12 ก.พ. 2023 เวลา 12:19 • ธุรกิจ

Spotify แอปสตรีมเพลงอันดับ 1 ที่มีมูลค่าถึง 8 แสนล้านบาท

ถ้าพูดถึงแอปสตรีมมิ่งเพลง Spotify คงเป็นคำตอบของใครหลายคน
แอปฟังเพลงที่มีจุดเด่นที่ช่วยให้เราฟังเพลงได้อย่างถูกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น เพลง ไทย เพลงต่างชาติ เกาหลี หรือเพลงแนวอื่น ๆ รวมไปถึง พอดแคสต์ ก็สามารถฟังผ่าน Spotify ได้ครบจบภายในแอปเดียว และที่สำคัญ คือ ฟรี อีกด้วย
แต่รู้ไหมคะว่า กว่าจะมาเป็น Spotify แบบที่เราใช้กันในวันนี้ไม่ง่ายเลย
แต่ปัจจุบัน Spotify มีมูลค่าบริษัทราว ๆ 24,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ 8 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
📌 จุดเริ่มต้นง่าย ๆ สไตล์บริษัทเทค
บริษัทเทคโนโลยีที่เราคุ้นหู ไม่ว่าจะเป็น Meta(Facebook), Apple, หรือ Microsoft ต่างก็มีจุดเริ่มต้นง่าย ๆ เช่น การสร้างแอปขำ ๆ เล่นกันในหมู่เพื่อน หรือ การเริ่มต้นจากโรงรถของบ้าน แต่กลับนำมาซึ่งความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก
โดย Spotify ก็แทบเรียกได้ว่ามีสูตรสำเร็จไม่ต่างจากบริษัทเหล่านี้เลย
คือ การเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ แต่จะประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต
จุดเริ่มต้นของ Spotify ก็ต้องย้อนไปตั้งแต่ Daniel Ek ยังเป็นเด็กวัยรุ่น
แต่มีความสามารถที่โดดเด่นด้วยการสร้างเว็บไซต์ให้กับบริษัทต่าง ๆ
หลังจากเรียนจบในระดับมัธยมปลาย Daniel ก็เลือกเรียนต่อในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ที่ KTH Royal Institute of Technology ในประเทศสวีเดน
แต่เขาก็รู้สึกว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป
สุดท้ายก็ตัดสินใจลาออกจากระบบการศึกษามา
ด้วยความสามารถที่โดดเด่นทำให้ Daniel สามารถก่อตั้งบริษัทเป็นของตัวเองและขายให้ผู้อื่นไปในมูลค่าที่ทำให้เขากลายเป็นมหาเศรษฐีในวัย 23 ปีเท่านั้น
ต่อมาในปี 2006 Daniel Ek และ Martin Lorentzon ก็ได้ก่อตั้ง Spotify ขึ้นมา
จากความต้องการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมดนตรี ที่โดนปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนมาก
ซึ่งกว่า Spotify จะได้เปิดตัว ก็ใช้เวลาถึง 2 ปี
โดยในยุคแรก ๆ บริษัทได้จำกัดการลงทะเบียนสำหรับบริการฟรีโดยกำหนดให้ต้องได้รับเชิญเท่านั้น ในขณะที่การสมัครสมาชิกแบบชำระเงินมีให้บริการทันที
ทำให้ในปี 2008 Spotify ก็รายงานผลขาดทุน 4.4 ล้านดอลลาร์
ต่อมาในปี 2009 Spotify ก็ได้เปิดให้สาธารณชนทั่วไปในสหราชอาณาจักรใช้บริการได้ฟรีและเปิดให้ดาวน์โหลดแอปผ่านทาง App Store ทำให้มีผู้ใช้งานเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หลังจากนั้นในปี 2011 บริษัทได้รับเงินลงทุน 100 ล้านดอลลาร์
เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการเปิดตัวในสหรัฐอเมริกา และเปิดให้บริการบนสมาร์ทโฟน Android ในปีถัดมา
📌 ปัญหากับศิลปินเจ้าของเพลง
ถึงแม้ Spotify จะสร้างมาเพื่อต้องการแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในอุตสาหกรรมเพลง
แต่ศิลปินบางส่วนกลับไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ Spotify
หลักการดำเนินงานของ Spotify คือ จะรับเพลงมาจากค่ายเพลงรายใหญ่และศิลปินอิสระ
และจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับศิลปิน นักแต่งเพลง และค่ายเพลงสำหรับการสตรีมเพลง
โดย Spotify ถูกวิจารณ์เกี่ยวกับจำนวนเงินที่ศิลปินได้รับจากการสตรีมเพลงของพวกเขา
ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่การจ่ายเงินให้กับศิลปินนั้นอาจเป็นจำนวนเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ทำให้ Taylor Swift เป็นศิลปินกลุ่มแรก ๆ ที่เอาเพลงตัวเองออกจากแพลตฟอร์ม
ก่อนที่จะนำเพลงตัวเองกลับมาใส่ใน Spotify อีกครั้ง
1
อย่างไรก็ตาม ความเห็นจากอีกฝั่งก็แย้งว่า Spotify ทำให้ศิลปินตัวเล็ก ๆ ในวงการมีพื้นที่สำหรับเผยแพร่เพลงของตัวเองได้
📌 ความสำเร็จในปัจจุบัน
Spotify ได้จะทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กในปี 2018
ปัจจุบัน Spotify มีผู้ใช้งานรายเดือนประมาณ 489 ล้านคน
และมีส่วนแบ่งการตลาดมาเป็นอันดับ 1
และมีมูลค่าบริษัทสูงถึง 24,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ 8 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของเด็กชาวสวีเดนคนหนึ่ง
กลับสร้างสรรค์แอปฟังเพลงจนประสบความสำเร็จมีผู้ใช้งานอยู่ทุกทั่วมุมบนโลก
แล้วระหว่างอ่านบทความนี้ ผู้อ่านกำลังฟังเพลงจาก Spotify กันอยู่หรือเปล่าคะ?
“ถ้าไม่สามารถออกกฎหมายที่หยุดการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ ก็ต้องสร้างบริการที่ดีกว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ และชดเชยอุตสาหกรรมเพลงไปพร้อม ๆ กัน
(I realised that you can never legislate away from piracy”
"The only way to solve the problem was to create a service that was better than piracy and at the same time compensates the music industry.)
Daniel Ek
ผู้เขียน : ณิศรา วาดี Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
โฆษณา