27 ม.ค. 2023 เวลา 11:45 • ไลฟ์สไตล์

๏ ปริเฉทที่ ๒๖ (ตอน ๕)

มหาปรินิพพานปริวรรต
โปรดสุภัททปริพาชก
**********
~ เรื่องสุภัททปริพาชก ~
ก็สมัยนั้น ปริพาชกนามว่า สุภัททะ
อาศัยอยู่ในเมืองกุสินารา
สุภัททปริพาชกได้สดับว่า พระสมณโคดม
จักปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้แหละ
สุภัททปริพาชกได้มีความคิดอย่างนี้ว่า
ก็เราสดับถ้อยคำของพวกปริพาชกผู้เฒ่าผู้แก่
ซึ่งเป็นอาจารย์และปาจารย์กล่าวอยู่ว่า
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
จะอุบัติในโลก ในบางครั้งบางคราว
พระสมณโคดมจักปรินิพพาน
ในปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้แหละ
อนึ่ง ธรรมอันเป็นที่สงสัยนี้ ซึ่งบังเกิดขึ้นแก่เราก็มีอยู่
เราเลื่อมใสในพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า
พระสมณโคดม ย่อมสามารถจะแสดงธรรมแก่เรา
โดยประการที่เราจะพึงละธรรมอันเป็นที่สงสัยนี้ได้ ฯ
ลำดับนั้น สุภัททปริพาชกเข้าไปยัง สาลวัน...
เข้าไปหาท่านพระอานนท์
ครั้นแล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านอานนท์
ขอโอกาสเถิด ข้าพเจ้าควรได้เฝ้าพระสมณโคดม
เมื่อสุภัททปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว
ท่านพระอานนท์ได้กล่าวตอบสุภัททปริพาชกว่า
อย่าเลยสุภัททะ ท่านอย่าเบียดเบียนพระตถาคตเลย
พระผู้มีพระภาคทรงลำบากแล้ว
แม้ครั้งที่สอง...
แม้ครั้งที่สาม...
ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ขอโอกาสเถิด...
ข้าพเจ้าควรได้เฝ้าพระสมณโคดม
แม้ครั้งที่สาม...
ท่านพระอานนท์ ก็ได้กล่าวตอบสุภัททปริพาชกว่า
อย่าเลย สุภัททะ ท่านอย่าเบียดเบียนพระตถาคตเลย
พระผู้มีพระภาคทรงลำบากแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงได้ยินถ้อยคำท่านพระอานนท์
เจรจากับสุภัททปริพาชก
ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาค จึงตรัสเรียก
ท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า อย่าเลยอานนท์
เธออย่าห้ามสุภัททะ สุภัททะจงได้เฝ้าตถาคต
สุภัททะจักถามปัญหา อย่างใดอย่างหนึ่งกะเรา
จักมุ่งเพื่อความรู้ มิใช่มุ่งความเบียดเบียน
อนึ่ง เราอันสุภัททะถามแล้ว
จักพยากรณ์ข้อความอันใดแก่สุภัททะนั้น
สุภัททะจักรู้ทั่วถึงข้อความนั้นโดยฉับพลันทีเดียว ฯ
(เพราะพระองค์เสด็จมาด้วยอุตสาหะอันใหญ่
เพื่อโปรดสุภัททะนั่นแล...)
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ ได้บอกสุภัททปริพาชกว่า
ไปเถิดสุภัททะ... พระผู้มีพระภาคทรงทำโอกาสแก่ท่าน
**********
สุภัททปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ...
แล้วได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ...
สมณพราหมณ์เหล่านี้ใด เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ
เป็นคณาจารย์มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ
ชนเป็นอันมาก สมมติว่าเป็นคนดี
(เป็นพระอรหันต์)
คือบูรณกัสสป มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล
ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร นิครณฐนาฏ
บุตรสมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด
ได้ตรัสรู้ตามปฏิญญาของตนๆ ...?
หรือว่าทั้งหมดไม่ได้ตรัสรู้...?
หรือว่าบางพวกไม่ได้ตรัสรู้...?
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
"อย่าเลย สุภัททะ ที่ข้อถามนั้นงดเสียเถิด..."
"ดูกรสุภัททะเราจักแสดงธรรมแก่ท่าน
ท่านจงตั้งใจฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดีเราจักกล่าว..."
สุภัททปริพาชกทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยใด
ไม่มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘
ในธรรมวินัยนั้น ไม่มีสมณะที่ ๑ (พระโสดาบัน)
สมณะที่ ๒ (พระสกทาคามี)
สมณะที่ ๓ (พระอนาคามี)
หรือสมณะที่ ๔ (พระอรหันต์)
ในธรรมวินัยใด มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘
ในธรรมวินัยนั้น มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔
(มีพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์)
ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยนี้
มีอริยมรรคประกอบด้วย องค์ ๘
ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น
มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔
(มีพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์)
ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง...
ก็ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ (ด้วยมรรค ๘)
โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ
**********
~ ทรงแสดงธรรมแก่สุภัททปริพาชก สมณะ ๔ ~
ดูกรสุภัททะ เราโดยวัยได้ ๒๙ ปี
บวชแล้ว ตามแสวงหาว่า อะไรเป็นกุศล...?
ตั้งแต่เราบวชแล้ว นับได้ ๕๑ ปี
แม้สมณะ ผู้เป็นไปในประเทศแห่งธรรมเป็นเครื่องนำออก
ไม่มีในภายนอกแต่ธรรมวินัยนี้ ฯ
สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ หรือสมณะที่ ๔ ก็มิได้มี
ลัทธิอื่นว่างจากสมณะ ผู้รู้ทั่วถึง
ก็ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ (ด้วยมรรค ๘)
โลกไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว
สุภัททปริพาชก ได้กราบทูลว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิดบอกทางแก่คนหลงทาง
หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า
ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด..."
"พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรม
โดยอเนกปริยาย ฉันนั้น เหมือนกัน..."
"ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค
พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์
ว่าเป็นสรณะ..."
"ข้าพระองค์พึงได้บรรพชา
พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค"
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
"ดูกรสุภัททะ ผู้ใดเคยเป็นอัญญเดียรถีย์
หวังบรรพชา หวังอุปสมบท ในธรรมวินัยนี้"
"ผู้นั้นต้องอยู่ปริวาสสี่เดือน เมื่อล่วงสี่เดือน
ภิกษุ ทั้งหลายเต็มใจแล้ว...
จึงให้บรรพชา ให้อุปสมบท เพื่อความเป็นภิกษุ
ก็แต่ว่าเรารู้ความต่างแห่งบุคคลในข้อนี้"
สุภัททปริพาชกกราบทูลว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากผู้ที่เคยเป็นอัญญเดียรถีย์
หวังบรรพชา หวังอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้
จะต้องอยู่ปริวาสสี่เดือน
เมื่อล่วงสี่เดือน ภิกษุทั้งหลายเต็มใจแล้ว
จึงให้บรรพชา ให้อุปสมบท เพื่อความ เป็นภิกษุไซร้"
"ข้าพระองค์จักอยู่ปริวาสสี่ปี เมื่อล่วงสี่ปี
ภิกษุทั้งหลายเต็มใจแล้ว จึงให้บรรพชา ให้อุปสมบทเถิด..."
**********
~ พระสุภัททะสำเร็จพระอรหัตผล ~
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก
ท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า
"ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้น
เธอจงให้สุภัททปริพาชกบวชเถิด..."
ท่านพระอานนท์ทูลรับ
พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะสุภัททปริพาชกว่า
"ดูกรสุภัททปริพาชก ผู้มีอายุ เป็นลาภของท่าน
ท่านได้ดีแล้ว ที่พระศาสดาทรงอภิเษก
ด้วยอันเตวาสิกาภิเษก ในที่เฉพาะพระพักตร์ ในพระศาสนานี้"
สุภัททปริพาชกได้บรรพชา
อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค
ก็ท่านสุภัททปริพาชกได้บรรพชาอุปสมบทแล้วไม่นาน
หลีกออกไปอยู่แต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท
มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่ ไม่ช้านานนัก
ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า
ที่กุลบุตร ทั้งหลายผู้มีความต้องการ
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ
ด้วยปัญญา อันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน
เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี...
(ท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์ ในคืนก่อนพุทธปรินิพพาน)
ท่านสุภัททะ ได้เป็นอรหันต์รูปหนึ่ง
ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย
ท่านเป็น "ปัจฉิมสักขิสาวก" ของพระผู้มีพระภาค ฯ
(สาวกผู้ทันเห็น องค์สุดท้าย)
(สาวกที่ บรรพชาอุปสมบท เรียนกัมมัฏฐาน บรรลุพระอรหัต
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ยังทรงพระชนม์อยู่)
(บางครั้งเรียกสั้น ๆ ว่า ปัจฉิมสาวก)
**********
~ บุพกรรมสุภัททปริพาชก ~
ได้ยินว่า ในอดีตกาลแต่ก่อน...
ได้มีพี่น้อง ๒ คน ในการบำเพ็ญบุญ.
พี่น้อง ๒ คนนั้น ได้กระทำข้าวกล้าร่วมกัน
ใน ๒ คนนั้น พี่ชายคิดว่า
เราจักถวายทานข้าวกล้าอันเลิศปีละ ๙ ครั้ง.
ฤดูหว่าน ถวายเมล็ดอันเลิศ...
ในฤดูข้าวตั้งท้องปรึกษากับน้องชายว่า
จักผ่าท้องกล้าถวาย.
น้องชายบอกว่า พี่ต้องการจะให้ข้าวกล้าอ่อนพินาศไปหรือ.
พี่ชายรู้ว่าน้องชายไม่ยินยอม จึงแบ่งนากัน
ผ่าท้องข้าวจากส่วนของตน คั้นน้ำนม
ปรุงด้วยเนยใสและน้ำอ้อย.
(๑) ฤดูข้าวตั้งท้อง ผ่าท้องกล้าถวาย...
(๒) ในฤดูเป็นข้าวเม่า ก็ให้กระทำ ข้าวเม่าถวาย.
(๓) ในเวลาเกี่ยว ก็ให้ ถวายข้าวอันเลิศ.
(๔) ในเวลามัดขะเน็ด ก็ได้ ถวายข้าวอันเลิศ
(๕) ในเวลาทำขะเน็ด ก็ได้ ถวายข้าวอันเลิศ
(๖) ในเวลาทำเป็นฟ่อนเป็นต้น ก็ได้ ถวายข้าวอันเลิศ
(๗) ถวายข้าวอันเลิศ ขณะขนไว้ในลาน
(๘) ถวายข้าวอันเลิศ ขณะนวด
(๙) ถวายข้าวอันเลิศ ในขณะอยู่ในฉาง.
ได้ถวายทานเลิศในข้าวกล้าปีละ ๙ ครั้ง ดังกล่าวมาฉะนี้.
ส่วนน้องชายเสร็จทำนาแล้วจึงจะถวาย.
ในพี่น้อง ๒ คนนั้น
พี่ชายเกิดเป็นพระอัญญาโกณฑัญญเถระ.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูว่า
เราจะพึงแสดงธรรม โปรดแก่ใครก่อนหนอ
จึงทรงพระดำริว่า พระอัญญาโกณฑัญญะ
ได้ถวายทานอันเลิศ ในข้าวกล้า ปีละ ๙ ครั้ง
(และตั้งความปรารถนา เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุ ผู้รู้ราตรีนาน)
เราจักแสดงธรรมอันเลิศนี้แก่เขา
จึงทรงแสดงโปรดก่อนคนอื่นทั้งหมด.
ท่านดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล
พร้อมกับพรหม ๑๘ โกฏิ.
ส่วนน้องชายล่าช้า... คิดได้อย่างนี้
ในเวลาพระศาสดาปรินิพพาน
เพราะถวายทานในภายหลัง...
(ผลแห่งการถวายทานล่าช้า ถวายในภายหลัง)
[ที่มา]
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค
**********
~ ว่าด้วยผลแห่งการบูชาด้วยผอบไม้จันทน์ ~
พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตระ
ทรงรู้แจ้งโลก ผู้ควรรับเครื่องบูชา ผู้มียศมาก
ทรงถอนหมู่ชนขึ้นแล้ว จะเสด็จนิพพาน
ก็เมื่อพระสัมพุทธเจ้าทรงยังหมื่นโลกธาตุให้หวั่นไหวแล้ว
จะเสด็จนิพพาน หมู่ชนและเทวดาเป็นอันมาก
ได้ประชุมกันในเวลานั้น เราเอากฤษณา
และดอกมะลิซ้อนใส่ผอบไม้จันทน์เต็มแล้ว
ร่าเริง มีจิตโสมนัส ยกขึ้นบูชาพระผู้มีมีพระภาคผู้เป็นนระอุดม
พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยมในโลก
ทรงทราบความดำริของเรา ทรงบรรทมอยู่นั่นแล
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
ผู้ใดเอา (ร่ม) กฤษณาและมะลิซ้อนบังร่มให้เราในกาลที่สุด
เราจักพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว
บุคคลผู้นี้เคลื่อนจากโลกนี้แล้ว จักไปสู่หมู่เทวดาชั้นดุสิต
เขาได้เสวยรัชสมบัติในชั้นดุสิตนั้นแล้ว
จักไปสู่ชั้นนิมมานรดี
เขาถวายดอกมะลิซ้อนอันประเสริฐสุดด้วยอุบายนี้แล้ว
จักปรารภกรรมของตนเสวยสมบัติ
บุคคลผู้นี้จักบังเกิดในชั้นดุสิตนั้นอีก
เคลื่อนจากชั้นนั้นแล้ว
จักไปสู่ความเป็นมนุษย์ พระมหานาคศากยบุตร
ผู้เลิศในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ผู้มีพระจักษุ
ทรงยังสัตว์ให้ตรัสรู้เป็นอันมากแล้ว
จักเสด็จนิพพานในกาลนั้น
เขาอันกุศลมูลตักเตือนแล้ว จักเข้าไปเฝ้า
ครั้นเข้าไปเฝ้าพระสัมพุทธเจ้าแล้ว
จักทูลถามปัญหาในกาลนั้น
พระสัพพัญญูสัมพุทธเจ้าผู้เป็นนายกของโลก
ทรงให้ร่าเริง ทรงทราบบุรพกรรมแล้ว
จักทรงเปิดเผย (แสดง) สัจจะทั้งหลาย
เขายินดีว่า ปัญหานี้ พระศาสดาทรงปรารภ (แก้) แล้ว
มีใจชื่นชม ถวายบังคมพระศาสดาแล้วจักทูลขอบวช
พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงฉลาดในธรรมอันเลิศ
ทรงเห็นว่าเขามีใจเลื่อมใส ยินดีด้วยกรรมของตน
จักทรงให้บวช บุคคลผู้นี้พยายามแล้ว
จักกำหนดรู้อาสวะทั้งปวงได้
แล้วจักไม่มีอาสวะนิพพาน
ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
เราประกอบด้วยบุพกรรม มีจิตชื่นชม ตั้งมั่นด้วยดี
เป็นบุตรผู้เกิดแต่พระหทัยของพระพุทธเจ้า
อันธรรมนิรมิตดีแล้ว เราเข้าไปเฝ้าพระธรรมราชาแล้ว
ได้ทูลถามปัญหาอันสูงสุด และเมื่อพระผู้มีพระภาค
จะทรงแก้ปัญหาของเราได้ตรัสกระแสธรรม
เรารู้ทั่วถึงธรรมของพระองค์แล้ว ยินดีในศาสนาอยู่
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว ไม่มีอาสวะอยู่
ในแสนกัลปแต่กัลปนี้ พระผู้มีพระภาค
พระนามว่าปทุมุตระผู้นายกอุดม
ไม่ทรงมีอุปาทานเสด็จนิพพานแล้ว
ดังประทีปดับเพราะสิ้นน้ำมัน ฉะนั้น
พระสถูปแก้วของพระผู้มีพระภาคสูงประมาณ ๗ โยชน์
เราได้ทำธงสวยงามกว่าธงทั้งปวง
เป็นที่รื่นรมย์ใจ บูชาไว้ที่พระสถูปนั้น
**********
~ ว่าด้วยผลการกล่าววาจาเลวทราม ~
พระอัครสาวกชื่อติสสะ
ของพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป
เป็นบุตรผู้เกิดในหทัยของเรา
เป็นทายาทในพระพุทธศาสนา
เรามีใจเลวทรามได้กล่าววาจาอันไม่เจริญ
แก่พระอัครสาวกนั้น
ด้วยผลแห่งกรรมนั้น
ความเจริญจึงได้มีแก่เราในภายหลัง
(ในกาลสุดท้าย ก่อนปรินิพพาน)
**********
พระมุนีมหาวีรชินเจ้า ผู้ทรงเกื้อกูล
ประกอบด้วยพระกรุณา
ทรงประทานบรรพชาแก่เราบนที่บรรทมครั้งสุด
ณ ศาลวันอันเป็นที่เวียนมาแห่งมัลลกษัตริย์ทั้งหลาย
บรรพชาก็มีในวันนี้เดี๋ยวนี้เอง
อุปสมบทก็ในวันนี้เอง
ปรินิพพานก็ในวันนี้เอง
เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคผู้สูงสุดกว่าสัตว์
คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว
พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.
ทราบว่า ท่านพระสุภัททเถระ
ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
[ที่มา]
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ สุภัททเถราปทานที่ ๙
**********

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา