Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
LALANA MONDTREE
•
ติดตาม
19 ต.ค. 2023 เวลา 13:01 • ไลฟ์สไตล์
14 เหตุผลที่ทำให้ไม่มีความสุข
เคยสังเกตตัวเองบ้างไหมว่า บางครั้งรู้สึกถึงความว่างเปล่า ไร้บุคคลหรือสิ่งยึดเหนี่ยว บางครั้งรู้สึกถึงความอึดอัด หายใจไม่ได้เต็มที่ หนักเหมือนมีอะไรหน่วงไว้ บางครั้งรู้สึกถึงความมืดมิด ทั้งที่ดวงตายังเปิดแต่รอบตัวมืดสนิทเหมือนไฟปิดอยู่ แล้วก็มีคำถามตามมาว่า "ทำไมฉันไม่เคยมีความสุขเหมือนคนอื่นเขาบ้าง?"
ความสุขมักเป็นสิ่งที่เราโหยหาเมื่อตกอยู่ในจังหวะที่กำลังติดหล่ม ก้าวไม่ได้ไปไม่ถูก จึงหาทางให้ตัวเองออกจากจุดที่อยู่ แต่ไม่รู้ว่าจุดเริ่มต้นอยู่ตรงไหน คืออะไร
ความสุขและความทุกข์เป็นสิ่งที่เราสังเคราะห์ขึ้นด้วยการสร้าง - ด้วยการลงมือทำ ที่ปรากฎกลายเป็นความรู้สึกที่ได้รับในระหว่างที่เราได้ทำ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม
เมื่อความทุกข์หรือความสุขขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราทำ จึงมองได้ว่า นิสัยหรือพฤติกรรมลบๆที่ทำเป็นประจำจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา ที่อาจไม่รู้ตัว คือเหตุุผลหลักที่ทำให้เราไม่มีความสุข มี 14 พฤติกรรมที่สังเกตได้ คือ
1) มักพิสูจน์คุณค่าของตัวเองกับคนอื่นอยู่บ่อยๆ
: เมื่อใดก็ตามที่เราผูก “คุณค่า” ของเราไว้กับคนอื่น เราก็ต้องพิสูจน์คุณค่าของเราอยู่เรื่อยไป สุดท้ายคนที่เหนื่อยและไม่มีความสุข คือ เรา
ปล่อยให้ตัวเองหลุดพ้นจากปมของการพิสูจน์ตัวเองกับใครๆ
เราไม่จำเป็นต้องเสียเวลาพิสูจน์หรือตั้งหน้าตั้งตารอให้ใครมาให้ค่าเรา เพื่อให้รู้สึกถึงความ “คู่ควร” กับการมีอยู่ของเรา โดยเฉพาะกับคนที่ไม่เห็นคุณค่าในตัวเรา
เพราะคุณค่าของเราอยู่ที่ตัวเราเป็นคนให้ คุณค่าของเราเกิดจากการยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบ ความซับซ้อน และความบกพร่องที่เรามี และสำคัญคือค่าที่เราให้ตัวเองนั้นไม่ได้เป็นค่าที่ผูกติดไว้ด้วยเงื่อนไขใดๆกับใครๆ สุดท้ายเราจะรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองและมีแนวโน้มที่จะรู้สึกถึงความสุขมากขึ้นตามไปด้วย
2) ใช้ชีวิตแข่งกับคนอื่น
: สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นเสมอไป
บางคนมักนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่บ่อยๆ ชอบมองว่าคนที่รวยกว่า มักจะความสุขมากกว่า คนที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานงานสูงกว่า คนที่สวยและหล่อกว่า มักจะมีความสุขมากกว่า
จนลืมคิดไปว่านั่นเป็นด้านเดียวที่เราเห็น ในส่วนที่เราเห็นอาจจะไม่ใช่ความจริงทั้งหมด การเปรียบเทียบที่เกิดขึ้นจึงไม่มีที่สิ้นสุด
ถ้าชีวิตของเราจะดูแตกต่างจากคนอื่นบ้าง – จะเป็นไรไป เพราะเราแต่ละคนกำลังใช้ชีวิตตามเงื่อนไขที่ตัวมีอยู่เพื่อให้เกิดสมดุลในชีวิตที่เป็นแบบของแต่ละคน
ชีวิตเราเป็นของเรา เราไม่ได้แข่งกับใครและเราไม่ควรที่จะแข่งกับใคร แต่เราควรแข่งกับตัวเองตามจังหวะชีวิตที่เป็นของเรา ที่สอดคล้องตามนิยามความสุขที่เราเป็นคนกำหนดให้เอง
3) เลี่ยงการเผชิญหน้ากับปัญหาที่กำลังมี
: บางคนอาจเลี่ยงกับการเผชิญปัญหาที่กำลังมีเพราะความกังวลและความกลัวต่อสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้
แทนการหนีปัญหา ให้วางความเครียดหรือความท้อใจที่กำลังมีอยู่ลง รับรู้ว่าเรานั้นมีคุณค่าและเป็นที่รัก เรากล้าพอที่จะบอกเล่าความกลัวที่มีกับใครสักคน
แล้วมองสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ไม่มองเพียงแค่จุดบกพร่องในมุมหนึ่งที่เลวร้ายและเว้าแหว่ง แต่ให้มองถึงสิ่งที่ได้ลงมือทำไปแล้ว มองเห็นความเป็นไปได้ที่มีมากกว่าแค่ถูกหรือผิด ยืดหยุ่นกับวิธีการรับมือและแก้ปัญหา เพื่อให้เราตอบสนองกับปัญหาได้ดีขึ้น
ความสามารถในการฟื้นพลังหลังจากเราเผชิญปัญหา แล้วผ่านพ้นอุปสรรคนั้นไปได้ เราจะรู้ได้ว่าการก้าวข้ามอุปสรรคเป็นกระบวนการหนึ่งที่ต้องใช้เวลา หมายความว่า เมื่อเราล้มลงเราควรให้เวลาตัวเองค่อยๆ ลุก - ยืน - ก้าวเดินต่อไปอย่างช้าๆ โดยไม่กดดันตัวเองว่าเมื่อล้มแล้วต้องรีบลุกขึ้นให้เร็วไว
4) ซ่อนความเปราะบาง
: หลายคนมักซ่อน “ความอ่อนแอ” ไว้ในมุมหนึ่งของชีวิตที่ไม่อยากให้ใครเห็นและรับรู้ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม
‘มนุษย์’ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่เป็นอมตะ ไม่สมบูรณ์แบบ และเปราะบาง ดังนั้น การมีความเมตตา ใจดีกับตัวเอง รวมถึงการรับรู้ว่าความผิดพลาดและเจ็บปวดคือประสบการณ์ที่มนุษย์ต่างมีร่วมกัน มีเช่นเดียวกัน
ฝึกซื่อตรงกับตัวเอง ยอมรับความเป็นตัวเองในทุกมิติทั้งดีและร้าย มองและรับรู้สถานการณ์อย่างที่เป็น สังเกตและรับรู้ความรู้สึกต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา ไม่กดทับและขยายความรู้สึกให้แย่ลงกว่าที่เป็น
รับรู้และเข้าใจว่าสิ่งที่เราเจอนั้นคนอื่นก็เจอเหมือนกัน ต่างก็มีประสบการณ์บางอย่างที่ตล้ายกันกับเรา ปล่อยใจตัวเองให้เผชิญกับความหวั่นไหวและไม่มั่นคงที่มีอยู่ เข้าอกเข้าใจกับสิ่งที่ตัวเองกำลังเผชิญ ยอมรับว่าความรู้สึกนี้ที่เป็นแบบนี้เกิดขึ้นได้และเป็นเรื่องปกติ
การบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นหรือปล่อยความรู้สึกอ่อนไหวกับใครสักคนที่ไว้ใจ ไม่เพียงแค่ช่วยคลายทุกข์ผ่านการระบายในพื้นที่ที่ปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เราได้ทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รับรู้ความรู้สึกแท้จริงภายใน เพื่อให้เข้าใจสิ่งต่างๆ มากขึ้นได้
5) หมกมุ่นกับอดีตและกังวลถึงอนาคต
: บางคนใช้ชีวิตหมกมุ่นและเสียดายอยู่กับอดีตที่แก้ไขไม่ได้ ครุ่นคิดและกังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
เมื่อมีสถานการณ์แย่ๆเข้ามากระทบชีวิต เรามักเสียเวลาหมกมุ่นกับการเรียกร้องตามหาในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทำให้เรามองข้ามและปล่อยผ่านสิ่งหนึ่งที่เราไม่สามารถเรียกคืนได้อีกโดยที่ไม่รู้ตัว สิ่งนั้น เรียกว่า เวลา
การหมกมุ่นถึงปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและจบลงแล้วในอดีต หรือการครุ่นคิดคาดการณ์กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตครั้งแล้วครั้งเล่า จะทำให้เราพลาดกับการมีความสุขสงบกับปัจจุบันที่เรามี เพราะเวลาถูกใช้ไปอย่างไร้คุณค่าและเปล่าประโยชน์ด้วยการ"คิดมาก"
บอกเตือนตัวเองให้ยอมรับและเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อให้มีมุมมองใหม่ๆเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต ปล่อยทิ้งอดีตและคว้าปัจจุบันไว้ ก่อนที่ปัจจุบันจะกลายเป็นอดีต
ผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเกิดจากทุกการกระทำและการตัดสินใจของปัจจุบัน ดังนั้น บ่มเพาะนิสัยการใช้เวลาปัจจุบันที่มีค่า ทำสิ่งที่ให้ความหมายในชีวิตของตัวเองอย่างมีสติระมัดระวัง
6) วางลำดับความสำคัญของตัวเองไว้ท้ายๆ
: บางคนใช้ชีวิตอยู่และทำเพื่อคนอื่นมากเกินจนลืมให้ความสำคัญและละเลยความต้องการของตัวเอง
ถ้าเปรียบร่างกายเราเป็นเหมือนรถยนต์ ให้พลังงานชีวิตคือน้ำมัน ดังนั้น ถ้าเราให้ความสำคัญกับการดูแลความต้องการของคนอื่นก่อน พลังงานสะสมที่เรามีอยู่อาจมีไม่พอหรือไม่มีเลยที่จะแบ่งปันให้กับใคร หรือถ้าพลังงานเราหมด เราก็ช่วยเหลือใครไม่ได้ สุดท้ายก็ไม่เป็นผลดีกับตัวเองและคนอื่น
บางคนอาจจะตีความการดูแลตัวเองว่าเป็น “ความเห็นแก่ตัว” เพราะเลือกเอาตัวเองเป็นสำคัญ ในความเป็นจริง เมื่อใดที่เราเลือกลำดับให้ความสำคัญกับตัวเอง และเริ่มรับผิดชอบดูแลตัวเองบ้าง เมื่อนั้นผลของการดูแลตัวเองก็จะถูกขยายไปสู่คนรอบข้างของเราตามไปด้วย
สิ่งต่างๆในโลกนี้ที่มีชีวิต มีอายุขัย ขยับเคลื่อนไหวได้ ต่างต้องการการดูแลเอาใจใส่ ซ่อมแซมเมื่อจำเป็น และบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ใช้งานได้นานขึ้นอีกหน่อย
ร่างกายและจิตใจของเราก็เช่นกัน รักตัวเองด้วยการดูแลร่างกายและห่วงใยรักษาใจตัวเองบ้าง โดยเฉพาะในเวลาที่เรารู้สึกว่าไม่ไหวที่ต้องฝืน นั่นคือ สัญญาณบอกเตือนให้เราหันกลับมาให้ความสำคัญกับตัวเอง - ก่อนที่พลังงานชีวิตจะหมด ด้วยการรักและดูแลตัวเองเพื่อเติมพลังงานที่ดีให้มีมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น
7) โทษคนอื่นกับชีวิตที่เป็นอยู่
: โทษคนอื่นหรือเลี่ยงการรับผิดชอบต่อสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิต คือ สาเหตุหลักของการติดกับดักที่ขังตัวเองอยู่ในกรงหรือพื้นที่คุ้นเคยที่สร้างขึ้นในโลกแห่งจินตนาการ
จึงไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าในโลกแห่งความเป็นจริงได้
เราต้องยอมรับว่า “ตัวเองและคนอื่นหรือสิ่งแวดล้อม” เป็นคนละส่วนที่ต้องแยกออกจากกัน เราไม่สามารถบังคับให้คนอื่นหรือสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงเพื่อเราได้
ดังนั้น ให้เน้นไปที่การยอมรับทุกสิ่งอย่างในความเป็นเรา และพร้อมรับผิดชอบกับสถานการณ์ต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นที่ข้องเกี่ยวกับเราโดยตรง เพื่อให้เริ่มกระบวนการในการปรับเปลี่ยนและแก้ไขในส่วนที่เราสามารถควบคุมหรือจัดการได้
วันหนึ่งเราอาจพบว่า เราไม่ได้ตกอยู่ภายใต้กรงขังอีกต่อไป เพราะเราและเราเท่านั้นที่สามารถเปลี่ยนชีวิตและเป็นคนที่รับผิดชอบต่อความสุขของเราเองได้
8) มีความสัมพันธ์ในชีวิตที่เป็นพิษ
: เคยเห็นข้อความใน meme ว่า “ก่อนวินิจฉัยว่าตัวเองเป็นซึมเศร้า ให้มองดูรอบๆตัวก่อนว่า คนที่เราคบค้าสมาคมด้วยนั้น ให้ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษในชีวิตของเราหรือไม่”
2
ถ้าเรา(เลือก)ใช้ชีวิตข้องเกี่ยวกับคนที่ไม่ให้ค่าสำคัญเรา ก็เป็นได้เพียงแค่พลังงานลบให้กับชีวิต เราก็ไม่มีความสุข ไม่ต่างกับการมีชีวิตเดินบนเส้นทางที่มีแต่หมอกควันที่เป็นพิษบดบังวิสัยทัศน์ ที่คอยดึงรั้งชีวิตให้เดินหน้าช้ากว่าที่ควรเป็นหรืออาจทำให้หยุดอยู่กับที่ได้
แน่นอนว่า ในชีวิตเราไม่สามารถเลี่ยงคนที่ให้สัมพันธ์เป็นพิษได้ 100% ทั้งส่วนตัวและหน้าที่การงาน แต่เราสามารถ"เลือก"ที่จะไม่สุงสิงด้วยได้ เราเลือกที่จะแยกแยะเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน เราเลือกทิ้งเรื่องไร้สาระที่ให้พิษเป็นพลังลบต่อใจ เลือกจัดเก็บแต่สิ่งที่ให้คุณค่ากับชีวิตไว้เป็นพลังที่ดีต่อใจ
เมื่อเรามีคนรอบตัวที่ให้พิษน้อยลง (หรือไม่มีเลย - ยิ่งดี) เราก็สามารถจดจ่อกับการดูแลตัวเองได้เต็มที่ และสามารถดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมีสติและรู้สึกได้ถึงความสุขมากขึ้น
9) ขาดความรู้สึกเชื่อมโยงในชีวิต
: ในวันที่เรามีความรู้สึกแย่ๆ - มีสิ่งที่ไม่เป็นตามที่คาดหวัง ไม่ได้การยอมรับหรือไม่มีที่พึ่งทางอารมณ์ ซึ่งเป็นความรู้สึกขาดการเชื่อมต่อที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน อาจทำให้รู้สึกถึง “ความโดดเดี่ยว” คิดว่ามีเพียงเราคนเดียว ไร้คนรอบข้าง
เปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองที่เห็นเราเป็นเพียงแค่คนหนึ่งในโลกที่เป็นศูนย์กลาง ไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของโลกและมองว่ามีอะไรที่มากกว่าตัวเรา
เราจะรู้ว่า"ชีวิตเรา"นั้น ไม่ได้มีเพียงแค่เราและข้องเกี่ยวเพียงแค่ตัวเราเท่านั้น แต่ชีวิตเรายังเชื่อมโยงถึงความสัมพันธ์สำคัญต่างๆที่ให้ความหมายและมีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่อ"ชีวิตคนอื่น"ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
เพื่อให้เรามีความรู้สึกเชื่อมโยงกับคนอื่นหรือสิ่งรอบตัว เราต้องให้สัมพันธ์ของเรายึดติดกับบุคคลหรือบางสิ่งที่สำคัญ - นึกดูว่ามีใครในชีวิตที่อาจต้องการให้เรารับฟังและให้ความสัมพันธ์ที่ดีกับเราบ้างหรือไม่ เมื่อเราเป็นผู้ให้เราก็จะมีความสุขใจและเติมเต็มความสัมพันธ์ในชีวิตได้
10) ขาดทัศนคติ ”อย่างน้อย” ในชีวิต
: มักมองข้ามและไม่รู้สึกถึงความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณต่อสิ่งเล็กๆ รอบตัวที่ให้คุณค่าต่อชีวิต และสิ่งต่าง ๆ ที่ได้รับที่ให้คุณค่าต่อจิตใจ
การที่เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ความรู้สึกขอบคุณต่อสิ่งเล็กน้อยจะคอยย้ำเตือนว่าเราไม่ได้สิ้นหวังขนาดนั้นและยังบรรเทาความรู้สึกคับข้องใจที่มีได้บ้าง
การบอกเตือนตัวเองว่า เรายังมีสิ่งดีๆ เรื่องราวดีๆ และคนดีๆในชีวิตจะทำให้เราเห็นแง่มุมที่ดีในชีวิตได้ เตือนจำตัวเองเสมอๆว่า “อย่างน้อยวันนี้เราก็ยังมี..” เพื่อแสดงความรู้สึกขอบคุณต่อสิ่งต่างๆรอบตัว จะทำให้รู้สึกได้ว่าวันนี้ไม่ก็ไม่ได้เลวร้ายจนเกินไป
สิ่งเล็กๆน้อยๆหรือคนบางคนที่เรามองข้ามไป ไม่ได้ด้อยหรือไร้ค่าไปเลยทีเดียว แต่สิ่งเหล่านั้นและคนเหล่านั้นคือความโชคดีที่เรามีในชีวิต
อย่ามองข้ามความเล็กน้อยที่เรามี อย่ามองข้ามคนที่เราคิดว่าไม่สำคัญ เราอาจไม่รู้ตัวถึงความโชคดีที่เรามี จนกว่าเราสูญเสียสิ่งเหล่านั้นและคนเหล่านั้นไป
11) ใช้ชีวิตในทุกๆวันแบบไร้การเรียนรู้
: บางคนไม่มีความสุข ไม่พอใจในชีวิตของตัวเอง ถึงกระนั้นก็ไม่คิดจะเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง
ทำในสิ่งที่เคยทำมาตลอดหรือไม่ลงมือทำอะไรเลย แต่ก็ยังหวังผลที่แตกต่างออกไปหรือคาดหวังว่าชีวิตจะดีขึ้นกว่าเดิม
ในทุกๆวัน เราอาจต้องได้เผชิญกับปัญหาเข้ามาแทรกแซงที่ไม่อาจเป็นไปตามแผน อาจเกิดความพลาดพลั้งหรือผิดพลาดที่อาจต้องได้แก้ไขปรับปรุงหรือเปลี่ยนแผน การเรียนรู้จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เรารับมือและจัดการกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ได้
ถ้าการเรียนรู้ไม่มี แนวคิดใหม่ๆจึงไม่เกิด แนวทางจึงไม่เปลี่ยน ความผิดพลาดหรือล้มเหลวจึงเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ชีวิตจึงติดกับย่ำอยู่กับที่ ไม่ก้าวหน้า การเติบโตก็ไม่เกิด
การเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอทั้งจากการฟังและอ่าน รวมถึงประสบการณ์ตรงในชีวิต จะช่วยนำพาเราออกจากกรอบความคิดเดิม ๆ ทำให้มีมุมมองใหม่ๆและเข้าใจโลกต่างจากที่เคยเป็น ชีวิตก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงและเติบโต นั่นหมายถึงการได้เข้าถึงความสุขในการดำเนินชีวิตในทุกๆวันได้ดีขึ้น
12) หมกมุ่นอยู่กับการตามหาความสุข
: ความสุขอยู่ที่ความ"ต้องการ"ต่อสิ่งที่ตัวเองมี ไม่ใช่ความ"ต้องมี"ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ
เพราะความสุขไม่ใช่จุดหมายปลายทางแต่เป็นผลพลอยได้จากการใช้ชีวิตในทุกๆวันที่สอดคล้องกับค่าที่เราให้
เราอาจมองข้ามสิ่งต่างๆที่มีรอบตัวที่เรา อาจคิดว่าในชีวิตยังมีสิ่งที่ขาด จึงได้ตามหาสิ่งเหล่านั้นโดยตั้งเป็นเป้าหมาย เพราะเชื่อว่าความสุขคือการได้บรรลุสิ่งเหล่านั้น แต่ทันทีที่เราได้สิ่งที่เราตามหา เราก็จะมองหาสิ่งที่อื่นไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะยังไม่รู้สึกถึงได้ถึงความสุข
ถ้ามัวจดจ่อไปกับการตามหาสิ่งที่คิดว่าเรายังขาดในชีวิต เราก็จะติดกับอยู่ในความรู้สึกไม่เพียงพอไม่เคยเติมเต็ม แทนการตามหาความสุขให้เปลี่ยนพลังงานไปทำสิ่งที่สำคัญ
เริ่มจากการทำในสิ่งที่รัก ที่อาจเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ แต่มีคุณค่าในตัว โดยมีเราเป็นคนให้นิยามให้ความหมายกับสิ่งที่เราเลือกทำ เพราะสิ่งนั้นจะทำให้เรารู้สึกถึงความสำเร็จและการเติบโต ที่ส่งผลต่อความสุขของเรา
"มองให้เห็นในสิ่งที่มี หยุดมองหาในสิ่งที่ขาด"
13) นิยมความสมบูรณ์แบบ
: ความสมบูรณ์แบบเป็นความหมายเชิงบวก แต่ถ้าอะไรที่มากเกินไปก็ไม่ใช่ผลดี อาจทำให้เกิดความเครียด หดหู่ และหมดไฟจากการมีความคาดหวังมากเกินไป
คนที่ชื่นชอบความสมบูรณ์แบบมักจะไม่ยอมรับมาตรฐานใด ๆ ที่ขาดความสมบูรณ์แบบ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามความคิดในอุดมคติของตัวเอง และตั้งความรับผิดชอบให้กับตัวเองสูงเกินไป คาดหวังกับตัวเองมากเกินไป ถ้าไม่สามารถทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็จะรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว
“โลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ” รวมถึงตัวเราเองที่มีข้อบกพร่องที่ทำผิดพลาดได้ การทำผิดพลาดเป็นสิ่งที่เราทุกคนพบเจอถือเป็นเรื่องปกติ เรื่องทุกเรื่องในชีวิตคนคนหนึ่งไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบเสมอไป ความเข้าใจนี้จะทำให้เรารู้สึกเชื่อมโยงกับคนอื่นมากขึ้น
การมีมาตรฐานในชีวิตเป็นเรื่องที่ดี ทำความรู้จักและเท่าทันความรู้สึกของตัวเอง ยอมรับและไม่รังเกียจโดยเฉพาะข้อบกพร่องหรือจุดอ่อนที่เรามี การทำอะไรที่สุดโต่งมากเกินไป มันเหนื่อย.. การทำที่ไม่มากเกินไป - ไม่น้อยเกินไป จะทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้นได้
14) มองโลกในแง่ดีหรือแง่ร้ายในด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป
: สัญญาณบ่งบอกถึงการไม่มีความสุข
คนที่มองโลกในแง่ดีมากเกินไป มักจะหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญปัญหาที่กำลังเจออยู่ กำลังหลอกตัวเองให้หลีกหนีและปฏิเสธความจริง จนอาจปล่อยปัญหาที่มีลุกลามบานปลายโดยไม่ได้รับการแก้ไข
ส่วนคนที่มองโลกในแง่ร้ายจนเป็นนิสัย จะวิตกกังวลและระแวดระวังต่อความเป็นไปรอบตัวจนเกินเหตุ มักจะจินตนาการถึงผลร้ายที่จะตามมาไว้มากเกินจริง ทำให้ตั้งรับปัญหาที่เต็มไปด้วยความกังวลและความกลัว
ถ้ามองโลกในแง่ดีมากเกินไป เราก็จะมองข้ามความเป็นจริง
ถ้ามองโลกในแง่ร้ายมากเกินไป เราก็จะหวาดกลัวกังวลอยู่ตลอดเวลา
เมื่อใช้ชีวิตอย่างซ้ายจัดหรือขวาจัด จุดสมดุลในชีวิตจึงขาดหาย
ดังนั้น เราต้องมองโลกให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ด้วยการมองทุกสิ่งอย่างที่เป็นและรับรู้ทุกสถานการณ์อย่างตรงไปตรงมา ใช้ชีวิตให้มีสมดุลอย่างครองสติไม่ประมาทเพื่อให้รู้สึกได้ถึงความสุขกับทุกสิ่งที่เรากำลังทำในที่สุด
ไลฟ์สไตล์
ปรัชญา
พัฒนาตัวเอง
2 บันทึก
6
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ข้อคิด
2
6
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย