8 ม.ค. 2023 เวลา 08:16 • ประวัติศาสตร์

มีนาคม พ.ศ. 2328

เมื่อสงครามกับพม่าทางปักษ์ใต้สงบราบคาบหมดลงเเล้ว สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงทราบข่าวว่า "พระมหาช่วย" ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรวมใจคนพัทลุงให้สู้รบกับข้าศึกที่เข้ามารุกรานนั้น บัดนี้ได้ต้องอาบัติสงฆ์เป็นที่เรียบร้อยเเล้ว
จึงทรงมีพระบัณฑูรให้พระยาพัทลุงเเละกรมการเมืองมาเข้าเฝ้ากราบถวายรายงานเกี่ยวกับการป้องกันเมือง เมื่อทรงทราบความว่า ท่านพระมหาช่วย ต้องอาบัติสงฆ์เเล้วจึงทรงมีพระบัณฑูรให้พระมหาช่วยลาสมณเพศเเละทรงเเต่งตั้งให้เป็น "พระยาทุกขราษฎร์" ผู้ช่วยว่าราชการเมืองพัทลุงสืบไป
เเละผลงานสำคัญที่ป้องกันศึกเมืองถลางไว้ได้ในครั้งนั้น สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงมีหนังสือกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวเสนอความดีความชอบให้เเก่เหล่าผู้กล้า โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าเเต่งตั้งให้
คุณหญิงจัน เป็น "ท้าวเทพกษัตรี"
คุณมุก เป็น "ท้าวศรีสุนทร"
นายทองพูน เป็น "พระยาถลาง" เจ้าเมืองถลาง ซึ่งคือต้นสกุล "ณ ถลาง"
นายอาจ(สามีคุณมุก) เป็น "พระอาจ" ปลัดเมืองถลาง
นายเทียน(บุตรคนโตของคุญหญิงจัน) เป็น "พระยาทุกขราษฎร์" เจ้าเมืองภูเก็ต
เเละทรงเเต่งตั้งเจ้าพระยาสุรินทรราชา อุปราชเมืองนครศรีธรรมราชมาดำรงตำเเหน่งผู้สำเร็จราชการหัวเมืองตะวันตกประจำอยู่ที่เมืองตะกั่วทุ่ง
ส่วนในฝั่งของเจ้านาย ขุนนาง เชื้อพระวงศ์ ที่ได้เสียสละตนออกรบอย่างกล้าหาญเช่นกันในศึกครั้งนี้ก็ได้รับการปูนบำเหน็จกันถ้วนหน้า
เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น "กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข"(กรมพระราชวังหลัง)
เจ้าขุนเณรได้รับการสถาปนาเป็น "พระองค์เจ้าขุนเณร"
พร้อมวังที่ประทับใหม่คือวังบ้านปูนใกล้กับวัดระฆังโฆสิตาราม
พระยาอุไทยธรรม เลื่อนขึ้นเป็น "เจ้าพระยายมราช"
พระยาพิพัฒโกษา เลื่อนขึ้นเป็น "เจ้าพระยาธรรมาธิบดี"
"พระยากาวิละ" ซึ่งรักษาเมืองลำปางไว้ได้ จึงทรงโปรดเกล้าให้ไปปกครองเเละฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่
เหล่าวีรชนผู้กล้า สตรีเพศ พระสงฆ์ เจ้านาย เเละเหล่าขุนศึกทหารกล้าทั้งหลายได้ร่วมเเรงรวมใจ จนสามารถรักษาเเผ่นดินผืนนี้ไว้ให้พวกเราได้จากการรุกรานของพม่าทัพใหญ่ 9 ทัพในคราวนั้นไว้ได้
พวกเราเหล่าลูกหลานไทยขอสดุดีในวีรกรรมอันหาญกล้าของพวกท่านทั้งหลายในคราวนั้นมา ณ บทความนี้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา