7 ม.ค. 2023 เวลา 14:00 • หนังสือ
“ตอนนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง?”
อยากให้ทุกคนลองหยุดซัก 2 วิก่อนตอบกับตัวเองนะคะ :) หลายคนอาจจะตอบได้เลยว่ารู้สึกอย่างไรถ้ามีอารมณ์ที่ชัดเจน แต่ถ้าอารมณ์ของเราซับซ้อนและไม่ชัดเจนนัก ตัวเราเองก็พูดออกมาเป็นคำพูดได้ยากมาก
หนังสือ Permission to feel (โลกที่ผู้คนมีความฉลาดทางอารมณ์) พูดถึง “ทักษะ” สำคัญที่ควรถูกสอนที่โรงเรียน นั่นคือ “ทักษะทางอารมณ์” เป็นทักษะที่สำคัญไม่แพ้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ พละ และ ศิลปะ
ทักษะทางอารมณ์ ไม่ใช่ EQ ไม่ใช่ความทรหด ไม่ใช่ความสามารถที่ล้มแล้วลุก ไม่ใช่แค่นั้นค่ะ :) แต่เป็น “วิชา” สำคัญที่ถ้าหากใครได้ฝึกฝนมันแล้วจะทำให้อยู่ในโลกใบนี้ในอย่างสงบสุขมากขึ้น เข้าใจตัวเองมากขึ้น รวมไปถึงมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมากกว่าด้วย
ผู้เขียน Marc Brackett เป็นอาจารย์ที่สอนวิชาทักษะทางอารมณ์ที่ Yale และเป็นผู้ออกแบบหลักสูตรที่สอนเรื่องนี้ให้กับเด็กๆในโรงเรียน Marc เน้นย้ำความจำเป็นของการเรียนวิชานี้ไว้หนักแน่นทีเดียว วันนี้เราเลยอยากมาสรุปให้แบบครบถ้วน เรียกได้ว่าเป็นชีทสรุปของวิชานี้แล้วกันค่ะ 🙂
วิชานี้ถูกสรุปออกมาได้ง่ายๆด้วย 5 ตัวอักษร RULER เป็น 5 ขั้นตอนที่เมื่อทำตามอย่างสม่ำเสมอแล้วจะทำให้เราพัฒนาทักษะนี้ขึ้นมาได้
R - Recognising การรับรู้อารมณ์ของตัวเองและผู้อื่น
เหมือนจะง่ายแต่ยากกว่าที่คิด เพราะอารมณ์เราผสมปนเปกันไปหมดแถมยังสามารถมีอารมณ์ได้มากกว่า 1 อารมณ์ในเวลาๆนึงอีกด้วย ในเล่มนี้มีการทำ The circumplex model of emotion มาช่วยอธิบายค่ะ โดยที่บอกว่าอารมณ์ของเราจะประกอบมาด้วย 2 ปัจจัยคือ “ระดับความพึงพอใจ” และ “ระดับพลังงาน” โดยที่โมเดลนี้จะแบ่งอารมณ์ของเราเป็นสีต่างๆเพื่อให้เข้าใจง่าย
พลังงานสูง และ ความพึงพอใจสูง (สีเหลือง) เช่น ประหลาดใจ คึกคัก สนุก
พลังงานสูง และ ความพึงพอใจต่ำ (สีแดง) เช่น โกรธ เครียด กังวล
พลังงานต่ำ และ ความพึงพอใจสูง (สีเขียว) เช่น สงบ รัก ง่วง
พลังงานต่ำ และ ความพึงพอใจต่ำ (สีฟ้า) เช่น เศร้า เหนื่อย ขยะแขยง
เราพบว่าโมเดลนี้ช่วยให้เรารับรู้อารมณ์ตัวเองได้ง่ายขึ้น บางครั้งอาจจะเลือกคำพูดได้ยาก แต่ถ้าให้บอกว่าตอนนี้รู้สึกสีไหน ก็พอจะทำได้อยู่
เอาละค่ะ เราจะขอถามคำถามเดิมอีกครั้งกับทุกคนว่า “ตอนนี้รู้สึกยังไงบ้าง” สำหรับคนที่นึกคำไม่ออกแบบเรา คราวนี้ลองตอบเป็นสีดูค่ะ :)
—-----------
U - Understanding เข้าใจอารมณ์
6
มาในขั้นตอนต่อไป คือการทำความเข้าใจอารมณ์ ซึ่งคาถาหลักของขั้นตอนนี้คือ “ทำไม”
“ทำไม” เป็นคำถามที่จะชวนเราค้นหาเรื่องราวหลักที่ซ่อนอยู่หลังอารมณ์ ถ้ามีคนมาตะโกนใส่เราว่าเกลียดเรามาก แน่นอนว่าเขาคงมีอารมณ์สีแดง และเราเองก็คงถูกกระตุ้นให้มีอารมณ์สีแดงด้วยเหมือนกันถ้าเราโกรธตอบ
แต่ถ้าก่อนที่เราจะตะโกนกลับไปว่า ฉันก็เกลียดเธอเหมือนกัน ถ้าเราถามตัวเองก่อนว่า “ทำไม” คนตรงหน้าเราถึงทำแบบนั้น คำตอบของเรื่องนี้เป็นไปได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ เขาเกลียดเราจริงๆ ไปจนถึงจริงๆแล้ว คนตรงหน้าเราโกรธตัวเองแล้วเอามาลงที่เราตังหาก
เราพบว่าการถามว่า “ทำไม” ยากกว่าที่คิด เพราะมันอาศัยสติมหาศาล ปฏิกิริยาปกติของมนุษย์คือตอบสนองต่ออารมณ์ที่เข้ามา ทำให้เราลืมเปลี่ยนโหมดมาใช้เหตุผลและใช้ตรรกะ เรียกได้ว่าเหมือนใช้สมองคนละส่วนก็คงได้ ขั้นตอนนี้เลยท้าทายมาก
—-----------
L - Labelling ระบุอารมณ์
เราชอบขั้นตอนนี้ที่สุดเลยค่ะ :) ผู้เขียนได้ไปบรรยายหัวข้อนี้ให้กลุ่มนักธุรกิจโรงผลิตไวน์ เขาก็ถามกลุ่มนักธุรกิจว่ารู้สึกอย่างไร คำตอบก็เป็นคำตอบเรียบๆอย่าง “ก็ดี”
แต่พอให้นักธุรกิจกลุ่มนี้ อธิบายไวน์ที่ตัวเองผลิต มีคำอธิบายออกมามากมายเลยค่ะ ทั้ง
“ไวน์ของผมหอมกลิ่นเนื้อรมควันและดอกไม้” “สมดุลและมีรสองุ่นเข้มข้น รสตกค้างหลังจิบยาวนาน” และอีกมากมาย
มีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ผู้ใหญ่และโดยเฉพาะเด็กๆ “ไม่มีคำศัพท์” ที่จะใช้อธิบายอารมณ์ของตัวเอง เด็กๆจะสื่อสารได้แค่อารมณ์ใหญ่ๆ เช่น ดีใจ เสียใจ โกรธ แต่จะไม่มีคำศัพท์ที่อธิบายอารมณ์ซับซ้อน เช่น ละอายใจ กระอักกระอ่วน
เรื่องนี้มีความอันตรายอยู่ค่ะ ลองคิดภาพว่าเราไปหาหมอ หมอถามว่าเราเป็นอะไร เรากลับมีคำศัพท์อธิบายความเจ็บปวดตัวเองได้จำกัด คุณหมอก็คงไม่รู้จะรักษายังไง สุขภาพจิตของเราก็เหมือนกันค่ะ หากว่าเราไม่สามารถจะบอกตัวเองได้ว่า จริงๆแล้ว รู้สึกยังไงกันแน่ ก็คงจัดการอารมณ์ต่อได้ยาก
เราเองก็มีประสบการณ์ตรงกับเรื่องนี้เหมือนกันค่ะ เวลาที่เราไถ Social Media แล้วเห็นคนที่มีชีวิตดีมากๆ เราจะมีอารมณ์ด้านลบเกิดขึ้นซึ่งเราระบุไม่ได้ว่าคืออะไร เราจัดการอารมณ์ตัวเองไม่ได้เลยแก้ด้วยการลบ Social Media App ทั้งหมดออกจากมือถือไปเลยค่ะ 😅 ซึ่งก็ลำบากอยู่เหมือนกันเพราะงานของเราต้องใช้ App เหล่านี้ สุดท้ายก็ต้องกลับมาใช้อยู่ดี
แต่พอเราเริ่มลองหัดระบุอารมณ์ แยกย่อยออกมาทีละอารมณ์ เราก็สังเกตว่าเราก็ “(1) ดีใจ” กับเขาเหล่านั้น แต่มุมนึงก็รู้สึก “(2) แย่กับตัวเอง” ด้วยที่ไม่ได้มีเหมือนคนอื่น แต่พอรู้ตัวก็กลับ “(3) รู้สึกผิด” ที่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นอีก ในไม่กี่วินาที เรามีไป 3 อารมณ์แล้วค่ะ 😅แต่พอระบุอารมณ์ได้ ความรู้สึกลบกลับน้อยลงนะคะ เหมือนพอเราเรียกชื่อมันแล้ว ก็เหมือนว่าโดนรู้ทัน อารมณ์ก็เบาบางลงได้
—-----------
E - Expressing แสดงอารมณ์
ขั้นตอนนี้ต้องใช้ความกล้าหาญพอสมควรค่ะ เพราะมันคือการนำเสนออารมณ์และมุมเปราะบางของตัวเองออกมา แต่เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากเพราะถ้าเราไม่สื่อสารออกมาเป็นคำพูดบ้าง คนอื่นๆรอบตัวเราจะทำความเข้าใจและช่วยเหลือเราได้ยาก
เป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราจะลังเลในการพูดถึงความรู้สึกตัวเอง หลักๆคือเราจะกลัวปฏิกิริยาของคนที่เราเลือกที่จะเล่าให้ฟัง กลัวว่าเขาจะโกรธ ตัดสินเรา ไม่ตั้งใจฟัง หรือเสียใจ
เราพบเทคนิคที่ดีคือ “การเรียบเรียง” อารมณ์ที่จะบอกเล่าให้คนอื่นฟังกับตัวเองก่อนซักรอบสองรอบว่า เราจะพูดอะไร อาจจะพูดเบาๆกับตัวเองหรือเขียนออกมาก็ได้ เลือกคำที่เหมาะสมและตรงกับอารมณ์ของเราที่สุด คล้ายๆกับซ้อมก่อนนำเสนอจริง พอตอนที่บอกเล่าจริงๆแล้วเราจะไม่ประหม่านัก และ สื่อสารออกมาได้ตรงใจมากขึ้น
—-----------
R- Regulating ควบคุมอารมณ์
ในขั้นตอนสุดท้ายคือการควบคุมอารมณ์ ซึ่งมีหลายวิธีด้วยกันที่หนังสือเล่มนี้พูดถึง ได้แก่
(1) การหายใจอย่างมีสติ
(2) การคาดการณ์ล่วงหน้า (รู้ว่าเราไม่ชอบคนๆนี้ก็ไม่ต้องไปนั่งใกล้ๆ)
(3) การเปลี่ยนจุดสนใจ (เสียใจนักก็ไปดู Netflix ทำให้ลืม)
(4) การเปลี่ยนกรอบคิด (มองในมุมมองที่แตกต่างจากเดิม)
(5) Meta Moment (เมื่อมีอารมณ์เกิดขึ้นแล้วหยุดซัก 5 วินาทีก่อนโต้ตอบ)
ส่วนตัวเราคิดว่าข้อสุดท้าย หรือ การ Pause ก่อนไปต่อเป็นข้อที่เราพบว่ามีประโยชน์มากค่ะ การหยุดจะเข้าไปกระตุ้นระบบพาราซิมพาเทติคทำให้ลดการหลั่งของคอร์ติซอล (ฮอร์โมนความเครียด) หรือคือการหยุดชั่วครู่จะไม่ให้เราตัดสินใจอะไรด้วยอารมณ์ชั่ววูบนั่นเองค่ะ
—-----------
นี่ก็มาถึงช่วงท้ายของชีทสรุปนี้แล้วนะคะ วิชาทักษะทางอารมณ์หรือ RULER นี้ได้รับการสอนแพร่หลายมากขึ้นในโลกตะวันตก แต่ในประเทศไทยเรานั้น Awareness เรื่องทักษะทางอารมณ์ในสังคมและสถานศึกษายังมีน้อย เพราะฉะนั้นสิ่งนึงที่คนธรรมดาอย่างเราสามารถทำได้ก็คือใส่ใจ และไม่ตัดสินอารมณ์ของตัวเองและผู้อื่น ยอมรับว่าอารมณ์เป็นกลไกนึงของร่างกาย เกิดขึ้นได้ เข้าใจได้ จัดการได้
และถามคำถามนี้กับตัวเองและคนรอบข้างให้บ่อยขึ้น
“ตอนนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง?” :)
ซื้อหนังสือ Permission to feel ได้เลยที่ https://shope.ee/6zlUn5lvMG
ตอนนี้รีวิวทุกอย่างที่อ่านออกมีถึง 6 ช่องทางแล้วนะคะ 🥳
เอาใจทั้งสายอ่าน สายฟัง สาย Podcast
ขอขอบคุณทุกคนที่ติดตามกันมาตลอดนะคะ :D
โฆษณา