17 ธ.ค. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
ย้อนประวัติศาสตร์ “Soft Landing” ปี 1994
เมื่อ FED นำพาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลงจอดอย่างสวยงาม
2
หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (The Federal Reserve) หรือ เฟด ขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกัน 7 ครั้งเพื่อควบคุมเงินเฟ้อจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็เป็นที่ถกเถียงกันว่าเฟดจะนำพาเศรษฐกิจไปสู่ Soft Landing ไม่เข้าสู่สภาวะถดถอยได้หรือไม่
1
นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่บอกว่าเป็นเรื่องยากเพราะเงินเฟ้อสูงและเฟดใช้ยาแรงขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงจนตอนนี้อยู่ที่ 4.5% การหลีกเลี่ยงสภาวะเศรษฐกิจถดถอยแทบเป็นไปไม่ได้
แต่ใครจะรู้ว่าเฟดเคยทำ soft landing อย่างประสบความสำเร็จมาแล้ว 3 ครั้งคือในปี 1965 1984 และ 1994
ในบทความนี้จะขอหยิบยกผลงานชิ้นโบว์แดงของเฟดกับการ Soft Landing ปี 1994 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดมาเล่าให้ทุกคนฟังกัน
⭐️ Soft Landing คืออะไร?
Soft Landing คือความพยายามของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟดที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงเพื่อควบคุมเงินเฟ้อแต่การชะลอตัวต้องไม่มากเกินไปจนนำไปสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย
1
โดยวิธีการของเฟด คือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fund Rate) เพื่อให้ธนาคารอื่น ๆ ปรับอัตราดอกเบี้ยตาม และเป็นการขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงการสร้างเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะผ่านไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งตรงกันข้ามกับ Hard Landing ที่เฟดพยายามในการคุมอัตราเงินเฟ้อ แต่นำเศรษฐกิจไปสู่สภาวะถดถอยแทน
และจากสถิติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดทั้งหมด 12 ครั้ง มีเพียง 3 ครั้งเท่านั้นที่ทำ Soft Landing ได้ คือในปี 1965 1984 และ 1994
นัยยะนี้คงบอกได้เลยว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้เกิด Soft Landing
⭐️ บริบทในช่วงต้นทศวรรษ 1990
ก่อนที่เราจะทราบว่า Soft Landing ในปี 1994 ประสบความสำเร็จได้อย่างไร มาทำความเข้าใจกันก่อนว่าในช่วงหน้ามีเหตุการณ์อะไรบ้าง ถึงทำให้เฟดพยายามชะลอตัวทางเศรษฐกิจพยายามชะลอตัวเศรษฐกิจลง
แน่นอนว่าต้องเกิด “เงินเฟ้อ”
เงินเฟ้อในตอนนั้นเป็นผลพวงจากสงครามอิรักและคูเวต หรือเรียกว่าสงครามอ่าว (The Gulf War ปี ) ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงขึ้นเพราะทั้งสองประเทศต่างเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับต้น ๆ รองจากซาอุดิอาระเบียซึ่งคิดเป็น 25.2% รองลงมาเป็นอิรัก 9.9% และคูเวต 9.3%
เมื่อประเทศซัพพลายมีปัญหา ราคาน้ำมันจึงแพงขึ้น นำมาซึ่งเงินเฟ้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้นทุนของภาคครัวเรือนและธุรกิจพุ่งสูงขึ้น ราคาน้ำมันพุ่งไปถึง 40 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ตั้งแต่เริ่มและหลังจบสงคราม เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง ทำให้เฟดตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี 1990-1992 เฟดลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างต่อเนื่องถึง 18 ครั้ง และก็ประสบความสำเร็จพราะเศรษฐกิจกลับมาคึกคักและร้อนแรงอีกครั้ง
แต่ทุกอย่างย่อมมี “ดาบสองคม” เสมอ…
⭐️ ประสบความสำเร็จกับ Soft landing ในปี 1994
การที่เศรษฐกิจคึกคักและร้อนแรงเป็นเรื่องดี แต่ก็เป็นสัญญาณของเงินเฟ้อที่กำลังคืบคลานเข้ามาหลังจากที่เฟดทำการลดอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
จนในเดือนกุมภาพันธ์ 1994 เฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีหลังสิ้นสุดสงคราม และประกาศขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องอีก 6 ครั้ง เพื่อคุมเงินเฟ้อ
จากที่กล่าวไปตอนแรกว่าการขึ้นดอกเบี้ยอาจทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอยเพราะคนอยากใช้จ่ายเงินให้น้อยลง หากแต่ในปี 1994 หลังจากเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็ยังคงมีการเติบโตไต่ระดับของ GDP อย่างต่อเนื่อง
  • ปี 1995 GDP อยู่ที่ 2.68%
  • ปี 1996 GDP ขึ้นไปที่ 3.77%
  • และหลังปี 1997 GDP ขึ้นไปมากกว่า 4%
2
เรียกได้ว่า เฟดทำการ soft landing ได้อย่างสวยงาม จากการควบคุมเงินเฟ้อได้อยู่หมัดและไม่ปล่อยให้เศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอย
⭐️ ทำไมถึงประสบความสำเร็จกับ Soft landing ในปี 1994?
“อาจเป็นได้ทั้งความโชคดีและความสามารถ” คำพูดของ Alan Blinder อดีตรองประธานเฟดได้กล่าวไว้เช่นนั้น
อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ในตอนแรกสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับวิกฤตน้ำมันในปี 1990-1991 จากสงครามของอิรัก-คูเวต อันนำมาซึ่งวิกฤติทางเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีเคราะห์ดีที่วิกฤติครั้งนั้นไม่ยืดเยื้อและจบลงภายในปี 1991
อย่างไรเสีย วิกฤติเศรษฐกิจในตอนนั้น ก็ทำให้เฟดตัดสินใจลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และมันก็ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง จนทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ร้อนแรง และเริ่มมีสัญญาณของเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น
มาถึงจุดนี้ เฟดจึงตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อจัดการเงินเฟ้ออย่างค่อยเป็นค่อยไปทันที ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ประสบความสำเร็จอย่างดี ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 2 ประการ
ประการที่ 1 การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วทีละเล็กละน้อย ในช่วงที่เงินเฟ้อยังไม่สูงมาก เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม และทำให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ต้องเสียไปจากการขึ้นดอกเบี้ยไม่สูงมาก
สิ่งนี้แตกต่างจากในปัจจุบัน ที่กว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้ ก็ต้องรอเงินเฟ้อปรับขึ้นไปสูงพอสมควรแล้ว
ประการที่ 2 ในตอนปี 1994 ไม่มีปัญหา “Serious Supply Shock” หรือการขาดแคลนแหล่งน้ำมัน สินค้าและบริการต่าง ๆ อย่างรุนแรงจนส่งผลให้ราคาพุ่งสูงอย่างรวดเร็วจนตั้งรับแทบไม่ไหว
ซึ่งแตกต่างจากในปัจจุบัน ที่เรากำลังเผชิญกับทั้งผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้การผลิตสินค้าและบริการหยุดชะงัก
และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาอาหารและพลังงานพุ่งสูงขึ้นจนเกิดการขาดแคลนพลังงานทั่วยุโรป จึงถือเป็นความท้าทายอย่างมากของเฟดในตอนนี้เมื่อเทียบกับปี 1994
บทเรียนจาก soft landing ปี 1994 คงบอกได้ว่าโชคช่วยอาจเป็นส่วนหนึ่ง แต่การที่เฟดสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าเพื่อรับมือกับวิกฤตได้ทันท่วงทีก็เป็นเรื่องสำคัญ
แต่วิกฤตในปีนี้มีความท้าทายอย่างมากเมื่อเทียบกับอดีตท่าทีของเฟดที่ขึ้นดอกเบี้ยช้าไปจนต้องใช้ยาแรงเพื่อกำราบเงินเฟ้อ
นักเศรษฐศาสตร์มองว่าเป็นเรื่องยากที่เศรษฐกิจจะไม่เข้าสู่สภาวะถดถอย แต่ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร เราก็คงต้องตามดูกันต่อไปในอนาคต
ผู้เขียน: ขัตติยาภรณ์ ด้วงแก้ว Political Analyst, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา