10 ม.ค. 2023 เวลา 14:00 • หนังสือ
เราเป็น Perfectionist หรือเปล่านะ?
เรามีคำถามนี้กับตัวเองอยู่หลายครั้ง และก็ไม่เคยได้รับคำตอบ เพราะนิยามคำว่า Perfectionist ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันเลย จนกระทั่งเราได้อ่านหนังสือ Four Perfectionists ที่อธิบายคนที่บ้าความสมบูรณ์แบบทั้ง 4 ประเภท เราก็เข้าใจตัวเองมากขึ้นค่ะ 🙂
เล่มนี้ทำให้เรารู้ว่าคนทุกคนมีความเป็น Perfectionist อยู่ในตัว เพราะคงไม่มีใครลงมือทำอะไรแล้วหวังให้มันล้มเหลว ประเด็นไม่ใช่ว่าเป็น Perfectionist หรือไม่ แต่เป็น “ระดับ” ของความบ้าความสมบูรณ์แบบตังหาก หากมีมากเกินไปก็จะส่งผลเสียได้มาก หรือถ้าหากไม่มีเลยก็จะประสบความสำเร็จได้ยาก
ในเล่มนี้เปรียบคนที่เป็น Perfectionist เหมือนหงส์ หงส์เวลาว่ายน้ำข้างบนจะสวยสง่าสงบนิ่ง แต่ใต้น้ำขาของหงส์จะเต้นไม่หยุด ก็เหมือน Perfectionist ที่คนนอกมองเข้ามาก็เหมือนจะจัดการชีวิตได้ดี แต่ในใจข้างในก็อาจเต็มไปด้วยความวุ่นวายได้หากบ้าบอกับมันมากเกินไป
ผู้เขียนเล่มนี้คือนักจิตวิทยาเกาหลีใต้ ประเทศที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและความเร่งรีบ วัฒนธรรม “เร็วๆ” ของเกาหลีสร้าง Perfectionist อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าลองดูจำนวนก้าวต่อนาที คนญี่ปุ่นที่ว่าเดินเร็วเดิน 35 ก้าว/นาที แต่คนเกาหลีเดิน 56 ก้าว/นาทีเลยทีเดียว!
ด้วยวัฒนธรรมรีบๆแบบนี้ มีคนเกาหลีเกินครึ่งที่คิดว่าตัวเองเป็น Perfectionist ผู้เขียนเล่มนี้บอกว่านิยามคำนี้มันกว้างมากและแล้วแต่คนจะตีความ เล่มนี้เลยแบ่ง Perfectionist ออกเป็น 4 ประเภทเพื่อให้เข้าใจง่าย โดยที่จะมี 2 ปัจจัยสำคัญนั่นคือ (1) ประเมินภายใน/ภายนอก (ใส่ใจมาตรฐานตัวเอง หรือ ความเห็นคนอื่น) และ (2) เน้นพัฒนา/เน้นป้องกัน (แก้ไขปัญหา หรือ ป้องกันปัญหา)
ประเภทที่ 1: แสวงหาการยอมรับ - ประเมินภายนอก x เน้นพัฒนา
กลุ่มนี้จะพยายามทำสิ่งต่างๆเพื่อได้รับการยอมรับจากคนอื่นและยินดีช่วยเหลือ เป็น Nice guy ที่พร้อมยินดีช่วยเหลือทุกคน และในขณะเดียวกันก็ยินดีจะขอความช่วยเหลือจากคนอื่นเหมือนกัน เพราะอยากให้งานออกมาดีที่สุด
คำชมจะมีผลกับกลุ่มนี้มาก ดูเผินๆจะเป็นที่รักและคนมองโลกในแง่ดี แต่ก็เดือดดาลกับตัวเองถ้างานไม่ได้คุณภาพ ข้อควรระวังคือวิตกกังวลเมื่อไม่ได้รับการยอมรับและละเลยการดูแลตัวเอง
—----
ประเภทที่ 2: ชอบความระทึก - ประเมินภายนอก x เน้นป้องกัน
เป็นกลุ่มที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี มีแนวโน้มที่จะผัดวันประกันพรุ่งเพราะกลัวความล้มเหลว จะสามารถทนต่อความเครียดที่ใกล้เส้นตายได้ จากคนเรื่อยๆ พอใกล้เส้นตายก็จะมีแรงฮึดมาจัดการจนสำเร็จได้
ข้อควรระวังของกลุ่มนี้คือการบริหารเวลา ต้องประเมินเวลาที่จะใช้ในแต่ละงานให้แม่นยำ อารมณ์แปรปรวนง่าย และต้องระวังเวลาที่งานไม่เป็นตามที่หวังเพราะเวลาไม่พอก็มักจะมาเสียใจอยู่ภายใน
—----
ประเภทที่ 3: ปลอดภัยไว้ก่อน - ประเมินภายใน x เน้นป้องกัน
กลุ่มนี้เป็นความหมายทั่วๆไปของ Perfectionist ที่เราเข้าใจ ละเอียดรอบคอบ พึ่งพาและไว้ใจได้ มีเป้าหมายที่ชัดเจน ชอบที่จะคงรักษาสิ่งที่เป็นอยู่ มากกว่าการเปลี่ยนแปลง เครียดง่าย
ข้อที่พัฒนาได้คือการมองเป้าหมายงานให้เป็นเป้าหมายในการปรับปรุง เช่น แทนที่จะมองที่ยอดขายให้มองที่การพัฒนาระหว่างไตรมาสมากขึ้น
—----
ประเภทที่ 4: มุ่งเน้นการเติบโต - ประเมินภายใน x เน้นพัฒนา
เป็น Perfectionist ยอดฮิตของฝั่งตะวันตก มีความเป็นผู้นำสูง ทำงานเพื่อผลลัพธ์และเป้าหมาย แต่ในสังคมเอเชียที่ชอบความสามัคคีจะทำให้เกิดความขัดแย้งได้ง่าย เพราะเป็นกลุ่มคนที่มั่นใจตัวเองและเชื่อว่าจะบรรลุผลได้แน่นอน โดยที่ไม่ได้ใส่ใจความคิดเห็นของคนรอบข้างเท่ากับมาตรฐานของตนเอง
—----
จุดที่เราชอบของการแบ่งเป็น 4 ประเภทนี้คือมันทำให้คำนิยามที่คลุมเครือของ Perfectionist ชัดเจนขึ้น เราทุกคนมีลักษณะนิสัยที่ติดตัวกันมาอยู่แล้ว การอยากสมบูรณ์แบบมีข้อดีมหาศาล แต่ถ้ามีมากเกินไปก็มีข้อเสียอนันต์เช่นกัน สิ่งสำคัญคือการเข้าใจตัวเองและยอมรับตัวเอง รวมไปถึงกับการ “ปรับสมดุล” ให้เหมาะสมกับตัวเราเองเท่าที่เราจะทำได้
สุดท้ายนี้ มีคำพูดที่เราชอบอยากฝากไว้ให้คนที่คิดว่าตัวเองเป็น Perfectionist ทุกคนค่ะ :)
“เราไม่อาจเข้าถึงความสมบูรณ์แบบ แต่ถ้าไล่ตามความสมบูรณ์แบบ เราจะได้พบกับความยอดเยี่ยม” - Vincent Lombardi อดีตประธาน NFL
ซื้อหนังสือ Four Perfectionists จะได้รู้ว่าคุณเป็นประเภทไหนได้ที่ ​​https://shope.ee/VY5ePuPy4
โฆษณา