25 ก.พ. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

มาร์โค โปโล ผู้นำส่งอารยธรรม “เงินกระดาษ” จากจีนสู่ยุโรป

⭐️ กำเนิด “เงินกระดาษ” แรกของโลก
วิวัฒนาการเงินตราของมนุษย์ก็เริ่มมาจากการใช้สิ่งของแลกเปลี่ยนกัน เปลือกหอย ผ้าไหม สัตว์เลี้ยง จนกระทั่งเกิดการหลอมแร่ต่างๆ เพื่อใช้เป็นเหรียญเงินตรา และพัฒนามาสู่การใช้ธนบัตร
แล้วเราเริ่มใช้ธนบัตรกันตอนไหน?
เงินกระดาษแรกของโลกเกิดขึ้นในจีนสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) ซึ่งแตกต่างจากธนบัตรปัจจุบันที่เราใช้กัน เพราะเงินกระดาษในอดีตจะต้องมีเหรียญโลหะสำรองไว้ในธนาคารเพื่อให้ประชาชนเอาเงินกระดาษนั้นไปแลกออกมา และด้วยลักษณะที่น้ำหนักเบา ใช้งานสะดวก จึงถูกตั้งชื่อว่า “เงินบิน” หรือ flying money หรือ เงินบิน แต่ก็ถือว่าเงินกระดาษของจีนเป็นตัวต้นแบบของเงินปัจจุบันที่เราใช้กัน
แต่ใช้เงินเหรียญอยู่ดีๆ ทำไมถึงหันมาคิดค้นเงินกระดาษ?
เงินกระดาษถูกคิดค้นมาเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเหรียญแร่เงินและทองแดง เหตุเพราะมีการผลิตเหรียญจำนวนมากขึ้นจากภูมิภาคใกล้เคียงจีน ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นได้ออกเหรียญ Wado Kaiho ซึ่งเลียนแบบเหรียญเงินจีน รวมถึงเวียดนาม เอเชียกลาง อุซเบกิสถาน และเกาหลี ทำให้เกิดการแย่งชิงและขาดแคลนทรัพยากรในการผลิตเหรียญ
ในแง่ของศาสนา ช่วงนั้นอิทธิพลของศาสนาพุทธจากอินเดียที่เผยแพร่เข้ามาในจีน ทำให้ชาวจีนเริ่มหันมานับถือศาสนาพุทธ และมีการนำเหรียญจากแร่เงินมาหลอมละลายเพื่อหล่อเป็นพระพุทธรูปสำหรับสักการะบูชา ทำให้ในตอนนี้จีนต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนทรัพยากรในการผลิตอย่างหนัก
1
นอกจากนี้ การเปลี่ยนมาใช้เงินกระดาษยังส่งผลดีต่อการค้าขายเพราะสะดวกสบายในการใช้จ่ายและมีน้ำหนักเบากว่าเหรียญ ถ้าของมีมูลค่าสูงจำเป็นต้องแบกเหรียญจำนวนมหาศาลเป็นอุปสรรคในการแลกเปลี่ยนซื้อขาย
แต่ก็เปรียบเหมือนดาบสองคม เพราะแม้จะใช้ง่ายขายคล่อง แต่พอเข้าสู่สมัยของราชวงศ์ซ่งเกิดการพิมพ์เงินกระดาษออกมาจำนวนมาก แต่ไม่มีเหรียญโลหะสำรองในธนาคารส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อและค่อยๆ กัดกินเศรษฐกิจจีนให้ล่มสลายจนแพ้ภัยต่อชาวมองโกลในที่สุด
⭐️ พ่อค้าชาวเวนิส ผู้เผยแพร่เงินกระดาษจากจีนสู่ยุโรป
ในศตวรรษที่ 13 ชาวมองโกลได้เข้ายึดครองจีนที่กำลังก้าวเข้าสู่รัชสมัยของราชวงศ์หยวน ชาวมองโกลก็ยังคงใช้กระดาษเช่นเดียวกับชาวจีนดั้งเดิม ในปี 1260 รัฐบาลกุบไล่ข่านได้ประกาศกฎหมายให้ยุติการใช้เหรียญทอง เงิน ทองแดง และอนุญาตให้ใช้เพียงเงินกระดาษ หรือ ธนบัตรเท่านั้น โดยมูลค่าขึ้นอยู่กับขนาดของเงินกระดาษ เช่น ตั๋วขนาดเล็กก็สามารถนำไปแลกทองแดง ถ้าตั๋วใหญ่หน่อยก็แลกเป็นแท่งเงินได้
1
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ถูกเขียนไว้ในบันทึกของนักเดินทางชาวเวนิสชื่อคุ้นหูอย่างมาร์โค โปโล ที่เข้ามารับราชการในพระราชวังภายใต้การดูแลของกุบไล ข่าน(Kublai Khan) ตั้งแต่ปี 1275 จากการเดินทางสำรวจมาตามเส้นทางสายไหมและได้เข้าเฝ้ากุบไล ข่าน (Kublai Khan)แห่งมองโกลจนเป็นที่ชื่นชอบและได้พระราชทานยศให้แก่มาร์โค โปโลในที่สุด
ช่วงระหว่างที่โปโลรับราชการที่จีน ได้มีโอกาสสำรวจและศึกษาอารยธรรมหลากหลายของจีน และหนึ่งในนั้นคือ การใช้เงินกระดาษ เมื่อสิ้นสุดสมัยของกุบไล ข่าน(Kublai Khan) มาร์โค โปโลตัดสินใจเดินทางกลับยุโรป และนำบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเงินกระดาษของจีนไปเผยแพร่แก่ชาวยุโรปถือเป็นนวัตกรรมทางการเงินก้าวหน้าจากโลกตะวันออกที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ชาวตะวันตกไม่น้อย
โดยในบันทึกของโปโล ได้กล่าวถึงเงินกระดาษที่ถูกจากเปลือกและเนื้อไม้ของต้นหม่อน ถูกตัดเป็นชิ้นขนาดต่าง ๆ และถูกประทับตาสีแดงโดยกษัตริย์ข่าน และเงินกระดาษนี้เองถูกพกพาไปทั่วอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของจีนเพื่อทำธุรกรรมการซื้อขายสินค้าทั้งหมด เฉกเช่นเดียวกับการใช้เหรียญทองคำบริสุทธิ์
1
ด้วยบันทึกและคำบอกเล่าของมาร์โค โปโล ทำให้อารยธรรมจีนจากโลกฟากฝั่งตะวันออกไหลเข้าสู่ยุโรปและส่งอิทธิพลไปทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้ หลังจากนั้น ยุโรปจึงได้จัดตั้งธนาคารผลิตเงินกระดาษแห่งแรกของโลกในสวีเดนชื่อว่า Stockholms Banca นั่นเอง
ผู้เขียน : ขัตติยาภรณ์ ด้วงแก้ว Political Analyst, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Sources:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา