรู้ใจ รู้ขันธ์ 5 รู้อายตนะ 6
รู้นามรูป รู้อินทรีย์ 22 รู้ธาตุ 18
อันนี้พูดไปอย่างนั้นล่ะ
พวกเราแค่รู้กายรู้ใจนั้นล่ะ
ไม่ต้องรู้อะไรมากมายอย่างที่หลวงพ่อพูดหรอก
พูดบอกเผื่อๆ พวกที่เรียนเยอะ
เดี๋ยวจะบอกเราเทศน์ไม่สมบูรณ์
ในพระสูตรมีบอกไว้ว่า
“สัมมาทิฏฐิ เมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก
ก็จะทำให้สัมมาสังกัปปะบริบูรณ์
สัมมาสังกัปปะ เมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก
จะทำให้สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะบริบูรณ์
พอสัมมาพวกนี้บริบูรณ์ ทำให้เยอะ สัมมาวายามะก็จะเจริญ
สัมมาวายามะทำให้มาก แล้วก็สัมมาสติเจริญ
สัมมาสติทำให้มาก สัมมาสมาธิจะบริบูรณ์
สัมมาสมาธิบริบูรณ์แล้วก็จะทำให้สัมมาญาณะ
ความหยั่งรู้ที่ถูกต้องจะบริบูรณ์ขึ้นมา”
หยั่งรู้อะไร หยั่งรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของรูปนาม
พอสัมมาญาณะบริบูรณ์ สัมมาญาณะทำให้มาก
สัมมาวิมุตติจะบริบูรณ์ขึ้นมา
สัมมาวิมุตติบริบูรณ์หมายถึง เกิดอรหัตตมรรค อรหัตตผล
มันมีเป็นขั้นๆ ไป มี 4 ขั้น
หลวงพ่อเคยถามหลวงปู่ดูลย์ว่า “ตรงที่ละกิเลส ตัดกิเลส ต้องทำกี่ครั้ง”
ท่านบอก “4 ครั้ง” ก็ตรงกับตำรานั่นล่ะ
ก็มีโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล นี่หนึ่งเซ็ต
สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล นี่เซ็ตที่ 2
อนาคามีมรรค อนาคามีผล เซ็ตที่ 3
อรหัตตมรรค อรหัตตผล เซ็ตที่ 4
เพราะฉะนั้นตรงสัมมาวิมุตติบริบูรณ์
มันจะค่อยเพิ่มๆๆ จนถึงอรหัตตมรรค อรหัตตผล
ทั้งหมดนี้มันมาจากจุดเริ่มต้นก็คือ
สัมมาทิฏฐิในภาคปริยัติ
รู้ รู้ว่างานหลักของเราต้องสู้กับตัณหาให้ได้
มันเป็นเจ้านายบังคับบงการจิตใจ
จิตใจก็ไปบังคับร่างกายให้พูดชั่ว
ให้ทำชั่ว ให้เลี้ยงชีวิตชั่วต่อไปอีก
มันมาจากความคิดชั่ว
กิเลส ตัณหาทั้งหลาย มันซ่อนอยู่ข้างหลัง
พอเรารู้ทัน มันจะทำงานไม่สำเร็จ
กิเลส ตัณหาอะไรที่มีอยู่จะค่อยๆ อ่อนกำลังลง
กุศลก็จะค่อยเจริญขึ้นๆ
สติก็จะดีขึ้น ศีล สมาธิ ปัญญา ก็จะดีขึ้น
พอจิตเราตั้งมั่น มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง
ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
ทำให้มากเลย
ต่อไปสัมมาวิมุตติมันก็จะเกิด …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
26 พฤศจิกายน 2565
อ่านธรรมบรรบายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา