Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เบื่อเมือง
•
ติดตาม
7 ม.ค. 2023 เวลา 09:27 • ไลฟ์สไตล์
๏ ปริเฉทที่ ๒๓
เทศนาปริวรรต
พระศาสดาเสด็จจำพรรษาชั้นดาวดึงส์
**********
~ พระศาสดาเสด็จจำพรรษาชั้นดาวดึงส์ ~
พระศาสดากำลังทรงทำปาฏิหาริย์อยู่นั่นแล ทรงรำพึงว่า
"พระพุทธเจ้าในอดีตทั้งหลาย ทำปาฏิหาริย์นี้แล้ว
จำพรรษาที่ไหนหนอแล ?"
ทรงเห็นว่า "จำพรรษาในภพดาวดึงส์ แล้วทรงแสดงอภิธรรมปิฎก
แก่พระพุทธมารดา" ดังนี้แล้ว
ทรงยกพระบาทขวาเหยียบเหนือยอดภูเขายุคันธร
ทรงยกพระบาทอีกข้างหนึ่งเหยียบเหนือยอดเขาสิเนรุ
วาระที่ย่างพระบาท ๓ ก้าว ได้มีแล้วในที่ ๖๘ แสนโยชน์อย่างนี้.
ช่องพระบาท๒ ช่อง ได้ถ่างออกเช่นเดียวกันกับการย่างพระบาทตามปกติ.
ใครๆ ไม่พึงกำหนดว่า "พระศาสดาทรงเหยียดพระบาทเหยียบแล้ว.
เพราะในเวลาที่พระองค์ทรงยกพระบาทนั่นแหละ
ภูเขาเหล่านั้นก็มาสู่ที่ใกล้พระบาทรับไว้แล้ว,
ในเวลาที่พระศาสดาทรงเหยียบแล้ว
ภูเขาเหล่านั้นก็ตั้งประดิษฐานในที่เดิม.
ท้าวสักกะทอดพระเนตรเห็นพระศาสดาแล้ว ทรงดำริว่า
"พระศาสดาจักทรงเข้าจำพรรษานี้ ในท่ามกลางบัณฑุกัมพลสิลา,
อุปการะจักมีแก่เหล่าเทพดามากหนอ,
แต่เมื่อพระศาสดาทรงจำพรรษาที่นั่น เทพดาอื่นๆ จักไม่อาจหยุดมือได้;
ก็แลบัณฑุกัมพลสิลานี้ (แผ่นศิลาที่ประทับ มีสีดุจผ้าขนสัตว์เหลือง)
ยาว ๖๐ โยชน์ กว้าง ๕๐ โยชน์ หนา ๑๕ โยชน์
แม้เมื่อพระศาสดาประทับนั่งแล้ว ก็คงคล้ายกับว่างเปล่า."
พระศาสดาทรงทราบอัธยาศัยของท้าวเธอ
ทรงโยนสังฆาฏิของพระองค์ไปให้คลุมพื้นศิลาแล้ว.
ท้าวสักกะทรงดำริว่า "พระศาสดาทรงโยนจีวรมาให้คลุมไว้ก่อน,
ก็พระองค์จักประทับนั่ง ในที่นิดหน่อย ด้วยพระองค์เอง."
พระศาสดาทรงทราบอัธยาศัยของท้าวเธอ
จึงประทับนั่งทำบัณฑุกัมพลสิลาไว้ภายในขนดจีวรนั่นเอง
ประหนึ่งภิกษุผู้ทรงผ้ามหาบังสุกุล ทำตั่งเตี้ยไว้ภายในขนดจีวรฉะนั้น.
(เมื่อพระศาสดาทรงประทับนั่งก็เต็มพอดี กับแท่นบัณฑุกัมพลสิลาอาสน์)
(ซึ่งยาว ๖๐ โยชน์ กว้าง ๕๐ โยชน์ หนา ๑๕ โยชน์)
ท้าวสักกะเห็นอัศจรรย์แห่งพุทธานุภาพ ด้วยประการฉะนี้.
**********
ขณะนั้นเอง แม้มหาชนแลดูพระศาสดาอยู่ ก็มิได้เห็น.
กาลนั้น ได้เป็นประหนึ่งเวลาพระจันทร์ตก,
และได้เป็นเหมือนเวลาพระอาทิตย์ตก.
มหาชนคร่ำครวญกล่าวคาถานี้ว่า:-
"พระศาสดาเสด็จไปสู่เขาจิตรกูฏ หรือสู่เขาไกรลาส หรือสู่เขายุคันธร,
เราทั้งหลายจึงไม่เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้โลกเชษฐ์ ผู้ประเสริฐกว่านระ."
อีกพวกหนึ่งกำลังคร่ำครวญว่า
"ชื่อว่าพระศาสดา ทรงยินดีแล้วในวิเวก, พระองค์จักเสด็จไปสู่แคว้นอื่น
หรือชนบทอื่นเสียแล้ว เพราะทรงละอายว่า
‘เราทำปาฏิหาริย์เห็นปานนี้ แก่บริษัทเห็นปานนี้,’ บัดนี้
เราทั้งหลายคงไม่ได้เห็นพระองค์" ดังนี้ กล่าวคาถานี้ว่า:-
"พระองค์ผู้เป็นปราชญ์ ทรงยินดีแล้วในวิเวก
จักไม่เสด็จกลับมาโลกนี้อีก,
เราทั้งหลายจะไม่เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้โลกเชษฐ์ ผู้ประเสริฐกว่านระ" ดังนี้.
ชนเหล่านั้นถามพระมหาโมคคัลลานะว่า
"พระศาสดาเสด็จไปที่ไหน ? ขอรับ" ท่านแม้ทราบอยู่เอง
ก็ยังกล่าวว่า "จงถามพระอนุรุทธเถิด"
ด้วยมุ่งหมายว่า "คุณแม้ของสาวกอื่นๆ จงปรากฏ" ดังนี้.
ชนเหล่านั้นถามพระเถระอย่างนั้นว่า "พระศาสดาเสด็จไปที่ไหน ? ขอรับ."
อนุรุทธ. เสด็จไปจำพรรษาที่บัณฑุกัมพลสิลา ในภพดาวดึงส์
แล้วทรงแสดงอภิธรรมปิฎกแก่พระมารดา.
มหาชน. จักเสด็จมาเมื่อไร ? ขอรับ.
อนุรุทธ. ทรงแสดงอภิธรรมปิฎกตลอด ๓ เดือนแล้ว
จักเสด็จมาในวันมหาปวารณา.
ชนเหล่านั้นพูดกันว่า "พวกเราไม่ได้เห็นพระศาสดา จักไม่ไป"
ดังนี้แล้ว ทำที่พักอยู่แล้วในที่นั้นนั่นเอง.
ได้ยินว่า ชนเหล่านั้นได้มีอากาศนั่นเอง เป็นเครื่องมุงเครื่องบัง
ชื่อว่าเหงื่อที่ไหลออกจากตัวของบริษัทใหญ่ถึงเพียงนั้น มิได้ปรากฏแล้ว.
แผ่นดินได้แหวกช่องให้แล้ว.
พื้นแผ่นดินในที่ทุกแห่ง ได้เป็นที่สะอาดทีเดียว.
พระศาสดาได้ตรัสสั่งพระมหาโมคคัลลานะไว้ก่อนทีเดียวว่า
"โมคคัลลานะ เธอพึงแสดงธรรมแก่บริษัทนั่น,
จุลอนาถบิณฑิกะจักให้อาหาร."
เพราะเหตุนั้น จุลอนาถบิณฑิกะแล ได้ให้แล้วซึ่งข้าวต้ม ข้าวสวย
ของเคี้ยว ของหอม ระเบียบและเครื่องประดับ แก่บริษัทนั้น
ทุกเวลาทั้งเช้าและเย็นตลอดไตรมาสนั้น.
พระมหาโมคคัลลานะแสดงธรรมแล้ว วิสัชนาปัญหาที่
เหล่าชนผู้มาแล้วๆ เพื่อดูปาฏิหาริย์ถามแล้ว.
**********
~ พระสัมพุทธเจ้าไพโรจน์ล่วงเหล่าเทวดา ~
เทวดาในหมื่นจักรวาล แวดล้อมแม้พระศาสดา ผู้ทรงจำพรรษา
ที่บัณฑุกัมพลสิลา เพื่อทรงแสดงอภิธรรมแก่พระมารดา เหตุนั้น
พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวว่า:-
"ในกาลใด พระพุทธเจ้า ผู้เป็นยอดบุรุษประทับ
อยู่เหนือบัณฑุกัมพลสิลา ณ ควงไม้ปาริฉัตตกะ ในภพดาวดึงส์,
ในกาลนั้น เทพดาทั้งหลายในหมื่นโลกธาตุ
ประชุมพร้อมกันแล้วเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ประทับอยู่บนยอดเขา, เทพดาองค์ไหนๆ
ก็หาไพโรจน์กว่าพระสัมพุทธเจ้าโดยวรรณะไม่,
พระสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ย่อมไพโรจน์ล่วงปวงเทพดาทั้งหมด."
ก็เมื่อพระศาสดานั้น ประทับนั่งครอบงำเทพดาทุกหมู่เหล่า
ด้วยรัศมีพระสรีระของพระองค์อย่างนี้
พระพุทธมารดาเสด็จมาจากวิมานชั้นดุสิต ประทับนั่ง ณ พระปรัศว์เบื้องขวา.
แม้อินทกเทพบุตร ก็มานั่ง ณ พระปรัศว์เบื้องขวาเหมือนกัน.
อังกุรเทพบุตรมานั่ง ณ พระปรัศว์เบื้องซ้าย.
อังกุรเทพบุตรนั้น เมื่อเทพดาทั้งหลายผู้มีศักดิ์ใหญ่ประชุมกัน
ร่นออกไปแล้ว ได้โอกาสในที่มีประมาณ ๑๒ โยชน์.
อินทกเทพบุตรนั่งในที่นั่นเอง.
พระศาสดาทอดพระเนตรดูเทพบุตรทั้งสองนั้นแล้ว
มีพระประสงค์จะยังบริษัทให้ทราบความที่ทานอันบุคคลถวายแล้ว
แก่ทักขิไณยบุคคลในศาสนาของพระองค์ เป็นกุศลมีผลมาก
จึงตรัสอย่างนี้ว่า "อังกุระเธอทำแถวเตาไฟยาว ๑๒ โยชน์ให้ทานเป็นอันมาก
ในกาลประมาณหมื่นปีซึ่งเป็นระยะกาลนาน, บัดนี้เธอมาสู่สมาคมของเรา
ได้โอกาสในที่ไกลตั้ง ๑๒ โยชน์ ซึ่งไกลกว่าเทพบุตรทั้งหมด;
อะไรหนอแล เป็นเหตุในข้อนี้ ?"
**********
แท้จริงพระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลาย ก็ได้กล่าวไว้ดังนี้ว่า:-
"พระสัมพุทธเจ้า ทอดพระเนตรอังกุรเทพบุตร
และอินทกเทพบุตรแล้ว เมื่อจะทรงยกย่องทักขิไณยบุคคล
ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า
‘อังกุระ เธอให้ทานเป็นอันมาก ในระหว่างกาลนาน,
เธอเมื่อมาสู่สำนักของเรา นั่งเสียไกลลิบ."
**********
~ พระศาสดาตรัสได้ยินถึงมนุษยโลก ~
พระสุรเสียงนั้น (ดัง) ถึงพื้นปฐพี.
บริษัททั้งหมดนั้น ได้ยินพระสุรเสียงนั้น.
เมื่อพระศาสดาตรัสอย่างนั้นแล้ว อังกุรเทพบุตร
อันพระศาสดาผู้มีพระองค์อันอบรมแล้วตรัสเตือนแล้ว ได้กราบทูลคำนี้ว่า:-
"ข้าพระองค์จะต้องการอะไร
ด้วยทานอันว่างเปล่าจากทักขิไณยบุคคล
ยักษ์*(เทพบุตรผู้อันบุคคลพึงบูชา.)
ชื่ออินทกะนี้นั้นถวายทานแล้วนิดหน่อย
ยังรุ่งเรืองยิ่งกว่าข้าพระองค์ดุจพระจันทร์ในหมู่ดาว."
เมื่ออังกุรเทพบุตรกราบทูลอย่างนั้นแล้ว
พระศาสดาตรัสกะอินทกเทพบุตรว่า
"อินทกะ เธอนั่งข้างขวาของเรา, ไฉนจึงไม่ต้องร่นออกไปนั่งเล่า ?"
อินทกเทพบุตรกราบทูลว่า "พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ได้ทักขิไณยสมบัติแล้ว
ดุจชาวนาหว่านพืชนิดหน่อยในนาดี" ดังนี้แล้ว
เมื่อจะประกาศทักขิไณยบุคคล จึงกราบทูลว่า:-
"พืชแม้มาก อันบุคคลหว่านแล้วในนาดอนผลย่อมไม่ไพบูลย์
ทั้งไม่ยังชาวนาให้ยินดี ฉันใด,
ทานมากมาย อันบุคคลตั้งไว้ในหมู่ชนผู้ทุศีล ผลย่อมไม่ไพบูลย์
ทั้งไม่ยังทายกให้ยินดี ฉันนั้นเหมือนกัน;
พืชแม้เล็กน้อย อันบุคคลหว่านแล้วในนาดี
เมื่อฝนหลั่งสายน้ำถูกต้อง (ตามกาล)
ผลก็ย่อมยังชาวนาให้ยินดีได้ ฉันใด,
เมื่อสักการะแม้เล็กน้อย
อันทายกทำแล้วในเหล่าท่านผู้มีศีล
ผู้มีคุณคงที่ผลก็ย่อมยังทายกให้ยินดีได้ ฉันนั้นเหมือนกัน."
**********
ทานที่ให้ในทักขิไณยบุคคลมีผลมาก
ถามว่า "ก็บุรพกรรมของอินทกเทพบุตรนั้น เป็นอย่างไร ?"
แก้ว่า "ได้ยินว่า อินทกเทพบุตรนั้นได้ให้ถวายภิกษาทัพพีหนึ่ง
ที่เขานำมาแล้วเพื่อตน แก่พระอนุรุทธเถระผู้เข้าไปบิณฑบาตภายในบ้าน.
บุญของเธอนั้น มีผลมากกว่าทานที่อังกุรเทพบุตร
ทำแถวเตาไฟยาวตั้ง ๑๒ โยชน์ ให้แล้วตั้งหมื่นปี,
เพราะเหตุนั้น อินทกเทพบุตรจึงกราบทูลอย่างนั้น."
เมื่ออินทกเทพบุตรกราบทูลอย่างนั้นแล้ว
พระศาสดาตรัสว่า
"อังกุระ การเลือกเสียก่อนแล้วให้ทานจึงควร,
ทานนั้นย่อมมีผลมากด้วยอาการอย่างนี้
ดุจพืชที่เขาหว่านดีในนาดีฉะนั้น;
แต่เธอหาได้ทำอย่างนั้นไม่,
เหตุนั้น ทานของเธอจึงไม่มีผลมาก"
เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ให้แจ่มแจ้งจึงตรัสว่า:-
"ทานอันบุคคลให้แล้วในเขตใด มีผลมาก,
บุคคลพึงเลือกให้ทานในเขตนั้น;
การเลือกให้ อันพระสุคตทรงสรรเสริญแล้ว,
ทานที่บุคคลให้แล้วในทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย
ที่มีอยู่ในโลกคือหมู่สัตว์ที่ยังเป็นอยู่นี้
มีผลมาก เหมือนพืชที่บุคคลหว่านแล้วในนาดีฉะนั้น."
เมื่อจะทรงแสดงธรรมให้ยิ่งขึ้นไป ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า:-
"นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นเครื่องประทุษร้าย
หมู่สัตว์นี้มีราคะเป็นเครื่องประทุษร้าย,
เพราะเหตุนั้นแลทานที่บุคคลให้แล้ว
ในท่านที่มีราคะไปปราศแล้วทั้งหลาย จึงมีผลมาก.
นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นเครื่องประทุษร้าย
หมู่สัตว์นี้มีโทสะเป็นเครื่องประทุษร้าย,
เพราะเหตุนั้นแล ทานที่บุคคลให้แล้ว
ในท่านผู้มีโทสะไปปราศแล้วทั้งหลาย จึงมีผลมาก.
นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นเครื่องประทุษร้าย
หมู่สัตว์นี้มีโมหะเป็นเครื่องประทุษร้าย,
เพราะเหตุนั้นแล ทานที่บุคคลให้แล้ว
ในท่านผู้มีโมหะไปปราศแล้วทั้งหลาย จึงมีผลมาก.
นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นเครื่องประทุษร้าย,
หมู่สัตว์นี้มีความอยากเป็นเครื่องประทุษร้าย
เพราะเหตุนั้นแล ทานที่บุคคลให้แล้ว
ในท่านผู้มีความอยากไปปราศแล้วทั้งหลาย จึงมีผลมาก."
ในกาลจบเทศนา อังกุรเทพบุตร และ อินทกเทพบุตร
ดำรงอยู่แล้วในโสดาปัตติผล.
(ธรรมเทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่มหาชนแล้ว).
**********
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
พุทธประวัติ
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย