Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
11 มี.ค. 2023 เวลา 04:11 • ไลฟ์สไตล์
“หมั่นรู้ทันกิเลสในจิตในใจของเราเอง
ไม่ต้องไปรู้กิเลสคนอื่น
เห็นกิเลสคนอื่น กิเลสเราจะเพิ่มขึ้น
อย่างน้อยก็มีทิฏฐิมานะ กูเก่งอะไรอย่างนี้“
“ … ความเพียรไม่ใช่นั่งสมาธิเยอะๆ เรียกว่ามีความเพียรชอบ ไม่ใช่
หรือเดินจงกรมวันหนึ่งหลายๆ ชั่วโมงแล้ว เรียกว่าความเพียรชอบ อันนั้นไม่ใช่
ความเพียรชอบอยู่ที่เราเพียรลดละกิเลสที่มีอยู่หรือเปล่า
เพียรปิดกั้นกิเลสใหม่ไม่ให้เกิดหรือเปล่า
เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดหรือเปล่า
กุศลที่เกิดแล้วรักษาไว้ได้ จะให้มันเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ ทำหรือเปล่า
ถ้าเราทำในเรื่องล้างกิเลสแล้วก็พัฒนากุศลขึ้นมา
อันนั้นถึงจะเรียกว่าความเพียรชอบ
นั่งสมาธิมากๆ แล้วก็มีแต่โมหะครอบ ไม่เรียกว่าความเพียรชอบ
เดินจงกรมหามรุ่งหามค่ำ แต่ไม่ได้พัฒนาสติ
ไม่มีสติก็คือไม่มีกุศลล่ะ
เดินหามรุ่งหามค่ำ มันก็คืออัตตกิลมถานุโยค
การทำตัวเองให้ลำบาก มันไม่ใช่ทางสายกลาง
หมั่นรู้ทันกิเลสในจิตในใจของเราเอง
เพราะฉะนั้นเราต้องตั้งหลักให้ถูก เราภาวนา
จุดหมายปลายทางเพื่อความพ้นทุกข์
แต่ก่อนจะไปถึงความพ้นทุกข์ได้
งานหลักๆ ของเราคืองานล้างกิเลส
การที่เราล้างกิเลสได้ นั่นล่ะก็คือเกิดกุศลขึ้น
เมื่อเช้าก็มีโยมคนหนึ่ง เจอหลวงพ่อก็ถาม เขาเห็นกิเลสตัวเอง อย่างเพื่อนมาร้องเรียกชื่อ ไม่ได้มาด่า แค่มาเรียกชื่อ ความโกรธมันพุ่งขึ้นเฉยๆ เลย พุ่งขึ้นจากกลางอก ขึ้นมาถึงหน้าเลย แล้วความโกรธก็พุ่งออกทางตา ส่งพลังทำลายล้างออกทางลูกตา ก็ถามหลวงพ่อว่าจะตกนรกไหม โทสะแรงเหลือเกิน
หลวงพ่อบอกตก ถ้าปล่อยให้กิเลสครอบงำใจอยู่ ไม่รู้จักชำระสะสาง ตายไป มันก็ไปตามกิเลสนั่นล่ะ ถ้าโทสะแรงก็ตกนรกไป
เพราะเวลาเรามีโทสะ เราไม่มีความสุข
เวลาจิตใจเกิดความโกรธ ตระกูลโทสะอย่างนี้
จิตใจจะไม่มีความสุข
ตระกูลโทสะมันก็กว้าง อย่างโกรธ ขัดใจ อิจฉา ตระหนี่ เวลาเราเกิดความรู้สึกตระหนี่ เรานึกว่าราคะ ไม่ใช่หรอก สังเกตให้ดี เวลาเราหวงอะไรแล้วคนจะมาเอา จิตใจเราไม่มีความสุข เป็นตระกูลโทสะ ความตระหนี่
ฉะนั้นเราสังเกตใจของเราไป ถ้าโทสะเยอะ มันตกนรกตั้งแต่ยังไม่ทันจะตายเลย ตายไปมันก็ไปตกต่อ
