9 ธ.ค. 2022 เวลา 02:00 • สุขภาพ
กินไข่มากไป เสี่ยงโรคหัวใจหรือไม่
ไข่เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารหลายอย่าง มีทั้งเกลือแร่ วิตามิน โฟเลต และมีโปรตีนคุณภาพสูง อย่างไรก็ตาม ไข่มีโคเลสเตอรอลปริมาณสูง ในไข่ไก่ 1 ฟอง มีโคเลสเตอรอลราว 186 มิลลิกรัม ซึ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณที่ควรรับประทานต่อวัน (ไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน) ทำให้เวลากินไข่เยอะ ๆ หลายฟอง หรือบ่อยครั้ง เรามักกังวลว่า ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดเราจะสูง และทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอกเลือดตามมาหรือไม่
อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยทางการแพทย์ พบว่าโคเลสเตอรอลในอาหารและระดับโคเลสเตอรอลในเลือดมีความสัมพันธ์อยู่ในระดับต่ำ กล่าวคือ ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงนั้นมาจาก การสร้างขึ้นในร่างกายราว 70% ส่วนโคเลสเตอรอลในอาหารส่งผลเพียง 30% ดังนั้นเป็นไปได้ว่าการกินไข่อาจส่งผลต่อระดับโคเลสเตอรอลในเลือดไม่มากนัก และไม่น่าจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
ล่าสุดมีงานวิจัยบททบทวนวรรณกรรมและวิเคราะห์เชิงอภิมาน 2 ชิ้น ในวารสารทางการแพทย์ British Medical Journal ปี ค.ศ. 2020 และ American Journal of Medicine ปี ค.ศ. 2021 ติดตามผู้เข้าร่วมที่สุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคหัวใจและหลอดเลือดมาก่อน ติดตามไปเป็นระยะเวลาสิบ ๆ ปี และมีข้อมูลเกี่ยวกับการบริโภคอาหารชนิดต่าง ๆ รวมถึงไข่ ติดตามว่าเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากน้อยแค่ไหน และสัมพันธ์กับปริมาณไข่ที่กินหรือไม่
ผลการศึกษาวิจัยสองชิ้นนี้ มีผลตรงกันว่า การบริโภคไข่ อย่างน้อย 1 ฟองต่อวัน เมื่อเทียบกับกินน้อยกว่านี้ ไม่สัมพันธ์กับความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เพิ่มขึ้น ไม่เพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง และถ้าคุณเป็นคนเชื้อชาติเอเชีย (คนไทยอย่างเรา ๆ นี่แหละ) พบว่าเมื่อกินไข่ จะมีลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจอีกด้วย
เมื่อผลวิจัยเป็นเช่นนี้แล้ว คนที่กินไข่เป็นประจำน่าจะสบายใจมากขึ้น และคลายความกังวลเรื่องความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดจากการกินไข่ อาหารพิ้น ๆ แต่ทรงคุณค่านี้
(ข้อควรระวัง: ถ้าท่านเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือมีความเสี่ยง เข่น เป็นเบาหวานอยู่แล้ว และมีระดับโคเลสเตอรอลสูง อาจต้องระมัดระวังเรื่องอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูงด้วย และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ถ้ากินยาแล้วระดับโคเลสเตอรอลไม่ลดลง หมออาจแนะนำให้ลดการกินไข่ เพื่อควบคุมระดับโคเลสเตอรอลในเลือดได้เช่นกัน)
อ้างอิง
Drouin-Chartier J, Chen S, Li Y, Schwab A L, Stampfer M J, Sacks F M et al. Egg consumption and risk of cardiovascular disease: three large prospective US cohort studies, systematic review, and updated meta-analysis BMJ 2020; 368 :m513 doi:10.1136/bmj.m513
Krittanawong C, Narasimhan B, Wang Z, Virk HUH, Farrell AM, Zhang H, Tang WHW. Association Between Egg Consumption and Risk of Cardiovascular Outcomes: A Systematic Review and Meta-Analysis. Am J Med. 2021 Jan;134(1):76-83.e2. doi: 10.1016/j.amjmed.2020.05.046. Epub 2020 Jul 10. PMID: 32653422.
โฆษณา