3 มี.ค. 2023 เวลา 14:00 • ไลฟ์สไตล์

เปลี่ยนชีวิตด้วย 4 นิสัยการอ่าน

เราทุกคนสามารถเลือกกำหนดทิศทางชีวิตของตัวเองได้ ว่าจะให้เดินก้าวไปข้างหน้าหรือย่ำอยู่กับที่ เพราะความเป็นอยู่ที่เกิดขึ้นในชีวิต ไม่ว่าจะดีหรือร้าย คือผลของการเลือกตัดสินใจทำของเราเองทั้งหมด
บางคนมีชีวิตเดินหน้าเพราะปรับตัวจึงก้าวทันโลก บางคนหยุดนิ่งสวนทางกับความก้าวหน้า เพราะไม่เรียนรู้จึงปรับตัวตามโลกไม่ทัน ทำให้เกิดความรู้สึกหมดไฟ ท้อแท้ และรู้สึกเก็บตกเหมือนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
1
ถ้าให้สังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพียงแค่สิบปีที่ผ่านมา เราจะเห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงความก้าวหน้าทางวัฒนธรรมที่เกิดการเปลี่ยนถ่ายโดยที่เราไม่คาดคิด
การเรียนรู้จึงสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมา เราจึงต้องปฏิบัติต่อการ"เรียนรู้"ให้เหมือนการลงทุน ที่จะถูกทบต้นสะสมกลายเป็น"ความรู้" และนั่นคือสินทรัพย์ที่ควรจัดให้เป็นหนึ่งในค่าสำคัญที่เราให้ในชีวิต
ยิ่ง"เรียน"มากเท่าไหร่ เรายิ่ง"รู้"และเข้าใจโลกและชีวิตมากขึ้น สะสมกลายเป็นคลังข้อมูลที่สร้าง"ปัญญา"เพื่อช่วยในการเลือกตัดสินใจ ทำให้มีความพร้อมในการตอบรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในชีวิตได้มากขึ้นเท่านั้น
นั่นหมายความว่า ถ้าเราเรียนรู้ให้มากเข้าไว้ เราก็มีโอกาสในชีวิตที่ดีขึ้นมากกว่าเดิม ทั้งในเรื่องส่วนตัวและหน้าที่การงาน
ความรู้หาได้ง่ายจากการอ่านผ่านแหล่งข้อมูลต่างๆใกล้ตัว เริ่มจากเล็กๆแต่ทำทุกๆวัน สิ่งที่ทำเป็นประจำทุกๆวันจะกลายเป็นเรื่องง่ายที่คุ้นชิน ที่เรียกว่า นิสัย นั่นเอง
1) อ่านข่าวทุกวัน
รู้ตัวหรือไม่ว่า ข่าวมีความสำคัญกับชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็นข่าวในประเทศหรือต่างประเทศ เพราะต่าง"มีผลกระทบกับชีวิตประจำวันของเรา"ทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยที่เราไม่รู้ตัว
บางคนมองข้ามความสำคัญ เพียงแค่มองว่าข่าวไร้สาระ ทำให้ปวดหัว และเป็นเรื่องไกลตัวที่ไม่มีผลหรือข้องเกี่ยวกับชีวิตตัวเอง เพียงสังเกตง่ายๆ กับข่าวการเปลี่ยนแปลงนโยบายบางอย่างของรัฐบาล เราสามารถคาดเดาแนวโน้มว่าไข่จะขึ้นราคา หรือราคาน้ำมันจะลด เห็นได้ว่า ข่าวนี้มีผลกระทบโดยตรงเพราะไข่และน้ำมันเป็นสิ่งที่วนอยู่ใน"ชีวิตประจำทุกๆวันของเรา"
ข่าวช่วยให้เรามีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน รู้ทันและเข้าใจต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อให้เรามีความพร้อมเพื่อตอบรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ
โดยส่วนตัวจะใช้เวลาอ่านข่าว ประมาณ 15-30 นาทีทุกเช้า ใช้เทคนิคแบบ Skimming คืออ่านหัวข้อแบบผ่านๆ เพื่อเก็บประเด็นข่าว แต่ถ้ามีข่าวไหนที่เป็นข่าวใหม่หรือน่าสนใจเป็นพิเศษ ก็จะอ่านรายละเอียดพร้อมกับอ่านหัวข้อข่าวเดียวกันจากแหล่งอื่นๆด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลและมุมมองที่แปลกแตกต่างกัน เพื่อนำมาเปรียบเทียบและคิดวิเคราะห์
2
2) ให้คิดตามและถามเสมอ
ควรฝึกคิดตามและตั้งข้อสงสัยต่อข้อมูลที่อ่านให้เป็นนิสัย ว่าถูกต้องหรือไม่ หรือเป็นจริงเท็จแค่ไหน - แม้กระทั่งบทความของผู้เขียนเอง ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าทุกความรู้และทุกข้อมูลที่เราได้รับมาอาจมีการบิดเบี้ยวและเปลี่ยนแปลงมา เพราะเจตคติและความมีอคติของผู้เขียนแต่ละคน
เราจึงควรตั้งคําถามกับทุกสิ่งที่อ่านว่า ผู้เขียนได้อะไรจากที่เขียน ผู้เขียนตีความข้อมูลถูกต้องหรือหลุดประเด็นบางอย่างหรือไม่
หรืออาจตั้งคำถามต่อบางประเด็นระหว่างอ่านง่ายๆว่า "ทำไม" เป็นเทคนิคการตั้งข้อสังเกตและสงสัย ให้เหมือนเด็กน้อยในวัยกำลังเรียนรู้ ที่กำลังเริ่มต้นชีวิต สัมผัสกับประสบการณ์ที่ไม่คุ้นเคยและรู้จัก จึงต้องทำการสํารวจ ตั้งถามและทําความเข้าใจกับสิ่งใหม่ๆ ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
3) ท้าทายความคิดและความเชื่อของตัวเองบ่อยๆ
บางคนใช้ชีวิตอยู่กับความคุ้นชินและไม่ยอมเปลี่ยนแปลง เรียกได้ว่า Living in a Bubble (กบในกะลา) เพราะทำให้รู้สึกถึงความปลอดภัยและมั่นคง จึงใช้ชีวิตโดยสำรอกความคิดและความเชื่อที่อยู่ในกรอบเดิมๆ วนมาใช้ในชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า จนทำให้เกิดคำถามกับตัวเองในบางครั้งว่า "ทำไมชีวิตฉันย่ำอยู่กับที่และน่าเบื่อ" หรือ "ทำไมชีวิตฉันไม่ก้าวหน้าเหมือนคนอื่น"
การอ่าน หรือการคุยกับคนที่มีแนวคิดขัดแย้งกับความเชื่อหรือความคิดเดิมๆที่เรามี อาจทำให้พบว่า เราคิดและเข้าใจผิดในบางเรื่องมาโดยตลอด ขณะเดียวกันอาจช่วยปรับปรุงข้อโต้แย้งที่เรามีได้
นอกจากนี้ยังช่วยให้เรามีมุมมองที่แปลกใหม่ ที่สามารถนำไปพัฒนาหรือปรับปรุงตัวเองในการดำเนินชีวิตได้อีกด้วย
4) เลือกอ่านให้เป็น
โลกเราเต็มไปด้วยข้อมูลมากมาย รวมถึงข้อมูลที่ไม่ดีและไร้ประโยชน์ จึงต้องรู้จักกลั่นกรองเพื่อเลือกอ่านในสิ่งที่"ให้ประโยชน์กับตัวเอง"
ถ้าอ่านไปแล้วสัก 5-10 เปอร์เซ็นต์ แล้วคิดว่าไม่ดีหรือไม่ให้ประโยชน์ใดๆ ก็หยุด.. อย่าได้เสียเวลาอ่านต่อ เพราะยังมีข้อมูลเยอะแยะมากมายที่ให้ประโยชน์กับเราจากแหล่งอื่นถมเถไป
ระลึกเสมอว่า ไม่ว่าจะอ่านสิ่งที่ให้"ความบันเทิงใจ” หรือให้ข้อมูลที่เป็น"ประโยชน์” จากบทความสั้นๆ หรือหนังสือเล่มหนา
เราต้องมั่นใจได้ว่า อ่านแล้วได้อย่างน้อย"หนึ่งสาระ"สำคัญที่ให้มุมมองที่แปลกใหม่ และ/หรือ อย่างน้อยได้"หนึ่งข้อคิด"ที่เป็นประโยชน์ที่สามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้
 
ต้องตอบตัวเองให้ได้ทุกครั้งว่า อ่านแล้วได้อะไร?
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา