16 เม.ย. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

“Han” นักก็อปที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

เคยหรือไม่ที่คุณไปดาวน์โหลดรูปจากอินเตอร์เน็ตมาแล้วนำมาใช้ ไม่ว่าจะในการนำเสนอรายงานหรือว่าใช้ในบทสนทนาส่วนตัวกับเพื่อนหรือครอบครัว หรือการค้าขายแผ่นผีซีดีเถื่อนที่เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นในประเทศทั่วโลก
2
ช่วงยุค 2000 ที่ในปัจจุบันก็ยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไป แม้กระทั่งการที่ร้านกาแฟที่เราชอบไปนั่งพักผ่อนหย่อนใจเปิดเพลงฮิตของศิลปินชื่อดังก็ตาม ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วเเต่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งสิ้น
2
แต่ในกรณีหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ การละเมิดลิขสิทธ์นั้นสามารถพลิกโฉมสงครามได้ แต่นั่นต้องแลกมาด้วยชีวิตของเจ้าของผลงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์นั้น วันนี้เราจะมาทำรู้จักกับฮีโร่(?) ของประเทศเนเธอร์เเลนด์ ชายผู้หลอกทหารนาซี Han Van Meegeren
📌 นักก็อปในวัยเยาวว์
Henricus Antonius “Han” Van Meegeren เกิดเมื่อปี 1889 ณ เดเวนเตอร์ (Deventer) เมืองเล็กๆ ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เขามีความฝันที่จะเป็นจิตรกรตั้งแต่วัยเยาว์เนื่องจากความหลงใหลของเขาในยุคทองของศิลปะในประเทศเนเธอร์แลนด์ (Dutch Golden Age) หากแต่ว่าพ่อของเขา Hendrikus Van Meegeren นั้นอยากให้เขาเป็นสถาปนิกจึงส่งตัวเขาไปยังมหาวิทยาลัยเทคนิคในเมืองเดลฟท์ (Delft)
2
ถึงแม้ว่าตัวจะเรียนสถาปัตยกรรม แต่ใจของเขายังคงเป็นเด็กน้อยที่ยังคงรักในศิลปะอยู่ เขาจึงอุทิศตนในการศึกษาวิธีการวาดของศิลปินชาวดัชท์ชื่อดังหลายคน ยกตัวอย่างเช่น Johanes Vermeer (ผู้สรรค์สร้างผลงานเลื่องชื่ออย่าง Girl with a Pearl Earring) แต่ไม่นาน
ความอดทนของเขาก็หมดลงหลังจากพ่อของเขาคอยก่นบ่นด่าเขาและบังคับให้เขาคัดประโยคว่า “ฉันไม่รู้อะไรเลย ฉันไม่มีอะไรเลย และฉันไม่สามารถทำอะไรได้เลย” กว่าร้อยครั้งเพื่อหวังให้เขาเลิกสนใจการวาดรูป นั่นทำให้เขาตัดสินใจเลิกเรียนสถาปัตยกรรมและออกจากมหาวิทยาลัยในที่สุด
📌 ชีวิตที่เริ่มสดใส
หลังจากที่เขาเลิกเรียนออกมาจากมหาลัย ในปี 1912 เขาได้เข้าศึกษาต่อที่สถาบันศิลปะในเมืองเฮก(Hague) Han สรรค์สร้างผลงานของตัวเองมากมายในขณะที่เรียนการวาดรูปที่เขารัก คว้ารางวัลอันทรงเกียรติจัดขึ้นทุก 5 ปีของสถาบันมาได้ พบรักกับสาวร่วมสถาบัน Anna de Voogt และมีลูกด้วยกัน 1 คน ชื่อว่า Jacques Henri Emil และเรียนจบออกมาจากสถาบันได้อย่างราบรื่น
3
หลังจากจบออกมาเขาได้เข้าเป็นผู้ช่วยของศาตราจารย์ภาควิชาการวาดและประวัติศาสตร์ศิลปะของมหาวิทยาลัยในกรุงเฮก ในขณะที่เขาเป็นผู้ช่วยนั้นเอง เขาได้ทำเงินจากการวาดและขายผลงานของเขา โดยงานของเขานั้นครอบคลุมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการวาดรูปนิ่ง ภาพทิวทัศน์ หรือแม้กระทั่งรูปที่ขายในวันคริสต์มาส
1
นอกจากจะเป็นการหารายได้ให้ครอบครัวของเขาแล้ว สร้างชื่อให้กับตัวเองมาเรื่อยๆ โดยหลายๆงานในช่วงนี้ของเขาในภายหลังได้กลายมาเป็นคอลเล็กชั่นภาพที่มีอิทธิพลทางประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นอย่างมาก
หลังจากที่สั่งสมผลงานเป็นเวลาหลายปี ในปี 1917 เขาตัดสินใจจัดนิทรรศการเพื่อโชว์ผลงานของเขาในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม และนิทรรศการนั้นเองที่เป็นตัวจุดชนวนทำให้เขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการศิลปะ
1
จนในปี 1919 เขาได้ถูกเชิญให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของ Haagse Kunstkring สังคมชั้นสูงของเหล่าจิตรกรและนักเขียนชาวดัทช์ ในวัย 30 ปี
📌 จุดเริ่มต้นของการปลอมแปลง
แต่ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน งานของเขานั้นเริ่มถูกมองว่าไม่มีความเป็นเอกลักษณ์ในหมู่เพื่อนๆ ของเขา และเขายังถูกวิจารณ์จากสื่อว่าเขานั้นมีพรสวรรค์แต่ว่าถูกจำกัดอยู่แค่การลอกวิธีการวาดของศิลปินคนอื่น หนำซ้ำยังถูกจับได้ว่ามีชู้จนต้องหย่ากับภรรยาอีก
1
นั่นทำให้ชีวิตเขาดิ่งลงจุดที่เรียกได้ว่าเกือบจะตกต่ำรวมกับเงินที่จะหมดลงไปเรื่อยๆ จากสไตล์การใช้ชีวิตอย่างหรูหรา รวมกับความไม่พอใจต่อสื่อที่วิจารณ์เขา ทำให้เขาต้องหาวิธีเพิ่มรายได้ให้กับตัวเองและพิสูจน์ให้ทุกคนได้รับรู้ว่าเขามีพรสวรรค์แค่ไหนด้วยวิธีที่เขาถนัดที่สุดนั่นก็ คือ การลอกรูปของศิลปินชื่อดัง หรือก็คือการก็อปผลงานจริงๆ ซะเลย
เขาใช้เวลาหลายปีคิดค้นกลวิธีในการทำให้ภาพของเขานั้นดูเหมือนกับภาพจริงของศิลปินที่เขาเลือกที่จะก็อปผลงานโดยการใช้อุปกรณ์ชนิดเดียวกัน สีที่ผลิตจากวัตถุดิบเดียวกัน ผสมด้วยความสามารถของเขา แต่ก็ยังออกมาดูไม่เนียนตาอยู่ดี เขาจึงทดลองใช้สารเคมีต่างๆ
ยกตัวอย่างเช่น เบคิไลต์เรซิ่น มาทาบนงานของเขาเพื่อทำให้ภาพออกมาเเข็ง เอาไปเข้าเตาอบแล้วจึงนำออกมาผึ่งแดดแล้วม้วนด้วยที่นวดขนมปังเพื่อสร้างรอยแตกให้กับรูปแล้วจึงค่อยๆ เติมรอยแตกนั้นด้วยหมึกสีดำ ทำให้เหมือนกับว่ารูปนั้นมีอายุมายาวนาน เมื่อความสามารถในการวาดของเขานำมารวมกับความดูเก่าของตัวรูปที่ออกมาจากกรรมวิธีดังกล่าวจึงออกมาเป็น “รูปที่หายไป” ของศิลปินชื่อดังในช่วงยุคทองของศิลปะ
1
แล้วนำไปให้นายหน้าขายงานศิลปะของเขาไปขายให้แก่ผู้ที่สนใจใน “รูปที่หายไป” เหล่านี้ ซึ่งสร้างเงินให้เขาเป็นกอบเป็นกำจากผู้ที่ไม่รู้ว่างานที่เขาได้มานั้นไม่ใช่งานของศิลปินชื่อดังที่หายไปแต่อย่างใด
📌 งานจอมปลอมชิ้นสุดท้าย
ในปี 1942 จากความสำเร็จในการก็อปรูปของเขานี้เองทำรายได้ให้เขาอย่างมหาศาล มากซะจนทำให้เขาสามารถซื้อบ้านได้ทั้งหมด 52 หลัง และบ้านพักตากอากาศอีก 15 หลังในแถบลาเรน(Laren) และคฤหาสน์สุดหรูริมแม่น้ำในเมืองอัมสเตอร์ดัม นอกจากนี้เขายังมีเพชรนิลจินดาและเครื่องประดับอีกนับไม่ถ้วนเก็บไว้ที่บ้านของเขา มูลค่าของทั้งบ้านและแก้วแหวนเงินทองที่เขามีจากการขายรูปก็อปนั้น หากแปลเป็นเงินไทยในปัจจุบันจะตกอยู่ที่ 850-1,000 ล้านบาทกันเลยทีเดียว
4
หลังจากทำเช่นนี้อยู่หลายสิบปี เกือบถูกจับได้ว่าเป็นของปลอมบ้าง ขายไม่ได้บ้าง แน่นอนว่ามันทำเงินให้เขา แต่เงินที่เขาได้มาก็เอาไปลงขวดเหล้า บุหรี่ และสิ่งเสพติดต่างๆ จนทำให้เขาสุขภาพย่ำแย่ลงเรื่อยๆ และในปี 1942 นั้นเอง ก็เป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของ Han
2
มีอยู่วันหนึ่ง นายหน้าของ Han ได้เสนองานก็อปเกรด AAA ของเขาให้กับ Alois Miedl นายธนาคารนาซี ผู้เป็นนักสะสมงานศิลปะตัวยง ซึ่งเขานำไปแลกกับงานชิ้นอื่นของ Reichsmarschall Hermann Göring ขุนพลอันดับหนึ่งของ Adolf Hitler
และด้วยความแนบเนียนของผลงานของเขาทำให้ Hermann รับงานของ Han ในทันทีอย่างไม่ตั้งข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น และนำไปเก็บไว้ในฐานะของงานที่ล้ำค่าที่สุดของเขา จากการซื้อขายครั้งนี้แค่ครั้งเดียว ทำเงินให้เขา 1.65 ล้านกิลเดอร์
หรือเท่ากับ 240 ล้านบาทเลยทีเดียว และยังมีงานชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่เขาขายให้กับทหารนาซีชั้นสูงอีกหลายราย แน่นอนว่าทำให้เขาได้เงินมากมายมหาศาล แถมยังเป็นการละลายทรัพย์สินของทหารนาซีไปเป็นจำนวนมากอีกด้วย
1
อย่างไรก็ตามแต่ การกระทำของ Han นั้นยังคงผิดข้อกฎหมายว่าด้วยเรื่องกาารลอกเลียนแบบผลงานของศิลปินอื่น หลังจากที่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้บุกเข้าไปยังคลังเก็บของของ Hermann พวกเขาได้พบกับ “รูปที่หายไป” ของ Johannes Vermeer ซึ่งหลังจากนำไปตรวจสอบแล้วจึงพบว่า รูปทั้งหมดนั้นเป็นของที่ปลอมขึ้นมาโดยฝีมือของ Han
1
Han Van Meegeren ขณะขึ้นศาลในปี 1947
📌 ปิดตำนานนักวาดลายเส้นคนอื่น
จนในวันที่ 12 พฤศจิกายน 1947 Han Van Meegeren ได้ยอมรับข้อกล่าวหาในการปลอมแปลงรูปภาพจึงโดนพิพากษาให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี
1
แต่เนื่องด้วยการที่งานของเขานั้นเป็นการนำยุคทองของศิลปะดัตช์กลับมาสู่สายตาสาธารณชนและยังทำให้เหล่าทหารนาซีเสียทรัพย์ไปเป็นจำนวนมาก ศาลจึงลดโทษของเขาเหลือเพียง 1 ปีเท่านั้น บ้างก็ว่าเขานั้นเป็นฮีโร่ในการเป็นบ่อนทำลายนาซีด้วยงานศิลป์ของเขา บ้างก็ว่าเขาแค่กระหายในเม็ดเงินเพียงเท่านั้นเอง
1
แต่ไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้ายเพราะหลังจากที่เขาได้รับรู้ถึงโทษของตน นั่นทำให้เขาเกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลันจนถูกส่งไปยังโรงพยาบาล Valeriuskliniek และถูกประกาศว่าเสียชีวิต ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 1947 เป็นการปิดฉากสุดท้ายของนักก็อปที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกในวัย 58 ปีไปในที่สุด
การที่เรานำสิ่งที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญามาใช้หรือดัดแปลงโดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของผลงานนั้นย่อมผิดข้อกฎหมายเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นการตรวจสอบข้อมูลหรือสิ่งที่เราจะนำมาใช้ว่าสามารถใช้ได้โดยไม่ติดลิขสิทธิ์หรือต้องไปขออนุญาตเจ้าของผลงานก่อนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากเพราะหากเราไม่ทำตามแล้ว ผู้ที่เสียหายไม่ได้มีแค่เจ้าของผลงานเท่านั้น เราก็จะโดนหนักไม่น้อยเช่นกันหากถูกจับได้
โดยโทษจะอยู่ที่การปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หากเป็นการกระทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 – 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
1
ฉะนั้นถ้าเราไม่อยากโดนปรับ เราต้องทำให้เนียนเหมือนกับผลงานของจริงถึงจะรอด แต่ทางที่ดี คือ การทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมายกันไว้จะดีกว่า ดังนั้นต้องระวังกันหน่อยนะครับ
3
ผู้เขียน : ชินกฤต สุขสมปราถนา Content creator Intern, Bnomics
ภาพประกอบ : พันกร อรียพิพัฒน์ Graphic Design Intern, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
โฆษณา