23 เม.ย. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

Victor Lustig (วิคเตอร์ ลุสติก) อาชญากรสิบหน้า ราชานักต้มตุ๋น

Bnomics blockdit original อาทิตย์นี้ยังคงนำทุกท่านมาพบกับเคสดังเล่าสู่กันฟังในควันหลงเดือนแห่งวันโกหกสากล ว่าด้วยเรื่องราวของการหลอกลวง สร้างเรื่องในหน้าประวัติศาสตร์ที่ทั้งปั่นป่วนและชวนศึกษาไปพร้อมๆ กัน ของวิกเตอร์ ลุสติก นักต้มตุ๋นตัวฉกาจที่ใช้ชีวิตผาดโผนที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก
7
หากจะต้องกล่าวถึงภูมิหลังของชายผู้นี้ คงเป็นอันยากสักนิด เพราะตัวพ่อนักต้มตุ๋น “วิคเตอร์ ลุสติก (Victor Lustig)” นั้น ไม่มีใครทราบแม้แต่ชื่อจริงและที่มาที่ชัดเจนของเขา แม้กระทั่งชื่อ “โรเบิร์ต วิคเตอร์ มิลเลอร์ (Robert Victor Miller)” บนใบมรณะบัตรที่ออกโดยทางการนั้น ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่า
1
อาจจะเป็นอีกหนึ่งชื่อปลอมที่เขาได้สร้างขึ้นมา ท่ามกลางกองชื่อปลอมสี่สิบกว่าชื่อที่เขาได้ใช้ปลอมแปลง ฉ้อฉล ก่อคดีความป่วนทั่วอเมริกามาแล้ว
2
📌 “วิคเตอร์ ลุสติก” คือใคร?
1
วิคเตอร์ ลุสติก ท่านเคาท์ลึกลับผู้สืบเชื้อสายจากตระกูลขุนนางเก่าแก่จากอาณาจักรโบฮีเมีย ผู้จากปราสาทอันใหญ่โตในยุโรป มาเผชิญแสวงโชคทางธุรกิจในเมืองแห่งโอกาสอย่างอเมริกา
3
แต่หากจะถามว่า “โรเบิร์ต วิคเตอร์ มิลเลอร์” ตัวตนที่แท้จริงของวิคเตอร์เป็นใครนั้น ดูเหมือนว่าจะต่างกันแบบหน้ามือหลังเท้า
1
ภายใต้หน้ากากท่านเคาท์วิคเตอร์นักธุรกิจผู้ดีเก่า โรเบิร์ต คือ อาชญากรที่ฉลาดเป็นกรด ช่ำชองในเรื่องการฟอกเงิน พิมพ์ธนบัตรปลอม อีกทั้งยังมีวาทศิลป์หว่านล้อมเป็นเลิศ จึงทำให้มีคดีประหลาดอย่างการหลอกขายบางสิ่งบางอย่างที่ไม่น่าขายได้เกิดขึ้น แถมยังหลอกขายสำเร็จถึงสองครั้ง
1
ตามแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ทั้งนักประวัติศาสตร์และรัฐบาล ยืนยันว่าโรเบิร์ตเกิดและโตที่ราชอาณาจักรโบฮีเมีย ออสเตรีย-ฮังการี (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐเช็ก) แต่ในส่วนของวัยเด็กและครอบครัวนั้น
เขาเคยโอ้อวดว่าเป็นลูกพันตรีท่านหนึ่ง เติบโตมาในครอบครัวฐานะชนชั้นกลาง ได้รับการศึกษาได้กรุงปารีส แต่บางทีเขาก็เล่าว่าเป็นลูกชาวนาที่ยากจน ที่ทั้งครอบครัวอาศัยอยู่ในบ้านเล็กๆ สร้างด้วยก้อนหิน
1
📌 เส้นทางนักต้มตุ๋นระดับโลก
ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่เส้นทางนักต้มตุ๋นมืออาชีพ ต้นปีคริสตศักราช 1900 โรเบิร์ตในวัยแตกเนื้อหนุ่มเริ่มหาเลี้ยงชีพด้วยการลักเล็กขโมยน้อยจากจารกรรมงัดแงะ เพื่อมาใช้หนี้พนันและไลฟ์สไตล์เสเพลของตัวเองระหว่างเรียนมหาลัย
1
ก่อนที่จะโยกย้ายไปที่อเมริกาในยุครุ่งเรืองก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อาศัยจังหวะอพยพเปลี่ยนผ่านของผู้คน สร้างชื่อเสียงขึ้นมาในตัวตนใหม่เป็น “วิกเตอร์ ลุสติก” เพื่อหาเงินในเมืองแห่งโอกาสโดยเฉพาะ
1
📌 จุดประกาย
ไม่รู้ว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้ายของโรเบิร์ต ระหว่างการเดินทางไปอเมริกา โชคชะตาได้พัดพาเจ้าแห่งการต้มตุ๋นคนหนึ่งมาหาเขา นิคกี้ อาร์นสไตน์ (Nicky Arnstein) นักพนันมืออาชีพพ่วงตำแหน่งนักต้มตุ๋นชั้นปรมาจารย์ นับว่าเป็นคนแรกที่จุดประกายความหลงใหลของศิลปะการต้มตุ๋นให้โรเบิร์ตได้รู้จัก
3
โรเบิร์ตเก็บเอาวิชาจากชายที่เจอระหว่างทางพัฒนาตัวเอง ทั้งเรียนรู้วิชาโกงไพ่ และทริคสับหลอกมากมายที่สามารถนำไปใช้หลอกคนได้ หันไปหลอกลวงเหยื่อด้วยการใช้วาทศิลป์กินใจ โรเบิร์ตเรียกได้ว่าเป็นอัจฉริยะในทางที่ผิด เขาฉลาดมากเป็นทุนเดิม ได้ความสามารถในการพูดถึงห้าภาษา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี และเช็ก จากมหาลัย ทั้งยังมีการวางตัวที่ดี และดูดีมีเสน่ห์ต่อผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก
จนเคยถูกนิยามว่า “สง่างาม ฉลาดเฉลียว สุขุม เหมือนหลุดออกมาจากหน้ากระดาษวรรณกรรม” และยิ่งดูน่าเชื่อถือมากขึ้นเมื่อผนวกกับเรื่องการเป็นขุนนางบ้าบอที่เขาโม้ขึ้นมา
2
“ท่านเคาท์กำมะลอไว้จอนยาวสองข้าง แม้แต่เล็บก็ถูกตัดแต่งดูแลเป็นอย่างดี ในวันที่ตำรวจไปบุกค้นที่กบดานก็พบเสื้อผ้าหรูหราและหลากหลายมากมายกองพะเนิน คู่เคียงกับธนบัตรเป็นภูเขา”
นอกจากความฉลาดหลักแหลมที่มี อีกความสามารถที่ทำให้นักต้มตุ๋นท่านนี้เป็นหนึ่งในอาชญากรตัวป่วน คือ ความสามารถในการปลอมแปลงตัวตนได้แบบสร้างสรรค์ โรเบิร์ตทุ่มเทให้กับศิลปะในการแสดงและแต่งกายเป็นอย่างมาก การแสดงที่สมบูรณ์แบบต้องคู่กับคอสตูมชั้่นยอด
1
นอกจากการปลอมแปลงตัวเองเป็นท่านเคาท์ปลอมๆ ได้เนี๊ยบสมบูรณ์แบบ ก็ยังมีอีกหลายบทบาทที่ตำรวจเคยจดบันทึกไว้ เช่น บาทหลวง คนยิว กระทั่งแต่งเป็นบ๋อยถือกระเป๋าในโรงแรมก็เคยแต่งมาแล้ว
📌 เคล็ดลับเลือกเหยื่อและกฎของนักต้มตุ๋นสิบประการ
การเป็นตัวพ่อไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นได้ โรเบิร์ตไม่ได้ก่อคดีแบบสุ่มๆ แต่มีวิธีในการเลือกเหยื่อที่เจาะจงเป็นอย่างมากและกฎเหล็กที่เขาบอกตัวเองให้ท่องจนขึ้นใจ
โรเบิร์ตจะเลือกเหยื่อที่เป็นนักธุรกิจหน้าใหม่หรือเป็นเศรษฐีใหม่ที่อยากหาวิธีลงทุนง่ายแต่ได้กำไรงาม หรือเรียกได้ง่ายๆ ว่าพวกมีลักษณะโลภมากจะเป็นคนกลุ่มแรกที่โรเบิร์ตเลือก
1
นอกเหนือจากความโลภจะต้องเป็นคนที่ลึกๆ แล้วใจโลเล ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เหยื่อโอนอ่อนไปกับคำพูดของเขาได้ง่าย โรเบิร์ตจะค่อยๆ ผูกมิตรกับเป้าหมาย เข้าหาด้วยแพทเทิร์นแบบเดิมๆ ที่ใช้เมื่อไหร่ก็ได้ผลเสมอ จนเกิดเป็น “กฎสิบประการ” ที่พาเขาไปอยู่ในจุดที่เรียกได้ว่าสูงสุดแห่งวงการ 18 มงกุฏ
  • 1.
    เป็นผู้ฟังที่ดี ไม่พูดแทรก ไม่พูดเร็ว
  • 2.
    ไม่แสดงอาการเบื่อหน่ายให้คู่สนทนาเห็น
  • 3.
    รอให้คู่สนทนาแสดงความเห็นทางการเมือง แล้วให้แสดงออกว่าเห็นด้วย
  • 4.
    รอให้คู่สนทนาพูดเรื่องมุมมองต่อศาสนา แล้วให้แสดงออกว่าเห็นด้วย
  • 5.
    ลองเล่นมุกสองแง่สองง่าม หื่นพองาม ไม่ต้องมาก ยกเว้นว่าคู่สนทนาจะชอบเรื่องแบบนี้เหลือเกิน
  • 6.
    อย่าพูดถึงเรื่องเจ็บไข้
  • 7.
    อย่าสอดรู้เรื่องส่วนตัวของคู่สนทนา เพราะเดี๋ยวเขาก็เล่าเอง
  • 8.
    อย่าคุยโวโอ้อวด
  • 9.
    อย่าได้เป็นคนไร้ระเบียบ
  • 10.
    อย่าเมาเด็ดขาด
14
กฎเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความใจเย็นของโรเบิร์ต นอกจากความสามารถในการใช้จิตวิทยาชั้นครูและสกิลเจรจาแล้ว เขายังใช้เวลาเป็นตัวผูกมัดความเชื่อใจระหว่างเหยื่อกับเขาจนแน่นแฟ้นแล้วค่อยตลบหลังอย่างเยือกเย็น
📌 จุดสูงสุดในสายอาชีพ
ขึ้นชื่อว่าเป็นราชาแห่งการต้มตุ๋นและเจ้าแห่งความคิดสร้างสรรค์แล้ว หลายๆ คดีของโรเบิร์ตก็ดูเหลือเชื่อจนน่าฉงนว่ากล้าคิดออกมาได้อย่างไร และ เหยื่อหลงเชื่อไปได้เช่นไรกัน และนี่คือตัวอย่างสามคดีเด็ดดังที่ส่งชื่อ “วิคเตอร์ ลุสติก” ท่านเคาท์กำมะลอไปสู่รายชื่อนักต้มตุ๋นอันดับหนึ่งที่ตำรวจลับต้องการตัวมากที่สุดในประวัติศาสตร์
📌 “เครื่องผลิตเงิน”
ในปี ค.ศ.1920 โรเบิร์ตได้หลอกกลุ่มนักธุรกิจกลุ่มหนึ่งว่า เขาครอบครองสิ่งประดิษฐ์แบบเดียวกับที่รัฐบาลใช้พิมพ์ธนบัตร 100 ดอลลาร์ขึ้นมาได้ โดยในภายหลังสิ่งๆ นี้ได้ถูกเรียกว่า “Rumanian box” ด้วยคำเคลมที่บอกว่า นักคิดค้นชาวโรมาเนียเป็นคนสร้างมันขึ้นมาให้รัฐบาลสหรัฐ เขาได้กล่าวกับกลุ่มนักธุรกิจว่า อยากให้เก็บเรื่องนี้เป็นความลับ โดยจะขายให้ในราคา 30,000 ดอลลาร์
1
และมันจะช่วยสร้างเงินให้พวกเขาอีกมหาศาลหลังจากได้เครื่องนี้ไป นอกจากโกหกด้วยคำพูด เขายังโชว์วิธีการทำงานของมันว่าสามารถพิมพ์ธนบัตรได้จริง ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเพียงมายากลง่ายๆไว้ตบตา กลุ่มนักธุรกิจผู้หวังรวยทางลัดก็ถูกต้มจนเละเมื่อได้เครื่องมาและพบว่ามันใช้งานไม่ได้อย่างที่ท่านเคาท์กำมะลอโม้ไว้ แต่เหยื่อกลุ่มนี้ก็ไม่กล้าแจ้งความเพราะก็เขินอายที่จะไปแจ้งว่าโดนหลอกให้ซื้อเครื่องพิมพ์ธนบัตร
📌 “ขายหอไอเฟล”
เรื่องราวนั้นมีอยู่ว่า ท่านเคาท์ได้ปลอมแปลงว่าตัวเองคือคนของรัฐบาล และไปโกหกกับกลุ่มผู้รับซื้อเศษเหล็กว่า หอไอเฟลนั้นกำลังจะถูกโค่นลงเพราะรัฐบาลจ่ายเงินค่าดูแลไม่ไหวอีกต่อไปและกำลังมองหาคนกลางรับซื้อเศษเหล็กอยู่ มีคนเข้าร่วมการประมูลมากมาย ราคาที่ถูกเสนอสูงที่สุดอยู่ที่ 70,000 ดอลลาร์
2
เรื่องนี้จบลงตรงที่โรเบิร์ตก็หอบเงินหนีหายไปกับสายลมได้ถึงสองรอบด้วยคำอ้างเดิม ทิ้งความละอายไว้กับกลุ่มพ่อค้ารับซื้อเหล็กที่หลงเชื่อเรื่องราวไร้สาระแบบนี้มาได้ จนต่างไม่กล้าแจ้งตำรวจกัน
1
📌 “ราชานักต้มตุ๋น กับ ราชามาเฟีย”
ไม่น่าเชื่อว่าในยุคที่ท่านเคาท์คนนี้กำลังรุ่งโรจน์ในเส้นทางอาชีพสิบแปดมงกุฏของตัวเอง เป็นช่วงคาบเกี่ยวกันกับเจ้าพ่ออาชญากรคนหนึ่งเรืองอำนาจอยู่เช่นกัน เขาคือ “อัล คาโปน” เจ้าพ่อมาเฟียในตำนานที่ใครในตอนนั้นก็กล่าวขวัญถึง และมีหรือจะหลุดรอดหูของนักต้มตุ๋นตัวพ่ออย่างโรเบิร์ตได้
3
โรเบิร์ตได้ใช้ความกล้าเข้าหาอัล คาโปน หลอกขายแผนทำเงินจากธุรกิจหลอกลวงของเขา โดยเสนอให้อัล คาโปนมาร่วมลงทุนด้วยเงิน 50,000 ดอลลาร์ และไม่น่าเชื่อว่าเจ้าพ่อระดับตำนานคนนี้ก็เออออห่อหมกไปเสียด้วย
โรเบิร์ตจึงได้หอบเงินลงทุนจากเจ้าพ่อมาเฟียกลับบ้านไปแบบหล่อๆ แต่ก็มิวายได้นั่งคิดนอนคิดว่าการโกงเงินเจ้าพ่อขาใหญ่คนนี้มันคุ้มเสี่ยงหรือไม่ สุดท้ายเขาก็ถอดใจแล้วเอาเงินไปคืน โชคดีที่อัล คาโปน ประทับใจในความซื่อสัตย์รู้จักนอบน้อมคนใหญ่คนโตของเขา เลยให้ทิปมา 1,000 ดอลลาร์พร้อมให้อภัย นับว่าโชคดีไปที่ไม่ได้รับลูกกระสุนกลับมาเป็นของแถม
5
📌 จุดตกต่ำ
แน่นอนว่ามีช่วงสูงสุดก็ต้องมีต่ำสุด หลังจากที่ตำรวจลับตามสะกดรอยโรเบิร์ตมาอย่างยาวนานเป็นเวลาเจ็ดเดือนเหมือนแมวจับหนู เขาก็ถูกรวบตัวพร้อมกับหลักฐานเป็นกองธนบัตรที่เตรียมส่งสู่กระบวนการฟอกเงินเป็นภูเขา และเครื่องผลิตธนบัตรปลอม
ในปี ค.ศ. 1936 โรเบิร์ตถูกพิจารณาโทษรวม 20 ปี (15 ปีจากคดีที่ก่อ และอีก 5 ปีจากคดีการแหกคุก) บทบาทวิคเตอร์ ลุสติกจบลงหลังจากโรเบิร์ต วิคเตอร์ มิลเลอร์เสียชีวิตอย่างสลบในคุกที่ได้ชื่อว่าแน่นหนาที่สุดในโลกและสร้างไว้ให้อาชญากรระดับหัวกะทิ “อัลคาทราซ (Alcatraz)”
1
ช่วงที่ถูกจำขังในคุกเขาก็ได้รวบรวมประสบการณ์ทั้งชีวิตรำลึกออกมาเป็นกฏสิบประการที่กล่าวไปข้างต้น
1
ในช่วงชีวิตของชายคนนี้ถึงแม้จะเป็นเส้นทางที่ไม่ดี แต่ก็แสดงให้เห็นถึงแง่มุมความโลภที่ไม่สิ้นสุดได้เป็นอย่างดี โรเบิร์ตสิ้นใจโดยฝากคดีฉาวโฉ่ทว่าก็ชวนขันไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การโกงมากมาย และเป็นบทเรียนที่ดีแก่ลูกหลานรุ่นหลังว่า จุดจบของคนไม่ซื่อสัตย์มักไม่สวยงามนัก
ผู้เขียน : นัยนา ภูมิลำเนา Content creator Intern, Bnomics
ภาพประกอบ : พันกร อรียพิพัฒน์ Graphic Design Intern, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
เครดิตภาพ :
โฆษณา