18 ก.พ. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

ย้อนประวัติศาสตร์ ‘ตุรเคีย’ มหานครสองทวีปยุโรป-เอเชีย

ตุรกี กำลังเผชิญกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปีของมวลมนุษยชาติ
สาเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ มาจากภูมิศาสตร์ของตุรกีที่ตั้งอยู่บนรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกส่งผลให้ตุรกีเป็นชาติที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวนับครั้งไม่ถ้วน
2
แต่อีกด้านหนึ่ง ภูมิศาสตร์ของตุรกีถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมจากการเชื่อมระหว่างยุโรปและเอเชียจนมีฉายาว่าดินแดนสองทวีป และด้วยที่ตั้งทำเลทองเช่นนี้ จอร์จ ฟริดแมนผู้ก่อตั้งสแตรทฟอร์ถึงขั้นเคยกล่าวว่าตุรกีอาจขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกได้
Bnomics วันนี้จึงพาย้อนประวัติศาสตร์ตุรกี ฉายาดินแดนสองทวีปผู้กุมยุทธศาสตร์ทำเลทองของโลก แต่กำลังเผชิญกับหนึ่งในแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งใหญ่ที่สุดประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ
⭐️ ดินแดนอนาโตเลีย (Anatolia)
ดินแดนที่ชื่อว่าตุรกียังไม่ถือกำเนิดขึ้น แต่พื้นที่ของประเทศตุรกีปัจจุบันอยู่ในดินแดนแห่งอารยธรรมของโลกซึ่งมีชื่อว่า “คาบสมุทรอนาโตเลีย”
ความพิเศษของคาบสมุทรอนาโตเลีย คือ ทำเลที่ตั้งอยู่บริเวณเอเชียกลางและถูกล้อมรอบด้วยทะเลดำและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จึงเปรียบดั่งสะพานเชื่อมระหว่างยุโรปและเอเชียมาตั้งแต่สมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ทำให้มีมนุษย์หลายเผ่าพันธุ์ เข้ามาแย่งชิงและครอบครองดินแดนเหล่านี้ โดยชาวฮิตไทต์เป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่เข้ามาเมื่อ 1900 ปีก่อนคริสตกาล
1
หลังจากนั้นก็มีการผลัดเปลี่ยนมือผู้ปกครองมาหลายชนกลุ่ม ดินแดนตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของทั้งจักรวรรดิเปอร์เซีย กรีก จักรวรรดิโรมัน จนกระทั่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ได้เข้ามายึดครอง
จักรวรรดิไบแซนไทน์ก็ได้เจริญรุ่งเรืองมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้วยจุดยุทธศาสตร์สามารถควบคุมเส้นทางการค้าสำคัญ อย่าง เส้นทางสายไหมโบราณ ที่เชื่อมโลกตะวันตกและตะวันออกเอาไว้ได้ จนทำให้แพร่ขยายอิทธิพลเหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลเมอร์ดิเตอร์เรเนียนไว้ได้หมด อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางของศาสนาคริสต์อีกด้วย
⭐️ กำเนิด รุ่งโรจน์ ล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมัน (The Rise of Ottoman Empire)
 
ในที่สุดจักรวรรดิไบแซนไทน์ที่เจริญรุ่งเรืองมากตลอดเวลาหลายร้อยปีก็ล่มสลายลงในปี 1453
เพราะพ่ายแพ้ให้แก่ชาวเติร์กที่อพยพถิ่นฐานมาจากเอเชียกลางซึ่งหนีการรุกรานของเผ่ามองโกลมาเรื่อย ๆ จนมาที่คาบสมุทรอนาโตเลีย เอาชนะจักรวรรดิไบแซนไทน์ และก่อตั้งจักรวรรดิออตโตมัน ณ คาบสมุทรนี้ได้สำเร็จ
จากดินแดนที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของศาสนาคริสต์นิกายไบแซนไทน์ เมื่อถูกครอบครองโดยชาวออตโตมันซึ่งนำศาสนาอิสลามเข้ามาด้วย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
กรุงคอนแสตนตินโนเบิล (Constantinople) ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นอิสตันบูล (Istanbul)...
มหาวิหารฮาเกียโซเฟีย (The Hagia Sophia) ที่เป็นโบสถ์คริสต์ถูกเปลี่ยนเป็นมัสยิดของชาวมุสลิม…
ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่ากรุงอิสตันบูลของตรุกีจึงเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมกลิ่นอายของอารยธรรมผสมผสานระหว่างศาสนาคริสต์และอิสลาม อันมาจากประวัติศาสตร์เช่นนี้เอง
กลับมาที่อดีตกันต่อ หลังจากเอาชนะจักรวรรดิไบแซนไทน์ได้ จักรวรรดิออตโตมันใช้เวลาไม่ถึง 100 ปีและกลายเป็นจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุดในโลกมุสลิม อันมาจากการแผ่ขยายอิทธิพลดินแดนออกไปอย่างกว้างขวางซึ่งช่วงที่รุ่งโรจน์ที่สุดจนเรียกว่าเป็น “ยุคทอง” ของจักรวรรดิออตโตมันคือสมัยของสุลต่านสุไลมาน (Suleiman) ในช่วงปี 1520-1566
1
อาณาเขตยิ่งใหญ่ที่ว่าคือครอบคลุมถึงสามทวีปได้แก่ ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา
ตอนนั้นจักรวรรดิออตโตมันมีทั้งความมั่งคั่ง ความมั่นคง และทรงอำนาจ….
โดยหากมามองในด้านเศรษฐกิจแล้ว การก้าวขึ้นสู่อำนาจของจักรวรรดิออตโตมันก็ได้สร้างผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกอย่างมากจากการครอบครองเส้นทางสายไหม เส้นทางการค้าโบราณที่เชื่อมระหว่างเอเชียและยุโรป
เมื่อจักรวรรดิออตโตมันเข้ามา ก็ได้เข้ามาตั้งอัตราภาษีสูงๆ เป็นค่าผ่านทาง เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากเส้นทางการค้าดังกล่าว แต่ก็ทำให้คนจำนวนมากไม่ต้องการเดินทางในเส้นทางสายไหมบกอีกต่อไป และหันไปเดินทางทางทะเลแทน
และต่อมา เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น มีการคิดค้นเรือจักรไอน้ำ (Steamship) แทนที่เรือใบ (Sailship) แบบเดิม รวมทั้งการขุดเจาะก่อสร้างคลองซูเอส (Suez Canal) ขึ้น จึงทำให้เส้นทางการค้าเปลี่ยนไป
จากแต่เดิม จะเดินทางจากยุโรปไปจีน ไปเอเชีย ก็ต้องล่องเรือไปทางแอฟริกาใต้ ผ่านแหลมกู๊ดโฮ้ป ซึ่งทำให้เสียเวลาอย่างมาก ก็ทำให้สามารถเดินทางเข้าทะเลเมอร์ดิเตอร์เรเนียนแทน ซึ่งก็ทำให้ท่าเรือของกรุงอิสตันบูล และเมืองต่างๆ โดยรอบของจักรวรรดิออตโตมัน ได้ผลประโยชน์อย่างมหาศาล
1
แต่…เหนือฟ้ายังมีฟ้า ท้ายที่สุดจักรวรรดิออตโตมันที่เจริญรุ่งเรืองก็เริ่มเสื่อมถอยจากความล้าหลังเพราะไม่สามารถก้าวทันตามความเจริญของยุโรปที่เข้าสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรม (Industrialization)
ทั้งนี้เพราะออตโตมันยังเป็นเศรษฐกิจเกษตรกรรม (Agrarian economy) เน้นการผลิตแบบงานฝีมือและชุมชน แต่ไม่ได้เน้นการผลิตจำนวนมหาศาลเฉกเช่นเดียวกับอังกฤษ จึงขาดแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ผลผลิตจำนวนมาก
และจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ก็มาถึงเมื่อจักรวรรดิออตโตมันตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 และพ่ายแพ้สงครามส่งผลให้หลายประเทศแยกตัวออก จนในปี 1923 จักรวรรดิออตโตมันที่เคยยิ่งใหญ่ก็ถึงคราวล่มสลายและตกอยู่ในดินแดนของประเทศเกิดใหม่ที่ชื่อว่า “ตุรกี”
1
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตุรกีต้องเจอกับแผ่นดินไหวรุนแรง หลายชีวิตนับหมื่นที่ต้องสูญเสีย แม้รัฐบาลตุรกีจะเคยออกกฎหมายการก่อสร้างอาคารที่เข้มงวดและมีมาตรฐานเพื่อรองรับแผ่นดินไหวในปี 1999 แต่การบังคับใช้ที่หละหลวมก็ส่งผลให้มีการก่อสร้างอาคารที่ไม่ได้มาตรฐานหลายล้านหลัง
3
ในปี 2018 อาคารมากกว่า 50% ในตุรกี หรือประมาณ 13 ล้านหลังถูกสร้างอย่างไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นรายงานจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเมืองของตุรกีเอง
2
ในแง่มุมเศรษฐกิจ ตุรกีเป็นประเทศที่กำลังเผชิญกับเงินเฟ้อสูงเกือบ 60% สาเหตุจากสงครามรัสเซียยูเครน ราคาน้ำมันแพง แต่ยิ่งตอกย้ำความย่ำแย่ทางเศรษฐกิจด้วยการบริหารงานของรัฐบาลตุรกีที่ย้อนแย้งกับประชาคมโลก
2
เป็นเรื่องที่น่าจับตามองกันต่อไปว่ารัฐบาลตุรกีจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร ความเสียหายจากภัยพิบัติครั้งนี้รุนแรง แต่หากเศรษฐกิจย่ำแย่ เงินเฟ้อสูง ประเทศติดหนี้มหาศาลก็ค่อย ๆ กัดกินประชาชนไม่ต่างจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน
1
ผู้เขียน: ขัตติยาภรณ์ ด้วงแก้ว Political Analyst, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
เครดิตภาพ : Fine Art Images/Heritage Images/Getty Images

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา