Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
23 มี.ค. 2023 เวลา 06:39 • ไลฟ์สไตล์
“ถ้าสังเกตจิตได้ การปฏิบัติจะสั้นนิดเดียวเลย”
“ …เจริญสติให้มาก สมาธิก็จะเจริญ
มีสมาธิสมบูรณ์ มีสติดี ปัญญาก็จะเกิด
เห็นความจริงของกายของใจ
พอเห็นความจริงของกายของใจได้
เพราะเห็นตามความเป็นจริง
เห็นกายเห็นใจตามความเป็นจริง จึงเบื่อหน่าย
เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ
เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น
พอหลุดพ้นจึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว
มันมีกระบวนการของมัน
สัมมาสติ ทำอย่างไรจะเกิด
ก็เจริญสติปัฏฐานนั่นล่ะ จะทำให้สัมมาสติเกิด
การเจริญสติปัฏฐาน เริ่มต้นก็ต้องมีวิหารธรรม มีเครื่องอยู่ ให้จิตรู้ หลวงพ่อพุธท่านบอก “ให้มีเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ” จะต้องรู้อย่างนี้ เรียกว่ามีวิหารธรรม
แล้วการที่เรามีเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ
จะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม
ไม่ได้รู้เพื่อจะรู้ ไม่ใช่รู้เฉยๆ งี่เง่า
ในสติปัฏฐานคีย์เวิร์ดตัวต่อไป “อาตาปี” มีความเพียรแผดเผากิเลส
เพราะฉะนั้นการที่เรามีสติรู้กายรู้ใจ
คอยรู้กาย คอยรู้ใจ เพื่อแผดเผากิเลส
มันมีองค์ธรรมอยู่ตัวหนึ่ง คือสัมมาวายามะ ความเพียรชอบ
ความเพียรชอบไม่ใช่นั่งสมาธินาน ไม่ใช่เดินจงกรมนาน
ความเพียรชอบก็คือ เพียรละอกุศลที่มีอยู่ให้ดับไป
เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด
เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด
เพียรทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญขึ้น
อันนี้ล่ะกิเลสมันจะเร่าร้อน
ฉะนั้นคำว่า “อาตาปี”
มันเชื่อมโยงมาถึงเรื่องสัมมาวายามะ
อาตาปี เชื่อมโยงมาถึงสัมมาวายามะ
กิเลสอยู่ที่ไหน กิเลสไม่ได้อยู่ที่ขาแน่ กิเลสไม่ได้อยู่ที่ลมหายใจแน่ กิเลสไม่ได้อยู่ที่มือ กิเลสอยู่ที่จิต ที่เดียวที่กิเลสอยู่คือที่จิต
ฉะนั้นหลวงพ่อถึงจ้ำจี้จำไชพวกเราว่า อย่างไรเราก็ทิ้งจิตไม่ได้ เราจะปฏิบัติธรรมอย่าทิ้งจิต ถ้าเราทิ้งจิตไปมันก็หลง
เพราะฉะนั้นเราก็ทำสติปัฏฐาน โดยมีจิตเป็นผู้กระทำ
เช่น เราเห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า
ใครเป็นคนเห็น จิตเป็นคนเห็น
เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน
ใครเป็นคนยืน เดิน นั่ง นอน
ร่างกายมันยืน เดิน นั่ง นอน แต่จิตเป็นคนเห็น
เวลาจิตมันเห็นร่างกายหายใจ
จิตมันเห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน
เห็นร่างกายคู้ ร่างกายเหยียด
บางทีเห็นแล้วก็รำคาญ เมื่อไรจิตจะรวมเสียที
อันนี้อะไรเกิดขึ้น อันนี้โลภะเกิดขึ้น
ถ้าเรารู้ไม่เท่าทันจิตตัวเอง ทั้งๆ ที่เราปฏิบัติอยู่นั่นล่ะ กิเลสเราจะงอกขึ้นมา
เพราะฉะนั้นถึงเราเจริญสติปัฏฐานอยู่
เราก็ต้องคอยสังเกตจิตใจตัวเอง
ที่เราดูกาย ดูเวทนา ดูจิตอยู่นี้
กิเลสจะบรรเทาลงไหม ลดละกิเลสไหม
กุศลจะเจริญไหม
อย่างถ้านั่งหายใจไปเรื่อยๆ จิตใจสงบ สว่าง ว่างไปหมด มีแต่ความสุข แล้วก็ยินดีพอใจ เพลินในความสุขของการนั่งสมาธิ อันนั้นมีกิเลสชื่อนันทิราคะ เป็นราคะชนิดหนึ่ง เผลอเพลิน
นั่งแล้วก็เพลิน นั่งได้ตั้งหลายๆ ชั่วโมง นั่งสมาธิเก่ง นั่งได้หลายๆ ชั่วโมง แต่ใจมันเผลอเพลิน เพราะไม่มีสติกำกับอยู่ อันนั้นกำลังนั่งพัฒนากิเลสอยู่ ยิ่งนั่งมาก กิเลสยิ่งเยอะ
จะมีปรากฏการณ์อย่างนี้ เยอะแยะเลยที่เราเห็นตัวอย่าง คนนั่งสมาธิมากๆ ออกจากสมาธิมาแล้วอารมณ์ร้าย ขี้โมโห หงุดหงิด เพราะอะไร
เพราะตอนที่นั่งสมาธิอยู่ สติตามไม่ทันจิตตัวเอง
มันมีความสุขแล้วมันก็เผลอเพลิน สบายอกสบายใจ
พอจิตถอนออกจากสมาธิ มากระทบโลกข้างนอก
เหมือนดินปืนมาเจอกับไฟเข้า ก็ระเบิดเปรี้ยงเลย ขี้โมโห
อารมณ์ร้ายยิ่งกว่าคนปกติอีก
เพราะมันไปเสพความสงบ จนกระทั่งคุ้นเคย เคยตัว
มีราคะแล้วก็ไม่รู้ว่ามีราคะ
เพราะฉะนั้นการเจริญสติปัฏฐาน นอกจากการมีเครื่องอยู่ของจิตแล้ว จะต้องคอยสังเกตว่าเราแผดเผากิเลส หรือเราถูกกิเลสแผดเผา นั่นคือ “อาตาปี”
“สัมปชาโน” คือตัวสัมปชัญญะ นี้เป็นองค์ธรรมสำคัญอีกตัวหนึ่งคู่กับสติ มีสติแต่ว่าขาดสัมปชัญญะ ก็เป็นคนดีได้ สงบได้ แต่ไม่เจริญปัญญา
สัมปชัญญะเป็นชื่อของปัญญาชนิดหนึ่ง
เป็นปัญญาที่จะตีกรอบให้เรารู้
ว่าเราจะทำอะไร จะทำเพื่ออะไร จะทำอย่างไร
แล้วก็ไม่หลงลืมการปฏิบัติอันนั้น
เราปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เพื่อความสุขความสงบอะไรทั้งสิ้น
ไม่ใช่เพื่อความดีงามอะไรหรอก
เราปฏิบัติธรรมเพื่อแผดเผากิเลส
เพื่อเจริญกุศลในจิตใจของเรา ในเบื้องต้นจะเป็นอย่างนั้น
ในเบื้องปลายก็เพื่อให้เห็นความจริงของกายของใจ
พอเห็นความจริงได้ ก็เบื่อหน่ายคลายความยึดถือ
แล้วก็หลุดพ้น แล้วก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว
เพราะฉะนั้นเราปฏิบัติธรรม
จุดหมายปลายทางก็คือความหลุดพ้น
จะหลุดพ้นได้ จิตก็ต้องเข้าถึงความบริสุทธิ์
อะไรทำให้จิตไม่บริสุทธิ์ ก็กิเลสเรานั่นล่ะ
ถ้าเราภาวนา สติของเราเข้มแข็ง สมาธิของเราดี
ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำตัดตรง เข้ามาเจริญสติปัฏฐานที่จิตเลย
บางคนตัดตรงเข้ามาที่จิตไม่ได้
ท่านก็ลดลงมา ดูจิตไม่ได้ก็ดูเวทนา
ดูจิตไม่ได้ ดูเวทนาไม่ได้ ดูกายไปก่อน
ถ้าดูจิตได้ดูไปเลย เพราะอะไร
เพราะกิเลสอยู่ที่จิต กุศลอยู่ที่จิต มรรคผลเกิดที่จิต
มีแต่เรื่องจิตทั้งนั้น
แล้วการเจริญสติก็ทิ้งจิตไม่ได้
การเจริญสมาธิก็ทิ้งจิตไม่ได้
ทำสมาธิแต่จิตเคลิบเคลิ้ม ลืมเนื้อลืมตัว
มันก็เป็นมิจฉาสมาธิ
สัมมาๆ ทั้งหลายทั้ง 8 ตัว เวลาเกิด เกิดพร้อมกัน เกิดด้วยกัน ทำงานร่วมกัน ช่วยกันสู้กิเลส
อย่างการที่เราคอยมีสติ สังเกตจิตใจของเรา
จิตใจเรามีอกุศลเกิดขึ้น เรารู้ อกุศลดับไป เรารู้
ขณะที่เรามีสติรู้ทันจิตใจตนเองนั้น กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว
เพราะตัวสตินั้นเป็นองค์ธรรมฝ่ายกุศล
แล้วการที่เรามีสติเนืองๆ
กุศลของเราก็จะเจริญงอกงามขึ้นมา
พัฒนาขึ้นมาเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา สมบูรณ์ขึ้นมา
ถึงตัวปัญญาแล้ว
พระพุทธเจ้าก็บอกว่า “บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา”
เพราะฉะนั้นที่เราจะต้องการความบริสุทธิ์หลุดพ้น
เราต้องพัฒนาปัญญาขึ้นมา
ปัญญามาจากอะไร
ปัญญามาจากสัมมาสมาธิ
สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา
สัมมาสมาธิ มาจากอะไร
มาจากสัมมาสติ
เจริญสติปัฏฐานให้มาก นอกจากสติจะดีขึ้นแล้ว
จะได้ของแถมสำคัญคือสมาธิ
พอสติอัตโนมัติเกิด สมาธิอัตโนมัติก็เกิด นี่ต้องฝึก
สัมมาสติเกิดจากอะไร
เกิดจากการที่เราทำสติปัฏฐาน
ทำสติปัฏฐานที่จะทำให้ลัดสั้น ก็ทำมาที่จิตเลย
เพราะสติปัฏฐานนี้จะบริบูรณ์ได้ ถ้ามีสัมมาวายามะเนืองๆ
สัมมาวายามะ คือมีความเพียรชอบ
อกุศลเกิดขึ้นรู้ทัน อกุศลก็ดับไป
ในขณะที่มีสติอยู่ อกุศลใหม่ก็ไม่เกิด
ในขณะที่มีสตินั้น กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว
ในขณะที่สติเกิดบ่อยๆ กุศลก็จะเจริญขึ้น
เพราะฉะนั้นเราจะทำสัมมาสติได้บริบูรณ์
ต้องทำสัมมาวายามะให้บริบูรณ์
มีสติรู้ทันจิตตัวเองไป แล้วอกุศลที่มีอยู่จะดับ
อกุศลใหม่จะไม่เกิด
กุศลที่ยังไม่เกิดก็จะเกิด
ที่เกิดแล้วก็จะงอกงามพัฒนาขึ้นไป จนถึงกุศลสูงสุด
สิ่งที่เรียกว่ากุศลขั้นสูงสุด คือปัญญา
ในบรรดากุศลทั้งหลาย ปัญญาเป็นกุศลสูงสุด
พอมีปัญญา เมื่อกี้บอกแล้ว
เห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย คลายความยึดถือ หลุดพ้น
บางคนไม่สามารถดูจิตดูใจได้ ยังไม่สามารถทำสัมมาวายามะให้บริบูรณ์ได้ อย่างไปนั่งสมาธิ ทำความสงบไป จมอยู่กับกิเลส เผลอเพลิน มีความสุข อันนั้นไม่มีสัมมาวายามะ กิเลสไม่เร่าร้อน เลยไม่ได้แผดเผากิเลส ไม่มีอาตาปี ไม่ได้แผดเผากิเลส
แต่เบื้องต้นบางคนก็ต้องดูกาย ดูเวทนาไปก่อน พอทำมากๆ เข้า ชำนิชำนาญขึ้น สติดีขึ้น มันก็เริ่มสังเกตจิตใจออก
ตรงที่สังเกตจิตใจออก สัมมาวายามะก็จะเจริญขึ้น
สัมมาสติก็จะเจริญ สัมมาสมาธิก็จะเจริญขึ้น
เพราะฉะนั้นถ้าเราตัดตรงเข้ามาเรียนรู้จิตใจได้
สัมมาวายามะคือความเพียรชอบ
สัมมาสติ สัมมาสมาธิจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว
ถ้าเรายังอ่านจิตอ่านใจตัวเองไม่ออก เดินจงกรม กำหนดไปเรื่อย เพ่งไปเรื่อย นั่งสมาธิก็นั่งเพ่งลมหายใจ เพ่งเท้าอะไรอย่างนี้ ทำไปเพราะอะไร มองไม่ออก
ทำไปเพราะอยากดี อยากได้มรรคผลนิพพาน
ตัวอยากนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล
กลายเป็นว่าที่เรานั่งสมาธิ เดินจงกรมมากมาย
ทำไปเพื่อสนองกิเลส ยังไม่ใช่ความเพียรชอบ
นั่งได้นานแล้วกูเก่ง กูนั่งชนะคนอื่น กูเก่ง ไปกันใหญ่
หรือนั่งติดในความสงบ
ออกมาแล้วจิตจะฟุ้งแรงกว่าคนทั่วๆ ไป
เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะทำอะไร
สังเกตจิตของเราไว้ให้ดี ถ้าสังเกตได้
สังเกตจิตไม่ได้ ดูกายไปก่อน ดูเวทนาไปก่อน
แต่ถ้าสังเกตจิตได้ การปฏิบัติจะสั้นนิดเดียวเลย
เพราะตรงที่เรามีสัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ
รู้ทันจิตใจตัวเอง ละอกุศล เจริญกุศลขึ้นมา
การที่เราคอยรู้ทันจิตใจตัวเองเนืองๆ
อันนั้นคือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานอยู่แล้ว
แล้วทุกครั้งที่สติที่แท้จริงเกิดขึ้น
สมาธิที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้น สัมมาสมาธิก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วันสวนสันติธรรม
11 มีนาคม 2566
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
https://www.dhamma.com/perfecting-the-right-effort/
เยี่ยมชม
dhamma.com
ทำสัมมาวายามะให้บริบูรณ์
มีสติรู้ทันจิตตัวเองไป ตรงที่สังเกตจิตใจออก สัมมาวายามะก็จะเจริญขึ้น สัมมาสติก็จะเจริญ สัมมาสมาธิก็จะเจริญขึ้น
Photo by : Unsplash
2 บันทึก
12
10
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อ่านธรรม : อ่านใจ
2
12
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย