24 มิ.ย. 2023 เวลา 13:13 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

เส้นสถิตยุติธรรม ระบบของใครของมัน

ไม่คิดว่าจะมีสตรีมมิ่งไหนเอามาฉาย เพราะไม่ใช่เรื่องสายฟินหรือบันเทิงดราม่าสักเท่าไหร่ เกือบจะเหมือนกึ่งสารคดีอยู่แล้ว
เรื่องนี้เรียกได้ว่าเป็นเรื่องแรกที่นำเสนอเกี่ยวกับระบบตุลาการของจีน คนเขียนบทต้องศึกษาคดีกว่า 600 คดี เดินเข้าออกศาลหลายปี แถมผู้พิพากษาศาลสูงตรวจบททุกบรรทัดกันเลยทีเดียว ฉากในศาลคือเป๊ะเหมือนจริงทุกคำพูด ทุกแอคติ้ง
มันน่าสนใจก็เพราะมันใกล้เคียงความจริงที่สุดนี่แหละ ทำให้เห็นภาพระบบตุลาการของจีนชัดเจน อาจเพราะผู้เขียนจบกฎหมายมา แม้จะไม่เคยทำงานด้านนี้แม้แต่วันเดียว แต่หลักการ ศัพท์แสงต่าง ๆ ยังคงติดอยู่ในหัว ยิ่งเห็นคำแปลก็ยิ่งสงสัย เลยต้องไปหาข้อมูลเพิ่ม
ขอแทรกวิชาการนิดนึง
จีนใช้ระบบกฎหมาย Civil Law (กฎหมายลายลักษณ์อักษร) เหมือนกับไทย และมีประเด็นที่คล้ายกันอีกอย่างคือ ใช้คำพิพากษาศาลประชาชนสูงสุด เป็นบรรทัดฐานในการตีความกฎหมายลายลักษณ์
เมื่อ 30 กว่าปีก่อน ตอนที่ยังเรียนอยู่ก็มีการวิพากษ์เรื่องนี้กันว่า ปกติการยึดคำพิพากษาศาลฎีกาจะใช้ในระบบกฎหมาย Common Law (กฎหมายจารีตประเพณี) คงเพราะไทยส่งคนไปเรียนมาจากทั้งสองระบบ ก็เลยเอามาผสมกันเสียเลย
เรื่องที่งงเล็ก ๆ ช่วงแรกคือ ระบบศาลของจีนมีกี่ศาลกันแน่ พอไปค้นดูจึงรู้ว่า ศาลระดับมณฑล เขตปกครองพิเศษ และมหานคร คดีทั่วไป มี 2 ศาล คือ ศาลประชาชนระดับพื้นฐาน ถ้าไม่พอใจคำพิพากษาก็อุทธรณ์ไปที่ ศาลประชาชนระดับกลาง ซึ่งสิ้นสุดแค่นั้น ไม่มีการฎีกาต่อแล้ว
ข้อพิเศษที่เห็นในเรื่องคือ ก่อนไปถึงการฟ้องร้องกันจริง ๆ ต้องมีการไกล่เกลี่ยกันก่อน เป็นการไกลเกลี่ยที่เกือบจะเหมือนกับการฟ้องร้องเลย ศาลต้องออกไปพบผู้เกี่ยวข้องทั้งของโจทก์และจำเลยด้วย
จริง ๆ มันมีประเด็นเปรียบเทียบระหว่างศาลไทยและจีนแยกย่อยอีกหลายเรื่อง
 
ขอข้ามไปเพราะผู้เขียนยังไม่ได้อ่านเกี่ยวกับระบบศาลจีนอย่างลึกซี้งมาก รวมทั้งไม่ได้ติดตามว่าระบบกฎหมายของไทยในปัจจุบันพัฒนาไปถึงไหนแล้ว
กลับมาว่ากันเรื่องความบันเทิง
คนเขียนบทเก่งมากที่นำคดีซึ่งมีทั้งเป็นเรื่องจริงเป็นข่าวดังและแต่งเอง(มั้ง) มาผูกเป็นเรื่องราว ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นวิธีคิด การดำเนินชีวิตของคนจีนในปัจจุบัน
เท่าที่ดูเรื่องแนวตำรวจมาว่าหนักแล้วเวลาเจอประชาชนทะเลาะกัน มาเจอศาลหนักกว่าอีก หลายคดีการจะชี้ว่าฝ่ายไหนผิดหรือถูกก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เห็นแล้วเหนื่อยแทนสองอาชีพนี้ในจีนมาก
หลายคดีที่คิดว่าฝั่งหนึ่งผิดแน่ ๆ แต่พอสืบไปสืบมากลายเป็นตรงกันข้ามก็มี ผู้เขียนคิดถึงตอนที่เรียนหนังสือ มีกลุ่มกิจกรรม2 กลุ่ม อยู่ห้องติดกัน เรียกว่า A กับ B ล่ะกัน วันหนึ่งอินเตอร์คอมในห้อง A เสีย ประมาณว่าสายไฟถูกถอดออก ห้อง A ก็เลยไปฟ้องอาจารย์ว่า ห้อง B ทำ เพราะมีเรื่องไม่พอใจกันมาก่อนแล้วห้อง B ก็เคยมาถอดสายไฟกันเห็น ๆ
คำตอบของอาจารย์ท่านนั้น ทำให้ผู้เขียนเข้าใจคำว่า นักกฎหมาย (ที่สุจริต) ทันที
ท่านบอกว่า “ เป็นนักกฎหมายต้องฟังความทั้งสองข้าง”
ถึงแม้จะไม่ได้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเลยมาตลอดชีวิต แต่แนวคิดที่จำติดตัวมาตลอดคือ อย่ามองแต่มุมของเราเท่านั้น ให้มองในมุมของทุก ๆ คนด้วย เหตุการณ์หนึ่ง เราอาจเป็นทั้งฝ่ายผิดและฝ่ายถูกในเวลาเดียวกัน
ซีรีส์คงมุ่งให้คนดูเข้าใจระบบการทำงานของศาลว่ามีขั้นตอนอย่าไร ทำไมถึงตัดสินแบบนั้นแบบนี้ พร้อม ๆ กับสะท้อนให้เห็นว่าผู้พิพากษาก็เป็นมนุษย์เหมือนทุกคน วัน ๆ ต้องตื่นมาเจอแต่คนทะเลาะกัน ย่อมมีความกดดัน มีความผิดพลาดได้บ้าง รวมทั้งมีปัญหาครอบครัว ไม่ต่างจากคนในอาชีพอื่น ๆ
จำได้ว่าตอนเรียน ระบบกฎหมายและศาล มักมี 2 แบบ เช่น Civil Law / Common Law , ระบบไต่สวน/ ระบบกล่าวหา เป็นต้น บางประเทศใช้ระบบเดียว บางประเทศก็ใช้มันทั้งสองระบบ หรือคิดระบบบางอย่างของตัวเองขึ้นมา บางเรื่องเช่น คณะลูกขุน บางประเทศก็เพิ่งมาเริ่มใช้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ดังนั้น จึงไม่มีระบบการเมืองการปกครองระบบกฎหมายหรือระบบศาลที่ “ดี” ที่สุดในโลก มีแต่ระบบที่ “เหมาะสม”กับผู้คนในประเทศนั้น ๆ เท่านั้น
หากอยากรู้เรื่องเกี่ยวกับระบบศาลของจีน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://businessanalysisoflaw.com/2018/02/06/introduction-chinese-legal-system/

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา