2 ก.พ. 2023 เวลา 14:00 • หนังสือ

เราเป็นคนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือเรื่องการบริหารเวลาเลยค่ะ 😅

ไม่ใช่ว่าเทคนิคการบริหารเวลามันไม่เวิคนะคะ มันเวิคค่ะ แต่มันเวิคแค่แปบเดียว เดี๋ยวก็มีปัญหาเรื่องเวลาต้องกลับมาแก้กันใหม่ บ้างก็ยุ่งไป บ้างก็ว่างไป ด้วยเหตุนี้เราเลยเลิกอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับการบริหารเวลามาพักนึงแล้ว
จนกระทั่งมีคนแนะนำให้เราอ่าน Four thousand weeks - Time management of mortals หรือชื่อภาษาไทยคือ “ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์” ตอนแรกเราก็ลังเลเพราะมันดูเป็นหนังสือสอนให้บริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพทั่วๆไป แต่กลับกลายเป็นว่าเนื้อหาลึกซึ้งกว่านั้นค่ะ 🙂
ในหน้า 11 ของหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียน (Oliver Buckerman) บอกว่าการบริหารจัดการเวลาที่พวกเรารู้จักกันอยู่นั้น “ล้มเหลวอย่างน่าอนาถ” ซึ่งมันตรงกับที่เรารู้สึกพอดีที่ไม่ว่าจะบริหารเวลาดีแค่ไหนก็จะมีปัญหาขึ้นมาอยู่ร่ำไป วันนี้เราเลยอยากมาสรุปประเด็นที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้ให้ทุกคนกันค่ะ 🙂
เริ่มกันที่ประเด็นแรกเลยคือ - “คุณจะไม่มีวันที่จะควบคุมเวลาให้เป็นอย่างใจ”
เวลาที่เราทำอะไรเรามักจะใช้คำว่า “ใช้เวลา” เช่น “วันนี้ใช้เวลาไปกับการดูหนัง” แต่จริงๆแล้ว เราไม่สามารถ “ใช้” เวลาได้ เพราะเวลาไม่ใช่ทรัพยากรของเรา
1
ในโลกยุคก่อน ไอเดียเรื่องการ “ใช้เวลา” ยังไม่มี เพราะคนยุคหินไม่จำเป็นที่ต้องบริหารเวลา เขาต้องเก็บเกี่ยวเมื่อข้าวออกรวง รีดนมวัวเมื่อมีนม ไม่มีใครสามารถเก็บเกี่ยวติดต่อกัน 1 ปีทุกวันเพื่อที่จะตุนไปอีก 5 ปี ไม่มีการบริหารเวลาอะไรเพราะทำสิ่งเฉพาะที่เวลานั้นอนุญาตให้ทำ เหมือนกับเวลาเป็นนายของตารางชีวิตมนุษย์
แต่พอเข้ามาสู่ยุคใหม่นี้ เราเอาทรัพยากรอย่างเงินไปให้ค่าเวลาในแต่ละชั่วโมง ทำให้เวลานั้นกลายเป็นของมีค่าและทรัพยากรขึ้นมา เราจึงลืมความเป็นจริงไปว่าเราไม่ใช่นายของเวลา เราไปตีตราและให้ค่ามันซะจนเราชินและรู้สึกว่า “เวลาเป็นเรื่องที่เราต้องจัดการให้มีประสิทธิภาพ”
ผู้เขียนบอกว่า ยิ่งถ้าเราพยายามจะจัดการและควบคุมเวลามากเท่าไหร่ เราจะยิ่งหงุดหงิดและล้มเหลวมากเท่านั้น เขาเรียกมันว่า Paradox of limitation (ความย้อนแย้งของข้อจำกัด) ถ้าเรายอมรับความจริงข้อนี้ได้แล้ว หนังสือเล่มนี้ก็พาเราไปสู่ประเด็นถัดไปค่ะ
1
ประเด็นที่ 2 - จงเป็นนักผลัดวันประกันพรุ่งที่ดีกว่านี้
เวลาในชีวิตเรามันมีจำกัดมาก เราไม่มีทางยัดทุกอย่างที่อยากทำลงไปได้แน่นอน หลายๆคนตำหนิและไม่ชอบการผลัดวันประกันพรุ่ง แต่เราเลือกทำได้เพียงอย่างเดียวในเวลาใดเวลาหนึ่ง ทำให้การ “ไว้ก่อน เดี๋ยวทำ” เป็นธรรมชาติและหลีกเลี่ยงไม่ได้
2
แต่เราสามารถเป็นคนที่ผลัดวันประกันพรุ่งที่ดีกว่านี้ได้ ในหนังสือเล่มนี้ให้แนวทางไว้ใน 3 หลักการค่ะ
1) ให้เวลาสิ่งที่เราคิดว่าสำคัญ - ในเมื่อเราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ก็อย่าฝืน เลือกทำเฉพาะเรื่องที่เราคิดว่าสำคัญ ส่วนเรื่องที่ไม่สำคัญก็เลื่อนมันไปไว้ไกลๆเลย สิ่งสำคัญคือต้องหาเวลาให้สิ่งที่เราอยากทำจริงๆ อาจจะกันเวลาใน Calendar ไว้เลยก็ได้
2) ลดงานที่เป็น Work In Progress - ถ้าเรายิ่งมีงานที่ยังไม่เสร็จมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งมีเวลาให้สิ่งที่อยากทำให้สำเร็จจริงๆน้อยลง ลองทำงานให้เสร็จไปทีละอย่าง แทนที่จะทำหลายๆอย่างพร้อมๆกัน
1
3) หลีกเลี่ยงเรื่องที่ “ก็สำคัญ” อยู่นะ - เรื่องที่ “สำคัญอยู่นะ” คือเรื่องที่สำคัญแหละแต่ไม่ได้สำคัญขนาดนั้น เรื่องแบบนี้แหละที่จะทำให้โฟกัสของเราเสียไป ควรยอมรับกับตัวเองว่าเรื่องนี้เหมือนจะสำคัญก็จริงแต่มันไม่ได้สำคัญสำหรับเรา เราก็ไม่ต้องไปเสียเวลากับมัน
ประเด็นที่ 3 - คุณไม่ได้สำคัญขนาดนั้น อยากทำอะไรก็ทำเลย
ประเด็นเราพูดถึงในกรณีของคนที่รู้สึกว่า ชีวิตนี้เกิดมาต้องเปลี่ยนโลก หรือ มีเป้าหมายที่ใหญ่โตที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ถ้าใช้ชีวิตโดยให้ค่าว่าตัวฉันเป็น “Somebody” มันก็จะมีแนวโน้มที่เราจะลืมว่าในความเป็นจริงแล้วเราเป็นแค่ “Nobody”
มนุษย์เราเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตนึงในโลกเท่านั้น และในมนุษย์ด้วยกันเอง เราก็เป็นเพียงอีกแค่คนๆนึง ดังนั้นแล้วแทนที่จะใช้ชีวิตแบบที่ต้องวิ่งไล่ตามเป้าหมายเพื่อเป็นคนพิเศษและคนสำคัญ ลองให้เวลากับตัวเอง ใช้เวลาในเรื่องที่อยากจะใช้ พาตัวไปอยู่ในสังคมที่เราสบายใจ พอทำแบบนี้แล้วเราจะรู้สึกว่าแรงกดดันที่เรามีลดน้อยลง ตัวเราก็จะเบาสบายมากขึ้น
2
ในเล่มนี้มีพูดถึงเรื่องตลกร้ายของการใช้เวลาที่มาในรูปแบบของ Hobby (งานอดิเรก) คำนิยามของเวลาว่างที่เราเอาไปใช้ทำงานอดิเรกคือ “เวลาที่อยากทำอะไรก็ทำ” แต่หลายๆคน รวมไปถึงหลายๆองค์กรตอนนี้คาดหวังว่า งานอดิเรกจะต้องสร้างประโยชน์ เช่น คนที่ไม่มีความสนใจในธุรกิจ แต่กลับเลือกใช้เวลาว่างไปทำ Side job ขายของออนไลน์ เพราะอยากใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
1
ทั้งๆที่จุดประสงค์ของเวลาว่างมันไม่ได้มีขึ้นมาเพื่อ “สร้างประโยชน์” แต่มันมีให้เราพักจากอะไรก็ตามที่เราทำอยู่ ความรู้สึกที่ว่าเราอยากจะใช้เวลาทุกนาทีให้มีประโยชน์นั่นแหละคือวิธีการใช้เวลาที่ไม่มีประโยชน์เพราะเวลาว่างไม่ได้ทำหน้าที่ที่ถูกต้องของมัน
ชีวิตสี่พันสัปดาห์จะว่าสั้นก็ว่าสั้น แต่ส่วนตัวแล้วเราก็ว่ามันก็ยาวนานมากเหมือนกัน มันคงจะยาวนานถ้าเราใช้สี่พันสัปดาห์นี้ไปกับเรื่องที่คนอื่นให้ค่า คำถามสำคัญที่หนังสือเล่มนี้ถามเราคือ “ลืมเรื่องคนอื่นไปก่อน จริงๆแล้วสิ่งที่คุณให้ค่าคืออะไร” และให้เราใช้เวลากับสิ่งนั้นให้เต็มที่ เพื่อเอนจอยที่สุดกับสี่พันสัปดาห์ที่เราทุกคนได้มาอย่างมหัศจรรย์นี้ค่ะ 🙂
ซื้อหนังสือ Four Thousand Weeks ได้เลยที่ https://shope.ee/2fdB5doBHs
—————————————————————
ตอนนี้รีวิวทุกอย่างที่อ่านออกมีถึง 6 ช่องทางแล้วนะคะ 🥳
เอาใจทั้งสายอ่าน สายฟัง สาย Podcast
โฆษณา