หรือถ้าเราโลภะเยอะ มันก็เป็นพวกเปรต
ถ้าทิฏฐิเยอะ มานะเยอะ ก็ไปเป็นพวกอสุรกาย
ตัวทิฏฐิก็อยู่ในตระกูลราคะเหมือนกัน แต่มันแยกหน้าตาออกไป
กิเลสแต่ละตระกูล มันก็มีพรรคพวก มีลูกมีหลานแยกๆ ออกไป
อย่างตระกูลโลภะก็มีราคะ
ตั้งแต่ราคะหยาบๆ กามราคะถึงราคะละเอียด
รูปราคะ อรูปราคะ ติดอกติดใจในสมาบัติทั้งหลาย
หรือตัวทิฏฐิ ตัวความคิดความเห็น
ยึดถือมั่นในความเห็นผิดทั้งหลาย
อันนั้นก็เป็นตระกูลโลภะเหมือนกัน
พวกโลภมากก็ไปเป็นเปรต ถ้าพวกทิฏฐิมากก็ไปเป็นอสุรกาย อสุรกายไม่รับส่วนบุญส่วนกุศลของใครทั้งสิ้น ถ้าใครไปเกิดเป็นอสุรกาย ใครทำบุญให้ก็ไม่รับ เพราะว่าเซลฟ์จัด ไม่รับอะไรของใคร เปรตบางพวกก็รับ บางพวกก็รับไม่ได้
ถ้าเราโมหะเยอะ จิตเราหลงไปเรื่อยๆ หรือเซื่องซึม
โมหะก็มีหลายแบบ ฟุ้งซ่านกับเซื่องซึม
พวกโมหะ เราสังเกตให้ดี พวกสัตว์ บางทีใจมันก็ฟุ้งๆ ทะยานออกไป ลุยแหลก ไม่รู้เรื่องรู้ราว บางทีก็เซื่องซึมหงอยๆ ซึมๆ ไป
ลองดูหมาที่บ้านเราก็ได้ ถ้าใครเลี้ยงหมา เวลามีอะไรมากระตุ้นก็กระโดดขึ้นมายืนผาง เห่า เอะอะโวยวาย นี่ฟุ้งซ่านรุนแรง เอะอะโวยวายออกมาก บางทีไม่มีใครมากวนก็ซึมๆ เงียบๆ นี่ตระกูลโมหะ
ถ้าเราคุ้นเคยกับกิเลสตัวไหน
โอกาสที่จะไปเกิดด้วยอำนาจกิเลสตัวนั้นมันก็มี
มันเป็นความคุ้นเคย
จิตมันคุ้นเคยจะโลภ มันก็มักจะตายด้วยความโลภ
ตอนตายจิตมักจะโลภ
จิตคุ้นเคยกับความโกรธ
ตอนจะตายก็มักจะไหลไปตามความโกรธ
เคยชินจะหลง มันก็จะไปตามความหลง นี่กิเลส
เราจะปฏิบัติธรรม
ต้องหมั่นรู้ทันกิเลสในจิตในใจของเราเอง
ไม่ต้องไปรู้กิเลสคนอื่น
เห็นกิเลสคนอื่น กิเลสเราจะเพิ่มขึ้น
อย่างน้อยก็มีทิฏฐิมานะ กูเก่งอะไรอย่างนี้
ถ้าเห็นกิเลสของตัวเอง มันก็จะลดละกิเลสลงได้
สังเกตที่จิตใจเรา สังเกตลงไปในจิตในใจเรา
กิเลสไม่ได้อยู่ที่อื่น กิเลสอยู่ที่จิตเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากมีความเพียรชอบ
เรามีสติสังเกตจิตใจตัวเองไป
แล้วความเพียรชอบมันจะเกิดขึ้นเอง
การที่เราคอยสังเกตจิตใจตัวเอง จะทำให้สัมมาวายามะเจริญขึ้น
เรานั่งกระดิกเท้าเล่นอยู่ นั่งไขว่ห้างอยู่ แล้วเราเห็นว่าในใจเรากำลังเพลิดเพลิน กำลังหลงอยู่ ความหลงดับ กุศลเกิด
นั่งกระดิกเท้าอยู่แท้ๆ หรือนอนกระดิกขาเล่นอยู่ เพลินๆ หลงๆ อยู่ กระดิกๆๆ เกิดระลึกได้ สติระลึกได้ เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว จิตเป็นคนรู้ขึ้นมา ความหลงก็ดับ สติมันเกิดมารู้ทันจิตใจตัวเอง จิตกำลังหลงอยู่ ความหลงจะดับ
ถ้ารู้ทันจิตกำลังโกรธ ความโกรธมันก็ดับ
ถ้ารู้ว่ากำลังโลภ ความโลภมันก็ดับ
ฉะนั้นเราหัดสังเกตจิตใจตัวเองเนืองๆ หลวงพ่อไม่ถึงขนาดบอกว่าให้รู้ตลอดเวลา มันทำไม่ได้ เพราะเราต้องมีทีเผลอบ้าง โดยภูมิจิตภูมิธรรมอย่างไรก็ต้องเผลอ
สังเกตที่ใจเรา ราคะ มันมีลักษณะอันหนึ่งคือมันจะดึงดูดอารมณ์เข้ามาหาจิต มันจะดึงเข้ามา อย่างเราชอบแมว เราก็อยากอุ้มแมว ดึงเข้ามาหาตัว
โทสะมันจะกลับข้างกัน มันจะผลักอารมณ์ออกไป
ถ้าราคะอย่างนี้มันจะดึงเข้าหาจิตใจของเรา อย่างเราชอบคนนี้ เราก็อยากอยู่ใกล้เขา ถ้าชอบมาก อยากกอดเลย ถ้าโทสะจะผลัก
เราสังเกตใจเรา มันมีแรงดึงดูด มีแรงผลักดัน
แรงดึงดูดคือตัวราคะ แรงผลักดันคือตัวโทสะ
ส่วนตัวโมหะ มันจะหมุนๆ หมุน ไม่รู้เหนือรู้ใต้ หมุน สังเกตไหมเวลาเราฟุ้งซ่าน หัวเราหมุน ตรงนี้เคยสังเกตไหม เวลาเราฟุ้ง หัวเราหมุนอย่างนี้เลย ที่จริงจิตมันหมุน มันหมุนติ้วๆ ติ้วๆๆ เรารู้สึกหัวหมุนไปหมดแล้วเวลาฟุ้งซ่าน
เราสังเกตให้ดี วิธีดูกิเลสว่ามันเป็นตระกูลไหน สังเกตเอา
ถ้ามันดึงดูดอารมณ์เข้ามาหาจิต นี่พวกราคะ
ถ้ามันผลักดันออกไป นี่พวกโทสะ
ถ้ามันไม่ดูดไม่ผลัก แต่มันหมุนไปหมุนมา จับหลักอะไรไม่ถูก นี่พวกโมหะ
กิเลสที่ร้ายแรงที่สุดคือโมหะ พระพุทธเจ้าท่านก็สอน บอกว่าโมหะเป็นกิเลสที่ร้ายแรงที่สุด แล้วก็ละยาก ละยากที่สุดด้วย โมหะ
ราคะเป็นกิเลสที่ไม่ร้ายแรง ไม่ค่อยร้ายแรง แต่ว่าละยาก
โทสะเป็นกิเลสที่ร้ายแรง แต่ละง่าย
มีละยากละง่าย มีโทษมากมีโทษน้อยแตกต่างกันไป
ราคะมีโทษน้อย ตัวมันเองมีโทษน้อย แต่ปัญหาคือละยาก
อย่างเวลาเรานั่งสมาธิเดินจงกรม จิตใจเรามีความสุข เราเพลิดเพลินพอใจในความสุขความสงบอย่างนี้ ละยาก เราไม่เห็นทุกข์เห็นโทษ
แต่อย่างใจเราโมโหโทโสอะไร เราเห็น เวลาโกรธทีไร ใจเร่าร้อน ไม่มีความสุขเลย ดูๆ ไป มันก็ดับง่าย เพราะเราไม่ชอบหรอก ตัวทุกข์เราไม่ชอบ เวลาโทสะเกิด ใจมันจะไม่ชอบ เพราะฉะนั้นมันละง่าย
ราคะใจมันชอบ มันเลยละยาก
สังเกตดู ถ้าเป็นราคะ ละยาก ละยากกว่าโทสะ
สังเกต ค่อยๆ เรียนรู้กิเลสในจิตในใจของเราไป
ราคะมีลักษณะดึงเข้ามา
เราเป็นคนไปดึงเข้ามาเอง จะให้ปล่อย ยาก
มันจะรักใคร่หวงแหน ไม่ยอมปล่อย
โทสะ เราอยากผลักอยู่แล้วล่ะ
เพราะเราเห็นว่าโทสะเกิด
มันเกิดทีไรก็มีความทุกข์เกิดขึ้นทุกที มันก็ละง่าย
เพราะมันเห็นทุกข์เห็นโทษ
ส่วนโมหะ ละยากที่สุด
เพราะมันเนียน มันดูไม่ออกเลยว่าเรากำลังมีกิเลส
อย่างเราบางคนมีลัทธิอุดมการณ์ ยึดถือในอุดมการณ์อย่างรุนแรง ไม่รู้เหนือรู้ใต้เลย ฉันชอบประชาธิปไตย ใครที่ไม่เห็นด้วย อยากฆ่ามันให้หมดเลย ถือว่าชั่วร้ายเป็นเผด็จการ นี่พวกโมหะ
คือมันยึดถืออยู่ในความเชื่อของตัวเอง ปักใจเชื่อแน่นแฟ้นอะไร ไม่ฟัง ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ไม่พินิจพิจารณา ว่าสิ่งที่ดีสำหรับเราอาจจะไม่ได้เหมาะกับคนอื่นก็ได้ เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง แก้ยาก
หรือเวลาเรานั่งสมาธิ นั่งแล้วเคลิ้ม ขาดสติ แก้ยาก นั่งแล้วเคลิ้มๆ หลับเป็นวันๆ เลย แก้ยาก
หรือใจฟุ้งซ่าน อย่างเวลาใจเราฟุ้งซ่าน สั่งให้หาย หายไหม ไม่หายง่ายๆ ใช่ไหม ฟุ้งซ่านอย่างนี้ เป็นโมหะละยาก
เวลาใจหดหู่ บอกเลิกหดหู่เสีย เลิกไหม ไม่เลิก
เวลาใจเราหดหู่ เศร้าหมอง ซึมอย่างนั้น
ยิ่งประจวบเหมาะรวมเข้ากับราคะด้วย ยิ่งไปกันใหญ่
อย่างพวกที่ชอบสวมวิญญาณนางเอก จิตใจซึมเศร้า ซึมไปด้วย ชอบไปด้วย ซึมๆ แล้วรู้สึก แหม มันสะใจดี ใครเคยเป็นไหม แบบสวมวิญญาณนางเอก ถูกนางอิจฉาว่า ถูกพระเอกว่า ถูกทอดทิ้ง หูย ชีวิตนี้เศร้าเหลือเกิน เศร้าไปชอบไป กำลังซึม ไม่รู้เรื่องเลย ละยาก นิสัยอย่างนี้ละยากมากเลย
เราค่อยๆ สังเกตจิตใจของตัวเองไป
การที่เราคอยสังเกตจิตใจตัวเอง
จะทำให้สัมมาวายามะเจริญขึ้น
อกุศลใดๆ ที่มันมีอยู่ พอเราสังเกตเห็น อกุศลนั้นจะดับ
แล้วขณะที่เรามีสติอยู่ อกุศลใหม่จะเกิดไม่ได้
แล้วอย่างเรากำลังมีกิเลสอยู่ แล้วเราเกิดสติขึ้นมา
ตรงที่มีสติ อกุศลดับ กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว
เพราะสติมันเป็นองค์ธรรมที่เกิดร่วมกับจิตที่เป็นกุศลทุกๆ ดวง
เพราะฉะนั้นทันทีที่เราเกิดสติ กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว อกุศลได้ดับลงไปแล้ว
แล้วถ้าสติเราเกิดบ่อยๆ กุศลเราก็เจริญขึ้น
พัฒนางอกงามขึ้นเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา แก่รอบขึ้นมา
สุดท้ายก็เข้าสู่โลกุตตระ
ฉะนั้นคอยมีสติรู้เท่าทันจิตใจของตัวเองไป
จิตใจเป็นอกุศลให้รู้ทัน จิตใจเป็นกุศลให้รู้ทัน รู้บ่อยๆ
การที่เราคอยรู้บ่อยๆ ทำให้สัมมาวายามะเจริญขึ้น
พอมีสัมมาวายามะ
เราหัดสังเกตจิตใจของตัวเองไปเรื่อยๆ
สติเราก็จะดีขึ้นด้วย สติมันก็จะดีขึ้นด้วย
ฉะนั้นการที่เราเจริญสัมมาวายามะให้มาก
มันจะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์ขึ้นมา
บอกแล้ว สัมมาวายามะไม่ใช่นั่งสมาธินาน ไม่ใช่เดินนาน
แต่อยู่ที่รู้ทันจิตใจของตัวเอง
การที่เราคอยรู้ทันจิตใจตัวเองบ่อยๆ มันก็จำสภาวะได้แม่น
อ๋อ ราคะหน้าตาเป็นอย่างนี้เอง มันดึงดูดอารมณ์เข้ามาหาจิต
โทสะหน้าตาเป็นอย่างนี้เอง มันผลักอารมณ์ออกไปจากจิต
โมหะเป็นอย่างนี้เอง จับอารมณ์ได้ไม่มั่นคง สับสนวุ่นวาย
พอมันจำสภาวะได้แม่น ต่อไปพอสภาวะที่จิตจำได้แม่นแล้วเกิด สติอัตโนมัติจะเกิดขึ้น ไม่ใช่สติปกติเลย ถ้าเราคอยดูกายดูใจของเราจนสติเกิด สติตัวนี้เรียกว่าสติปัฏฐาน เรียกสติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้นตัวสัมมาวายามะ
การที่เราคอยเพียรพยายามดูแลจิตใจของตัวเอง
เป็นกุศลก็รู้ เป็นอกุศลก็รู้ไป
มันจะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์ขึ้นมาด้วย
แล้วทันทีที่สติระลึกรู้สภาวธรรมตามที่กำลังมีกำลังเป็น
สมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
เพราะฉะนั้นองค์มรรคในฝ่ายของการพัฒนาจิตนั้น ทั้ง 3 คือสัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ มันมาด้วยกันๆ …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
26 กุมภาพันธ์ 2566
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
https://www.dhamma.com/right-effort/
เยี่ยมชม
dhamma.com
ความเพียรชอบ
การที่เราคอยสังเกตจิตใจตัวเอง จะทำให้สัมมาวายามะเจริญขึ้น ทันทีที่เราเกิดสติ กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว อกุศลได้ดับลงไปแล้ว
Photo by : Unsplash
6 บันทึก
10
6
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อ่านธรรม : อ่านใจ
6
10
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย