17 ธ.ค. 2022 เวลา 13:35 • ปรัชญา
“คนที่เบียดเบียนเรามากที่สุด ไม่ใช่ใครหรอก
ก็ตัวเราเอง เบียดเบียนตัวเราเอง ด้วยความคิดนั่นล่ะ”
2
“ … กิเลสอะไรแทรกแซงใจเราอยู่ คอยรู้ไว้
อย่างที่หลวงพ่อพูดถึงผู้หญิงคนหนึ่ง แกอายุแก่กว่าหลวงพ่อ แกเรียนมานานแล้ว มาส่งการบ้านที่บ้านจิตสบาย เข้ามาสว่างผ่องใสมาเลย
แกเล่าการปฏิบัติอะไรของแกก็ไม่รู้ หลวงพ่อฟังออกบ้างไม่ออกบ้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันดี จิตใจมันเป็นอิสระจากกิเลสที่รุมเร้าทั้งหลาย อิสระ
หลวงพ่อถาม “โยมไปทำอะไรมา ทำไมจิตถึงเป็นอย่างนี้”
แกบอกแกไม่ได้ทำอะไรมากหรอก แกมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง แกบอกแกทำแค่นี้
แล้วแกอยู่กับร่างกาย ทำงานบ้าน เป็นแม่บ้าน กวาดบ้าน ถูบ้าน ทำอาหาร ดูแลบ้าน ดูแลเสื้อผ้า ครอบครัว ดูแลทุกอย่าง
ของเราถ้าต้องทำงานอย่างนั้น ดูแลคนทั้งบ้าน เราจะโมโห ทำไมคนอื่นมันเอาเปรียบเรา มันสบายเหลือเกิน ให้เราทำงานอยู่คนเดียว แต่นี้ไม่เป็นอย่างนั้น
ตอนที่ทำงานไปเห็นกายมันทำงาน เห็นใจมันทำงานไปเรื่อย มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ก็เห็นไตรลักษณ์ของกายของใจไปเรื่อย ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
ตัวนี้ตัวสำคัญ ที่หลวงพ่อจ้ำจี้จ้ำไชพวกเรา
ต้องมีจิตที่ตั้งมั่น แล้วต่อไปมันก็เป็นกลางด้วย
ถ้าทำอย่างนี้ได้องค์มรรคทั้งหมดมันจะสมบูรณ์ขึ้นมา
หลวงพ่อประมวลธรรมะที่ว่ามากๆ ประมวลลงมาเหลือนิดเดียว ก็คือให้เรา “มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง”
ถ้าตรงนี้ยังกว้างไป ทำอย่างไร
คอยรู้ทันไป ที่เราคิด เราพูด เราทำ
อะไรอยู่เบื้องหลัง
คอยรู้ทันจิตใจตัวเองไป
สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิด คำพูด การกระทำของเรา
คือกิเลสตัณหาทั้งหลายนั่นล่ะ รู้ทันมันเข้าไป
แล้วอกุศลมันก็จะลดละไป กุศลมันเจริญขึ้น
สติเป็นตัวกุศล
สัมมาสมาธิก็เป็นธรรมะฝ่ายดีก็จะสมบูรณ์ขึ้นมา
เพราะฉะนั้นองค์มรรคทั้งหมดทั้ง 8 องค์
เราจะทำมรรคทั้ง 8 นี้ให้สมบูรณ์ ในชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น
เวลาจะแตกหัก แตกหักกันในขณะจิตเดียว
ไม่ 2 ขณะ ไม่ 3 ขณะ
ทุกอย่างมันจะรวมลงที่จุดเดียวคือที่จิต
รวมลงในขณะจิตเดียว
รวมลงด้วยกำลังของสัมมาสมาธิ
ความตั้งมั่นและเป็นกลาง
เราก็ค่อยๆ ฝึกของเรา เส้นทางนี้ไม่ได้ลึกลับ
เป็นเส้นทางที่ละเอียด ที่ประณีต
พวกเราได้ยินได้ฟังแล้ว เราลงมือทำ
เราก็จะไปของเราได้
ไม่ใช่พระพุทธเจ้านิพพานแล้วธรรมะก็ต้องสูญไป ไม่ใช่
วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ สรุปได้ไหม
คอยรู้ทันใจของตัวเองไว้
กิเลสอะไรแทรกแซงใจเราอยู่ คอยรู้ไว้
ทำอย่างนี้ ทำไป
แล้วองค์มรรคทั้งหมดมันจะสมบูรณ์ขึ้นมาทีหลัง
แล้วตอนที่มันจะล้างกิเลส จิตมันจะรวม
สัมมาสมาธิขณะนั้นจะอัปเกรดขึ้นไป
จนถึงระดับอัปปนาสมาธิ ระดับฌาน
ฌานที่เป็นมิจฉาสมาธิเยอะ แต่ว่าถ้าเราภาวนาอย่างที่หลวงพ่อบอก มีสติกำกับอยู่ สมาธิเราจะเป็นสัมมาสมาธิ
ถ้าเราไม่มีสติกำกับ สมาธิเราจะเป็นมิจฉาสมาธิ นั่งแล้วก็เห็นโน่นเห็นนี่ เคลิ้มโน่นเคลิ้มนี่ ไม่ได้เรื่องอะไร ทำแล้วยิ่งกิเลสหนากว่าเก่า
ฉะนั้นมีสติรู้เท่าทันกิเลสในใจเรา รู้ไป
แล้วสัมมาสมาธิมันจะเพิ่มขึ้นๆ
ทีแรกมันเป็นขณิกสมาธิ รู้เป็นขณะ
จิตหลงไปคิดปุ๊บ นี้ตัวโมหะ ฟุ้งซ่าน
จิตหลงไปคิดปุ๊บรู้ปั๊บ ได้สมาธิ 1 ขณะ
หลงอีกรู้อีก หลงอีกรู้อีก
ต่อไปกำลังมันจะมากขึ้น
เวลาเราไปภาวนา จิตมันทรงตัวขึ้น
มันจะไปสู่อุปจารสมาธิ
ไปเดินปัญญาในอุปจารสมาธิก็ได้
แล้วตอนที่มันจะแตกหัก เราไม่เคยเข้าฌาน จิตมันจะเข้าเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของเราแก่กล้าพอ จิตมันจะเข้าอัปปนาสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิเอง ก็เข้าตัวนี้แล้วมันจะไปล้างกิเลส
องค์มรรคทั้งหมดประชุมลงที่จิตดวงเดียว ในขณะจิตเดียว
แล้วที่จริงไม่เฉพาะองค์มรรค
โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ มันจะรวมลงที่จิตที่เดียวเลย
รวมลงพร้อมๆ กันในขณะจิตเดียวกันนั้นล่ะ ที่จิต
เป็นพลังฝ่ายบวกทั้งหมดเลย
รวมพลังกันถึงจะล้างกิเลสระดับสังโยชน์
คือกิเลสที่มันผูกมัดเราไว้กับโลก
ต้องระดับนั้น พลังของฝ่ายบวกทั้งหมดรวมตัวกัน
ถึงจะล้างกิเลสระดับสังโยชน์นั้นออกจากใจเราได้
เป็นเครื่องผูกมัดเราไว้อยู่กับโลก
ต้องอดทน ต้องทำเอา ไม่ได้ยากเกินไป
เวลามันจะคิดก็ไม่ต้องห้ามมัน แต่รู้ทันมันไป
อันนี้คิดไปด้วยกามแล้ว มีกามแทรก
นี้คิดไปด้วยโทสะแทรก
นี้คิดไปแบบเผลอๆ หลงๆ ลืมเนื้อลืมตัว นี่โมหะแทรก
คอยรู้ไปเรื่อยๆ
คิดด้วยโมหะแทรก มันเป็นวิหิงสาได้อย่างไร
มันเบียดเบียนตัวเอง
การเบียดเบียนไม่ใช่เบียดเบียนผู้อื่นเท่านั้น
มันเบียดเบียนตัวเองด้วย
รักก็รักตัวเองก็ได้ใช่ไหม
โกรธตัวเองก็ได้ เบียดเบียนตัวเองก็ได้
แล้วคนที่เบียดเบียนเรามากที่สุด ไม่ใช่ใครหรอก
ก็ตัวเราเอง เบียดเบียนตัวเราเอง ด้วยความคิดนั่นล่ะ
สังเกตไหมที่เราทุกข์ เพราะว่าคิดทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นมันเบียดเบียนตัวเองอยู่ตลอดเวลา
เราไม่เคยเห็น
เรื่องอะไรจะต้องโง่อย่างนั้นตลอดไป สู้มัน
คอยรู้ทันจิตใจตัวเองไว้ เดี๋ยววันหนึ่งก็พ้นไปเอง …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
26 พฤศจิกายน 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา