11 มิ.ย. 2023 เวลา 14:00 • ไลฟ์สไตล์

7 ข้อคิดเรื่องความสุข

เราอาจได้ยินข้อความผ่านหูหรือเห็นข้อความผ่านตา ที่บอกเตือนเราอยู่ตลอดเวลาว่า “ต้องมีความสุข” และเพื่อที่เราจะมีความสุขได้ เราต้องมีงานที่มั่นคง มีเงินเดือนสูง มีคู่ชีวิตที่สมบูรณ์แบบ.. เมื่อใดที่เราทำอะไรที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่สังคมตั้งไว้ นั่นคือ ความล้มเหลว - และนั่นหมายถึง เราจะรู้สึกถึงความทุกข์แทน
แต่ในความเป็นจริง เราไม่สามารถทําตามเงื่อนไขที่สังคมกำหนด โดยตั้งเป้าหมายและทําตามเป็นขั้นจังหวะให้สำเร็จตามอายุ เพราะความสุขไม่ใช่การทำตามสังคม - เพื่อสังคม แต่เป็นการทำตาม(ใจ)ตัวเอง(ต้องการ) - เพื่อตัวเอง ด้วยความระมัดระวังอย่างมีเหตุและผล ในทุกๆการตัดสินใจ
7 ข้อคิดเกี่ยวกับความสุข
1) ความสุขเป็นภาวะความพึงพอใจที่เกิดขึ้นชั่วคราว
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้นิยามคำว่า (ความ)สุข คือ (น.) ความสบายกายสบายใจ¹...
ในด้านจิตวิทยา ความสุข คือ สุขภาวะทางอารมณ์ที่บุคคลได้ประสบ ไม่ว่าจะเป็นความหมายในวงแคบเมื่อสิ่งดีๆเกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง หรือความหมายในวงกว้าง ที่เป็นการประเมินชีวิตในเชิงบวกและความสําเร็จโดยรวม เรียกได้ว่า สุขภาวะส่วนปัจเจกบุคคล²
โดยทั่วไปแล้ว ความสุขเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นอารมณ์เชิงบวกหรืออารมณ์ที่พึงพอใจที่มีต่อกิจกรรมที่เราทำในชีวิตประจำวัน
ดังนั้น ความสุข จึงเป็นภาวะส่วนปัจเจกบุคคลทางอารมณ์ที่แสดงถึงลักษณะแห่งความพึงพอใจ (Pleasantness) เช่น ความสนุกสนานสำราญใจ ความตื่นเต้น ความรื่นเริง ความปีติยินดี ความรู้สึกรักชอบพอ ความภูมิใจ เป็นต้น
ซึ่งตรงข้ามกับความทุกข์ เป็นภาวะส่วนปัจเจกบุคคลทางอารมณ์ที่แสดงถึงลักษณะแห่งความไม่พึงพอใจ (Unpleasantness) เช่น ความเครียด ความกลัว ความเหงา ความเกลียด ความโกรธ เป็นต้น
เราไม่ได้มีความรู้สึกดีหรือได้รับความรู้สึกพึงพอใจอย่างต่อเนื่อง เพราะความสุขไม่ใช่ภาวะตายตัวที่แช่แข็งและอยู่ยืนยาวไปตลอด เช่น เมื่อทานอาหารอิ่ม เราจะรู้สึกถึงความพึงพอใจขณะหนึ่ง – เรากินหนึ่งครั้งไม่ได้ทำให้เราอิ่มไปตลอดกาล
เช่นเดียวกันกับภาวะความสุข ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้น มีอยู่ เป็นจริงเพียงแค่ระยะเวลาหนึ่งและจบลง
ถ้าให้สังเกตตัวเองในระหว่างวัน ตั้งแต่ตื่นเช้าจนเข้านอน เราจะได้ประสบกับหลากหลายอารมณ์ที่สลับสับเปลี่ยนเพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัวอยู่ตลอดเวลา ที่ทำให้เราพึงพอใจและไม่พึงพอใจ เช่น หงุดหงิดเพราะรถติด ดีใจที่ลูกค้าตอบรับงาน ภูมิใจที่หัวหน้าชื่นชม สนุกสนานได้กินข้าวกับเพื่อน เสียใจที่พ่อแม่ตำหนิ เป็นต้น
ในบางครั้ง เรารู้สึกถึงบางอารมณ์อยู่กับเราได้นาน โดยเฉพาะอารมณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจ เพราะเราไม่จัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุมีผลตามค่าที่เรา(ควร)ให้ ในทางกลับกัน นำเก็บมา”คิด” ความรู้สึกเชิงลบที่มีจึงไม่หายไป และวนเป็นวงกลมจนมีผลกระทบกับชีวิตประจำวัน นั่นเอง
2) เมื่อยอมรับอารมณ์เชิงลบได้ เมื่อนั้นเราจะเข้าใจคุณค่าความสุขอย่างแท้จริง
โดยธรรมชาติของมนุษย์ เราจะแสดงอารมณ์และความรู้สึกตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะในชีวิตประจำวันเราต้องได้เจอกับสิ่งที่ดีและร้ายโดยที่เราไม่คาดคิด เป็นปัจจัยส่งผลให้เรามีประสบการณ์ทางอารมณ์ทั้งดีและไม่ดี ที่ขึ้น-ลงได้ตลอด
บางครั้ง อาจมีคนทำให้เรารู้สึกผิดหวังหรือเสียใจ บางครั้งอาจมีคนทำให้รู้สึกดีใจหรือภูมิใจ เป็นต้น แต่เรามักรู้สึกถึงอารมณ์ด้านลบมากกว่าบวก เพราะมนุษย์เราไม่ได้มีวิวัฒนาการหรือเพียงพัฒนาตัวเองไปสู่ความสุข แต่มีวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอด
ชาร์ลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษเชื่อว่า อารมณ์มีวิวัฒนาการในการปรับตัวเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสให้ทั้งมนุษย์และสัตว์สามารถอยู่รอดได้³ หมายความว่า คนที่ปรับตัวทางอารมณ์ได้ดีกว่าจึงมีแนวโน้มที่จะอยู่รอด
ดังนั้น เมื่อใดที่
(1) เราเข้าใจว่าในชีวิตประจำวันมีทั้งอารมณ์เชิงบวกและลบจากสิ่งดีและไม่ดีที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
(2) เราสามารถจัดการอารมณ์ที่หลากหลายที่มีทั้งบวกและลบได้
(3) สามารถยอมรับและโอบกอดประสบการณ์ที่เป็นลบ - ทำให้เกิดอารมณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจ เช่น ความผิดหวัง ความล้มเหลว เป็นต้น
เมื่อนั้นเราจะมีฐานรากที่มั่นคงในการสร้างภาวะความสุขให้กับตัวเองได้
ถ้าเรามีชีวิตปราศจากอารมณ์เชิงลบ เราก็อาจจะไม่มีวันเข้าใจและเห็นคุณค่าอารมณ์ที่เป็นบวกได้อย่างแท้จริง รวมถึงการขาดความรู้จักคุณ"ค่า"ของตัวเอง ซึ่งอาจทำให้เรารู้สึกไร้ความหมายและไม่สามารถเติมเต็มความต้องการทางกายและใจได้เต็มที่ เพราะเราไม่มีจุดยึดตัวตนของเรานั่นเอง
3) ความสุขคือผลของความต้องการสอดคล้องกับความคาดหวัง
ความสุขไม่ใช่สิ่งที่เราได้รับ แต่เป็นอารมณ์แห่งความพึงพอใจที่อยู่ภายในจิตใจของเรา เช่น ความภูมิใจ การได้รับความรัก ความสนุกสนาน ความยินดี เป็นต้น ซึ่งเป็นภาวะตรงกันข้ามกับอารมณ์แห่งความไม่พึงพอใจ เช่น ความไม่สบายใจ ความเจ็บปวด ความขยะแขยง ความเศร้า เป็นต้น
เมื่อเราตั้งความคาดหวังและอาจไม่สามารถตอบสนองได้ เราก็จะรู้สึกถึงอารมณ์เชิงลบ ที่ทำให้ไม่พึงพอใจ ผิดหวัง เศร้า แต่ถ้าเราสามารถตอบสนองความคาดหวังซึ่งสัมพันธ์กับเงื่อนไขความต้องการที่เรามีได้ เราก็จะรู้สึกถึงอารมณ์ที่เป็นบวก เช่น ความพอใจ สบายใจ ภูมิใจ เป็นต้น และนั่นคือ ภาวะความสุข
นั่นหมายความว่า ภาวะความสุขก็จะเกิดขึ้นเมื่อความต้องการกับความคาดหวังสอดคล้องตรงกัน เพราะอารมณ์เป็นผลมาจากการที่จิตใจเปรียบเทียบ”สถานการณ์ที่เกิดขึ้น”กับ”ความคาดหวัง”ของเรานั่นเอง เช่น ได้เลื่อนตำแหน่ง สอบผ่าน ได้รับความรัก ได้ทานอาหารอิ่ม ค้าขายได้กำไร เป็นต้น
4) สิ่งที่เลือกทําต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขอิสรภาพชีวิตที่เรามี
บางคน(ยัง)ไม่มีตัวตนที่แท้จริง จิตใจจึงไม่มีที่ยึดเกาะ จึงไล่ตามหาตัวตน โดยดำเนินชีวิตแบบยึดเกาะใต้เงาและดิ้นรนทำตามคนอื่นเรื่อยไป และคาดหวังว่าจะสามารถเติมเต็มความว่างเปล่าเพื่อทำให้ตัวเองมีความสุขได้
รู้หรือไม่ว่า พื้นฐานของความสุขอยู่ใน "ความต้องการ"ต่อสิ่งที่ตัวเองมี ไม่ใช่"ความต้องมี"ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ดังนั้น เราควรเริ่มต้นจากการ“จดจ่อในสิ่งที่มี หยุดใส่ใจในสิ่งที่ขาด” เพื่อต่อยอดในส่วนอื่นของชีวิตได้อย่างมีค่าและให้ความหมาย
สิ่งที่ตัวเองมี หมายถึงความมีอิสรภาพทางชีวิตทั้งสี่ด้าน คือ ความรักและความสัมพันธ์ สุขภาพ การเงิน และอาชีพการงาน สิ่งที่เราทำด้วยความสบายใจและความเป็นเราอย่างไม่เสแสร้ง คือตัวแทนความเป็นตัวตนของเรานั่นเอง
แน่นอนว่าความสุขไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่ขึ้นอยู่กับตัวเรา ซึ่งเป็นผลจากการที่เราเลือกทำจากความเป็นตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสำคัญน้อยจนถึงสำคัญมาก โดยผ่านเงื่อนไขสอดคล้องกับอิสรภาพชีวิตที่เรามี ณ ปัจจุบัน - เลือกทำในสิ่งที่ทำแล้วสบายใจและไม่ได้ต้องกังวลในภายหลัง เช่น เที่ยวในไทยเพราะ(ยัง)ไม่มีเงินพอเที่ยวต่างประเทศ ออกกำลังกายอยู่บ้านแทนการเป็นสมาชิกในยิมเพราะไม่ชอบคนมาก เป็นต้น
ความสุขที่แท้จริงไม่ได้มาจากการเปลี่ยนสถานการณ์ภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ แต่มาจากภายในโดยส่งผ่านตัวแทนความเป็นตัวเราจากสิ่งที่เราทำ - ทำสิ่งที่เราให้ค่าและที่มีความหมายต่อตัวเราเอง ตัวอย่างเช่น เริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัว หรือเริ่มออกกำลังกายดูแลสุขภาพตัวเองอย่างจริงจัง เป็นต้น
ผลที่ได้รับตอบกลับจากการทำ จะนำมาซึ่งความรู้สึกทางอารมณ์ที่มีคุณค่าและให้ความหมาย ซึ่งเป็นภาวะความสุขตามบริบทที่เป็นเอกลักษณ์ของเรานั่นเอง ที่จะกลายเป็น"แรงบันดาลใจ"ให้ทำสิ่งอื่นๆ ต่อไป
ถ้าเราทำได้ ความสุขก็จะดูแลตัวมันเองและจะค่อยๆปรากฏชัดเจนขึ้น นั่นหมายถึง ความอิ่มเอมที่เราได้รับจากความสุขอย่างแท้จริง
5) ความสุขไม่ใช่เป้าหมายหรือจุดหมายปลายทาง
"ยิ่งตามหาความสุขยิ่งทำให้เราทุกข์มากขึ้น"
การจดจ่อกับการค้นหาความสุขเป็นเพียงแค่การเบี่ยงเบนความสนใจจากอารมณ์เชิงลบที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ว่าความเครียดหรือความไม่สบายใจกับปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่
บางคนอาจสับสนว่าเป้าหมายกับความสุขเป็นเรื่องเดียวกัน
จริงๆแล้ว เป้าหมายอาจทำให้ได้รับความสุขแต่ความสุขไม่ใช่เป้าหมาย เราจึงพลาดความสุขหลายๆอย่างไปอย่างน่าเสียดายเพราะคิดว่าความสุขอยู่ที่จุดหมายที่ตั้งไว้และต้องไปให้ถึง เมื่อบรรลุเป้าหมายได้สำเร็จก็ไม่เคยรู้สึกถึงความสุข
ความสุขไม่ใช่ปลายทางแต่อยู่ระหว่างทางที่เรากำลังเดินและดำเนินไป ความสุขอยู่รอบๆตัว บางอย่างก็แอบซ่อนอยู่ใกล้เราอย่างแนบเนียน บางอย่างก็อยู่ต่อหน้าต่อตา
แต่เรามักรู้สึกถึงความทุกข์บ่อยกว่าความสุข เพราะเราให้พื้นที่กับการให้เวลาและจับจดกับความทุกข์มากเกินไป จนบดบังความสุขที่เราพึงมี
ความทุกข์จึงชัดเจนกว่าความสุข จนคิดว่าเราหาความสุขไม่(เคย)เจอ นั่นเอง
6) ความสุขไม่มี "สูตรสำเร็จ"
ความสุขไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เพราะเราต่างเลือกทำในสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข สิ่งที่เราทำไม่ได้หมายความว่า คนอื่นทำแล้วจะมีความรู้สึกแล้วมีความพึงพอใจเช่นเดียวกันกับเรา
เช่น บางคนมีความสุขเมื่อแต่งงานมีลูก หรือบางคนแต่งงานแต่ไม่มีลูกก็มีความสุขได้ บางคนกินสเต็ก Robata-grilled Kobe Rib-eye มีความสุข หรือบางคนกินต้มยำก็มีความสุขได้ บางคนมีความสุขกับการทำงานบริษัท หรือบางคนก็มีความสุขกับการทำงานราชการ เป็นต้น
ความสุขจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวมาก (personal) เพราะเรามีค่าสำคัญที่ให้ในชีวิตต่างกัน เราจึงมีความชอบ-ชังไม่เหมือนกัน นั่นเป็นเหตุผลที่เรามีความสุขกับสิ่งที่เรา"ทำ"ซึ่งแตกต่างจากคนอื่น
เราจึงเลือกที่จะดำเนินชีวิตตามที่สอดคล้องกับ(ความเป็น)ตัวตน”ที่แท้จริง” (หรือตัวตน”ในอุดมคติ”ที่อยากเป็น) เพื่อให้รู้สึกถึงความพอใจที่ตนพึงได้ คือ ความเป็นอยู่ตามที่ต้องการอย่างสบายกายและความสบายใจที่ตนพึงมี หมายถึง การได้กินและอยู่ตามตัวเองต้องการอย่างสบายใจ ส่งผลให้นอนหลับตอนกลางคืนได้อย่างเต็มอิ่ม
ความสุขจึงเป็นความรู้สึกส่วนปัจเจกบุคคล (subjective feeling) ไม่ว่าสิ่งที่ทำนั้นจะสอดคล้องกับเงื่อนไขตามอิสรภาพทางชีวิตที่มีหรือไม่ เพราะสุดท้ายแล้ว ความสุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเลือกทำของเราเอง
7) ความสุขอยู่ในกาลปัจจุบัน
ความสุขไม่ใช่สิ่งที่ต้องกลับไปแก้ไข.. ในอดีต
ความสุขไม่ใช่เป้าหมายที่จะต้องบรรลุ.. ในอนาคต
เรามักจดจ่อกับความทุกข์ เราจึงเห็นภาพในชีวิตประจำวันที่เรามีความทุกข์มากกว่าความสุข เพราะมัวแก้ปัญหาเพื่อให้หายทุกข์ ถ้าเปลี่ยนมุมในการมองเพื่อให้เห็นความสบายใจที่ทำให้เราเกิดความสุขบ้าง เราก็จะสามารถดำเนินชีวิตกับเวลา ณ ปัจจุบันได้ดีขึ้น
เราทุกคนต่างมีเวลาที่เป็นปัจจุบันเท่าๆ กัน ดังนั้น ไม่ควรเสียเวลาครุ่นคิดและกังวลกับสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ฝึกเปลี่ยนทัศนคติและบอกตัวเองให้"ทำใจยอมรับ" และเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อให้มีมุมมองใหม่ๆ กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อให้มีความสุขกับปัจจุบัน
แทนที่จะจดจ่อไปที่การบรรลุความสุข แต่ควรฝึกจดจ่อไปที่ความรู้สึกที่ยินดีและซาบซึ้งกับสิ่งเล็กๆรอบตัวที่เรามี และหาสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราชอบและสามารถทำได้ ในช่วงเวลา ณ ปัจจุบันที่เรามีกับสิ่งที่เราเป็น เพื่อนำช่วงเวลาแห่งความสุขให้กับตัวเองในแต่ละวัน เช่น ลิ้มรสกาแฟโปรดยามเช้า ดื่มด่ำกับบรรยากาศพระอาทิตย์ยามเช้าในวันอาทิตย์ สนุกกับการเล่นกับแมวในวันว่าง ขับรถกินลมกับเพื่อนที่รู้ใจ เป็นต้น
เราต้องยอมรับให้ได้ว่าประสบการณ์ในชีวิตมีทั้งดีและร้ายปะปนกันไป และเรียนรู้ที่จะจดจ่อในสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ เราก็จะสามารถสัมผัสกับความสุขแม้ในสถานการณ์ที่ท้าทายที่เรากำลังเผชิญ - ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่
ความสุขคือผลข้างเคียงจากการเลือกทำในสิ่งที่เรารู้สึกได้ถึงความพึงพอใจและสบายใจ เพื่อให้ภาพรวมของภาวะความดำรงอยู่ของชีวิตเราเอง มีความ(เป็น)อยู่ดีมีสุข (well-living) ที่เพียงพอต่อร่างกายและจิตใจของเรา.. เท่านั้นเอง
Happiness is just… being.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา