Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ใจที่ตื่นรู้
•
ติดตาม
20 พ.ค. 2023 เวลา 11:59 • ปรัชญา
การเจริญสตินี้ง่ายมาก
คือ ทำอะไรก็ตระหนักรู้ว่ากำลังทำสิ่งนั้น สติเป็นพลังงานชนิดหนึ่ง จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเรารวมเอากายกับใจมาอยู่ในที่เดียวกัน สมมติกำลังเดิน ให้สติของเรากับการเดินเป็นที่เดียวกันได้หรือไม่ เวลาเราเดิน เรารู้สึกตัวไหม เวลาเราเดินเราจะเดินฉับ ๆ และเวลากินตักใส่ปากไปตาก็ดูฟุตบอลไป เราทำอะไรก็ปนกันหมด
เราไม่เคย 100 เปอร์เซ็นต์กับอะไรสักอย่างที่เราทำ ยิ่งทำให้สติของเราซัดส่าย มันฟุ้งซ่าน ผลคือความทุกข์จะเข้ามาตอนที่เราเผลอ ยิ่งเราคิด ยิ่งเราจินตนาการ ยิ่งเราปรุงแต่งความทุกข์ก็ไหลเข้ามาจากรถไฟสายความคิด ถ้าเราไม่คิดฟุ้ง ความทุกข์มันไม่ไหลเข้ามา ลองนั่งนิ่ง ๆ ไม่ต้องคิดอะไรดู เวลานี้เราจะรู้สึกว่าชีวิตสบาย ๆ ถ้าช่วงไหนมันทุกข์ลองทำแบบนี้ดู
ทุกข์จริง ๆ มีปริมาณนิดเดียว แต่มันขยายขึ้นมาเพราะเราไปขยายความคิด เราไปปรุงแต่ง ไปจินตนาการถึงมันครั้งแล้วครั้งเล่า ฉะนั้น ให้หัดเจริญสติ
ถ้าทำอะไรก็ให้ตระหนักรู้เสมอ เช่น ถ้าเราล้างจานก็ขอให้รู้ว่าเรากำลังล้างจาน ถ้าเราล้างจานแล้วคิดว่าจะล้างให้สะอาด รู้ไหมเราไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน เราไปอยู่ในอนาคตแล้ว เราไปอยู่กับความอยากแล้ว อยากให้มันสะอาด ถ้าล้างอย่างนี้เราไม่ได้เจริญสติ แต่ถ้าเราล้างจานแล้วเราทำเหตุอย่างเดียวคือล้างจาน ถ้าเราล้างดีจริง ๆ มันสะอาดของมันเอง นี่อยู่กับปัจจุบันขณะให้ถูกต้อง
หรือเรากำลังอาบน้ำ เวลาที่เราอาบน้ำ หลายคนก็จะฮัมเพลง สติไปอยู่ที่เพลง เพลงที่ร้องก็เป็นเพลงอดีตด้วยก็ไปอยู่ในอดีตเรียบร้อย บางคนอาบน้ำเสร็จออกมาแล้วยังไม่รู้ตัวเลย เขาเรียกว่าอาบน้ำก็ขาดสติ เวลากินเราไม่ได้รู้รสอาหารด้วยซ้ำ แต่เราอิ่ม เราก็ขาดสติ ฉะนั้น เวลาที่เรามีทุกข์ ไม่ต้องไปพยายามดับทุกข์ ไปดับที่เหตุ ไปดูสาเหตุของมันก่อน และหลังจากนั้นพิจารณาด้วยปัญญา ถ้าเหตุผลเอาไม่อยู่ก็ฝึกเจริญสติเป็นเซฟทีคัท มันจะตัดฉับ นี้คือความทุกข์ในระดับจิตใจ
ฉะนั้น สิ่งที่จะเข้าสู่ช่องว่างชีวิตของเราได้ก็คือ "อดีต" และ "อนาคต" โดยใช้กระบวนการของความคิด ถ้าอยากตัดตัวความทุกข์ เราก็ตัดตัวความคิดฟุ้งซ่านออกไป ตัดได้มากเท่าไรชีวิตเราก็มีความสุขได้มากเท่านั้น ขอให้ลองไปทำดู
นี่เป็นวิธีแบบศาสนาพุทธนิกายเซน อย่างเรามีน้ำอยู่ในแก้ว ขอให้เราลองจิบน้ำ เราจะดื่มน้ำด้วยความรู้สึก เอาแก้วน้ำมาตรงหน้าแล้วก็มองไปที่แก้วน้ำของเรา ลองจิบน้ำดูอึกสองอึก
ระหว่างที่จิบ จิตเอาไปไว้ตรงไหน แวบไปคิดอะไรหรือเปล่าหรือจิบมันเฉย ๆ จิตอยู่กับน้ำที่เราดื่มไหม ถ้าเราดื่มน้ำแล้วจิตอยู่กับน้ำที่ดื่มจริง ๆ ในหัวไม่มีความคิดเลยที่ไหลเข้าไปนั้นคือน้ำล้วน ๆ นั่นแหละคือที่เราได้ดื่มน้ำจริง ๆ
แต่ถ้าเรากำลังดื่มน้ำ แล้วจิตเราไปคิดถึงเรื่องอะไรก็ไม่รู้ นั่นเรากำลังดื่มความคิดเข้าไป เราไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน คือเราไปอยู่ในความคิดเรียบร้อยแล้ว
การทำงานของจิตจะเร็วมาก เพราะฉะนั้น ทุกวันจิตจะคิดตลอด มันมักเผลอไปคิดเรื่องที่ไม่ควรคิด และนั่นคือการมาของความทุกข์ การเผลอคิด คือ การมาของความทุกข์ ยิ่งเผลอคิดบ่อย ๆ ความทุกข์ก็ได้โอกาสแสดงตัวขึ้นมากเท่านั้น
" ท ำ อ ะ ไ ร ก็ ข อ ใ ห้ รู้ "
• • • • •
ว.วชิรเมธี
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ที่มา : หนังสือ "กลั่นทุกข์ให้เป็นสุข"
|ความทุกข์เกิดขึ้นมาไม่ใช่เพื่อทำให้เราท้อ
|แต่เกิดขึ้นมาเพื่อให้เราก้าวต่อไปจนพบความสุข
ธรรมะ
หนังสือ
พัฒนาตัวเอง
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
กลั่นทุกข์ให้เป็นสุข (Suffering) | ว.วชิรเมธี 🌻
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย