14 ก.พ. 2023 เวลา 14:00 • หนังสือ

อยากกินแต่ไม่รู้ว่าหิวจริงหรือแค่เศร้า

การกินคือความสุข เราเคยได้ยินคนรอบข้างพูดแบบนี้อยู่บ่อยๆ ตัวเราเองก็เห็นด้วยว่าวันไหนได้กินของอร่อย วันนั้นก็จะแฮปปี้ไปทั้งวัน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจถ้าผู้คนจะใส่ใจในเรื่องอาหารการกินเพราะมันไม่ใช่แค่เพียงให้อิ่มท้องแต่มันทำให้อิ่มใจได้ด้วย
มีความเข้าใจผิดที่ว่าการกินเยอะเกินไปจะสร้างปัญหาทางสุขภาพเสมอ มีงานวิจัยบอกว่าคนที่น้ำหนักเกินแต่มีมวลกล้ามเนื้อพอเหมาะ สุขภาพองค์รวมแข็งแรงกว่า คนที่น้ำหนักไม่ถึงเกณฑ์แต่มีมวลกล้ามเนื้อน้อยเกินไป แน่นอนว่าความอ้วนเป็นสาเหตุของโรคมากมาย แต่ไม่ได้แปลว่าคนผอมมากๆดีกว่าคนอ้วน จุดสำคัญคือความสมดุลของร่างกายแต่ละคนว่าน้ำหนัก ปริมาณไขมัน และ ปริมาณกล้ามเนื้อที่เหมาะสมเป็นเท่าไหร่
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ คิมยุนอา เธอเคยมี Eating disorder สมัยเรียนม.ปลายและมหาวิทยาลัย เธอกังวลเรื่องรูปร่างมากทำให้พยายามที่จะลดน้ำหนัก เพราะพอเธอลดน้ำหนักก็จะมีแต่คนสนใจเธอว่าเธอไปทำอะไรมา ทำไมรูปร่างดูดีจัง เธอบอกว่าเธอทดลองทุกวิธีการลดน้ำหนักที่มีแล้วทั้ง IF คีโต รวมไปถึงการกินแล้วล้วงคอต่างๆ ตอนน้ีเธอเป็นผู้เชี่ยวชาญและให้คำปรึกษาด้าน Eating disorder ที่แก้ไขปัญหาโรคทางการกินที่ผิดปกติ เราได้จับประเด็นสำคัญในหนังสือเล่มนี้มาให้แล้วค่ะ 🙂
1. ประวัติศาสตร์ของการลดน้ำหนัก
ก่อนหน้านี้ในยุคโบราณผู้หญิงที่อวบคือผู้หญิงที่สวย เพราะมีอันจะกินและมีแนวโน้มจะรอดชีวิตหลังมีลูกได้มากกว่า อย่างที่เราจะเห็นในรูปปั้นหรือภาพวาดสมัยก่อนที่ผู้หญิงที่ไม่ได้ผอมบาง เมื่อเวลาผ่านไปมีความอดอยากเกิดขึ้น ผู้คนธรรมดาก็เริ่มผอมลงเพราะไม่มีอะไรจะกิน คนที่ยังมีอันจะกินอยู่คือกลุ่มชนชั้นสูงที่ยังมีรูปร่างอวบอ้วนสวยงาม ความรู้สึกจงเกลียดจงชังความอ้วนก็เลยเริ่มมาจากตรงนั้นเพราะรู้สึกว่าคนที่อ้วนคือกลุ่มคนที่เอารัดเอาเปรียบพวกเขา ทำให้พวกเขาไม่มีกิน
กระโดดมาที่ยุคนี้ เราไม่ได้อยู่ในยุคอดอยากแบบนั้น เราจึงไม่ได้มองว่าคนที่กินเยอะกว่าเอาเปรียบเรา แต่เรามองคนอ้วนว่าไม่ดูแลสุขภาพและไม่มีวินัย ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้วอาจไม่จริงเลย ความอ้วนความผอมสามารถส่งต่อได้ทางพันธุกรรม และ แบคทีเรียในระบบการย่อยอาหาร มันไม่ใช่เรื่องวินัยเพียงอย่างเดียว แต่มีเรื่องของร่างกายของแต่ละคนที่แตกต่างกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้วด้วย
ในตอนนี้การลดน้ำหนักและความงามคือธุรกิจที่มีเม็ดเงินสะพัดมหาศาล เพราะความอยากดูดี อยากผอมทำให้บริษัทเหล่านี้ทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ สื่อต่างๆทำให้เราเห็นว่าคนหล่อสวยในจอล้วนแต่ผอมหุ่นดีกันทั้งนั้น
สิ่งที่เราทำได้คือรู้เท่าทันโฆษณาเหล่านี้ เราต้องหยุดการเหมารวมก่อนว่า ความผอมคือดี ความอ้วนคือไม่ดี เพราะในความเป็นจริงแล้ว มาตรฐานความงามเรื่องอ้วนผอมก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามช่วงยุคประวัติศาสตร์ จุดสำคัญที่ควรจะใส่ใจคือสุขภาพ ไม่ใช่ตัวเลขบนเครื่องชั่ง
2. การกิน ไม่ใช่กลไกทางร่างกายอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นกลไกทางจิตใจด้วย
มีงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าเราแยกความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจไม่ได้สมบูรณ์ เวลาที่เราอกหัก ในบางกรณีกินพาราแล้วก็ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นเพราะว่าสมองส่วนที่รับรู้ความเจ็บปวดใจของเรามันเป็นส่วนเดียวกันกับที่เวลาเราปวดหัว ปวดฟัน
เช่นเดียวกันในกรณีที่จิตใจเรารู้สึกเหงาและว่างเปล่า สมองของเราก็อาจจะสับสนกับความว่างเปล่าในกระเพาะอาหารได้เหมือนกัน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะรู้สึกหิวทั้งๆที่กินมาเยอะแล้ว
3. ถ้าการกินเป็นเรื่องทางจิตใจ การลดน้ำหนักก็เช่นกัน
ในโลกยุคปัจจุบันนี้มีคนที่ไม่อยากอ้วนเพราะกังวลเรื่องสุขภาพอยู่มากก็จริง แต่ต้องยอมรับว่ามีคนอีกเยอะกว่ามากที่กังวลว่าตัวเองจะอ้วนเพราะอยากได้รับการยอมรับ อยากได้รับคำชมจากคนอื่น ว่าดูดี หุ่นดี ทั้งๆที่รูปร่างเดิมก็ไม่ได้มีปัญหาสุขภาพอะไรอยู่แล้ว มันจึงทำให้คนจำนวนมากใช้ยาลดน้ำหนัก อดอาหาร ล้วงคอ หรือมี Eating dirorder ต่างๆ
1
ซึ่งวิธีต่างๆนี้อันตรายมากๆ มีดารามากมายที่ออกมาบอกทีหลังว่าร่างกายของพวกเขาเสียหายขนาดไหนจากวิธีการลดน้ำหนักที่โฆษณาว่าเห็นผล การลดน้ำหนักที่ดีคือการลดน้ำหนักที่ “พอดี” และ “ค่อยเป็นค่อยไป” มันไม่มีความสำเร็จอะไรถูกสร้างได้ในวันเดียว ถ้าเราเจอวิธีการที่รวดเร็ว ก็ให้รู้ได้เลยว่ามันไม่ดีแน่นอน
การหักดิบไม่กินอาหาร หรือ กินน้อยกว่าที่ร่างกายต้องการก็จะยิ่งให้ผลตรงกันข้าม เพราะเรากำลังทำให้อาหารเป็นรางวัล ในหัวเราจะยิ่งให้ความสำคัญและโหยหาอาหารเหล่านั้นเพราะมันไม่เพียงพอ และสุดท้ายร่างกายเราก็จะประท้วงจนเราตบะแตกกลับมากินอยู่ดี
วิธีการลดน้ำหนักที่ดีที่สุดคือ ปรับการกินตามเหมาะสม (ซึ่งอันนี้สามารถปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญหรือหาข้อมูลในเนตได้ง่ายๆเลย) และ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ มันจะเห็นผลช้า ไม่ทันใจแต่มันจะไม่ส่งผลเสียในระยะยาว
ก่อนที่จะลดน้ำหนัก มีเรื่องที่เราอยากให้ทุกคนถามตัวเองว่า “ฉันลดน้ำหนักไปเพื่ออะไรกันแน่” ถ้าคำตอบเป็นเพราะ สุขภาพ ถ้าอย่างนั้นก็เยี่ยมเลยค่ะ
แต่ถ้ากล้ายอมรับจริงๆ คำตอบของคนส่วนใหญ่คือ “อยากให้คนยอมรับหรืออยากได้คำชม”
ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องแปลกเลยค่ะ เป็นเรื่องธรรมดาที่เราอยากจะดูดีและได้รับการยอมรับ เราสามารถแก้ปัญหานี้ได้ถูกจุดขึ้นด้วยการลองหาวิธีอื่นทำควบคู่ไปด้วย
เช่น ถ้าอยากได้รับการยอมรับ ก็ลองยิ้มแย้มแจ่มใสมากขึ้น
ถ้าอยากได้รับคำชม ก็ลองช่วยเหลือคนรอบข้างมากขึ้น
ถ้าอยากได้ความรัก ก็ลองฟังคนอื่นมากขึ้น
เมื่อเราทำแบบนี้แล้ว เราอาจจะได้รับการยอมรับและคำชมโดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนรูปร่างตัวเองเลยก็ได้นะคะ 🙂
.
.
.
เรามีประสบการณ์จริงมาแบ่งปันกับทุกคนด้วย ตอนสมัยเรียนม.ปลายเราเป็นคนผอมมากๆ ทั้งที่กินปกติ (เพราะคุณพ่อคุณแม่เป็นคนผอม) พอไปเรียนเมืองนอกกลับมา น้ำหนักขึ้นเยอะถึง 7 โล จากคนผอมกลายเป็นคนที่น้ำหนักเกินเกณฑ์ BMI ไปเลย เราไม่มีปัญหาสุขภาพอะไรนะคะ จริงๆต้องยอมรับว่าสุขภาพแข็งแรงกว่าตอนผอมมากๆ และป่วยออดแอดด้วยซ้ำ แต่ตอนนั้นเราเครียดมากเพราะรู้สึกว่าไม่มีใครชมว่าเราหุ่นดีอีกแล้ว กลัวว่าจะไม่มีคนคบ เพราะคนรอบข้างหลายๆคนก็บอกว่าให้ไปลดน้ำหนักกันหมดเลย
แต่เราโชคดีค่ะ :) มีคนรอบข้างที่ไม่ได้บอกให้เราไปลดน้ำหนัก แต่กลับบอกเราแทนว่า “มันไม่ได้แย่อะไรเลยนะ ก็แค่ดูอ้วนขึ้นเฉยๆ” “เราว่าแบบนี้ดีกว่าเมื่อก่อนที่ผอมมากๆอีก” หรือ “แล้วโอเคกับตัวเองไหมล่ะ ถ้าโอเคกับตัวเองมันก็โอเค”
ด้วยคำพูดของคนเหล่านั้น คนที่มองข้ามเรื่องรูปร่างและอยู่ตรงนั้นเพื่อเราจริงๆ เราลดน้ำหนักอยู่ดีนะคะ แต่ลดเพราะสุขภาพ ไม่ได้ลดเพราะอยากผอม คนที่น่ารักเหล่านี้ทำให้เราได้เห็นมุมต่างไปว่าความอ้วนผอมมันไม่ได้ผูกโดยตรงกับความสวยงามและเสน่ห์
สำหรับเราคนที่เราคิดว่ามีเสน่ห์มากๆไม่ว่าจะเป็นเพศใด ไม่ใช่คนที่หน้าตาดีหรือผอม แต่เป็นคนที่
“เข้าใจตัวเอง” คนที่ยอมรับสิ่งที่ตัวเองเป็นและรักตัวเองได้ เพราะคนเหล่านี้จะสร้างพลังบวกมหาศาลเวลาที่เราอยู่ด้วย ไม่จำเป็นที่จะต้องมีความสุขตลอดเวลา แต่เราก็จะรับรู้ได้ว่าคนเหล่านี้เต็มไปด้วยความรักและแรงบันดาลใจ
หนังสือเล่มนี้พูดถึงประเด็นสำคัญว่าการกินของเราเชื่อมโยงกับจิตใจของเรา ในเล่มมีการให้ข้อมูลสำหรับคนที่มี Eating disorder วิธีการแก้ไข สถานที่บำบัด รวมถึงแบบประเมินตัวเองด้วยว่าเรามีปัญหาด้านการกินหรือเปล่า คนที่มีความคิดอยากลดน้ำหนัก เราอยากให้ลองอ่านเล่มนี้ก่อนเพื่อที่ว่าเราจะได้แก้ปัญหาให้ถูกจุดมากขึ้นว่า เราหิวจริงๆ หรือ ว่าแค่เศร้ากันแน่ 🙂
ปล. เราสังเกตว่าคนที่แซวรูปร่างของคนอื่น ในหลายๆครั้งไม่ได้อยากทำร้ายจิตใจใคร แต่แค่ไม่รู้จะพูดอะไรดี เลยทักเรื่องรูปร่างเพื่อไม่ให้เป็นความเงียบที่ awkward เราอยากชวนให้ลองเปลี่ยนเป็น "คำถาม" ดูค่ะ ถ้าเราไม่รู้ว่าจะพูดอะไรก็ให้ถามเรื่องที่เขาสนใจ หรือถามเรื่องทั่วๆไปเช่น การใช้เวลาว่างหรือเรื่องงาน เพื่อที่ว่าเราจะได้ไม่ทำร้ายคนที่เราแคร์โดยไม่รู้ตัวค่ะ 😀
ซื้อหนังสือ I ate it again ได้เลยที่ https://shope.ee/5AKnHwFAN2
—————————————————————
ตอนนี้รีวิวทุกอย่างที่อ่านออกมีถึง 6 ช่องทางแล้วนะคะ 🥳
เอาใจทั้งสายอ่าน สายฟัง สาย Podcast
ขอขอบคุณทุกคนที่ติดตามกันมาตลอดนะคะ :D
โฆษณา