7 มี.ค. 2023 เวลา 10:56 • ประวัติศาสตร์

เคนโซ่ (Kenzo) ค.ศ.1970

เป็นนักออกแบบที่ได้สร้างแบรนด์แรกในประเทศฝรั่งเศสที่มีคนญี่ปุ่นเป็นคนสร้างขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งตำนานที่น่าสนใจและแตกต่าง
ผมไม่เคยหวังเลยว่าจะได้ทำงานด้านแฟชั่นในปารีส เพราะผมมักจะถูกบอกว่าคนญี่ปุ่นทำแบบนั้นไม่ได้หรอก
Kenzo Takada
เด็กที่เกิดมาในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 (27 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1939) เติบโตมากับพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นและมีพี่สาวที่อ่านนิตยสารแฟชั่นตามแบบฉบับเด็กสาวทั่วไป ความฝันริเริ่มมาด้วยความน่าสนใจ
Kenzo Takada ในช่วงวัยรุ่น
หนุ่มญี่ปุ่นปฏิเสธการเรียนในเส้นทางพื้นฐานทั่วไปตามความคาดหวังของครอบครัวและลงเรียนแฟชั่น ณ โรงเรียนแฟชั่นบุนกะ ระหว่างเรียนก็ได้เริ่มลงสนามทำงานกับห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งซึ่งเคนโซ่ได้เริ่มออกแบบแฟชั่นอย่างจริงจังกว่า 40 ชุดในช่วงนี้นี่เอง
ถือเป็นจุดเริ่มของเด็กหนุ่มผู้สนใจแฟชั่น ในวันที่ดินแดนอาทิตย์อุทัยกำลังฟื้นตัวพัฒนาหลังเผชิญความพ่ายแพ้ในสงครามโลก
เด็กนักเรียนแฟชั่นผู้ชายคนแรกในบุนกะซึมซับความงดงามจากเมืองหลวงแฟชั่นอย่างปารีสมาตลอด ทั้งจากหนังสือ เรื่องเล่า ตำราเรียน และอื่นๆ อีกมากมาย นั่นทำให้เคนโซ่หลงรักแม้ยังไม่เคยไปเยือนเองแม้แต่ครั้งเดียว
บรรยากาศปารีสปี 1965 ช่วงที่ Kenzo Takada ไปถึง
ด้วยสถานการณ์บีบบังคับที่รัฐจะทำลายอาคารที่พักอาศัยของเขาพอดี ประจวบเหมาะกับความอยากไปเยือนปารีสสุดขีดเคนโซ่จึงตัดสินใจเริ่มทริปทางเรือในปี ค.ศ.1964
ก่อนจะถึงเมืองในฝันในวันปีใหม่ของปี ค.ศ. 1965 พอดิบพอดี เขาไปโดยไม่รู้ภาษา ไม่รู้จักใคร แพชชั่นของการเป็นคนแฟชั่นผลักดันเขาไปอย่างแท้จริง
ปี ค.ศ. 1970 ตำนานบทสำคัญในโลกแฟชั่นก็เกิดขึ้น เคนโซ่เริ่มตั้งแบรนด์ของตัวเองอย่างจริงจังในปารีสหลังจากใช้เวลาเรียนรู้เมืองใหญ่ให้รอบด้านกว่า 5 ปีเต็ม วาดรูป สร้างชื่อ และสะสมทุนจนสามารถออกแบบงานของตัวเองได้เป็นคอลเล็กชั่น
บรรยากาศหน้าร้าน Kenzo ที่ Place de Victoires ซึ่งเป็นร้านสาขาแรกของแบรนด์
สีสันและลายพิมพ์จัดจ้านที่คล้ายกับงานศิลปะบนผืนผ้าใบกลายเป็นเอกลักษณ์ของเคนโซ่จวบจนทุกวันนี้ เขาสร้างและพัฒนาแบรนด์รวดเร็วมาก เพียงไม่กี่เดือนเคนโซ่ถูกจับตามองจากสำนักแฟชั่นชื่อดังในฝรั่งเศส
ชื่อเสียงเองก็ดังไกลถึงอเมริกา ปีเดียวหลังจากก่อตั้งแบรนด์ เคนโซ่ได้บินลัดฟ้าไปโชว์ถึงนิวยอร์กและกลับโตเกียว แถมยังได้รางวัลในบ้านเกิด ถือเป็นการสร้างความสำเร็จด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองอย่างถึงที่สุดดั่งวลีที่ว่า “ตำนานสร้างได้ด้วยมือเรา”
Kenzo ได้จัดโชว์ที่มหานครนิวยอร์ก
มาในปี ค.ศ. 1976 พอ เคนโซ่ ได้ไปจัดโชว์ที่มหานครนิวยอร์ก ทางนักการตลาดในอเมริกาก็ได้เสนอให้เขาเปลี่ยนชื่อแบรนด์จาก Jungle Jap เป็น Kenzo เพราะชื่อเดิมทำให้รู้สึกดูหมิ่นวัฒนธรรมญี่ปุ่น
ซึ่งเขาก็ยอมและต่อมาจัดแฟชั่นโชว์สุดตระการตามากมายที่ถูกจารึกในประวัติศาสตร์แฟชั่น เช่น โชว์ปี ค.ศ.1977 ที่คลับตำนาน Studio 54 ซึ่งได้นักร้อง Grace Jones มาแสดง
ส่วนด้านธุรกิจของแบรนด์ก็ก้าวกระโดดเช่นกัน เปิดตัวคอลเล็กชันเสื้อผ้าผู้ชายครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1983 ต่อด้วยคอลเล็กชันของแต่งบ้านในปี ค.ศ.1987 และไลน์น้ำหอมในปี ค.ศ.1988
นอกจากเสื้อผ้าสตรีที่เคนโซ่เริ่มทำและเป็นตัวชูโรงเสมอมา เขาไม่หยุดพัฒนาด้วยการสรรสร้างไลน์เสื้อผ้าบุรุษ แบรนด์ไลน์ย่อย รวมถึงทำยีนส์เคนโซ่สุดโด่งดัง มากไปกว่านั้นเขายังเริ่มแตะวงการน้ำหอมด้วย
ขวดน้ำหอมสุดคลาสสิกช่วงปลายยุค ‘80s ของ Kenzo
ในเวลา 15 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์ ชายคนนี้พัฒนาจนเรียกว่าเคนโซ่แทบจะครบวงจร และอีกหนึ่งเครื่องหมายการันตีความยิ่งใหญ่คือ LVMH เครือแฟชั่นและสินค้าลักชัวรี่ชั้นนำของโลกซื้อกิจการของแบรนด์ในปี ค.ศ. 1993
เท่ากับว่าเคนโซ่ใช้เวลาไม่ถึง 25 ปีในการสร้างตัวไต่เต้าจากหนุ่มญี่ปุ่นพลัดถิ่นสู่เจ้าของแบรนด์ในอ้อมกอดของเครือยักษ์ใหญ่ระดับนี้
วันนี้เคนโซ่ ทากาดะได้จากเราไปแล้วด้วยโรคโควิด-19 แต่ตำนานบทสำคัญที่เขาสร้างสรรค์ประวัติชีวิตและแบรนด์ได้โดยเริ่มต้นราวกับนิยาย ความพยายามสรรสร้าง การรักษามาตรฐาน การพัฒนาจนสมบูรณ์แบบ
เขาทำทั้งหมดและถ่ายทอดต่อให้ผู้ช่วยที่ผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาอย่างยาวนานแบบหมดเปลือก และเขาก็ได้ตัดสินใจเกษียณตัวเองเพื่อยืนหยัดเรียนรู้พัฒนาตัวเองต่อไปโดยไม่ให้อุปสรรคเรื่องอายุมาขวางกั้น
ฝากกดถูกใจ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ
Reference เคนโซ่ (Kenzo) :
โฆษณา