Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Storytelling Beside Dish
•
ติดตาม
11 มี.ค. 2023 เวลา 14:07 • อาหาร
ทองผาภูมิ
แกงขนุนอ่อน: สำรับเจ้าเมืองทองผาภูมิ หนึ่งในเจ็ดหัวเมืองมอญชายแดนด่านตะวันตกฯ"
“ฟะปะเน่าะฮ์” (သွပၞဟ်) หรือ “แกงขนุน” ปรุงจากขนุนอ่อน ปรุงเช่นเดียวกับแกงส้ม เครื่องแกงไม่ต่างจากแกงส้ม แต่สิ่งที่ต้องเพิ่มและขาดไม่ได้ คือ ขมิ้นและกระชาย เนื้อสัตว์ที่นิยมต้องซี่โครงหมูย่าง รองลงมาอาจเป็นไก่ กุ้ง ปลา หรือเนื้อสัตว์อื่นตามแต่หาได้ ลูกหลานเจ้าเมืองฯ เล่าต่อ ๆ กันมาในตระกูลว่า แกงขนุนอ่อน เป็นแกงมอญโบราณซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงในอดีต ปัจจุบันยังคงปรากฏในสำรับบวงสรวง “รามัญ 7 เมือง” อดีตเมืองชายแดนด่านตะวันตก กาญจนบุรี
รูปปั้นพระเสลภูมิบดี เจ้าเมืองทองผาภูมิ หนึ่งในเจ้าเมืองมอญหน้าด่านทั้งเจ็ด หรือ “รามัญ 7 เมือง” ภายในวัดเขื่อนท่าทุ่งนาประชาสรรค์ ตำบลช่องสะเดา อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
รูปปั้นเจ้าเมืองมอญหน้าด่านทั้งเจ็ด หรือ “รามัญ 7 เมือง” วัดเขื่อนท่าทุ่งนาประชาสรรค์ ตำบลช่องสะเดา อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
ชุมชนมอญทองผาภูมิ เป็นชุมชนชายแดนด้านตะวันตกที่มีหลักฐานการตั้งชุมชนมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย มีบทบาทในฐานะ “กองตระเวน” สังกัด “ไพร่หลวง” ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย สอดส่องไม่ให้มีโจรผู้ร้าย
สมัยธนบุรี ไพร่พลมอญเหล่านี้มีสถานะเป็น “ไพร่เจ้า” สังกัดกรมพระราชวังหลัง 3 กรม ได้แก่ กรมมอญขวา กรมมอญซ้าย และกรมมอญกลาง สมัยรัตนโกสินทร์กรมรามัญถูกแบ่งออกเป็น 5 กรม เจ้ากรมยศเป็นพระยา ศักดินา 1,600 ได้แก่ กรมดั้งทองซ้าย กรมดั้งทองขวา กรมดาบสองมือ กรมอาทมาตซ้าย และกรมอาทมาตขวา
ไพร่พลและเจ้ากรมกรมอาทมาตทั้งหมดเป็นมอญ เนื่องจากมีความชำนาญและรู้ภาษามอญและพม่าดี มีหน้าที่ดูแลลาดตระเวนด่านชายแดน ส่งคนออกไปสืบข้อมูลในฝั่งมอญ และข่าวการเคลื่อนไหวของฝั่งพม่า หากมีการยกทัพล่วงล้ำดินแดน กรมมอญทั้ง 5 จะทำหน้าที่ทัพหน้าเข้าสกัดถ่วงเวลาให้ทัพหลวงยกมาสนับสนุน ยามว่างเว้นสงครามจะทำหน้าที่รวบรวมส่วยทอง ไม้สัก ของป่า หรือสิ่งของตามแต่ทางการจะมีคำสั่ง
ในสงคราม 9 ทัพ พ.ศ. 2328 พม่ายกทัพใหญ่เข้าโจมตีไทย นายด่านมอญทั้ง 7 เข้าร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กองทัพไทย เป็นทหารกองผสมอยู่ในกองทัพเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) เชื้อสายกษัตริย์มอญซึ่งอพยพเข้าไทยสมัยธนบุรี คุมทหารราว 10,000 คน ขึ้นเป็นทัพหน้าเข้าตีตัดกองทัพพม่า แสร้งเพลี่ยงพล้ำล่าถอย ล่อให้ทัพพม่าจากท่าดินแดงไล่ติดตามเข้ามายังช่องเขากระทิง ณ ทุ่งลาดหญ้า เมืองกาญจนบุรี ซึ่งมีกองทัพใหญ่ของสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท เป็นแม่ทัพหลวงคอยรับศึกโอบล้อมตีทัพพม่าจนได้รับชัยชนะในครั้งนั้น
วีรกรรมกลศึกของเหล่าทหารหาญมอญกระทั่งกองทัพไทยมีชัยเหนือพม่าครั้งนั้น ทหารมอญจำนวน 5,000 คน ซึ่งทำหน้าที่กองทัพหน้าด่านสามารถเหลือรอดชีวิตกลับมาได้เพียง 3,000 คน
จากความดีความชอบดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมมอญที่อพยพเข้ามาหลายระลอกภายหลังอาณาจักรมอญตกเป็นของพม่าเมื่อ พ.ศ. 2300 รวมกันกลุ่มที่เข้ามาก่อนหน้าแถบราชบุรีและกาญจนบุรี ตั้งขึ้นเป็นเมืองหน้าด่าน เรียกว่า “รามัญ 7 เมือง” ได้แก่ เมืองสิงห์ ลุ่มสุ่ม ไทรโยค ทองผาภูมิ ท่าตะกั่ว ท่าขนุน และท่ากระดาน ทำหน้าที่เป็นกองอาทมาตเช่นเดียวกับกรมมอญทั้ง 5
เมืองหน้าด่านทั้ง 7 มีเจ้าเมืองที่แต่งตั้งจากหัวหน้าด่านมอญทั้ง 7 คนขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง เจ้าเมืองมียศเป็น พระ ขึ้นตรงกับเมืองกาญจนบุรี ดังมีรายนามดังต่อไปนี้ คือ
1. เมืองสิงห์ "มียศเป็น" พระสิงห์
2. เมืองลุ่มสุ่ม "มียศเป็น" พระลุ่มสุ่ม
3. เมืองไทรโยค "มียศเป็น" พระไทรโยค
4. เมืองทองผาภูมิ "มียศเป็น "พระทองผาภูมิ
5. เมืองท่าตะกั่ว "มียศเป็น "พระท่าตะกั่ว
6. เมืองท่าขนุน "มียศเป็น "พระท่าขนุน
7. เมืองท่ากระดาน "มียศเป็น "พระท่ากระดาน
ต่อมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พม่าตอนใต้ตกเป็นของอังกฤษ หมดภาระเรื่องสงครามชายแดน เจ้าเมืองทั้ง 7 และราษฎรจำนวนหนึ่งขอพระบรมราชานุญาตอพยพชุมชนลงมาอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง แถบอำเภอโพธารามและบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เนื่องจากมีทำเลเหมาะสมต่อการดำรงชีวิต
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชดำริว่า ผู้สำเร็จราชการ หรือเจ้าเมืองมอญทั้ง 7 หัวเมืองเหล่านี้ไม่มีชื่อจึงเป็นการไม่สมควร จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเมืองทั้ง 7 แก่ผู้สำเร็จราชการหรือเจ้าเมืองมอญเหล่านี้เสียใหม่ โดยแปลงจากชื่อเมืองและตำแหน่งเจ้าเมืองที่มียศเป็นพระตามชื่อเมืองดั้งเดิมเป็นภาษาสันสกฤตดังนี้ คือ
1
1. เมืองสิงห์บุรี “พระสิงห์” แปลงว่า “พระสมิงคบุรินทร์”
2. เมืองลุ่มสุ่ม “พระลุ่มสุ่ม” แปลงว่า “พระนินษณติษฐบดี”
3. เมืองไทรโยค “พระไทรโยค” แปลงว่า “พระนิโครธาภิโยค”
4. เมืองทองผาภูมิ “พระทองผาภูมิ” แปลงว่า “พระเสลภูมิบดี”
5. เมืองท่าตะกั่ว “พระท่าตะกั่ว” แปลงว่า “พระชินษณติษฐบดี”
6. เมืองท่าขนุน “พระท่าขนุน” แปลงว่า “พระปัณษณติษฐมดี”
7. เมืองท่ากระดาน “พระท่ากระดาน” แปลงว่า “พระผลกติษฐมดี
พ.ศ. 2438 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิก “รามัญ 7 เมือง” ลงเป็นหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอตามขนาดประชากร คนมอญส่วนใหญ่ ได้อพยพเข้ามาสมทบกับกลุ่มก่อนหน้า เนื่องจากแถบชายแดนเมืองกาญจนบุรีเป็นพื้นที่สูง ขาดแคลนแหล่งน้ำและที่ราบทำการเกษตร
อย่างไรก็ตาม ไพร่พลมอญสังกัด “รามัญ 7 เมือง” ส่วนหนึ่งที่ไม่ได้อพยพเข้าไปยังพื้นที่ตอนในของแผ่นดิน ได้สืบทอดต่อมาเป็นคนไทยเชื้อสายมอญทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งลูกหลานเจ้าเมืองมอญท่าขนุน และทองผาภูมิ ที่สืบทอดธำรงอัตลักษณ์มอญต่อมาจวบจนปัจจุบัน ตระกูลสายตรง ได้แก่ "เสลานนท์" และ "เสลาคุณ" รวมทั้งตระกูลสายย่อย ที่เกิดจากลูกหลานเจ้าเมืองฝ่ายหญิงสมรสกับฝ่ายชายตระกูลอื่นๆ เช่น มงคลทิพย์ ทองกราว ถนอมวงศ์ และมีจุ้ย เป็นต้น
วัดท่าขนุน ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ ชุมชนมอญสืบเนื่องจากเมืองหน้าด่านท่าขนุน ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่อำเภอทองผาภูมิ อดีตหนึ่งในเจ็ด “รามัญ 7 เมือง”
กุฏิทรงมอญหลวงพ่ออุตตมะ เทพเจ้าชาวมอญ ภายในวัดท่าขนุน ครั้งหนึ่งหลวงพ่อได้รับนิมนต์โดยหลวงพ่อเตอะเนียง พระสงฆ์ชาวกะเหรี่ยง อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุนเวลานั้น และเป็นสหายรัก มาจำพรรษายังวัดท่าขนุนเพื่อเป็นรวมจิตรวมใจชาวบ้านในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดซึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรมให้กลับมารุ่งเรืองน่าเลื่อมใส
ปัจจุบัน ลูกหลานเจ้าเมืองท่าขนุนและทองผาภูมิร่วมกับสภาวัฒนธรรมอำเภอทองผาภูมิ จัดงาน “บวงสรวงอดีตเจ้าเมืองมอญ 7 หัวเมือง” โดยเริ่มจัดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2561 (เว้นไปในช่วงโควิด และกลับมาจัดใหม่ พ.ศ. 2566) ภายในงานประกอบด้วยขบวนแห่เครื่องบวงสรวง พีธีกรรมบวงสรวง นิทรรศการประวัติเจ้าเมืองทั้ง 7
อัตลักษณ์สำคัญคือพิธีกรรมบวงสรวงแบบมอญ รวมทั้งรายการอาหารมอญ ที่จัดขึ้นเป็นการเฉพาะสำหรับการบวงสรวงซึ่งบอกเล่าสืบทอดกันมาในตระกูลว่าเป็นอาหารโบราณและเป็นที่โปรดปรานของอดีตเจ้าเมืองมอญทองผาภูมิ เช่น ข้าวแช่ ขนมจีนหยวกกล้วย แกงขนุน และน้ำพริกมะเขือ เป็นต้น
ขบวนแห่ชุมชนมอญทองผาภูมิในพิธีบวงสรวงอดีตเจ้าเมืองมอญ 7 หัวเมือง เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2566 ณ วัดท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ กาญจนบุรี
รวมทั้งกิจกรรมในเชิงการท่องเที่ยว ได้แก่ “ร้านบ้านท่าขนุน” ร้านอาหารเชิงวัฒนธรรมมอญโดย ถิรพร มีจุ้ย ลูกหลานเชื้อสายเจ้าเมืองมอญทองผาภูมิ จำหน่ายอาหารมอญดั้งเดิม เช่น ข้าวแช่ ขนมจีน แกงกระเจี๊ยบ แกงมะตาด ยำขนุน และแกงขนุน โดยภายในร้านมีการตกแต่งร้านด้วยบรรยากาศแบบมอญ การแต่งกายชุดมอญ และให้เช่าชุดมอญใส่บาตรหรือถ่ายภาพสำหรับผู้สนใจ
สะพานแขวนหลวงปู่สาย ทอดข้ามแม่น้ำแควจากฝั่งอำเภอทองผาภูมิยังวัดท่าขนุน แลนมาร์คสำคัญของอำเภอทองผาภูมิ ปลายสะพานด้านขวา คือ วัดท่าขนุน และด้านซ้าย คือ อาคารไม้หลังคาเรือนยอดทรงมอญ ร้านอาหาร “ร้านบ้านท่าขนุน”
“ร้านบ้านท่าขนุน” จำหน่ายกาแฟ เครื่องดื่ม เบเกอรี่ อาหารว่าง อาหารมอญ และอาหารไทยทั่วไป เปิดบริการโดยลูกหลานเจ้าเมืองมอญทองผาภูมิ
มาถึง แกงขนุนอ่อนที่ผู้เขียนนำมาแนะนำให้รู้จักครั้งนี้ ใช้วัตถุดิบหาง่ายในท้องถิ่น ประกอบด้วย ขนุนอ่อน ซี่โครงหมู หมูสามชั้น ใบชะพลู ใบชะอม และเครื่องแกงส้ม ได้แก่ หอมแดง กระเทียม พริกชี้ฟ้าแห้ง มะเขือส้ม เกลือ และกะปิ ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า และดังได้กล่าวแล้วว่า แกงส้มแบบมอญจะขาดขมิ้นและกระชายไม่ได้ รวมทั้งนิยมใส่ใบชะพลูและใบชะอมด้วย เนื่องจากมีกลิ่นและรสที่เข้ากันดีกับขนุนอ่อน
กรรมวิธีการปรุงไม่ต่างจากแกงส้มทั่วไป เครื่องแกงละลายน้ำตั้งไฟจนเดือด ใส่ขนุนอ่อนปอกเปลือก ต้มสุก หั่นชิ้นพอคำ ตามด้วยซี่โครงหมูย่างเหลืองหอม ปรุงรสด้วยปลาร้า จากนั้นยกหม้อแกงลง เติมใบชะพลูและชะอม ตักเสิร์ฟได้ทันที
ถิรพร มีจุ้ย ลูกหลานเจ้าเมืองทองผาภูมิเล่าว่า แกงขุนนอ่อนนี้ นิยมแกงกันในช่วงเดือน 3 ซึ่งเป็นงานประจำปีของวัดท่าขนุน และแกงขนุนก็นับเป็นแกงชั้นดีสำหรับเลี้ยงรับรองแขกเหรื่อที่มาร่วมงานบุญ
ซี่โครงหมูย่างสุกเหลือง และขนุนอ่อนหั่นชิ้นพอคำ ใบชะอม ชะพลู เครื่องแกง ได้แก่ พริกชี้ฟ้าแห้ง หอมแดง กระเทียม ตะไคร้ กระชาย ขมิ้น กะปิ และเกลือโขลกหยาบ
แกงขนุนอ่อนชามใหญ่ขนาด 5-6 ที่ นอกจากน้ำแกงสีสวยที่ได้จากขมิ้น ขับด้วยใบชะอมและชะพลูสีเขียวชวนกิน ยังได้ความหนึบของขนุนอ่อน ความเหนียวหยุ่นสู้ลิ้นของซี่โครงหมู และความกลมกล่อมของน้ำแกงจากเครื่องแกงเข้มข้น
นอกจากนี้ ในเดือน 3 ยังเป็นเดือนมาฆบูชา ช่วงเวลาที่คนมอญในเมืองมอญจะทำบุญอุทิศแด่บรรพชนและบุรพกษัตริย์ โดยคนมอญจะร่วมกันจัดงานวันชาติมอญ (Mon National Day) ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ตามปฏิทินทางจันทรคติ จดจำได้ง่าย ๆ คือ วันหลังจากวันมาฆบูชา อันเป็นวันแรกสร้างกรุงหงสาวดีเมื่อ พ.ศ. 1116 ในวันดังกล่าว ชุมชนมอญต่างๆ จะร่วมกันทำบุญและขัดมหรสพสมโภชเฉลิมฉลองเพื่อรำลึกถึงบรรพชนมอญขึ้นพร้อมกันทั่วโลก
ชัดเจนว่าอาหารที่ลูกหลานบรรจงทำเพื่อรำลึกถึงบรรชนย่อมเป็นอาหารที่ทำด้วยใจรักสุดใจ เป็นอาหารจานพิเศษจริงๆ
ถิรพร มีจุ้ย (รอง) เจ้าของ “ร้านบ้านท่าขนุน” ลูกหลานเจ้าเมืองมอญทองผาภูมิ และเจ้าของความคิดสร้างการท่องเที่ยวผ่านอาหารเพื่อบอกเล่าเรื่องราวบรรพชน
ก่อนจาก คุณรอง บอกกับผู้เขียนคล้ายเป็นคำมั่นว่า...
การที่ข้าพเจ้าบอกเล่าเรื่องราวของชาวมอญขึ้นมานี้ ข้าพเจ้าถีอว่าเป็นหน้าที่ ไม่ใช่งาน เป็นหน้าที่ของคนที่มีเชื้อสายมอญพึงควรกระทำ
ถิรพร มีจุ้ย (รอง) : 7 มีนาคม 2566
ผู้อ่านที่ผ่านไปยังวัดท่าขนุน ริมแควเมืองทองผาภูมิ แวะทักทายพูดคุยกับเธอได้ทุกวัน เธอได้ทำหน้าที่ลูกหลานอดีต “รามัญ 7 เมือง” แล้ว ส่วนความสำราญจากรสแกงขนุนพร้อมเรื่องเล่าข้างสำรับชนชั้นสูงเมืองทองผาภูมินั้นคงเป็นหน้าที่ของผู้อ่านที่จะต้องพิสูจน์กัน
เรื่องเล่าข้างสำรับ
ประวัติศาสตร์อาหาร
1 บันทึก
13
5
17
1
13
5
17
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย