Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ใจที่ตื่นรู้
•
ติดตาม
21 ธ.ค. 2022 เวลา 11:59 • ปรัชญา
ใครที่มีวิธีคิดแบบนี้ เขาจะมีชีวิตที่ไม่ขาดทุน
ได้กำไรจากทุก ๆ เรื่อง
บางคนเข้าใจว่าเรามีความทุกข์ พระท่านสอนให้เราตัดความทุกข์โดยพยายามลืมหรือพยายามทำใจให้สงบ แท้จริงแล้ว ความทุกข์เราไม่ต้องไปปลงมัน
ในประเทศอังกฤษ มีพระราชินีพระองค์หนึ่งที่ไว้ทุกข์ตลอดพระชนม์ชีพ ทรงสวมชุดดำ คือ เมื่อพระสวามีสิ้นก็ไส่ชุดดำตลอด นั่นคือเรียกว่าไว้ทุกข์นานไปหน่อย
เคยมีคนไปถาม หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ว่า "เวลาตายจะต้องไว้ทุกข์นานเท่าไร"
ท่านก็ถามว่า "ทุกข์มันดีไหม"
"ไม่ดี"
"ไม่ดีแล้วเอาไว้ทำไม"
ฉะนั้น เมื่อทุกข์มันเกิดขึ้น เราไม่ต้องไปแก้ความทุกข์ เพราะทุกข์มันเป็นผล ถ้าจะแก้ต้องไปแก้ที่เหตุของมัน
และเวลาที่เราเป็นชาวพุทธ เราอาจจะได้ยินแต่คำว่าทุกข์ จนฝรั่งนักปรัชญาใหญ่ ๆ บอกว่า พุทธเป็นทุกขทัศนนิยม เป็นพวกมองโลกในแง่ร้าย เริ่มด้วยคำว่าทุกข์ คือ ชีวิตเริ่มด้วยความทุกข์หรือแม้แต่คำของพระพุทธเจ้า ท่านก็บอกว่าเราสอนแต่เรื่องทุกข์ และการดับทุกข์หรือคัมภีร์บางเล่มก็เขียนไว้ชัดว่าทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นดำรงอยู่ ทุกข์เท่านั้นดับไป นอกจากนั้นไม่มีอะไรเกิดขึ้น ฝรั่งไปอ่านใจฝ่อหมด ศาสนาอะไรสอนแต่เรื่องทุกข์
แต่เคล็ดลับมันอยู่ที่ว่าท่านสอนชีวิตเป็นทุกข์ เพื่อให้เราดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข คือ ชีวิตเป็นทุกข์นั้นเป็นสัจธรรม ชีวิตของเราทั้งชีวิตคือกระบวนการแก้ทุกข์ ตั้งแต่ตื่นมาไม่ได้เข้าห้องน้ำ ก็ทุกข์ หิวแล้วไม่ได้กิน ก็ทุกข์ ออกจากบ้านไปไม่มีเงิน ก็ทุกข์ เรียนหนังสือแล้ววิทยานิพนธ์โดนตีกลับมา ก็ทุกข์
เพราะฉะนั้น ชีวิตนี้ คือกระบวนการของความทุกข์ พระพุทธองค์ก็ทรงสอนให้เราได้แก้ทุกข์ แต่ในการแก้ทุกข์นั้นท่านไม่ได้ให้ไปแก้ที่ตัวทุกข์ ท่านให้แก้ที่เหตุของความทุกข์ ไม่มีความทุกข์ในชีวิตชนิดไหนที่เกิดขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุ
การแก้ทุกข์ในทางศาสนาพุทธมีหลายวิธี คือ
1. แก้ในทางปัญญา
2. แก้ในทางจิตใจ
ในทางปัญญานี้ เราต้องทำความเข้าใจความทุกข์ก่อน แต่คนจำนวนมากเมื่อความทุกข์เกิดขึ้น ไม่ทันได้ทำความเข้าใจหรอก พอมันทุกข์ขึ้นมาเราก็หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของความทุกข์ทันที
มีนักศึกษาคนหนึ่ง ทุกข์เพราะความรัก พออกหักก็ทุกข์ ยังไม่ทันได้พิจารณาความทุกข์เลยก็ไปรวมตัวเป็นส่วนหนึ่งของความทุกข์ จริง ๆ อกหักเพียงครั้งเดียว แต่เราสามารถนำมาคิดซ้ำไปซ้ำมานับครั้งไม่ถ้วน นี่เห็นต้นตอของความทุกข์แล้วหรือยัง
ความทุกข์จริง ๆ ที่มันเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นแล้วมันก็หายไป แต่มนุษย์มักจะขยายความทุกข์ เช่น นำมาคิดย้ำคิดย้ำทำ ทุก ๆ ครั้งที่เราย้ำคิดย้ำทำ ก็คือย้ำทุกข์ด้วย เพราะเราไม่รู้จักวิธีแก้ทุกข์ ฉะนั้น ในทางพระพุทธศาสนาท่านบอกวิธีจะแก้ทุกข์ คือ
1. อย่าแก้ที่ตัวทุกข์ ให้ไปแก้ที่สาเหตุของความทุกข์
2. เวลาแก้ให้แก้ระดับความรู้ความเข้าใจ
คือหันไปพิจารณาความทุกข์ก่อนว่ามันเกิดจากอะไร คนจำนวนมากที่มีความทุกข์ และความทุกข์ค้างอยู่ ไม่ดับเสียทีก็เพราะเราไม่ไปพิจารณาความทุกข์ แต่เราเป็นทุกข์ทันที เช่น จู่ ๆ ปวดฟันเราก็ครางทันที ไม่ทันได้พิจารณาว่าทำไมฉันต้องปวดฟันด้วยหรือเรารักกับใครสักคนหนึ่งแล้วถูกบอกเลิก แล้วเราก็ร้องไห้ ดื่มเหล้า และใช้ชีวิตแบบไม่เอาอะไรทั้งสิ้น ร้องห่มร้องให้ เข้าห้องเปิดเพลงฟัง ดูหนังเกาหลี ทำชีวิตของตัวเราเองให้ไร้ค่า ยังไม่ได้ตั้งคำถามเลยว่าทำไมเขาถึงได้ทิ้งฉันไป
เวลาเราเป็นทุกข์เราไม่ได้พิจารณาความทุกข์ แต่เราเป็นทุกข์ทันที ฉะนั้น ในระดับความเข้าใจ เราต้องลุกขึ้นมาถามว่าทุกข์นี้มาจากไหน หันไปสบตากับความทุกข์ก่อน พิจารณาดูว่ามันมาจากไหน
การดับทุกข์ในทางจิตใจ ข้อนี้ไม่ใช่เรื่องระดับเหตุผลแล้ว จากข้อที่สอง คือ การดับทุกข์โดยใช้เหตุผล คือใช้ปัญญา ถ้ามีความทุกข์ใดเกิดขึ้นกับเรา เราคิดได้ แต่บางทีเรารู้แต่มันก็ไม่ดับ ทำไมมันไม่ดับ เพราะบางทีมันไม่ใช่เรื่องระดับความคิด เรื่องบางเรื่องมันลงไปถึงจิตใต้สำนึก
จิตของเรามี 2 ระดับกว้าง ๆ คือ จิตสำนึก และจิตใต้สำนึก ภาษาพระเรียกว่า วิถีจิต กับ ภวังคจิต
วิ ถี จิ ต ก็คือจิตปกติ ภ วัิ ง ค จิ ต ก็คือจิตใต้สำนึก ความทุกข์บางอย่างในระดับจิตปกตินี้ บางครั้งเราแค่ระบายมันก็หาย อันนี้ไม่หนักหนาอะไร แต่ความทุกข์บางอย่างระบายก็แล้ว กินเหล้าก็แล้ว ไปเที่ยวก็แล้ว ทำเป็นปลงก็แล้ว ทำเป็นลืมก็แล้ว อ่านธรรมะฟังซีดีก็แล้ว บางคนไปบวชแล้วยังไม่หายเลย
เคยมีคนระดับดอกเตอร์ไปบวชที่สวนโมกข์ฯ ท่านพุทธทาสถามว่า
"ทำไมถึงได้มาบวช"
เขาก็สารภาพว่า "อกหักครับ"
ท่านก็ถามต่อ "จบอะไรมา"
เขาตอบ "จบจิตวิทยาครับ"
ท่านถามต่อว่า "จิตวิทยาระดับไหน"
เขาตอบ "ระดับดอกเตอร์ที่อเมริกาครับ"
ท่านพุทธทาสก็ว่า "แล้วอกหักทำไมแก้ไม่ได้"
เขาตอบ "ผมก็คิดอยู่นี่แหละว่าผมไปเรียนทำไม"
ที่มันแก้ไม่ได้ นั่นหมายความว่าอาการอกหักมันลึกกว่าระดับเหตุผล มันไปอยู่ในระดับจิตวิญญาณ เพราะถ้าเรารักใครสักคน เราก็หวังว่ามีคนหนึ่งมาเติมเต็มให้เรา ไม่ใช่แค่ในทางกายภาพเท่านั้น
มนุษย์นี้โหยหาใครสักคนมาเติมเต็มแม้กระทั่งในจิตวิญญาณ คือในระดับจิตใจ เช่น เราอยู่ใกล้ใครเรารู้สึกมั่นคง ความมั่นคงนี้ไม่ใช่ความมั่นคงของผิวหนังหรือร่างกายหรือทางการเงินหรือทางครอบครัว แต่บางครั้งเรารู้สึกว่าเราได้รับการปกป้อง ได้รับความอบอุ่น ได้รับการดูแล นี่คือความมั่นคง ซึ่งความรู้สึกอย่างนี้เลยเรื่องร่างกายไป เป็นเรื่องจิตวิญญาณ
ฉะนั้น เวลาที่ใครสักคนเดินจากเราไป ฟังธรรมะก็แล้ว อ่านหนังสือก็แล้ว เที่ยวก็แล้ว ระบายกับเพื่อนก็แล้ว กินเหล้าก็แล้ว แต่มันก็เอาไม่อยู่ มันลึกกว่าเหตุผล คือมันอยู่ในจิตใต้สำนึก เรื่องระดับนี้ ต่อให้จบดอกเตอร์ก็เอาไม่อยู่ ฉะนั้น ท่านจึงแนะให้แก้ด้วยวิธีที่ 3 คือ การเจริญสติ
"เทคนิคแก้ความทุกข์"
• • • • •
ว.วชิรเมธี
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ที่มา : หนังสือ "กลั่นทุกข์ให้เป็นสุข" | Suffering
|ความทุกข์เกิดขึ้นมาไม่ใช่เพื่อทำให้เราท้อ
|แต่เกิดขึ้นมาเพื่อให้เราก้าวต่อไปจนพบความสุข
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
กลั่นทุกข์ให้เป็นสุข (Suffering) | ว.วชิรเมธี 🌻
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย