6 ม.ค. 2023 เวลา 02:00 • สุขภาพ

กินเผ็ดดีต่อสุขภาพอย่างไร

อาหารที่มีรสชาติเผ็ดถือเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมการกินอาหารของคนทั่วโลก และมีประวัติศาสตร์มายาวนาน ของการนำเครื่องเทศต่าง ๆ มาปรุงทำให้อาหารมีรสชาติเผ็ด ร้อน นำมาแต่งเติมสี แต่งกลิ่นอาหาร ถนอมอาหาร รวมทั้งสามารถนำมาเป็นยารักษาโรคได้ด้วย
ปัจจุบันมีเทรนด์การนำเครื่องเทศที่ให้รสเผ็ดมาปรุงแต่งอาหารทั่วโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับคนไทยนั้น มีการนำพริกชนิดต่าง ๆ มาปรุงอาหาร ทำให้อาหารมีรสเผ็ดมาเป็นเวลาช้านาน ทำให้อาหารรสเผ็ดเป็นที่ชื่นชอบของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาหารที่มีรสเผ็ดไม่ว่าจะเป็นต้มยำ แกงเผ็ด ส้มตำ ยำ และอาหารอื่น ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน ล้วนเป็นที่ชื่นชอบของชาวไทยเองและชาวต่างชาติเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นจาก ชื่ออาหารไทยมักติดระดับท็อป ๆ ของผลสำรวจรายการอาหารที่คนทั่วโลกชื่นชอบมาตลอด
อาหารที่มีรสเผ็ดดีต่อสุขภาพอย่างไร
อาหารที่มีรสเผ็ดมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพหลาย ๆ ชนิด หนึ่งในนั้นคือสารที่มีชื่อว่า แคปไซซิน (Capsaicin) ซึ่งเป็นสารสำคัญซึ่งมีอยู่ในพริกชนิดต่าง ๆ สารนี้มีคุณสมบัติสำคัญ ซึ่งมีงานวิจัยต่าง ๆ รองรับแล้วว่า มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ ต่อต้านการอักเสบ ต่อโรคอ้วน ต่อต้านมะเร็ง สามารถลดความดันโลหิตได้ และยังทำให้สมดุลน้ำตาลในเลือดดีขึ้น ลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน นอกจากแคปไซซินแล้ว พริกยังมีวิตามินซี เอ บี6 เค และแร่ธาตุอื่น ๆ ซึ่งดีต่อสุขภาพ
นอกจากฤทธิ์ทางชีวภาพดังกล่าวแล้ว สารออกฤทธิ์ในอาหารที่มีรสเผ็ดหรือพริกนั้น ยังมีคุณสมบัติสำคัญซค่งส่งผลดีต่อแบคทีเรียในลำไส้ของมนุษย์ (gut microbiota) ปัจจุบันมีงานวิจัยมากมาย บ่งชี้ว่าแบคทีเรียในลำไส้มีความสำคัญต่อสุขภาวะในด้านต่าง ๆ ความไม่สมดุลของแบคทีเรียในลำไส้นั้นส่งผลต่อสุขภาพ เพิ่มความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคอ้วน เบาหวาน โรคตับ และโรคหัวใจ หรือโรคมะเร็ง
ในปี พ.ศ. 2558 มีงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ British Medical Journal ศึกษาผลของการกินอาหารที่มีรสเผ็ดต่ออัตราการเสียชีวิตจากโรคต่าง ๆ งานวิจัยนี้ทำในประเทศจีน โดยสำรวจเรื่องพฤติกรรมการกินอาหาร รวมไปถึงเรื่องอาหารรสเผ็ด ความถี่ของการกินอาหารรสเผ็ด ชนิดอาหารรสเผ็ด และติดตามผู้เข้าร่วมวิจัยไปเป็นระยะเวลาหลาย ๆ ปี เพื่อดูว่ามีการเสียชีวิตเกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไร และการกินอาหารสงรสเผ็ดนั้นมีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตที่ลดลงหรือไม่
ในงานวิจัยนี้มีผู้เข้าร่วมวิจัยชาวจีนจำนวนเกือบ 5 แสนราย เป็นชายประมาณ 40% หญิง 60% อายุระหว่าง 30-79 ปีเมื่อแรกเข้าร่วมวิจัย มีการติดตามแต่ละคนไปเฉลี่ยราว 7.2 ปี
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า การกินอาหารรสเผ็ดมีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตที่ลดลงทั้งในเพศชายและเพศหญิง พบว่าเมื่อเทียบกับการกินอาหารรสเผ็ดน้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ การกินอาหารรสเผ็ดมากกว่านั้น สามารถลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตลงได้ ร้อยละ 10 ร้อยละ 14 และ ร้อยละ 14 สำหรับคนที่รับประทานอาหารเผ็ด 1-2 วันต่อสัปดาห์ 3-5 วันต่อสัปดาห์ และ 6-7 วันต่อสัปดาห์ตามลำดับ
นอกจากนี้ กลุ่มผู้เข้าร่วมวิจัยที่กินอาหารรสเผ็ดอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ ยังมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคของระบบทางเดินหายใจต่ำกว่าผู้เข้าร่วมที่กินอาหารเผ็ดปริมาณน้อยอีกด้วย
และเมื่อปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมามีงานวิจัยบททบที่วรรณกรรมซึ่งรวบรวมงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้น เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการกินอาหารรสเผ็ดและความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ผลวิจัยก็สรุปไปในทางเดียวกันว่า การกินอาหารรสเผ็ดบ่อยครั้ง (ตั้งแต่ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป) สามารถลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตลงได้ 12% และลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ด้วย
แม้ว่างานวิจัยดังกล่าวนี้จะเป็นงานวิจัยเชิงสังเกต มิได้บ่งถึงความเป็นเหตุเป็นผลได้อย่างชัดเจน และอาจมีปัจจัยรบกวนที่เก็บไม่ครบซึ่งอาจมีข้อจำกัดในการแปลผลและนำไปใช้ได้ ซึ่งควรมีงานวิจัยศึกษาเพิ่มเติมต่อ แต่ผลจากงานวิจัยเบื้องต้นนี้และงานวิจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลไกการออกฤทธิ์ของสารชีวภาพในอาหารรสเผ็ดก็น่าทำให้เราพอเห็นแนวโน้มว่า อาหารรสเผ็ดนั้น น่าจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพไม่มากก็น้อย
ใครที่กินเผ็ดอยู่แล้วก็น่าจะกินต่ออย่างสบายใจ ส่วนใครที่ไม่กินเผ็ดหรือกินไม่เยอะ ถ้ามีโอกาสก็อยากเชิญชวนมากินอาหารรสเผ็ดให้มากขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีของเรากันครับ
อ้างอิง
Lv J, Qi L, Yu C, Yang L, Guo Y, Chen Y et al. Consumption of spicy foods and total and cause specific mortality: population based cohort study BMJ 2015; 351 :h3942 doi:10.1136/bmj.h3942
Ofori-Asenso R, Mohsenpour MA, Nouri M, Faghih S, Liew D, Mazidi M. Association of Spicy Chilli Food Consumption With Cardiovascular and All-Cause Mortality: A Meta-Analysis of Prospective Cohort Studies. Angiology. 2021 Aug;72(7):625-632. doi: 10.1177/0003319721995666. Epub 2021 Mar 4. PMID: 33657876.
โฆษณา