Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
27 ธ.ค. 2022 เวลา 14:24 • ไลฟ์สไตล์
“ถ้าเราสู้ วันหนึ่งเราก็ชนะ
ไม่สู้ก็ไม่มีวันชนะ
ก็ต้องตกเป็นทาสกิเลสตัณหาตลอดไป”
“ … ถ้าเข้าใจจิตตนเอง ก็จะเข้าใจธรรมะทั้งหมด
1
หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอกหลวงพ่อว่า “ธรรมะ 84,000 พระธรรมขันธ์ ออกมาจากจิตที่บริสุทธิ์นั่นเอง” แต่เป็นจิตระดับพระพุทธเจ้า ธรรมะนี้จะถ่ายทอดออกมา
ถ้าจิตพวกเราธรรมะไม่ค่อยถ่ายทอด
สิ่งที่ถ่ายทอดส่วนมากเป็นอธรรม
ถ่ายทอดแต่เรื่องวุ่นวาย ฟุ้งซ่าน
ฉะนั้นตั้งอกตั้งใจภาวนา ถือศีล 5 ไว้ก่อน
ทุกวันทำในรูปแบบ
อยู่ๆ จะเจริญสติในชีวิตประจำวัน ไม่ทำในรูปแบบเลย ส่วนมากทำไม่ได้หรอก กำลังของจิตไม่พอ กำลังสมาธิไม่พอ อย่างมากมันจะไปคิดเรื่องจิต ไม่สามารถดูจิตได้
ศีลต้องรักษา ทุกวันแบ่งเวลาทำในรูปแบบ เจริญสติในชีวิตประจำวัน
เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกในรูปแบบ
วิธีฝึกในรูปแบบที่ลัดสั้นเลย
ก็คือทำกรรมฐานอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง
แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง
เช่น เราพุทโธๆๆ จิตหนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว
รู้ว่าจิตหนีไปคิด
พุทโธๆ จิตถลำไปอยู่ในความว่างแล้ว
รู้ว่าจิตถลำลงไปเพ่งความว่างแล้ว
หรือเรารู้ลมหายใจอยู่อย่างนี้
จิตหนีไปคิดเราก็รู้ แล้วก็หายใจไป
ไม่บังคับ ไม่บังคับการหายใจ
หายใจเป็นปกตินี่ล่ะ
เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า
จิตมันหนีไปคิดแล้วรู้ทัน
จิตมันถลำลงไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน
ฝึกอย่างนี้เยอะๆ จิตจะได้ทั้งสมาธิ แล้วจะได้สติรู้ทันจิตด้วย
เพราะว่าเราสังเกตไปเรื่อย จิตขยับเขยื้อนอะไรนี้เราเห็น เราไม่ได้ไปบังคับให้นิ่ง
ฉะนั้นเราทำกรรมฐานไป พุทโธ หายใจ อะไรก็ทำไป หรือดูท้องพองยุบก็ได้ อะไรก็ได้เหมือนๆ กันหมด
พอทำไปแล้วจิตหนีไปคิด รู้ทัน
จิตถลำลงไปเพ่ง รู้ทัน
หัดรู้อย่างนี้บ่อยๆ
ต่อไปเราจะเห็นจิตตัวเองได้ชัด
จิตขยับนิดหนึ่งก็เห็นแล้ว
จิตจะปรุงอะไรนิดหนึ่งก็เห็นแล้ว
ฉะนั้นเราต้องทำในรูปแบบทุกวัน
ทำกรรมฐานไว้ ถ้าไม่ทำเลย จิตจะฟุ้งดูอะไรไม่ได้หรอก
แล้วเวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน
เจริญสติในชีวิตประจำวันทำอย่างไร
มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น
มีลิ้นกระทบรส มีกายกระทบสัมผัส
มีใจกระทบความคิด
ให้มันกระทบ
แต่พอกระทบแล้วจิตใจเรากระเทือนขึ้นมา
จิตใจเราปรุงสุข ปรุงทุกข์ขึ้นมา รู้ทัน
จิตใจเราปรุงดีปรุงชั่วขึ้นมา รู้ทัน
หัดรู้อย่างนั้นล่ะ ที่เรียกว่าเจริญสติในชีวิตประจำวัน
ที่จริงเรารู้อยู่ที่จิต แต่เราให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันทำงานไปตามธรรมชาติ
แต่พอมันทำงานไปกระทบอารมณ์แล้ว เกิดอะไรขึ้นกับจิตใจเรา รู้ทัน นั่นล่ะคือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน
ไม่ใช่จะทำอะไรทีก็กำหนดไปเรื่อยๆ
นั่นปรุงแต่งอยู่ในชีวิตประจำวันแล้ว
จะทำอะไรก็ยืดๆ ผิดมนุษย์มนา
ไม่ใช่การปฏิบัติอะไรหรอก
อันนั้นเป็นความหลงผิดอย่างหนึ่ง
เป็นความปรุงแต่งอย่างหนึ่ง
ปรุงดี ปรุงเป็นคนดี มันก็อวิชชานั่นล่ะ
มาจากอวิชชา
ฉะนั้นเราทำ 3 อัน ศีลต้องรักษา
ทุกวันแบ่งเวลาทำในรูปแบบ
คือทำกรรมฐานไปแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้
เวลาที่เหลืออยู่ในชีวิตประจำวัน
เราเคยฝึกซ้อมรู้ทันจิตตัวเองมาแล้ว ในการฝึกในรูปแบบ พอมาอยู่ในชีวิตประจำวัน เราจะมีกำลังที่จะดูจิตใจตัวเองได้ เพราะมันเคยเห็นจิตทำงานมาแล้ว
จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตดีก็รู้ จิตชั่วก็รู้
จิตหลงไปทางตาก็รู้ จิตหลงไปทางหูก็รู้
จิตหลงไปทางความคิดก็รู้
มันเคยซ้อมมาแล้ว พอมาอยู่ในชีวิตจริง
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์แล้ว
จิตหลงไปทางไหน สติระลึกรู้ทันจิต ที่เดียวเลย
แต่ไม่ใช่นั่งเฝ้าอยู่ที่จิต
หลักธรรมชนิดนี้ไม่ใช่ของประหลาด สมัยพุทธกาลก็มีมาแล้ว หลวงพ่อเขียนหนังสือไว้เล่มหนึ่ง ชื่อหนังสือ “ทางเอก” ใครยังไม่มี ก็ลองไปขอที่มูลนิธิฯ
ไม่รู้มีไหม ลองไปขอเขาดู มีอยู่เรื่องหนึ่ง เรื่องพระโปฐิละ พระใบลานเปล่า
พระโปฐิละเป็นพระที่เรียนปริยัติ แตกฉานพระไตรปิฎกมากเลย ใครถามธรรมะข้อไหนตอบได้หมดเลย แต่ไม่เคยภาวนา
แล้วท่านก็ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทีไร โดนพระพุทธเจ้าแซวทุกที บอกพระโปฐิละๆ
โปฐิละเป็นฉายา ไม่ใช่ชื่อท่าน ชื่อจริงอะไรก็ไม่รู้ แต่ใครๆ ก็เลยเรียกตามพระพุทธเจ้าว่าโปฐิละ แปลว่าใบลานเปล่า คัมภีร์ที่ไร้ตัวหนังสือ ไม่มีประโยชน์อะไรเลย คัมภีร์ที่ว่างเปล่า
ท่านอายถูกเรียกอย่างนี้ท่านอาย ท่านก็เลยหนีออกจากเมือง เข้าไปอยู่ที่วัดในป่า เข้าไปหาอาจารย์ใหญ่บอก “ขอช่วยสอนกรรมฐานผมหน่อย”
อาจารย์ใหญ่บอก “ไม่เอา สอนไม่ได้หรอก ท่านเก่งกว่าผมอีก รู้หมดแล้ว”
ท่านก็ไปถามพระรองๆๆ ลงไป ไม่มีใครยอมสอนท่าน จนถึงเณร เณรอายุ 7-8 ขวบ
เณรบอก “สอนให้ก็ได้ แต่ท่านต้องเชื่อฟังคำสั่ง” คล้ายๆ เรื่องอิกคิวซังอย่างไรก็ไม่รู้ บอก “ต้องเชื่อนะ”
ท่านบอก “เชื่อก็เชื่อ” จะเชื่อฟังอาจารย์ อาจารย์เณรสั่งอะไรจะเชื่อเลย
ตอนนั้นท่านยืนคุยกันอยู่ริมน้ำ เณรก็สั่ง “ท่านอาจารย์ลงน้ำไปเลย”
ทั้งๆ ที่ใส่จีวรอย่างดี ผ้าอย่างดีเลย ท่านก็ใจเด็ดจริงๆ ท่านก็ก้าวลงน้ำจริงๆ เณรสั่งแล้ว
พอลงไปน้ำยังไม่ทันถูกชายจีวรท่าน เณรก็บอก “หยุดก่อน”
เณรก็ชี้ให้ดูบอก “มันมีจอมปลวกอยู่ริมตลิ่งนี้เห็นไหม”
จอมปลวกนี้เป็นจอมปลวกร้างแล้ว ไม่มีปลวกแล้ว ข้างในเป็นโพรง มันมีรู 6 รู มีเหี้ยตัวหนึ่งเข้าไปอาศัยอยู่ เป็นรังของเหี้ย
บอก “ท่านอาจารย์จะจับเหี้ยตัวนี้ ให้ท่านอาจารย์อุด 5 รูไว้ แล้วเฝ้าอยู่รูเดียวเดี๋ยวก็จับได้ แต่ถ้ามันมี 6 รู จะรออยู่รูนี้ มันก็หนีออกรูโน้น”
พระโปฐิละท่านได้ยินแค่นี้ ท่านได้ความคิดแล้ว ท่านเข้าใจการปฏิบัติแล้ว
รูทั้ง 6 ก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
5 รูไม่ต้องใส่ใจกับมัน
5 รูแรกตา หู จมูก ลิ้น กาย
รู้ทันอยู่ที่จิตอันเดียว
รู้ทันอยู่ที่ใจอันเดียว
ตา หู จมูก ลิ้น กาย กระทบอารมณ์
มันกระเทือนเข้าที่ใจเท่านั้น
จะสุข จะทุกข์ จะดี จะชั่ว ก็อยู่ที่จิตเท่านั้นเอง
บอกให้ “ท่านอาจารย์คอยรู้อยู่ที่ตรงนี้”
ท่านภาวนาไม่นานก็เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง แล้วแตกฉานมาก
เพราะฉะนั้นหลักที่ว่าให้รู้ทันจิตตัวเอง ไม่ใช่ของใหม่ สมัยพุทธกาลท่านก็สอนกันแล้ว
คำสอนพวกนี้มันเลือนไป มันกลายเป็นธรรมะเต็มตู้ แล้วเราก็ไม่รู้จะภาวนาอย่างไร ครูบาอาจารย์ท่านจับแก่นเข้ามาให้ จับเข้ามาที่จิตให้ เราก็เลยรู้ โอ้ ภาวนาไม่ยากหรอก
ถ้าไม่ได้แก่นก็ยาก ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร
ที่อุปัชฌาย์หลวงพ่อจะให้หลวงพ่อไปเทศน์ ก็ธรรมะของหลวงปู่อย่างนี้ แต่วันนี้หลวงพ่อมาเทศน์เสียก่อน เพราะไปทางโน้นมันเหลือคนปฏิบัติไม่มากแล้ว
ส่วนใหญ่ก็อยู่กันตามประเพณี มาเข้าวัดถือศีล กลางค่ำกลางคืนก็ฟังเทศน์ ฟังเอาบุญ ที่จะฟังเอาสาระแก่นสารแท้ๆ จริงๆ อะไรนี้ หายาก
เพราะฉะนั้นเอาเรื่องนี้มาเทศน์ให้พวกเราฟังไว้ก่อน นี้ล่ะคือคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ ที่อุปัชฌาย์ท่านบอกว่า ก็มีแต่หลวงพ่อที่รักษาแนวทางนี้ไว้ได้
การภาวนามันไม่ได้ยากเย็นอะไรหรอก
รู้หลัก ก็ลงมือทำให้มาก
นานๆ ทำทีมันก็ไม่ได้อะไร
เพราะจิตไม่เคยหยุดทำงานเลย
ถ้าเราไม่พามันทำดีๆ มันก็ทำชั่ว
ฉะนั้นเราก็ฝึกของเราทุกวันๆ ให้มันเข้มแข็งไว้
นั่งอยู่เราก็สังเกตเห็นไหม เรานั่งอยู่
ตัวเราก็ยังอยู่นี่ล่ะ แต่จิตเราหนีไปที่อื่น
หลงไปอยู่ในโลกของความคิด
นั่งไปแล้วจิตหลงไป อยู่ในความคิดแล้ว รู้ทัน
ซ้อมอย่างนี้บ่อยๆ
แล้วต่อไปเราจะดูจิตในชีวิตประจำวันได้คล่องแคล่ว แบบที่พระโปฐิละทำ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ จิตกระเทือน จิตไหว มันเห็นหมดล่ะ
แต่ว่าต้องอาศัยการซ้อมในรูปแบบ ทำได้วันหนึ่งสัก 2 – 3 รอบก็ดี ไม่จำเป็นต้องทำวันละรอบหรอก ตื่นเช้าขึ้นมา อาจจะตื่นให้เร็วขึ้นนิดหนึ่ง แล้วก็ทำในรูปแบบไป
เช้าๆ ถ้าทำได้ก็จะเก่ง จะเก่งเร็ว เพราะเช้าๆ นี่ขี้เกียจ แล้วก็ใจแข็งลุกขึ้นมาภาวนาได้ ใจมันต้องเข้มแข็ง
เช้าๆ ก็จะขี้เกียจ
กลางวันจะขี้โมโห
กลางคืนค่ำๆ Relax แล้วมักจะมีราคะ
ตื่นเช้าก็ชอบงัวเงียๆ นั่นโมหะเอาไปกิน
ตอนตื่นนอนโมหะก็ครอบงำ
กลางวันโทสะก็ครอบงำ
เย็นๆ ค่ำๆ ราคะก็ครอบงำ เลยสู้ไม่ได้เสียที
มันโดนกิเลสย่ำยีทั้งวัน
เราตื่นเร็วขึ้นนิดหนึ่งมาภาวนาอย่าให้จิตมันเซื่องซึม
กลางวันแทนที่จะต้องลุยๆๆ ไปแล้วก็หงุดหงิดไปเรื่อยๆ มีจังหวะก็เบรกตัวเอง ทำกรรมฐานไป ทำกรรมฐานไปรู้ทันจิตไป กลับมาทำงานตอนบ่ายโทสะก็จะไม่ค่อยแรง
คล้ายๆ มันเคยโดนเบรกมาแล้ว ตกเย็นตกค่ำกลับบ้าน ไม่ต้องไปเที่ยวที่อื่นหรอก มาภาวนา แล้วไม่ตามใจราคะ ไปสู้อย่างนี้ หลวงพ่อสู้มาก็สู้อย่างนี้ ให้มันเด็ดเดี่ยวลงไปเลย
บอกพวกเราเรื่อยๆ ว่าหลวงพ่อไม่ใช่คนเก่ง ครูบาอาจารย์หลวงพ่อเก่ง แต่หลวงพ่อไม่ใช่คนเก่ง หลวงพ่อดีอย่างเดียว ทน อดทน ทำแล้วทำอีก ทำมันทุกวี่ทุกวัน ไม่เลิก
ถ้าเราสู้ วันหนึ่งเราก็ชนะ
ไม่สู้ก็ไม่มีวันชนะ
ก็ต้องตกเป็นทาสกิเลสตัณหาตลอดไป …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
3 ธันวาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
https://www.dhamma.com/luangpu-dule-teachings/
เยี่ยมชม
dhamma.com
คำสอนหลวงปู่ดูลย์ อตุโล
คำสอนส่วนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของหลวงปู่ดูลย์ โดดเด่น ไม่มีองค์ไหนเหมือนก็คือเรื่องของจิต ท่านสอนตัดตรงเข้ามาที่จิตเลย
Photo by : Unsplash
7 บันทึก
11
4
7
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อ่านธรรม : อ่านใจ
7
11
4
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย