Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Introverted investor
•
ติดตาม
18 ก.ค. 2023 เวลา 03:15 • ธุรกิจ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand)
🟢“One stock per week” [EP.9] : แนะนำหุ้นไทย🟢
✅บริษัท สหมิตรถังแก๊ส จำกัด (มหาชน) : [SMPC]
🔥ผู้ผลิตถังแก๊สสัญชาติไทย อันดับหนึ่งในเอเชีย 🇹🇭
"SMPC" คือบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถังแก๊สปิโตรเลียมเหลว และถังทนความดันต่ำแบบต่างๆ ทั้งการรับจ้างผลิต (OEM) และแบรนด์ ‘SMPC’ ของตนเอง โดยจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งยังมีบริการรับซ่อมและตรวจสอบคุณภาพถังตามที่มาตรฐานแต่ละประเทศกำหนด ซึ่งถังที่ ‘SMPC’ สามารถผลิตได้มีขนาดหลากหลายตั้งแต่ 0.45 – 300 กก. (0.9 – 1,000 ลิตร) ปัจจุบันส่งออกสินค้าไปทุกทวีปทั่วโลก มากกว่า 100 ประเทศ
‘SMPC’ เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถังบรรจุแก๊สปิโตรเลียมเหลวที่มีขนาดใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก เมื่อเปรียบเทียบในเชิงปริมาณการผลิต และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมถึงทวีปเอเชีย ด้วยกำลังการผลิต 10 ล้านใบต่อปี
✴ ปัจจุบันมีโรงงานผลิต 1 แห่ง (บางขุนเทียน กรุงเทพฯ) อัตราการใช้กำลังการผลิต เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง = 68%
🔹 สัดส่วนยอดขายภายในประเทศเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง = 6%
🔹 สัดส่วนยอดขายต่างประเทศเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง = 94%
🟢สินค้าของ ‘SMPC’ แบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มหลัก คือ
🔹 ถังแก๊สปิโตรเลียมเหลวสำหรับหุงต้ม : เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงภายในครัวเรือน ร้านค้า และโรงงานอุตสาหกรรม
🔹 ถังแก๊สปิโตรเลียมเหลวสำหรับรถยนต์ : รูปทรงแคปซูล รูปทรงยางรถยนต์ และสำหรับติดตั้งในรถบ้าน
🔹 ถังทนความดันต่ำอื่นๆ สำหรับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม และกลุ่มลูกค้าเฉพาะทาง : ถังบรรจุสารทำความเย็น ถังคลอรีน ถังแอมโมเนีย ถังเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ฯลฯ
🔹 บริการรับซ่อมและตรวจสอบคุณภาพถัง : บริการทดสอบสภาพถังแก๊สตามที่กฎหมายกำหนด และซ่อมถังที่เสื่อมสภาพ เช่น สี หูถัง ขาถัง โดยส่วนใหญ่ให้บริการแก่ลูกค้าผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง
✴ ปี 2022 ที่ผ่านมานั้นการบริโภคแก๊สปิโตรเลียมเหลวในตลาดโลกสัดส่วนมากกว่า 46% เป็นการบริโภคในภาคครัวเรือน (หุงต้ม)
🟢ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย (B2B)
🔹 กลุ่มลูกค้าที่ซื้อสินค้าไปเพื่อบรรจุแก๊สปิโตรเลียมเหลว และกระจายสินค้าต่อไปยังผู้บริโภคสินค้า โดยทั่วไปแล้วจะเป็นบริษัทผู้ค้าแก๊สปิโตรเลียมเหลว
🔹 กลุ่มลูกค้าที่ซื้อสินค้าไปเพื่อกระจายสินค้าไปยังผู้ค้าปลีกโดยที่ไม่มีการบรรจุแก๊สปิโตรเลียมเหลว (เข้าร่วมประมูล ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และสั่งซื้อเป็นรายครั้ง)
🟢ช่องทางการจัดจำหน่าย
🔹 ขายตรงไปยังลูกค้า ทั้งรายครั้งและงานประมูล
🔹 ขายผ่านตัวแทน
🟢รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่
🔹 กลุ่มครอบครัวเล้าวงษ์ : 25% (รองประธานกรรมการ รองกรรมการผู้จัดการ)
🔹 ธรรมิก เอกะหิตานนท์ : 11% (กรรมการ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ) น้องชายปัทมา เล้าวงษ์
🔹 เบญจวรรณ ธารินเจริญ : 9%
🔹 จิรศักย์ พรหมสาขา ณ สกลนคร : 7% (บุคคลนามสกุลเดียวกันเป็น กรรมการ) อาคุณปัทมา เล้าวงษ์ และคุณธรรมิก
🔹 บพิธ ภัทรรังรอง : 4%
🔹 ทัยดี วิศวเวช : 4% (กรรมการ)
🔹 ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) : 3%
🔹 สัมพันธ์ วชิรสกุลชัย : 2%
🔹 ธวัช ตรีวรรณกุล : 2%
🟢เป้าหมายการเติบโตในอนาคตของ ‘SMPC’ จากผู้บริหาร
🔹 รายได้รวมปี 2023 เติบโต 20% (ยอดขายถังทั้งปี 7.5 ล้านใบ) คาดว่าจะใช้กำลังการผลิต 75%
🔹 ยอดขายในไตรมาสที่ 1/2023 น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปี (เหตุการณ์ไม่ปกติ ไม่ใช่ภาพรวมของทั้งปี) และจะกลับมาปกติในไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเริ่มกลับมาแล้ว
🔹 เน้นเพิ่มการขายถังทนความดันต่ำประเภทอื่นๆ เพื่อเพิ่มอัตราการทำกำไร
🔹 ปัจจุบันมี Backlog 1,780 ล้านบาท
🔹 เข้าร่วมงานประมูลจากตะวันออกกลาง 100,000 ใบ
🔹 ได้งานประมูลจากอเมริกาเหนือ 1.2 ล้านใบ (เริ่มส่งมอบสินค้าช่วงปลายปี 2023)
🔹 งบลงทุน 135 ล้านบาท (ปรับปรุงโรงงาน คลังสินค้า และเครื่องจักร)
🔹 ในระยะ 3 – 5 ปีข้างหน้ายอดขายสามารถเติบโตได้เฉลี่ย 10 – 15% ต่อปี จากการเจาะกลุ่มตลาดที่มีการเติบโตสูง ทำให้สามารถเติบโตได้มากกว่าตลาดโลกในภาพรวม ที่มีแนวโน้มเติบโต 3 – 5% ต่อปี (ที่มา : Oppday Q2/2022)
🔹 มีแผนการออกไปตั้งโรงงานในต่างประเทศ อยู่ระหว่างศึกษา มีเงื่อนไขมาก ต้องใช้เวลาในการตัดสินใจ
🟢ภาพรวมอุตสาหกรรมถังแก๊สในต่างประเทศ
ถังบรรจุแก๊สปิโตรเลียมเหลวที่ใช้ในภาคครัวเรือนนั้น ทวีปที่มีการบริโภคมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ทวีปเอเชียแปซิฟิค ทวีปอเมริกา และทวีปแอฟริกา ตามลำดับ โดยลูกค้าหลักของ ‘SMPC’ เป็นลูกค้าในกลุ่มประเทศแถบทวีปอเมริกา แอฟริกา ออสเตรเลีย เอเชีย และยุโรป
จากเอกสารงานวิจัย ‘Statistic Review of Global LPG 2022’ พบว่าตั้งแต่ปี 2021 - 2030 ทั้งการผลิตและการบริโภคแก๊สปิโตรเลียมเหลวยังคงมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มผู้ผลิตหลักที่มีการเติบโต คือ สหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง และรัสเซีย และกลุ่มผู้บริโภคที่มีการเติบโตอยู่ในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา
ทวีปอเมริกาเหนือเป็นตลาดลูกค้ารายใหญ่ของ ‘SMPC’ ผ่านทั้งการขายตรงและขายผ่านตัวแทน สืบเนื่องจากนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมให้ใช้แก๊สปิโตรเลียมเหลวในการประกอบอาหารและการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ รวมถึงสนับสนุนถังแบบใช้แล้วทิ้ง
ทวีปแอฟริกา ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง จากการที่ประชากรส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ ซึ่งรัฐบาลหลายๆประเทศกำลังพยายามออกมาตรการสนับสนุนต่างๆเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแก๊สปิโตรเลียมเหลวได้มากขึ้น เพราะสะดวกและปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่าพลังงานแบบดั้งเดิม
ทวีปเอเชีย มีการบริโภคถังบรรจุแก๊สปิโตรเลียมเหลวที่ใช้ในภาคครัวเรือนมากที่สุด แต่ก็มีการแข่งขันภายในอุตสาหกรรมผลิตถังแก๊สสูงที่สุดเช่นกัน
🟢ภาพรวมอุตสาหกรรมถังแก๊สในประเทศไทย
ถังแก๊สขนาด 15 กก. เป็นขนาดที่มีความต้องการใช้มากที่สุดเนื่องจากเป็นขนาดที่ใช้ตามครัวเรือนทั่วไปอย่างแพร่หลาย ส่วนถังสำหรับบรรจุสารหล่อเย็นได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็นหลังจากมีการรณรงค์เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ถังบรรจุสารหล่อเย็นแบบเติมได้จึงได้รับความนิยมในประเทศไทยมากขึ้น กลุ่มลูกค้าในประเทศได้แก่ผู้บริการติดตั้งแก๊สรถยนต์ และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมเฉพาะ เป็นต้น โดยลักษณะการจำหน่ายเป็นการขายตรง
🟢ปัจจัยความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของ ‘SMPC’
🔺 ความเสี่ยงจากสินค้าทดแทน : ผลิตภัณฑ์ถังบรรจุแก๊สปิโตรเลียมเหลวจากวัสดุคอมโพสิท และอลูมิเนียม เป็นนวัตกรรมที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้ทดแทนถังบรรจุแก๊สปิโตรเลียมเหลวที่ทำจากเหล็กกล้า แต่วัสดุคอมโพสิทไม่สามารถย่อยสลายได้ 100% และมีราคาแพงจึงไม่ได้รับความนิยมมากนัก อย่างไรก็ตาม SMPC ได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ความเป็นไปได้ในการผลิตและมองหาโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้าทดแทนถังบรรจุแก๊สปิโตรเลียมเหลว
เตาไฟฟ้าก็ยังถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่นิยมใช้ในอาคาร เนื่องจากข้อจำกัดของถังแก๊สหุงต้มที่สามารถใช้ได้เพียงตามบ้านเรือนและพื้นที่ห่างไกล อย่างไรก็ตามการใช้พลังงานความร้อนจากแก๊สหุงต้มยังคงมีประสิทธิภาพที่ดีกว่า ต้นทุน
และราคาถูกกว่า อีกทั้งสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้รวดเร็วกว่าในปัจจุบัน
🔺 ความเสี่ยงจากลูกค้ารายใหญ่ : ในปี 2022 มีลูกค้ารายใหญ่ที่มีสัดส่วนการขายมากกว่า 10% ของรายได้รวมทั้งหมด จำนวน 1 ราย จากทวีปอเมริกา
🔺 ความเสี่ยงจากการเกิดคู่แข่งรายใหม่ในต่างประเทศ และการกีดกันจากประเทศผู้นำเข้าถังแก๊ส : ลูกค้าของ SMPC ส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา หรือเริ่มพัฒนา ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการใช้แก๊สต่อประชากรอยู่ในระดับต่ำมาก หากผู้ผลิตท้องถิ่นสามารถพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตและเพิ่มกำลังการผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศแล้วอาจกระทบต่อยอดขายในอนาคต รวมถึงเรื่องนโยบายการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
🔺 ความเสี่ยงการขาดแคลนวัตถุดิบและความผันผวนของราคาเหล็ก : เหล็กแผ่นรีดร้อน (Hot Rolled Steel) เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตถังแก๊สคิดเป็นประมาณ 50 - 60% ของต้นทุนรวม ซึ่งไม่สามารถใช้วัตถุดิบอื่นมาทดแทนได้ แต่เนื่องจากมีผู้ผลิตหลายรายทั่วโลก ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบ และความผันผวนของราคาเหล็กส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาขาย ต้นทุน และกำไรของบริษัท
🔺 ความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน : SMPC ส่งออกสินค้าไปขายยังต่างประเทศเป็นหลัก มากกว่า 90% ของรายได้รวมทั้งหมด มีรายรับเป็นเงินสกุลต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ยูโร และปอนด์สเตอร์ลิง และมีการนำเข้าวัตถุดิบหลัก คือ เหล็กแผ่นรีดร้อนที่ใช้ในการผลิตจากต่างประเทศมาในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน คิดเป็นประมาณ 75% ของปริมาณความต้องการทั้งหมดที่ใช้ในการผลิต
🟢คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ไตรมาสที่ 1/2023
⏰ รายได้จากการขาย = 816 ล้านบาท ลดลง 47% (จากปริมาณขายที่ลดลง ด้วยเศรษฐกิจหดตัว เงินเฟ้อ การแข่งขันด้านราคา ทำให้ลูกค้าชะลอการสั่งซื้อ)
⏰ ต้นทุนขาย = 710 ล้านบาท ลดลง 37% (จากยอดขายที่ลดลง)
⏰ กำไรขั้นต้น = 106 ล้านบาท ลดลง 74% (จากเศรษฐกิจหดตัว และค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการใช้กำลังการผลิตน้อยลง)
⏰ กำไรสุทธิ = 48 ล้านบาท ลดลง 83% (จากยอดขายลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ และอัตราการทำกำไรลดลงจากการแข่งขันด้านราคารุนแรงขึ้น)
🟢ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม
🔹 SMPC ทำสัญญาเช่าที่ดิน (6.2 ไร่) ข้างโรงงาน เพื่อใช้จัดเก็บวัตถุดิบ จาก ปัทมา เล้าวงษ์ (กรรมการ ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นใหญ่) ในอัตราค่าเช่า 100,000 บาทต่อเดือน
🔹 ต้นปี 2022 : ปัทมา เล้าวงษ์ ซื้อหุ้น SMPC เพิ่ม คิดเป็น 0.73% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ
🟢ข้อมูลเพิ่มเติมจากตลาดหลักทรัพย์
♻ P/E เฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังของ SMPC = 9 เท่า
♻ P/E เฉลี่ย บริษัท Top 5 ในตลาด LPG โลก = 7 เท่า
♻ P/E ของ SMPC ณ ปัจจุบัน = 10 เท่า
♻ รายได้รวมเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง = 4,500 ล้านบาท
✴‘SMPC’ ถือว่าเป็นบริษัทผลิตถังแก๊สอันดับต้นๆของโลกในแง่ของปริมาณการผลิต (10 ล้านใบต่อปี) รายได้มากกว่า 90% มาจากการส่งออกถังไปยังลูกค้าทั่วโลกมากกว่า 100 ประเทศ บริษัทก่อตั้งมายาวนานกว่า 40 ปี เคยประสบปัญหาทางการเงินในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่ก็ปรับตัวจนสามารถรอดพ้นมาได้
ปริมาณการบริโภคถังและแก๊สปิโตรเลียมเหลวในตลาดโลกเกือบครึ่งหนึ่งมาจากภาคครัวเรือน เช่น การทำอาหาร อัตราการใช้กำลังการผลิตของ SMPC อยู่ที่ประมาณ 70% ต่อปี ฉะนั้นแล้วความคาดหวังของผู้บริหารที่บอกว่าบริษัทจะเติบโตได้มากกว่า 10% ต่อปี ในช่วงเวลาอันใกล้ก็ค่อนข้างที่จะเป็นไปได้ในแง่ของกำลังการผลิต ณ ปัจจุบันที่พวกเขามีอยู่เพื่อรองรับความคาดหวังดังกล่าว
อย่างไรก็ตามแนวโน้มการเติบโตของตลาดโลกที่ถูกคาดการณ์ไว้เพียง 3 -5% ต่อปีนั้น ทำให้เป้าหมายการเติบโตของ SMPC ค่อนข้างที่จะสูงกว่าค่าเฉลี่ยภาพรวมเป็นเท่าตัว ผู้บริหารอธิบายถึงความเป็นไปได้ว่า พวกเขามุ่งเน้นเจาะกลุ่มไปยังประเทศที่มีความต้องการสินค้าสูงกว่าตลาด และมีนโยบายภาครัฐช่วยส่งเสริม จึงสามารถสร้างการเติบโตได้มากกว่าภาพรวม
อีกทั้งการเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ของคู่แข่งหน้าใหม่ค่อนข้างยาก เพราะธุรกิจนี้จำเป็นต้องได้รับความเชื่อมั่นในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าในระดับสูง จำเป็นต้องใช้เวลาในการสร้างแบรนด์ ส่วนในเรื่องสินค้าทดแทนก็มีประเด็นอยู่บ้าง แต่ส่วนตัวผมคิดว่าผลกระทบจะยังไม่เกิดขึ้นเร็วๆนี้ เพราะสินค้าทดแทนในอุตสาหกรรมยังอยู่ในช่วงระยะของการศึกษา ยังไม่มีสิ่งใดเด่นชัด
ธุรกิจของ SMPC ค่อนข้างอิงกับภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมสูง รวมถึงราคาน้ำมัน ค่าระวางเรือ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และที่สำคัญมากที่สุดคือราคาเหล็ก ซึ่งเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้า ต้นทุนขายเกินครึ่งหนึ่งจากทั้งหมดของพวกเขาคือ “แผ่นเหล็ก” ที่มีความผันผวนของราคาสูง
ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง การบริหารจัดการดี เป็นผู้นำในอุตสาหกรรม แต่ก็ทำให้การคาดการณ์รายได้ในอนาคตนั้นค่อนข้างยากลำบาก การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมก็ทำให้ผู้ถือหุ้นเบาใจได้ในระดับหนึ่ง แต่การประเมินมูลค่านั้นก็เป็นไปด้วยความสับสนจากปัจจัยภายนอกมากมาย
⭕ บทความนี้เป็นเพียงการรวบรวมและนำเสนอข้อมูลเชิงคุณภาพจากรายงานประจำปีของบริษัทและข้อมูลข่าวสารอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหาอ่านได้ทั่วไป ไม่มีเจตนาในการชี้นำ เชิญชวน โน้มน้าว ให้เกิดการลงทุน ซื้อหรือขายหลักทรัพย์แต่อย่างใด การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดใช้ความรู้และความเข้าใจ เพื่อกำหนดเส้นทางการลงทุนของตนเอง
ขอให้มีความสุขกับการลงทุน ในทุกๆวันนะครับ 😊
การลงทุน
หุ้น
ธุรกิจ
บันทึก
2
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
🟢“One stock per week” : แนะนำหุ้นไทย🟢
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย