27 มี.ค. 2023 เวลา 10:14 • ปรัชญา

“ถ้ายังอ่านจิตใจตัวเองไม่ออก ไม่ได้แก่นสารสาระของการปฏิบัติ”

“ … แค่เรามีสติ รู้ทันจิตใจของเรา
กิเลสเกิดเรารู้ กิเลสดับเราก็รู้
กุศลเกิดเรารู้ กุศลดับไปเราก็รู้
ตรงนั้นเราได้ทำสติปัฏฐานด้วย ทำสัมมาวายามะด้วย
แล้วตรงที่เรารู้ทันสภาวะที่มีที่เป็นอยู่นั้น
สัมมาสมาธิก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
อย่างที่พระอาจารย์ท่านชอบสอน หลงรู้ๆ อะไรของท่าน อันนั้นดี หลง หลงแล้วรู้
หลงเป็นกุศลหรืออกุศล หลงเป็นอกุศล
เราห้ามจิตหลงได้ไหม ห้ามไม่ได้
จิตเป็นอนัตตา ห้ามไม่ได้
แต่เรามีสติรู้ได้
ค่อยๆ หัดรู้ไป ด้วยการทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง
แล้วจิตหลงไป หลงไปคิดก็รู้ ถลำลงไปเพ่งก็รู้
จิตลงไปเพ่ง ก็จิตหลงแบบหนึ่ง หลงเพ่ง
แต่นักปฏิบัติชอบเพ่ง ก็เลยพอกพูนโมหะ
เสร็จแล้วมานะอัตตาอะไร มันก็แรงขึ้นมาด้วย
แต่ถ้าเราทำกรรมฐานไปสักอย่างหนึ่ง
เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ
อันอื่นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องหายใจเข้าพุทออกโธหรอก
ถนัดอะไรเอาอันนั้น
แล้วคอยรู้ทันจิตใจของตัวเองไว้
หลวงพ่อถนัดหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ เพราะท่านพ่อลี ท่านสอนมาให้ตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ปี 2502 ทุกวันไม่เคยขาดที่จะปฏิบัติ
หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ
จิตหลงไปคิดรู้ทัน จิตถลำลงไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน
ที่ผิดมี 2 อันเท่านั้น
หลงออกไปหาอารมณ์ภายนอก
กับถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน
เวลาเราหายใจเข้าพุทออกโธนั้น จิตหนีไปคิดเรื่องอื่น
เราหายใจชำนาญ พอจิตหนีไปคิดเรื่องอื่น
จังหวะการหายใจมันจะเปลี่ยนไป แล้วจะรู้สึกได้รวดเร็ว
เอ้า นี่หลงไปคิดแล้ว ลืมหายใจเข้าพุท ลืมหายใจออกโธแล้ว
ตรงที่เรารู้ว่าจิตหลงนั้น จิตรู้จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
จิตรู้ก็คือจิตที่ทรงสัมมาสมาธินั่นเอง
แต่เมื่อกี้บอกแล้ว ถ้ามีสัมมาสมาธิก็ต้องมีสัมมาสติ
ฉะนั้นจิตรู้มีทั้งสัมมาสติ สัมมาสมาธิ
แล้วถ้าไม่รู้ซื่อบื้ออยู่เฉยๆ ก็จะมีสัมมาวายามะกำกับ
ก็คอยรู้เท่าทันกุศล อกุศลทั้งหลาย
ที่หมุนเวียนเข้ามาในจิตใจเรื่อยๆ
ก็จะเห็นว่าสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ
เช่น ความโลภเกิด ความโลภก็ดับ
ความโกรธเกิด ความโกรธก็ดับ
ความฟุ้งซ่านเกิด ความฟุ้งซ่านก็ดับ
ความหดหู่เกิด ความหดหู่ก็ดับ
ความสงบเกิด ความสงบก็ดับ
เฝ้ารู้เฝ้าดู มันจะเห็นแต่สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ
นั่นล่ะปัญญาชั้นเลิศเลย เป็นวิปัสสนาปัญญาแล้ว
อ่านจิตตัวเองให้ออก
ฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง
จิตหลงไปคิดแล้วรู้ จิตถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานแล้วรู้
เราจะได้ครบเลย สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมาเอง
อย่างจิตหลงไปคิด เรารู้ว่าจิตหลงไปคิดปุ๊บ
จิตที่หลงคิดดับ จิตรู้จะเกิด
จิตรู้ก็คือจิตที่ทรงตัวขึ้นมา ตั้งมั่นขึ้นมา
โดยไม่ได้เจตนา ไม่ได้สั่งให้ตั้ง
ถ้าอยู่ๆ เราสั่งจิตให้ตั้งมั่นขึ้นมา ทำได้ไหม ได้
แต่เป็นสมาธิธรรมดา ไม่ใช่สัมมาสมาธิ
แต่ถ้าเราชำนิชำนาญแล้ว เรามีสติขึ้นมาเท่านั้นล่ะ
สัมมาสมาธิเกิดเองเลย
ฉะนั้นสำหรับพวกเรา ถ้าเรามีสติปัญญาพอ
อินทรีย์เราแก่กล้าพอ
หลวงพ่อแนะนำให้เรามีสติ
คอยรู้เท่าทันจิตใจตนเองไว้
การที่เรามีสติคอยรู้ทันจิตตนเอง
อกุศลที่มีอยู่มันจะดับ
อกุศลใหม่จะไม่เกิดในขณะที่มีสติ
การที่เรามีสติคอยรู้ทันจิตตนเอง กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว
เพราะตัวสตินั้นล่ะตัวกุศล
แล้วก็ต่อไปกุศลก็เกิดถี่ขึ้นๆ
อย่างหัดใหม่ๆ วันหนึ่งบางทีรู้ตัวได้ครั้งเดียว
พอหัดไปเรื่อยๆ ต่อไปจิตไหลแวบ รู้สึก แวบ รู้สึก
ความรู้สึกตัวมันถี่ยิบขึ้นมาเลย
นั่นล่ะกุศลมันเจริญแล้ว
กุศลก็คือตัวสติ มันเจริญขึ้นแล้ว
แล้วมันจะทำให้เกิดสมาธิที่ถูกต้อง
ตัวสมาธินั้นเป็นองค์ธรรมกลางๆ
เกิดขึ้นกับจิตที่ดีก็ได้ จิตที่ชั่วก็ได้
อย่างพวกทำคุณไสยอะไรพวกนี้ ก็ต้องใช้สมาธิ
ทำร้ายคนอื่น สะกดจิตคนอื่น ก็ต้องใช้กำลังของสมาธิ
ฉะนั้นสมาธิต่างกับสติ
สติเกิดกับจิตที่เป็นกุศลเท่านั้น
สมาธิเกิดได้ทั้งจิตที่เป็นกุศล ทั้งจิตที่เป็นอกุศล
จิตทุกดวงมีสมาธิโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่สัมมาสมาธิ
สัมมาสมาธิอาศัยสัมมาสติ
เพราะฉะนั้นเราคอยมีสติ
สิ่งที่เรียกว่าสัมมาสติก็คือสติปัฏฐาน
หรือสติรู้กายรู้ใจ ไม่ใช่สติเรื่องอื่น
ถ้ารู้จิตได้ก็รู้ไปเลย ถ้ารู้ไม่ได้ก็รู้กาย รู้เวทนาไป
แล้ววันหนึ่งมันก็พัฒนาขึ้นมาถึงจิตถึงใจ
ตราบใดที่เรายังภาวนาแล้วเข้ามาไม่ถึงจิตถึงใจ
ครูบาอาจารย์ท่านสอนเลย
ยังไม่ได้แก่นสารสาระของการปฏิบัติ
ถ้ายังอ่านจิตใจตัวเองไม่ออก ท่านบอกเลย
ไม่ได้แก่นสารสาระของการปฏิบัติ
จะนั่งสมาธิโต้รุ่ง แต่ไม่รู้เท่าทันจิตใจตัวเอง
นั่งไปแล้วก็เคลิ้ม มีความสุขเผลอเพลินไป
หรือโมหะครอบ มืดมัวไปหมดอะไรอย่างนี้
อันนั้นไม่ได้จิตตัวเอง โมหะครอบจิต ไม่เห็น
ราคะครอบจิต ไม่เห็น
หรือนั่งแล้วมันฟุ้งซ่าน ก็โมโหมัน นั่นโทสะมาแล้ว
ฉะนั้นเราอ่านจิตตัวเองไปให้ออก
อย่างเราจะนั่งสมาธิ จิตมันฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน
ถ้าเรารู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตฟุ้งซ่านจะดับทันที
ไม่ต้องแก้เลย
เพราะจิตฟุ้งซ่านเป็นอกุศล
เมื่อไรเรามีสติรู้ทัน อกุศลต้องดับทันที
แล้วจิตที่เป็นกุศล มันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา
ตรงที่มันตั้งมั่นขึ้นมา นั่นล่ะมันได้สมาธิขึ้นมา
เพราะฉะนั้นอย่างที่เราฝึกกรรมฐาน
หลงแล้วรู้ๆ ไปเรื่อยๆ หลงไปคิดก็รู้ หลงไปเพ่งก็รู้
จิตเราจะค่อยๆ ตั้งมั่นขึ้นมา
ทำไปเรื่อยๆ มันจะรู้สึก จิตมันมีแรง
มันจะมีกำลังขึ้นมา มันรู้ด้วยตัวเองเลย
แล้วถ้าเราเคยได้จิตที่มันมีกำลังแล้ว
วันใดที่จิตมันหมดแรง
เราจะรู้เลยว่าตอนนี้จิตมันตกแล้ว หมดกำลังแล้ว
หมดกำลังทำอย่างไร ก็ทำในรูปแบบต่อไป
ทำกรรมฐานไป แล้วรู้ทันจิตไป
สมาธิมันก็จะเกิดขึ้นมาอีก
พอจิตมันมีแรง ต่อไปมันเห็นเลย
จิตขยับไปคิดก็รู้ จิตถลำลงไปเพ่งก็รู้
ได้เจริญสัมมาสติแล้ว
แล้วจิตมันก็ตั้งมั่นมากขึ้นๆ
พอจิตมันตั้งมั่นได้ดีแล้ว
เพราะสติมันรู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ
แล้วจิตมันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้เห็น ปัญญามันจะเกิด
อย่างพวกเราฟังหลวงพ่อเทศน์ จิตมันจะเกิดสมาธิขึ้นมา
เวลาที่ฟังหลวงพ่อเทศน์ มันมีสมาธิ
พอมีสมาธิ เราลองระลึกลงในร่างกายเรา เราจะเห็นเลย
ร่างกายนี้เป็นของถูกรู้ถูกดู
ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา
ถ้าจิตเราตั้งมั่น มันจะเห็นเอง
ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น กายกับจิตก็รวมเป็นก้อนเดียวกัน
แต่ถ้าจิตเราตั้งมั่นปุ๊บ มันจะเห็นเลย
สติระลึกรู้กาย มันจะเห็นว่ากายกับจิตคนละอันกัน
นี่ปัญญาขั้นแรกเลย ขันธ์มันแยกแล้ว
พอกายกับจิตมันเป็นคนละอันกัน มันก็จะเห็น
ถ้าจิตยังตั้งมั่นอยู่ มันก็จะเห็นกายเป็นของไม่เที่ยง
กายมันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
กายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา
หรือเวลาจิตเราตั้งมั่นอยู่ จิตใจมันทำงานขึ้นมา
เช่น มันมีความสุขขึ้นมา มีความทุกข์ขึ้นมา
สติระลึกรู้ว่าตอนนี้มีความสุขเกิดขึ้น
ตอนนี้มีความทุกข์เกิดขึ้น
จิตยังตั้งมั่นอยู่
มันจะเห็นว่าความสุขความทุกข์กับจิต เป็นคนละอันกัน
อย่างนี้ก็เรียกว่าขันธ์มันแยกเหมือนกัน
พอขันธ์มันแยกได้ ต่อไปมันจะเริ่มเห็น
ความสุขความทุกข์ สั่งให้ความสุขเกิดก็ไม่ได้
ห้ามความทุกข์ว่าอย่าเกิดก็ไม่ได้
ความสุขเกิดแล้ว สั่งให้อยู่นานๆ ก็ไม่ได้
ความทุกข์เกิดแล้ว สั่งให้ดับเร็วๆ ก็ไม่ได้
ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ อันนั้นเรียกว่าอนัตตา
เราเห็น เราไม่ได้คิดเอา ต้องเห็นเอา
ถ้ายังคิดเอาไม่ใช่วิปัสสนา ต้องเห็นเอา
เช่น เห็นจิตโลภเกิดขึ้น พอสติรู้ทันจิตโลภก็ดับ
เห็นจิตหลงเกิดขึ้น พอสติรู้ทันจิตหลงก็ดับ
การปฏิบัตินั้นเจริญสติไว้ ไม่ใช่เพื่อการล้างกิเลส
ไม่ใช่เพื่อกิเลสเกิดแล้ว เรามีสติขึ้นมา เพื่อจะให้กิเลสดับ
เราไม่ได้ปฏิบัติเจริญสติเพื่อละกิเลส เพราะอะไร
เพราะไม่มีกิเลสจะให้ละ
อย่างเวลาที่ความโกรธเกิดขึ้น ตรงนั้นไม่มีสติ
ทันทีที่สติเกิดขึ้น จิตเป็นกุศลแล้ว
จิตที่มีโทสะเมื่อกี้ดับไปเรียบร้อยแล้ว
เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ละอกุศล แต่มันไม่มีอกุศลจะให้ละ
เมื่อสติเกิดขึ้น ทันทีที่สติเกิด อกุศลที่มีอยู่ถูกดับไปแล้ว
กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว
จิตมันเป็นจิตคนละดวงกัน
จิตดวงที่หลงไป หรือจิตดวงที่โลภไป จิตดวงที่โกรธไป เป็นอันหนึ่ง
จิตที่รู้ว่าจิตเมื่อกี้โลภ เป็นอีกดวงหนึ่ง
จิตที่รู้ว่าเมื่อกี้นี้โกรธ เมื่อกี้นี้หลง เป็นคนละดวงกับจิตที่โลภ โกรธ หลง
มันเป็นจิตที่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง
จิตที่โลภ โกรธ หลง เป็นอกุศลจิต
จิตที่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง มันเป็นมหากุศลจิต เป็นกุศล
สิ่งที่เรียกว่ากุศลคืออะไร
ก็อโลภะ ไม่โลภ อโทสะ ไม่โกรธ อโมหะ ไม่หลง
ไม่หลงไม่ใช่แปลว่าบังคับเอาไว้
ไม่หลงคำนี้เป็นคำลึก ไม่หลงตัวนี้ ก็คือไม่หลงผิด
เพราะฉะนั้นตัวอโมหะ เป็นชื่ออีกชื่อหนึ่งของคำว่าปัญญา
ไม่หลง คือไม่หลงผิด ไม่ใช่ใจลอยแค่นั้น ตื้นไป
ใจลอยเป็นความฟุ้งซ่าน เป็นความฟุ้งซ่าน
ก็เป็นโมหะตัวหนึ่ง ฟุ้งซ่าน
ความไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ตัวร้ายเลย ตัวมิจฉาทิฏฐิ
ที่จริงตัวทิฏฐิ มันเป็นตัวโลภะ
แต่เรียนเยอะนักเดี๋ยวเวียนหัว เอาแค่นี้พอ
สรุปก็คือ ถือศีล 5 ทุกวันทำในรูปแบบ
ออกจากการทำในรูปแบบแล้ว คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน
ในรูปแบบทำอะไร
ในรูปแบบก็ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ที่เราถนัด
ถนัดอะไรเอาอันนั้น
แต่ไม่ว่าจะทำกรรมฐานอะไร ต้องรู้ทันจิตตนเอง
ไม่อย่างนั้นสัมมาวายามะไม่เกิด
นั่งสมาธิโต้รุ่งก็ไม่มีสัมมาวายามะ ไม่มีความเพียรชอบ
มันกลายเป็นว่ากูเก่ง คนอื่นสู้กูไม่ได้
หรือนั่งแล้วเห็นโน่นเห็นนี่ ยิ่งเตลิดเปิดเปิง ยิ่งไปกันใหญ่
เดินจงกรมเก่ง เดินได้ทน ไม่ใช่
เราไม่ได้วัดความทน เราดูว่าเรารู้ทันกิเลสตัวเองไหม
อย่างถ้าเราเดินจงกรม แล้วเรารู้สึกกูเก่ง รู้ว่ากูเก่ง
รู้ทันว่าความรู้สึกว่ากูเก่งเกิด
ความรู้สึกว่ากูเก่งมันจะดับทันทีเลย
อันนี้เป็นตัวมานะ ตัวเทียบเขาเทียบเรา กูเก่งกว่าคนอื่น
สติเกิดปุ๊บ เฮ้ย นี่มันกูเก่ง นี่มันตัวมานะ
ทันทีที่รู้ มานะดับทันที ไม่มีกิเลสที่จะต้องละต่อไป
กิเลสมันดับทันทีที่สติเกิดนั่นล่ะ
แล้วก็เราหัดทำสติปัฏฐาน คอยรู้กาย คอยรู้ใจ
รู้ไปบ่อยๆ สติจะเร็วขึ้นๆๆ
แล้วสติพัฒนาเต็มที่ สมบูรณ์ สมาธิก็สมบูรณ์
แล้วปัญญามันก็เกิด วิมุตติมันก็เกิด
เพราะฉะนั้นพอมีสัมมาวายามะบริบูรณ์
สัมมาสติก็บริบูรณ์ สัมมาสมาธิก็บริบูรณ์
สัมมาญาณะ คือปัญญาหยั่งรู้ที่ถูกต้อง
หยั่งรู้ไตรลักษณ์ของรูปนามกายใจก็เกิดขึ้น
เรียกสัมมาญาณะ เห็นตามความเป็นจริงนั่นล่ะ
คราวนี้จิตมันก็จะเข้ากระบวนการ
เบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้น
มันหลุดพ้นของมันเอง ไม่มีใครสั่งจิตให้หลุดพ้นได้
เพราะจิตเป็นอนัตตา
มันหลุดของมันเอง เมื่อมันเห็นทุกข์
วันใดที่เราเห็นว่ากายนี้คือตัวทุกข์
จิตจะหลุดพ้นจากความยึดถือในกาย
มันจะขาดออกจากกันเลย
มันเหมือน เหมือนอะไรดี เดี๋ยวเทียบไปก็จะตีความวุ่นวาย
ก็คือจิตมันสลัดกายทิ้งไปเลย มันไม่ยึดถือกายอีกแล้ว
ไม่เคยรู้สึกว่ามันเป็นตัวกู ของกูอะไรนี้ มันไม่มีอีกแล้ว
เพราะปัญญาเห็นแจ้งแล้วนี่คือตัวทุกข์
ที่พระพุทธเจ้าท่านถามปัญจวัคคีย์
“สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์”
ปัญจวัคคีย์บอก “เป็นทุกข์”
พระพุทธเจ้าถามต่อ “สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นควรหรือที่จะเห็นว่าเป็นตัวเรา ของเรา”
ท่านบอก “ไม่ควรยึดถือ”
เพราะฉะนั้นถ้าเห็นตามความเป็นจริง
จิตมันไม่ยึดถือเอง ไม่ใช่เราไม่ยึดถือ มันไม่มีเรา
จิตมันไม่ยึดถือเอง มันจะรู้ว่ามันไม่มีเรา …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วันสวนสันติธรรม
11 มีนาคม 2566
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา