18 มี.ค. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

Silicon Valley Bank ล้มจะซ้ำรอยวิกฤตแบงก์ล้มปี 2008 หรือไม่?

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ข่าวการปิดตัวของธนาคารสหรัฐฯ ถึง 3 แห่งได้แก่ Silvergate Capital Silicon Valley Bank และ Signature Bank สร้างความตื่นตระหนกให้แก่นักลงทุนทั่วโลกไม่น้อย
หลายคนตั้งคำถามว่าวิกฤตแบงก์ล้มในครั้งนี้จะซ้ำรอยเดิมกับวิกฤตซับไพร์มปี 2008 หรือไม่ ที่ธนาคารยักษ์ใหญ่หลายสิบแห่งของสหรัฐฯ ล้มระเนระนาดเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่ลุกลามใหญ่โตครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์
และวิกฤตแบงก์ล้มในครั้งนี้จะแตกต่างกับปี 2008 อย่างไร Bnomics จะมาเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามาเข้าใจก่อนว่าแล้ว Silicon Valley Bank (SVB) ล้มได้อย่างไร?
สาเหตุเกิดมาจากการ “หมดความเชื่อมั่น” ของผู้คนที่มีต่อธนาคารจนแห่ไปถอนเงินกว่า 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เหตุการณ์ที่คนแห่ไปถอนเงินเช่นนี้เราเรียกว่า Bank Run
แล้วธนาคาร SVB ทำอะไรคนถึงหมดความเชื่อมั่น?
เหตุนั้นมาจากการที่ธนาคารปล่อยขายพันธบัตรกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ จนขาดทุนกว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์ และต้องขายหุ้นเพิ่มทุนอีกกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ อีกหนึ่งระลอก
การปล่อยขายพันธบัตรและหุ้นไล่เลี่ยกันเช่นนี้ ทำให้นักลงทุนกังวลใจและตั้งคำถามกับเสถียรภาพของธนาคารว่ามีมากแค่ไหน? ทำไมถึงขายเพื่อเพิ่มสภาพคล่องเช่นนี้? ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มแห่ขายหุ้นเพราะกลัวความไม่แน่นอน จนราคาหุ้นตกไปกว่า 60%
ในอีกด้าน ผู้ฝากเงินไว้กับ SVB ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้า startup เมื่อเห็นราคาหุ้นตกและธนาคารกำลังขาดสภาพคล่อง บวกกับเงินฝากส่วนใหญ่มากกว่าที่เงินกองทุนประกันความเสี่ยงจะคุ้มครอง จึงแห่ไปถอนเงินกันยกใหญ่ ทำให้ SVB ต้องปิดตัวลงและถือเป็นการล้มของแบงก์ที่ใหญ่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ
หลังจากนั้นไม่นาน ธนาคารอีกแห่งที่นิวยอร์กอย่าง Signature Bank ก็ล้มลงอีกเป็นรายที่ 2
ปรากฎการณ์นี้ทำให้คนตั้งคำถามว่าจะซ้ำรอยเดิมกับวิกฤตซับไพร์มปี 2008 ที่เกิดแบงก์ล้มหลายสิบแห่ง ลุกลามเป็นวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกหรือไม่
อาจตอบได้ว่าสาเหตุของการเกิดวิกฤตแตกต่างกันอย่างมาก นักวิเคราะห์หลายคนจึงคาดว่าจะไม่ลุกลามร้ายแรงเหมือนปี 2008
เพราะการล้มของ SVB เกิดจากการหมดความเชื่อมั่นเพราะข่าวลือที่มองว่าธนาคารกำลังมีปัญหาจากมูลค่าของพันธบัตรที่ลดลงจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น เมื่อ Fed “เรียกความเชื่อมั่น” โดยการรับประกันคุ้มครองเงินฝากว่าผู้ฝากทุกคนจะได้รับเงินอย่างแน่นอน ปัญหาจึงน่าจะจบและไม่ลุกลามใหญ่โต
ในขณะที่วิกฤตซับไพร์มปี 2008 เป็นปัญหาที่ซับซ้อนและยิ่งใหญ่กว่านั้น จนทำให้สถาบันการเงินหลายแห่งล้มเป็น “โดมิโน” ไม่ใช่แค่สหรัฐฯ แต่ยุโรปก็โดนไปด้วย
สาเหตุเริ่มต้นมาจากการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้ลูกหนี้คุณภาพต่ำอย่างหละหลวมโดยไม่คำนึงว่าลูกหนี้เหล่านี้จะผ่อนจ่ายหนี้ได้หรือไม่
หากลูกหนี้ผ่อนจ่ายหนี้ไม่ได้ ธนาคารก็ทำการยึดโฉนดไว้จากลูกหนี้และขายทอดตลาด แต่ทำไมเรื่องราวถึงใหญ่โตจนล้มเศรษฐกิจให้พังครืนไปทั่วโลก
นั่นเป็นเพราะสถาบันการเงินหลายแห่งนำสินเชื่อของลูกหนี้เหล่านี้มาแปลงเป็นหลักทรัพย์เรียกว่าการทำ Mortgage-Backed Securities (MBS) เพื่อนำไปขายต่อให้นักลงทุนในรูปแบบตราสารซีดีโอ (Coolateralized Debt Obligations)
และก็ประสบผลสำเร็จเพราะมีนักลงทุนมากมายสนใจถือตราสารซีดีโอทั้งสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และทั่วโลก รวมมูลค่าการถือครองตราสารกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทุกฝ่ายจะได้ผลประโยชน์อย่างที่ต้องการหากลูกหนี้ผู้ถือสินเชื่อผ่อนจ่ายครบ แต่ปัญหาคือลูกหนี้คุณภาพต่ำที่ธนาคารปล่อยให้กู้สินเชื่ออย่างหละหลวมแต่แรกไม่สามารถชำระหนี้ได้ บางคนถึงกับทิ้งบ้าน มีการผิดนัดชำระหนี้ ส่งผลให้เกิดผลกระทบเป็นทอดๆ
ธนาคารก็ไม่ได้ดอกเบี้ย นักลงทุนที่ถือตราสารก็ไม่ได้ผลตอบแทน ธนาคารต้องประสบกับภาวะเงินทุนสำรองลดลง เกิดการขาดสภาพคล่องจนธนาคารกว่าหลายสิบแห่งทั่วสหรัฐฯ และยุโรปถึงกับล้มละลายต้องปิดตัว
Lehman Brothers หนึ่งในธนาคารใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐ ก็ต้องปิดตัวลงถือเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่คาดคิด
ภาคธุรกิจหลายแห่งก็ขาดสภาพคล่อง เกิดปัญหาการว่างงานพุ่งสูง การบริโภคและการผลิตลดลง ส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงทั่วโลก และจากจุดเริ่มต้นของปัญหาคือลูกหนี้คุณภาพต่ำ จึงเรียกวิกฤตครั้งนั้นว่า Subprime Crisis นั่นเอง
จากที่กล่าวไป แม้การล้มของ SVB กับการล้มหลายแห่งของแบงก์ในวิกฤตปี 2008 จะแตกต่างกันพอสมควร แต่ทั้งสองเหตุการณ์ต่างเป็นบทเรียนอันยิ่งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรซ้ำรอยเดิม
ผู้เขียน: ขัตติยาภรณ์ ด้วงแก้ว Political Analyst, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา