16 ธ.ค. 2022 เวลา 13:36 • หุ้น & เศรษฐกิจ
🔎 [INVESTMENT] - ผู้นำจีนส่งสัญญาณชัดเจน ปีหน้าเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน พร้อมขยับออกจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์
15 Dec 2022 by T-Da
จากการประชุม Politburo ครั้งล่าสุดของเหล่า 24 ผู้นำระดับสูงของจีนเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2022 ที่ผ่านมานี้ เราได้เห็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงการจัดลำดับเป้าหมายเชิงนโยบายของจีนว่าต้องการกลับมาเน้นเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายสำคัญเร่งด่วนอีกครั้ง พร้อมกับเห็นการผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์ไปพร้อมๆ กัน แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้เรามาลองย้อนกลับไปดูการประชุม Politburo ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากัน
  • การประชุมรอบ ธ.ค. 2020 - มีการพูดถึงการต่อต้านการผูกขาด (Anti-Monopoly) เป็นครั้งแรก ซึ่งนำมาสู่นโยบายการจัดการกับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของจีน ที่ถูกกล่าวหาว่ามีการเติบโตแบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก ทำให้ทำราคาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของจีนปรับลดลงอย่างมาก ตามมาด้วยการเข้ามาจัดระเบียบบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลจีนมองว่าเติบโตอย่างไม่เหมาะสม ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนได้รับผลกระทบมากกว่าที่คาดไว้
1
  • การประชุมรอบ ธ.ค. 2021 - มีการพูดถึงเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจว่า GDP จะโต 5.5% ในปี 2022 แสดงให้เห็นว่าผู้นำจีนเริ่มตระหนักว่านโยบายที่ผ่านมากระทบเศรษฐกิจมากเกินไป และเชื่อว่าสามารถจัดการโควิดเป็นศูนย์ได้เหมือนที่ผ่านมาตลอด จึงใช้คำพูดว่า "เสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก" ซึ่งเรื่องโควิดนี้เองที่ผิดไปจากที่คาดอย่างมากทำให้เศรษฐกิจจีนบอบช้ำจากการล็อคดาวน์อย่างเข้มงวด แต่รัฐบาลจีนก็ยังดึงดันยึดมั่นกับนโยบายโควิดเป็นศูนย์จนผ่านการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ในเดือน ต.ค. 2022 ไปได้
  • สำหรับการประชุมรอบ ธ.ค. 2022 - มีการพูดถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาด (boosting market confidence) โดยการใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าผู้นำระดับสูงของจีนต้องการที่จะให้ GDP ในปี 2023 กลับมาเติบโตที่ระดับปกติอีกครั้ง คือสูงกว่า 5% ในขณะที่ปีนี้ GDP น่าจะเติบโตได้เพียง 3% ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ GDP จีนทำไม่ได้ตามเป้าที่ผู้นำประเทศประกาศไว้
ในส่วนของการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ที่ประชุม Politburo ได้มีการเน้นไปที่อุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลักสำคัญ ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนของการบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนภายในประเทศ โดยมีการส่งสัญญาณว่าจะให้การสนับสนุนการปล่อยกู้ให้กับภาคเอกชนมากขึ้น ส่วนรายละเอียดอื่นๆ คาดว่าจะได้เห็นเพิ่มเติมในการประชุม Central Economic Work Conference ที่ควรจะจัดขึ้นในสัปดาห์นี้แต่ถูกเลื่อนไปก่อนเพราะโควิดระบาด
1
ในขณะเดียวกัน การผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์ก็ได้มีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา หลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่พุ่งสูงขึ้นไปแตะระดับสูงสุดราว 70,000 รายต่อวัน และมีกระแสการประท้วงให้คลายความเข้มงวด เราก็ได้เห็นการอนุญาตให้กลับมาเปิดโรงเรียนและร้านอาหารใน Guangzhou และการยกเลิกการตรวจ PCR ใน Beijing รวมถึงการเตรียมฉีดวัคซีนกระตุ้นให้กับผู้สูงอายุ
แม้ว่าแนวโน้มการปรับนโยบายดังกล่าวจะดูเป็นข่าวดีสำหรับเศรษฐกิจจีน และตลาดหุ้นจีนในปี 2023 นี้ แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ท้าทายอย่างมากสำหรับรัฐบาลจีน ได้แก่
1. ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ซบเซา - ปัญหาเริ่มจากฝั่งของบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์แล้วลุกลามไปถึงฝั่งผู้บริโภคที่สูญเสียความเชื่อมั่นและชะลอการซื้ออสังหาริมทรัพย์ไป ครั้งนี้นับว่าหนักกว่าช่วงขาลงของตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนในรอบปี 2011 และ 2014 ที่ผ่านมา เพราะทั้งยอดขายและราคาอสังหาฯ ในรอบนี้ติดลบต่อเนื่องกันกว่า 16 เดือนแล้ว (รอบก่อนๆ ติดลบ 9-11 เดือน) และยังไม่เห็นแนวโน้มที่จะฟื้นตัว
1
2. ตลาดส่งออกของจีนที่เสี่ยงหดตัว - เป็นผลกระทบมาจากความต้องการบริโภคของประเทศอื่นๆ ในโลกที่มีความเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2023 ซึ่งยอดส่งออกของจีนเริ่มติดลบกว่า 8% แล้วในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา และนักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าปี 2023 ยอดส่งออกของจีนมีโอกาสติดลบถึง 5% ผิดจากปีก่อนๆ ในอดีตที่เคยเติบโตได้ดีมาตลอด
1
3. ช่วงเปลี่ยนผ่านออกจากโควิดเป็นศูนย์ - ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่ายังต้องใช้เวลาอีก 3-6 เดือนในการปรับตัวออกจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่ถูกบังคับใช้มาอย่างยาวนาน เพราะอาจจะยังมีการใช้นโยบายเข้มงวดเป็นระยะๆ ในช่วงที่จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการบริโภคอยู่เป็นช่วงๆ จนกว่าคนในประเทศจะกลับมาใช้ชีวิตและทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เหมือนเดิม
แต่ในความท้าทายก็มีความโชคดีของจีนอยู่เหมือนกัน เพราะเงินเฟ้อของจีนยังอยู่ในระดับต่ำมากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ก็เข้าสู่ช่วงปรับตัวลงแล้ว ทำให้จีนสามารถใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้แบบไม่ต้องกังวลเงินเฟ้อ นอกจากนี้เงินฝากของภาคครัวเรือนก็สูงกว่าช่วงก่อนโควิดราว 50% นั่นหมายความว่ายังมีกำลังซื้อภายในจีนที่พร้อมจะออกมาจับจ่ายใช้สอยเมื่อเปิดประเทศ
ไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นหุ้นจีนทั้งที่จดทะเบียนในตลาดจีนเอง ในฮ่องกง และในสหรัฐฯ ปรับตัวฟื้นขึ้นมาตลอดตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นธรรมดาของตลาดหุ้นที่มีการซื้อขายบนพื้นฐานข้อมูลแบบมองไปข้างหน้า เพราะถ้ามองในภาพใหญ่ก็ต้องยอมรับว่าหุ้นจีนมีโอกาสที่จะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วจริงๆ
แม้ว่าภาคเศรษฐกิจจริงนั้นอาจยังต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3-6 เดือนจึงจะฟื้นขึ้นมาได้ ดังนั้นก็อาจจะมีช่วงที่ตลาดหันกลับมาดูความเป็นจริงแล้วปรับฐานลงมาบ้าง ก่อนจะเข้าสู่ช่วงที่น่าจะฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนในครึ่งหลังของปี 2023
นักลงทุนไทยที่สนใจลงทุนระยะยาวในหุ้นจีนอยู่แล้ว ในช่วงปลายปีนี้อาจลองพิจารณาตัวเลือกเป็นกองทุน SSF และ RMF ที่ลงทุนในหุ้นจีนให้เลือกมากมายแถมประหยัดภาษีด้วยอีกต่อหนึ่ง มีทั้งกองทุนที่ลงทุนใน A-Share, H-Share, All China, Greater China ทั้งแบบ passive และ active ซึ่งมีทั้งแบบที่เป็น Feeder Fund ที่ได้คัดสรรเอาบริษัทบริหารสินทรัพย์มืออาชีพระดับโลกมาเป็นคนดูและ และแบบที่ผู้จัดการกองทุนไทยเลือกลงทุนเอง รวมถึงมี theme แยกย่อยเน้นเฉพาะเทคโนโลยีก็มีให้เลือกเช่นกัน
โฆษณา