Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
8 ก.พ. 2023 เวลา 04:51 • ไลฟ์สไตล์
“ถ้าดูตัวเอง โอกาสพลาดมันก็น้อยลง
ดูคนอื่นโอกาสพลาดเยอะ มันจะหลงลืมตัวเองไป
แล้วมันจะเกิดกิเลส กูเก่งๆ รู้สารพัดจะรู้
แต่ถ้าดูตัวเอง โอกาสพลาดมันน้อย”
“… การที่เราเห็นจิตมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เจริญแล้วเสื่อมๆ
ถึงวันหนึ่งมันปิ๊งขึ้นมาๆ ในใจเลย
จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา
เจริญมันก็เจริญเอง เสื่อมมันก็เสื่อมได้เอง มันไม่เที่ยง
เจริญก็ไม่เที่ยง เสื่อมก็ไม่เที่ยง
เจริญก็เจริญได้เอง เสื่อมก็เสื่อมได้เอง
ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้
พอเห็นอย่างนี้ มันจะปิ๊งขึ้นมา
จิตนี้ก็ไม่ใช่ตัวเรา
เพราะฉะนั้นมันหมดแล้ว
มันเห็นว่าร่างกายก็ไม่ใช่เรา
สุขทุกข์ไม่ใช่เรา ดีชั่วไม่ใช่เรา
จิตใจก็ไม่ใช่เรา
เฝ้ารู้เฝ้าดู สุดท้ายมันก็ล้างความเห็นผิดว่ามีตัวมีตนได้
การที่จะเจริญปัญญาแล้วเห็นธาตุเห็นขันธ์
เห็นรูปนามกายใจไม่ใช่เรา ไม่ใช่เรื่องยากหรอก
ขอให้จิตมีพลังพอเท่านั้น
ถ้าจิตมีพลังพอแล้วสติระลึกรู้อะไร
อันนั้นไม่เป็นเราทันทีเลย ไม่ต้องคิดเลย
มันเห็นอยู่ต่อหน้าต่อตา มันไม่ใช่เราๆ
เพราะฉะนั้นการเจริญปัญญาจะไม่ยาก
ไม่ใช่เรื่องคิดเอา แต่มันเห็นเอา รู้สึกเอา
เราจะเห็นได้ รู้สึกได้ จิตต้องมีพลัง
แล้วเป็นพลังงานที่ถูกต้อง
ไม่ใช่นั่งสมาธิ จิตมีพลังออกรู้ออกเห็นอะไรข้างนอก
ไม่ได้เห็นกายเห็นใจตัวเอง
รู้หมดเลย ใครไปทำอะไรที่ไหน
ใครเป็นอย่างไร จิตใจใครเป็นอย่างไร รู้หมดเลย
แต่มันไม่ย้อนมาที่กายที่ใจตัวเอง
อย่างนี้มีแต่จะฟุ้งซ่าน
ดูออกข้างนอก ดูคนอื่น โอกาสพลาดจะสูง
หลวงปู่ดูลย์ถึงย้ำบอก อย่าส่งจิตออกนอก ให้ย้อนมาดูตัวเองไว้
ถ้าดูตัวเอง โอกาสพลาดมันก็น้อยลง
ดูคนอื่นโอกาสพลาดเยอะ มันจะหลงลืมตัวเองไป
แล้วมันจะเกิดกิเลส กูเก่งๆ รู้สารพัดจะรู้
แต่ถ้าดูตัวเอง โอกาสพลาดมันน้อย
มีไหมโอกาสพลาดเวลาดูตัวเอง มี
คือไปเพ่งอยู่ มันจะดูร่างกาย ก็ไปเพ่งร่างกาย
จ้อง จิตใจถลำลงไปจ้อง อันนี้ผิดแล้ว พลาดแล้ว
แต่ว่าพลาดอย่างนี้ ยังพลาดอยู่ข้างในนี้
ถ้ารู้ทันว่าเพ่งอยู่ มันก็คลายออก ก็ถูก
แต่ออกข้างนอก ยากมาก
แต่ถ้าสมาธิดีพอ ดูออกข้างนอกก็เห็นไตรลักษณ์
อยู่ตรงที่สมาธิเราพอ
แล้วถ้าสมาธิเราเต็มที่จริงๆ
ดูโลกทั้งโลก ดูจักรวาลทั้งจักรวาล
จักรวาลทั้งหมดเริ่มจากกายจากใจของเรานี้
แผ่กว้างออกไป เป็นคนรอบข้าง
เป็นสัตว์รอบข้าง เป็นสิ่งแวดล้อม
เป็นโลก เป็นจักรวาล ทั้งหมดเป็นเนื้อเดียวกันหมด
เราเห็นทั้งโลก ทั้งจักรวาล
ทั้งรูป ทั้งนามตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เหมือนกัน
จะเห็นอย่างนี้
ถ้าจิตมีพลังพอ ตั้งมั่นพอ
ดูออกไปข้างนอกก็เห็นไตรลักษณ์
ไม่ได้คิดเอา
ถ้าจิตออกข้างนอกแล้วไปคิดเรื่องไตรลักษณ์
อันนั้นคือความฟุ้งซ่าน
ตัวที่จะตัดสินว่าตอนนี้ฟุ้งซ่าน หรือตอนนี้เจริญปัญญา
ฟุ้งซ่านกับเจริญปัญญาใกล้เคียงกันมากเลย
เวลาจิตมันทำงานขึ้นมาก็ฟุ้งซ่าน
แต่ถ้าเมื่อไรเรารู้ทัน เรามีสมาธิพอ
เราเห็นจิตมันทำงาน หรือเห็นโลกธาตุ
ปัญญามันจะเกิด
แต่ถ้าสมาธิเราไม่พอ จิตเราฟุ้งซ่าน
ดูกายดูใจตัวเอง มันก็ฟุ้งซ่าน
ดูโลกข้างนอกมันก็ฟุ้งซ่าน
สมาธิเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องทำให้ถูกวิธี
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติ สมาธิเป็นเรื่องสำคัญมาก
แต่ต้องทำให้ถูกวิธี
ถ้ามิจฉาสมาธิมันจะดูออกข้างนอกไป
จิตไม่เข้าบ้าน จิตไม่เข้าฐาน
ก็ต้องมาฝึกจิตให้มันตั้งมั่นจริงๆ
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตเคลื่อนไปไหนก็รู้
จิตหลงไปคิดก็รู้ จิตถลำลงไปเพ่งก็รู้
รู้อย่างนี้เยอะๆ จิตมันจะค่อยตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา
คราวนี้ไม่ได้เจตนาเลย แล้วพอจิตมันตั้งมั่น
สติระลึกรู้กาย เห็นเลยกายไม่ใช่เรา
ระลึกรู้เวทนา เวทนาไม่ใช่เรา
ระลึกรู้สังขาร สังขารไม่ใช่เรา
สุดท้ายก็ระลึกรู้จิต จิตก็ไม่ใช่เรา
หรือถ้าชำนาญจริง สมาธิพอ
ดูโลกข้างนอก จักรวาลข้างนอก
โลกข้างนอก คนอื่นๆ
ตัวร่างกาย จิตใจนี้ มันอันเดียวกัน มันก็คือวัตถุ
มันคือก้อนธาตุอันเดียวกันนั่นล่ะ
เหมือนกันหมด เสมอกันหมด
มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เสมอกันหมด
เพราะฉะนั้นในสติปัฏฐาน 4 ถ้าเราไปสังเกตให้ดี
ท่านจะพูดถึงสภาวะภายใน สภาวะภายนอก
ธรรมภายใน ธรรมภายนอก
ธรรมในที่ใกล้ ธรรมในที่ไกล
ภายในก็คือตัวเราเองนี้
ภายนอกก็คือนอกตัวเราออกไป
ในที่ใกล้ก็คือในกายในใจนี้
ในที่ไกลก็คือสิ่งที่อยู่ข้างนอกออกไป
ดู ที่จริงแล้วถ้าสมาธิพอ จิตตั้งมั่นพอ
อันไหนก็ได้
เพราะไม่ว่าภายในหรือภายนอกก็แสดงธรรมะอันเดียวกันนั่นล่ะ
แต่ครูบาอาจารย์จะเน้นให้ดูตัวเอง
เพราะดูข้างนอกความเสี่ยงสูง
อย่างเราจะไปดูผู้หญิงสักคน
แทนที่เราจะเห็นอสุภะ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ก็เห็นมันสวยอย่างนี้
ราคะที่ยังไม่เกิดก็เกิด ที่เกิดแล้วก็รุนแรงขึ้นอะไรอย่างนี้
หรือเราไปเห็นคนที่เราเกลียด
โทสะที่ยังไม่เกิดมันก็เกิด
โทสะที่เกิดแล้วก็แรงขึ้น
ฉะนั้นให้ย้อนมาดูตัวเองไว้ดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด
เอาไว้ชำนิชำนาญในการปฏิบัติจริงแล้ว
กิเลสเบาบางแล้ว จะดูภายใน ดูภายนอก
มันก็อันเดียวกันหมดล่ะ
เพราะว่าตัวเราไม่มี
กายนี้ใจนี้ไม่ใช่เรา ใจมันวางแล้ว
โลกข้างนอกเสมอกันเลย
เพราะฉะนั้นการภาวนา
ขอแนะนำทำกรรมฐานไว้อย่างหนึ่ง
ศีล 5 ต้องรักษาเป็นพื้นฐาน
ทั้งพระทั้งโยมต้องมีศีล 5
ไม่ใช่มีศีล 227 แล้วลืมศีล 5 เยอะ ไม่ใช่
หลวงปู่ดูลย์ท่านบ่นเลยว่าพวกพระชอบบอกว่ามีศีล 227 ลืมศีล 5 ศีล 5 สำคัญ เพราะฉะนั้นอันแรก พวกเราถือศีล 5 ไว้
อันที่สองทำในรูปแบบไว้ ทุกวันต้องทำ
ให้มันเด็ดเดี่ยวลงไปเลย
จะเป็นจะตายก็ต้องทำ
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด
ทำแล้วมีความสุข ทำไปเถอะ
แล้วก็มีสติคอยรู้เท่าทันจิตใจตนเองไว้
ทำไปเรื่อยๆ วันแรกไม่รู้สึกอะไรหรอก
เดือนหนึ่ง 2 เดือน 3 เดือน มันจะเริ่มเห็นผล
จิตมันจะเริ่มตั้งมั่น มีกำลังมากขึ้น
สติมันจะว่องไวขึ้น แล้วจิตมันตั้งมั่นจริงๆ
แล้วคราวนี้สติระลึกรู้อะไร
ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของสิ่งนั้นทันทีเลย
ระลึกรู้กายก็เห็นไตรลักษณ์ของกาย
ระลึกรู้เวทนา ระลึกรู้สังขาร
ระลึกรู้จิต ก็เห็นแต่ไตรลักษณ์
ฉะนั้นจุดสำคัญที่หลวงพ่อเคี่ยวเข็ญพวกเรามากเลย คือเรื่องสมาธินั่นเอง ต้องทำสมาธิให้ถูก
ทำไมจ้ำจี้จ้ำไชเรื่องนี้ เพราะหลวงพ่อฝึกมาแต่เด็ก
หลวงพ่อแยกแยะสมาธิได้ตั้งหลายแบบ
สมาธิที่เป็นมิจฉาสมาธิกับเป็นสัมมาสมาธิ ไม่เหมือนกัน
มิจฉาสมาธิไม่มีสติ สัมมาสมาธิต้องประกอบด้วยสติเสมอ
แล้วในสัมมาสมาธิก็ยังแยกออกไปได้อีก 2 ชนิด
อารัมมณูปนิชฌานให้ความใส่ใจที่ตัวอารมณ์
เช่น เรารู้ลมหายใจเข้าออก มีสติรู้ลมหายใจเข้าออก
จะได้สมาธิชนิดจิตสงบ
เรียกว่าอารัมมณูปนิชฌาน
อารัมมะก็คืออารมณ์นั่นล่ะ
ให้ความสำคัญกับตัวอารมณ์
อารมณ์แปลว่าสิ่งที่ถูกรู้
อย่างเราหายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก
ให้ความสำคัญกับการหายใจ กับลมหายใจ
ยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก
อย่างนี้ให้ความสำคัญกับร่างกาย
อันนี้เรียกว่าอารัมมณูปนิชฌาน
สมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิชนิดที่สองเรียกลักขณูปนิชฌาน
ลักขณูก็คือเห็นลักษณะ
เห็นลักษณะก็คือเห็นไตรลักษณ์ได้
สมาธิที่เห็นไตรลักษณ์ได้
ลักษณะเด่นของมันก็คือสมาธิชนิดนี้เกิดกับจิตที่เป็นกุศล
จิตที่เป็นกุศล จะมีลักษณะเบา อ่อนโยน
นุ่มนวล คล่องแคล่ว ว่องไว
ไม่ขี้เกียจขี้คร้าน ซื่อตรงในการรู้อารมณ์
ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ
ไม่ใช่อยากรู้ ไม่ใช่ไม่ได้อยากรู้ ไม่หลงลืม
แล้วจิตมันจะตั้งมั่น เด่นดวงอยู่ เป็นกุศลอยู่
โดยที่ไม่ได้เจตนา
เพราะฉะนั้นจะเป็นมหากุศลจิต ญาณสัมปยุต อสังขาริกัง สามารถเดินปัญญาได้แล้วก็ไม่ได้เจตนา ก็ต้องฝึก …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
22 มกราคม 2566
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
https://www.dhamma.com/stable-mind-sees-tilakkhana/
เยี่ยมชม
dhamma.com
ถ้าจิตตั้งมั่นจะเห็นไตรลักษณ์
พอจิตมันตั้งมั่น สติระลึกรู้กาย เห็นเลยกายไม่ใช่เรา ระลึกรู้เวทนา เวทนาไม่ใช่เรา ระลึกรู้สังขาร สังขารไม่ใช่เรา สุดท้ายระลึกรู้จิต จิตก็ก็ไม่ใช่เรา
Photo by : Unsplash
2 บันทึก
7
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อ่านธรรม : อ่านใจ
2
7
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย