Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Introverted investor
•
ติดตาม
1 ก.ค. 2023 เวลา 05:34 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand)
🟢“One stock per week” [EP.1] : แนะนำหุ้นไทย🟢
✅"บริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)" : [AAI]
ผู้ผลิตและส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง เกาะกระแสแนวโน้มใหญ่แห่งโลกอนาคต ‘Pet Humanization’ "เพราะหมาและแมวไม่ได้เป็นเพียงแค่สัตว์เลี้ยง"
🐶🐱‘Pet Humanization’ คืออะไร? คำจำกัดความในภาพรวมนั้นหมายถึง พฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์ของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ซึ่งพวกเขามีมุมมองหรือทัศนคติต่อสัตว์เลี้ยง เปรียบเสมือน “สมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว” แตกต่างจากค่านิยมโบราณที่เราเลี้ยงสัตว์เพื่อจุดประสงค์การใช้ประโยชน์บางอย่าง เช่น การบริโภค หรือการช่วยเหลืองานของมนุษย์
‘Pet Humanization’ ไม่ได้มองน้องหมาหรือน้องแมวว่าเป็นเพียงสัตว์เลี้ยง แต่พวกเขาคือ เพื่อน ลูก ญาติสนิท ซึ่งมีสถานะเทียบเท่าบุคคลหรือสมาชิกในครอบครัวของมนุษย์ ต้องการการดูแลเอาใจใส่ ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีไม่ต่างไปจากบุคคลอื่นๆในครอบครัว กระแสของ ‘Pet Humanization’ ในฐานะที่เป็นหนึ่งใน “เมกะเทรนด์” นั้นมีมานานนับ 10 ปีแล้ว
หากแต่สาเหตุหลักที่ผลักดันให้กระแสดังกล่าวได้รับความสนใจในปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจมากขึ้นไปอีกในอนาคตคือ สังคมไทยไปจนถึงสังคมโลกมีแนวโน้มการดำรงชีวิตแบบครอบครัวขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น คนเป็นโสดมากขึ้น ความต้องการมีลูกน้อยลง ไปจนถึงแนวโน้มของสังคมผู้สูงอายุ การเติบโตของสังคมเมือง ความเป็นเมือง (Urbanization)
สิ่งเหล่านี้ล้วนผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงระดับพรีเมี่ยมเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะคนเลี้ยงสัตว์มากขึ้น โดยเฉพาะสุนัขและแมว รวมถึงความต้องการของคนเลี้ยงที่อยากให้สัตว์เลี้ยงในฐานะสมาชิกของครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่สักแต่ว่าเลี้ยงปล่อยๆ จะให้กินอะไรก็ได้
สอดคล้องกับผลการสำรวจจาก 'Morgan Stanley Research' ซึ่งระบุว่า มากกว่า 70% ของผู้เลี้ยงสัตว์ในปัจจุบันให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงของตนเองเสมือนสมาชิกในครอบครัว, 66% ของผู้เลี้ยงมีความรักความผูกพันกับสัตว์เลี้ยงของตนมาก และ 47% ของผู้เลี้ยงยังมองสัตว์เลี้ยงของตนเป็นเสมือนลูกอีกด้วย นอกจากนี้ 37% ของผู้เลี้ยงยอมจ่ายเงินสำหรับสิ่งของที่ต้องการนำมาให้กับสัตว์เลี้ยงของตน โดย 'Morgan Stanley' ได้นิยามพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์ในรูปแบบดังกล่าวว่า “Petriarchy” หรือที่เรียกกันว่า “ทาสหมา ทาสแมว”
2
♻บริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)♻ หรืออักษรย่อ 'AAI' ในตลาดหุ้นไทย ประกอบธุรกิจรับจ้างผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยง (Pet food) อาหารพร้อมทานบรรจุภาชนะปิดผนึก (Human food) และผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้จากการแปรรูปปลาทูน่า บริษัทมีโครงสร้างรายได้หลักมาจากการรับจ้างผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง (OEM) เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังมากกว่า 80% จากรายได้รวม
กลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทคือ เจ้าของแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงในอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น (ส่วนรายได้จากการรับจ้างผลิตอาหารพร้อมทาน เฉลี่ย 3 ปี ย้อนหลัง อยู่ที่ 18% จากรายได้รวม กลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทมาจากญี่ปุ่น อิสราเอล และประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง)
👨💼ผู้ถือหุ้นใหญ่รายหลักของ AAI คือ "บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)" : [ASIAN] (70%) ประกอบธุรกิจแปรรูปสัตว์น้ำแช่เยือกแข็ง กลุ่มอมรรัตนชัยกุล (5%) และกลุ่มการเงินกรุงศรี (4%)
📈รายได้หลักกว่า 40% ของ ASIAN ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดมาจากกิจกรรมของ AAI นั่นคือการรับจ้างผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง
🟩 'AAI' มีบริษัทย่อย 2 แห่ง และบริษัทร่วมทุน 3 แห่ง ประกอบไปด้วย
🔹 APCC (บริษัทถือหุ้น 100%) พัฒนาและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงแบรนด์ของตนเอง (ขายในประเทศไทย) เช่น
✅ Monchou
✅ Monchou balanced
✅ Hajiko
✅ Pro
🔹 THAIYA (บริษัทถือหุ้น 100%) การตลาดและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงแบรนด์ของตนเองในประเทศจีน (ขายในประเทศจีน) ตั้งอยู่ในประเทศจีน
🔹 IPN (บริษัทถือหุ้น 40%) ร่วมทุนกับบริษัท "IP" ทำการตลาดและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง (แบบเปียก) แบรนด์ของตนเอง เช่น
✅Maria
🔹 AGE (บริษัทถือหุ้น 60%) นายหน้าจัดหาลูกค้าเจ้าของแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงในภูมิภาคยุโรป ตั้งอยู่ในประเทศเยอรมันนี
🔹 MEISI (บริษัทถือหุ้น 41%) รับจ้างผลิต (OEM) อาหารสัตว์เลี้ยง (แบบเม็ด) ในประเทศจีน
🟩 AAI มีโรงงาน 2 แห่ง
🔹 สมุทรสาคร (97ไร่) กำลังการผลิต อาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียก (42,000 ตัน/ปี) อาหารพร้อมทาน (17,500 ตัน/ปี) และ ผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้จากปลาทูน่า (6,000 ตัน/ปี)
อีกทั้งโรงงานแห่งนี้ยังมีคลังสินค้าอัตโนมัติ จัดเก็บสินค้าได้ 15,000 พาเลท ปัจจุบันกำลังการผลิตเกือบทั้งหมดเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อจากลูกค้า (OEM)
🔹 จีน (12ไร่) กำลังการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง (แบบเม็ด) 20,000 ตัน/ปี ทั้งหมดผลิตและจัดจำหน่ายในประเทศจีนเป็นหลัก รวมถึงตราสินค้า Monchou ของบริษัท
🟪 ต้นทุนวัตถุดิบหลัก
🔸 "ปลาทูน่า" ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียก และอาหารคนพร้อมทานบรรจุในภาชนะปิดสนิด ปลาทูน่านำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก สั่งซื้อเป็นรายครั้งจากคู่ค้า 3-4 ราย และมีการสำรองสินค้าให้เพียงพอต่อการผลิตล่วงหน้าอย่างน้อย 2-3 เดือน
🔸 "ไก่" ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียก ใช้เนื้อไก่สดจากคู่ค้าภายในประเทศ 3 ราย สั่งซื้อเป็นรายไตรมาสและทยอยนำส่งให้บริษัทเป็นรายวัน และมีการสำรองเนื้อไก่แช่แข็งให้เพียงพอต่อการผลิตล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน
🔸 "ปลาอื่นๆ" (ซาร์ดีน/แมคเคอเรล) ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียก นำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก และมีการสำรองสินค้าให้เพียงพอต่อการผลิตล่วงหน้าอย่างน้อย 1-2 เดือน
🔸 "บรรจุภัณฑ์" มี 3 รูปแบบ (กระป๋อง/ถุงสุญญากาศ/ถ้วยพลาสติก) จัดหาจากภายในประเทศ จากคู่ค้า 5-6 ราย โดยการสั่งซื้อเป็นรายครั้งตามคำสั่งผลิตจากลูกค้า
🔸 ส่วนโรงงานในประเทศจีนนั้นจะสั่งซื้อวัตถุดิบทั้งหมดจากภายในประเทศจีนเป็นหลัก
🟥ความเสี่ยงหลัก🟥
🔺 รายได้ของบริษัทเกือบทั้งหมดมาจากการรับจ้างผลิต (OEM)
บริษัทมีการพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นคู่ค้าเชิงกลยุทธ์ที่มากกว่าเพียงการเป็นผู้รับจ้างผลิตตามคำสั่งซื้อ และในอนาคตจะมีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตและจำหน่ายสินค้าที่เป็นแบรนด์ของตนเองเพิ่มมากขึ้น
🔺 รายได้รวมกว่า 90% นั้นพึ่งพาตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศ
บริษัทมีการจัดตั้งหน่วยงานที่คอยติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจและการส่งออกโดยเฉพาะ อีกทั้งยังมีการกระจายความเสี่ยงด้านการส่งออกไปยังหลายภูมิภาค ไม่กระจุกตัว
🟩ปัจจัยการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง
🔲 ด้วยสภาพสังคม ณ ปัจจุบัน มนุษย์มีการเลี้ยงสัตว์ (หมา, แมว) เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากรมนุษย์ในอนาคต เช่น การดำรงชีวิตแบบครอบครัวขนาดเล็ก ครอบครัวเดี่ยว การอาศัยอยู่คนเดียว ค่านิยมการไม่มีลูก และสังคมผู้สูงอายุ สิ่งเหล่านี้ล้วนผลักดันให้มนุษย์เลือกที่จะเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นเพื่อนคลายเหงา เสมือนสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว
🔲 เมื่อสัตว์เลี้ยงเปรียบเสมือนบุคคลหนึ่งในครอบครัว ผู้เลี้ยงจึงมีความเอาใจใส่มากขึ้น ต้องการอาหารที่มีคุณภาพมากขึ้น มีประโยชน์ ดีต่อสุขภาพ ส่งผลให้อัตราการทำกำไรในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า และลดการแข่งขันด้านราคา
🔲 ปัจจัยด้านโรคระบาด Covid-19 ก็มีผลกระตุ้นทำให้กระแสการเลี้ยงสัตว์เพิ่มสูงขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากผู้คนจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้น
🔵 ข้อมูลเบื้องต้นอุตสาหกรรมการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศไทย
🔳 ปี 2020 ประเทศไทยส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นอันดับที่ 4 ของโลก มูลค่ากว่า 62,300 ล้านบาท เป็นรองเพียงแค่ เยอรมันนี สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส จุดหมายปลายทางของการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย 5 อันดับแรกคือ สหรัฐอเมริกา (15,386 ล้านบาท) ญี่ปุ่น (8,852 ล้านบาท) มาเลเซีย (4,197 ล้านบาท) อิตาลี (3,552 ล้านบาท) ออสเตรเลีย (3,270 ล้านบาท)
🔳 ปี 2021 ประเทศไทยส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นอันดับที่ 3 ของโลก (9.70%) เป็นรองเพียง เยอรมนี (12.60%) และสหรัฐอเมริกา (9.90%)
📶 แนวโน้มการเติบโตในอนาคตของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง
👉 ตั้งแต่ปี 2017 – 2021 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในตลาดโลก เติบโตเฉลี่ย 5-6%/ปี และมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 7%/ปี ต่อไปอีกอย่างน้อย 4 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกสำหรับสุนัขและแมวที่คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10.70%/ปี
👉 เฉพาะในประเทศจีนมีการคาดการณ์ว่าอาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับสุนัขและแมวจะมีการเติบโตเฉลี่ย 19.80%/ปี ไปอีกอย่างน้อย 4 ปีข้างหน้า
👉 ผลสำรวจผู้เลี้ยงสัตว์ที่ตรงกับนิยามของ ‘Pet Humanization’ มากกว่า 75% มีอายุระหว่าง 18-34 ปี มีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนสัตว์เลี้ยงมากขึ้นภายในอีก 5 ปีข้างหน้า สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือมูลค่าการใช้จ่ายด้านอาหารสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มมากขึ้น
🟩 แนวโน้มการเติบโตในอนาคตของธุรกิจส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศไทย [กรณีศึกษา : AAI]
✴ บริษัทตั้งเป้าหมายในการขยายกำลังการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียก ณ โรงงานที่สมุทรสาคร อีก 40,000 ตัน/ปี ภายในปี 2025 จากเดิมมีกำลังการผลิต ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 42,000 ตัน/ปี หากเป้าหมายดังกล่าวเกิดขึ้นจริงและสำเร็จ จะทำให้โรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิตรวมเป็น 82,000 ตัน/ปี
ปัจจุบันบริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนสูงกว่า 7 เท่า ที่ได้ระดมทุนจากการ IPO จึงคิดว่าไม่น่ามีปัญหาเรื่องการเงินสำหรับเป้าหมายการขยายกำลังการผลิต และอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกคาดว่าจะมีอัตราการทำกำไรที่ค่อนข้างสูงกว่าแบบเม็ด ผลตอบแทนการลงทุนก็อาจคุ้มค่าเป็นที่น่าพอใจ
✴ บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้รวมในปี 2023 อยู่ที่ประมาณ 8,300 ล้านบาท หรือเติบโตมากกว่า 15% (ยอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงจะลดต่ำลงใน Q1 เนื่องจากกลุ่มลูกค้าในอเมริกาจำเป็นต้องบริหารสินค้าส่วนเกิน และจะกลับมาปกติใน Q2 จากนั้นจะเติบโตในช่วง Q3-4)
✴ บริษัทมีกลยุทธ์สร้างการเติบโตในอนาคตจากการพัฒนาแบรนด์ตนเอง ทำการตลาดสร้างการรับรู้ และขยายช่องทางการจัดจำหน่าย
✴ ผู้บริหารคาดการณ์ว่าจากปีนี้ไปจนถึงปี 2030 มูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงโลกจะเติบโตได้เฉลี่ย 5%/ปี (มูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงโลกในปี 2021 มีมูลค่า 110,000 USD เติบโตเฉลี่ย 9-10%/ปี)
🟩MD&A Q1/2023
🔘 รายได้รวม 1,391 ล้านบาท / ลดลง 16% (YoY) ผลมาจากยอดขายผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงที่ลดลง
🔘 กำไรขั้นต้น 130 ล้านบาท / ลดลง 53% (YoY) ผลมาจากต้นทุนวัตถุดิบปลาทูน่าที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณการจับมีน้อย ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูงขึ้น และรายได้จาก อาหารพร้อมทานในภาชนะปิดผนึก (Human Food) มีสัดส่วนสูงขึ้นซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นต่ำกว่า
🔘 กำไรสุทธิ 72 ล้านบาท / ลดลง 60% (YoY) ผลมาจากยอดขายและกำไรขั้นต้นลดลง ค่าใช้จ่ายทางการตลาดเพิ่มขึ้น
🔘 ปริมาณขาย 9,594 ตัน / ลดลง 17% (YoY) เฉพาะปริมาณขายอาหารสัตว์เลี้ยง ลดลง 27% ผลจากความล่าช้าในกระบวนการขนส่งเกี่ยวเนื่องสถานการณ์ Covid กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้สินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงในตลาดสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดหลัก ทะลักเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก และสินค้ารอบใหม่มีระยะเวลาการขนส่งสั้นลง ลูกค้าเจ้าของแบรนด์ จึงจำเป็นต้องใช้เวลาช่วงครึ่งปีแรกในการระบายสินค้าคงคลัง รวมถึงปรับปริมาณสต็อกใหม่ให้อยู่ในระดับเหมาะสม
🟩Business Outlook 2023
☑ ยอดขาย Pet Food = 5,400 ล้านบาท / ลดลง 12% (YoY)
☑ ยอดขาย Human Food = 1,200 ล้านบาท / เพิ่มขึ้น 15% (YoY) ปัจจัยบวกจากค่าระวางเรือลดต่ำลง ปัญหาเรื่องการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่อัตรากำไรคาดว่าจะต่ำลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากราคาปลาทูน่าที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี และการแข่งขันที่รุนแรงภายในอุตสาหกรรม
☑ รายได้รวม = 6,600 ล้านบาท ลดลง 7% (YoY)
☑ อัตรากำไรขั้นต้น 14-15% / จะได้รับแรงกดดันอย่างมากจากต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายพลังงานที่เพิ่มขึ้น สัดส่วนผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานที่เพิ่มขึ้น และแรงกดดันจากค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่า
☑ สัดส่วนรายได้รวมระหว่าง Pet Food : Human Food อยู่ที่ 82% : 18%
🔄ข้อมูลเพิ่มเติม
♻ อัตราส่วน P/E เฉลี่ยของบริษัท 4 แห่งที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอาหารสัตว์ ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์อเมริกา และเป็น 4 บริษัทที่ติดอันดับบริษัทใหญ่ที่สุดในโลก 10 อันดับแรก อยู่ที่ประมาณ 21-22 เท่า
♻ อัตราส่วน P/E เฉลี่ยของอุตสาหกรรมอาหารในตลาดหุ้นไทย อยู่ที่ประมาณ 19 เท่า
♻ อัตราส่วน P/E เฉลี่ยของ AAI ตั้งแต่จดทะเบียนเข้าตลาดหุ้นไทยเมื่อปีที่แล้ว อยู่ที่ประมาณ 16 เท่า
⭕ การลงทุนในบริษัท AAI สามารถคาดหวังการจ่ายเงินปันผลประมาณ 3-4% ต่อปี มากไปกว่านั้นเรายังคงอยู่ในกระเสแนวโน้มหลักของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตค่อนข้างรวดเร็วและยั่งยืนไปอีกหลายปีทีเดียว สิ่งเหล่านี้อาจช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนที่คาดหวังให้มากเกินกว่าที่เราคำนวณกันออกมา
⭕ บทความนี้เป็นเพียงการรวบรวมและนำเสนอข้อมูลเชิงคุณภาพจากรายงานประจำปีของบริษัทและข้อมูลข่าวสารอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหาอ่านได้ทั่วไป ไม่มีเจตนาในการชี้นำ เชิญชวน โน้มน้าว ให้เกิดการลงทุน ซื้อหรือขายหลักทรัพย์แต่อย่างใด การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดใช้ความรู้และความเข้าใจ เพื่อกำหนดเส้นทางการลงทุนของตนเอง
ขอให้มีความสุขกับการลงทุน ในทุกๆวันนะครับ 🙂
การลงทุน
หุ้น
ธุรกิจ
4 บันทึก
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
🟢“One stock per week” : แนะนำหุ้นไทย🟢
4
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย