17 ก.ค. 2023 เวลา 12:34 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ยังไม่ดีขึ้น! ภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มซบเซาต่อไป

ก่อนจบไตรมาสที่ 2 ของปี กิจกรรมภาคอุตสาหกรรมได้ส่งสัญญาณชะลอตัว หลังจากความต้องการซื้อที่สะสมมาในช่วงโควิดเริ่มลดลงและประเทศหลักหลายแห่งมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจซบเซา
แต่ในเดือนสุดท้ายของไตรมาสที่ 2 ข้อมูลทางเศรษฐกิจได้ชี้ว่ากิจกรรมภาคการผลิตไม่ได้แค่ชะลอตัวเท่านั้น แต่หดตัวลงแล้ว เห็นได้จากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต หรือ Manufacturing PMI
ในหลายประเทศได้ลดลงต่ำกว่าระดับ 50 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งตัวเลขต่ำกว่า 50 หมายถึงการหดตัวของกิจกรรมภาคการผลิตนั่นเอง (แผนภูมิ 1)
ยกตัวอย่างเช่นในสหรัฐฯ ที่ตัวเลขล่าสุดในเดือนมิถุนายนลดลงไปอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือน ที่ 46.3 จากเดิมที่ 48.4 ในเดือนพฤษภาคม ในทำนองเดียวกัน Manufacturing PMI ของอังกฤษ ก็อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือนที่ 46.5 เช่นกัน
ส่วนตัวเลขในประเทศโซนยุโรปก็หดตัวเหลือ 43.4 ในเดือนมิถุนายน จาก 44.8 ในเดือนก่อน ซึ่งถือเป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2022 สำหรับประเทศในเอเชีย Manufacturing PMI ของญี่ปุ่นในเดือนมิถุนายนก็ลดลงมาอยู่ที่ 49.8 จากเดิมที่เคยอยู่ในช่วงขยายตัวอ่อนๆ ที่ 50.9 ในเดือนที่แล้ว
และในส่วนของจีน แม้ตัวเลขล่าสุดจะอยู่เกินระดับ 50 ที่ 50.5 แต่ตัวเลขนี้ก็ลดลงมาจาก 50.9 ในเดือนก่อน ซึ่งนี่ชี้ว่าการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมหลังการเปิดประเทศนั้นเริ่มบางเบาลง
หนึ่งในคำอธิบายสำหรับกิจกรรมการผลิตที่ลดลงในหลายที่ทั่วโลกก็คือ บริษัทมากมายได้มีการผลิตสินค้าเพื่อระบายคำสั่งซื้อคงค้างที่สะสมมาในช่วงที่ของขาดแคลนในปี 2021 ถึง ต้นปี 2022 ไปแล้ว (แผนภูมิ 2)
อีกหนึ่งเหตุผลก็น่าจะมาจากความต้องการซื้อที่ลดลงท่ามกลางเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูง ซึ่งนี่เห็นได้จากคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ลดลงมาในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา (แผนภูมิ 3)
ในระยะข้างหน้า ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกยังคงมีแนวโน้มที่จะซบเซาต่อไป หนึ่งในสาเหตุหลักก็เป็นเพราะการขึ้นดอกเบี้ยทั่วโลกยังไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างเต็มที่ในตอนนี้ จึงยังมีโอกาสที่โลกจะได้รับผลกระทบมากกว่านี้ในอนาคต ซึ่งในตอนนี้ก็มีสัญญาณแล้วว่าดอกเบี้ยที่สูงได้เริ่มทำให้บริษัทและครัวเรือนหลายแห่งกู้เงินกันน้อยลง
นอกจากนี้ ตลาดแรงงานในบางประเทศก็เริ่มคลายตัวลงด้วย อย่างในสหรัฐฯ ที่ตัวเลขอัตราการว่างงานปรับตัวสูงขึ้น หรือในจีน
ที่อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาว (อายุ 16 – 24 ปี) ได้แตะระดับสูงสุดที่เคยมีมาไปในเดือนมิถุนายน ปัจจัยเหล่านี้ได้เพิ่มโอกาสที่หลายประเทศจะเจอกับภาวะเศรษฐกิจซบเซา และน่าจะส่งผลเสียต่อความต้องการซื้อและการส่งออกทั่วโลกในระยะข้างหน้าด้วย
อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในแง่ดี กิจกรรมการผลิตและความต้องการซื้อที่ลดลงก็จะช่วยให้ราคาสินค้าลดลงด้วย อันที่จริง ในตอนนี้ ราคาสินค้าอุตสาหกรรมทั่วโลกก็ค่อยๆ ลดลงมาแล้ว (แผนภูมิ 4)
ซึ่งราคาสินค้าที่ลดลงบวกกับตลาดแรงงานที่คลายตัว ก็จะช่วยฉุดเงินเฟ้อลงมาและอาจทำให้มีโอกาสที่ธนาคารกลางหลายประเทศจะเริ่มเข้าสู่วงจรการลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้น
ผู้เขียน : บูชิตา ปิตะกาศ Economist, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา