Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ทันโลกกับ Trader KP
•
ติดตาม
29 ธ.ค. 2022 เวลา 14:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ
🔎 [INVESTMENT] - โอกาสฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย หลังจีนยกเลิกมาตรการกักตัวผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ 8 ม.ค. 2023 เป็นต้นไป
📝 28 Dec 2022 by T-Da
หลังจากจีนยุติการประกาศตัวเลขสถิติผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิดเมื่อวันคริสมาสต์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการด้านสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC: National Health Commission) ก็ได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการในวันถัดมา (วันจันทร์ที่ 26 ธ.ค.) ว่าจีนจะผ่อนคลายนโยบายการจัดการโควิดจากระดับ A ที่ใช้มาเกือบ 3 ปี เหลือเพียงระดับ B มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2023 เป็นต้นไป
โดยผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศเข้าสู่จีนไม่ต้องกักตัวอีกต่อไป เพียงแค่ตรวจเชื้อโควิดแบบ PCR ภายใน 48 ชั่วโมง ก่อนเดินทางเข้าจีน ซึ่งนับเป็นการออกจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์อย่างเป็นทางการของจีน
จากสถิติปี 2019 (ก่อนโควิดระบาด) ของสถาบันวิจัยนักท่องเที่ยวขาออกของจีน (COTRI: China Outbound Tourism Research Institute) เปิดเผยว่ามีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกนอกประเทศราว 170 ล้านเที่ยว ซึ่งเป็นการเดินทางไปยัง Greater China (จีนแผ่นดินใหญ่ + ฮ่องกง + มาเก๊า + ไต้หวัน) ราว 74 ล้านเที่ยว และจุดหมายที่อยู่นอกเขต Greater China อีกราว 96 ล้านเที่ยว
ซึ่งจุดหมายท่องเที่ยวอันดับ 1 นอกเขต Greater China ก็คือประเทศไทย (11 ล้านเที่ยว) ของเรานี่เอง ตามมาติดๆ ด้วยประเทศญี่ปุ่น, เวียดนาม, เกาหลีใต้, และสิงคโปร์
หากมองในมุมกลับว่านักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นสัดส่วนกี่ % ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดใน 5 จุดหมายยอดฮิตนอกเขต Greater China ในปี 2019 ก็จะพบว่านักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นสัดส่วน 27-28% ของนักท่องเที่ยวขาเข้าทั้งหมดของไทย, 30% ของญี่ปุ่น, 32% ของเวียดนาม, 34% ของเกาหลีใต้, และ 19% ของสิงคโปร์ ดังนั้นการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้อย่างแน่นอน เช่นเดียวกับฮ่องกง, มาเก๊า, และไต้หวัน ที่มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนสูงถึง 78%, 71%, และ 24% ของนักท่องเที่ยวขาเข้าทั้งหมดตามลำดับ
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยนั้นนับเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยที่มีสัดส่วนราว 21%-22% ของ GDP เลยทีเดียว โดย 65% ของรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปี 2019 นั้นมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 39.9 ล้านคน (เป็นนักท่องเที่ยวจีน 11 ล้านคน) แต่หดตัวลงเหลือเพียง 15% ในปี 2021 จากผลกระทบของมาตรการล็อคดาวน์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 4.3 แสนคน (เป็นนักท่องเที่ยวจีน 1.3 หมื่นคน)
อย่างไรก็ดีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งในปี 2022 นี้ หลังจากมีนโยบายทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ไตรมาส 2 ก่อนที่จะเปิดเต็มรูปแบบในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวขาเข้าเพิ่มขึ้นจาก 1.3 แสนคนในเดือน ม.ค. 2022 เป็น 1.7 ล้านคนในเดือน พ.ย. 2022
โดยมีนักท่องเที่ยวสะสม 11เดือน 8.9 ล้านคน (เป็นนักท่องเที่ยวจีน 2.2 แสนคน ) ส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซีย อินเดีย และยุโรป ในขณะที่นักท่องเที่ยวรัสเซียลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ต้นปี
ล่าสุดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ปรับเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติขาเข้าปี 2023 เป็น 25 ล้านคน (รวมจีน) จากเดิมที่คาดไว้ 20 ล้านคน ก่อนที่จีนจะปรับนโยบายกักตัว เท่ากับว่ามีการคาดหวังว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาได้ราว 45% ของช่วงก่อนโควิด
ในขณะที่สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA: Association of Thai Travel Agents) คาดว่านักท่องเที่ยวจีนน่าจะเข้ามาในไทยได้เพียงบางส่วนในช่วงเดือน ม.ค. - ก.พ. แต่จะเริ่มเข้ามาได้มากขึ้นตั้งแต่ช่วง มี.ค. - เม.ย. เป็นต้นไป เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในจีนเองยังอยู่ในระดับสูง และขึ้นอยู่กับความพร้อมของจีนเองในการออกหนังสือเดินทางให้นักท่องเที่ยว รวมถึงราคาตั๋วเครื่องบินที่ยังสูงและมีปริมาณเที่ยวบินยังไม่มาก
ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงหลังจากจีนมีแถลงการณ์ข้างต้นออกมาราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดก็ดีดตัวขึ้น เช่น น้ำมันดิบ น้ำมันปาล์ม เช่นเดียวกับดัชนีตลาดหุ้นไทย ในขณะเดียวกันยอด search หาตั๋วเครื่องบินและโรงแรมของชาวจีนก็พุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งจุดหมายปลายทางยอดนิยม 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น, ไทย, เกาหลีใต้, สหรัฐอเมริกา, และสิงคโปร์ ตามลำดับ
อย่างไรก็ดีผลตอบรับเชิงบวกเริ่มถดถอยไปในวันถัดมา เพราะหลายประเทศเริ่มกังวลต่อการติดเชื้อโควิดจากนักท่องเที่ยวจีน จึงทยอยออกมาประกาศมาตรการคุมเข้มสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศ
- สหรัฐอเมริกา: ให้ผู้ที่เดินทางมาจากจีน ฮ่องกง มาเก๊า แสดงผลตรวจเชื้อโควิดเป็นลบ อย่างน้อย 2 วันก่อนเดินทาง มีผลตั้งแต่ 5 ม.ค. 2023
- อินเดีย: ให้ผู้ที่เดินทางมาจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง และไทย แสดงผลตรวจเชื้อโควิดเป็นลบ มิฉะนั้นจะต้องถูกกักตัว
- ญี่ปุ่น: ให้ผู้ที่เดินทางมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ต้องรับการตรวจเชื้อโควิดเเมื่อเดินทางมาถึง หากพบเชื้อจะต้องถูกกักตัว 7วัน มีผลตั้งแต่ 30 ธ.ค. 2022
- ไต้หวัน: ให้ผู้ที่เดินทางมาจากจีน ต้องเข้ารับการตรวจเชื้อโควิดแบบ PCR มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 2023
- อิตาลี: ให้ผู้ที่เดินทางมาจากจีน ต้องเข้ารับการตรวจเชื้อโควิดและตรวจสอบด้วยว่ามีเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่เข้ามาหรือไม่ หลังจากพบผู้ติดเชื้อโควิดในเที่ยวบินที่มาจากจีน 2 เที่ยวบิน กว่า 50%
- สหภาพยุโรป, ฟิลิปปินส์ ยังรอดูสถานการณ์
ในขณะที่หลายประเทศวิตกกับผู้ติดเชื้อโควิดจากจีน ก็มีอีกหลายประเทศที่ไม่มีการประกาศมาตรการใดๆ (เหมือนพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนเต็มที่) ไม่ว่าจะเป็น ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี รวมถึงไทยเองด้วย
โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เสนอให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดฟรีแก่นักท่องเที่ยวชาวจีนและชาติอื่นๆ ตามความสมัครใจ เพื่อความปลอดภัยของคนไทยและเป็นการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยมากขึ้น
1
โดยมองว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะวัคซีนมีต้นทุนไม่ถึง 1,000 บาท เทียบกับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยว 40,000 บาทต่อคน
น่าสนใจว่าหากไทยมีการอนุมัติมาตรการฉีดวัคซีนฟรีให้นักท่องเที่ยวจริง จะช่วยดึงดูดชาวจีนกลุ่มที่มีรายได้สูงและต้องการฉีดวัคซีน mRNA ให้เข้ามาท่องเที่ยวในไทยได้มากแค่ไหน และจะมาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้หรือไม่ เพราะไทยก็ถือว่ามีจุดเด่นในด้าน Healthcare และ wellness อยู่แล้ว และยังมีภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีลุ้นได้รับอานิสงส์จากคนจีนรุ่นใหม่ที่อยากมีอิสระแล้วออกมาหาซื้อที่อยู่อาศัยนอกประเทศจีน
ส่วนนักลงทุนไทยที่กำลังรอจังหวะเข้าลงทุนในหุ้นจีนนั้น ก็นับว่าเป็นจังหวะที่น่าสนใจว่าหุ้นจีนน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่อาจจะต้องทนรับความผันผวนอีก 3-6 เดือนข้างหน้า ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเปิดประเทศเต็มรูปแบบของจีน
reference:
https://country.eiu.com/article.aspx?articleid=1429060926&Country=China&topic=Economy
ข่าวรอบโลก
การลงทุน
เศรษฐกิจ
บันทึก
12
9
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
วิเคราะห์เศรษฐกิจ หุ้น กองทุน by T-da x KP
12
9
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย